มรดกของทุกคน


ข้างบ้านพักของข้าพเจ้าในปัจจุบันนี้ มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุยังไม่เต็มขวบอยู่คนหนึ่ง พ่อแม่ของเด็กเป็นด็อกเตอร์ทั้งคู่ เด็กหญิงตัวน้อยผู้นี้จึงมีลักษณะเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษ แม้ยังพูดจาไม่ได้เลยสักคําเดียว แต่รู้ภาษาทุกอย่าง ฟังคนใหญ่พูดกันรู้เรื่องและพยายามส่งเสียงอื้อ อ๊า ของตน ร่วมกับการแสดงท่าทางเพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นรู้ถึงความต้องการของแก เช่น เมื่อไม่ต้องการสิ่งใด ก็จะใช้มือเล็กๆ ปัดสิ่งนั้นซ้ำๆ (แต่ปัดไม่ให้หก) พร้อมทั้งทําเสียงในลําคอ อื้อ อื้อ สีหน้าบิ้ง ถ้าต้องการสิ่งใดก็จะยื่นมือเหยียดแขนตรง หงายฝ่ามือทํานิ้วทุกนิ้วกวักเข้าหาตัว ขยับไปมา ส่งเสียงว่า ว้าว... ว้าว... ว้าว. พร้อมทั้งมองหน้าคนใหญ่ที่แกคิดว่า จะเอาของนั้นให้แกได้ด้วยสายตาวิงวอน ถ้าคนใหญ่หยิบของไม่ถูกกับความประสงค์ให้ ก็จะลดแขนลงแกว่งทั้งแขนแกว่งทั้งหัว แสดงว่าไม่ใช่ แล้วกวักมือ ทําเสียง ว้าว..ว้าว... ต่อไปใหม่จนกว่าจะได้รับของถูกใจ แล้วจึงยิ้ม ยิ้มทีไร ตาสองข้างของแกก็ปิดมิดทีเดียว เพราะเป็นตาเล็กชั้นเดียว คล้ายคนจีน ยิ้มของแกสดชื่น มีฟันเล็กๆ ข้างล่างข้างบนอย่างละ ๒ ซี่

เด็กน้อยคนนี้ชื่อ เอ้ น้องเอ้เป็นเด็กสมตัว น้ำหนักประมาณ ๘ กิโลกรัม ผิวเนื้อละเอียดบอบบาง อ่อนนุ่มเป็นละออง สีขาวอมชมพู ศีรษะหนุ่ยทุย หน้าผากโหนก กว้าง ลักษณะแบบคนเจ้าปัญญา ขณะเดียวกันก็แสดงความเป็นคนเอาแต่ใจตัว ขี้โมโห หน้าตาปกติแล้วเฉยเมย แต่ครั้งใดเมื่อแกยิ้ม ข้าพเจ้าก็จะใช้คําบรรยายว่า ยิ้มทีไร โลกนี้สว่างไสวทุกที ซึ่งใครๆ ก็มักรับรองเห็นด้วยกับถ้อยคําของข้าพเจ้า

บ้านของเราอยู่ติดกัน เวลาพี่เลี้ยงอุ้มน้องเอ้ออกมาเดินเล่น ข้าพเจ้าชอบทักทายให้แกยิ้ม ยิ้มของเด็กเป็นความสุขใจอันบริสุทธิ์ ยิ้มของแกมักทําให้คนแก่อย่างข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกชุ่มชื่นขึ้นในหัวใจ ไม่ เหมือนยิ้มของผู้ใหญ่ ช่างแฝงเลศนัยอะไรต่างๆ กันไว้มาก เป็นยิ้มที่มักไม่บริสุทธิ์และจริงใจ

น้องเอ้เห็นข้าพเจ้ามาตั้งแต่แกเป็นเด็กอ่อน ปัจจุบันนี้จึงจําข้าพเจ้าได้แม่น เห็นข้าพเจ้าครั้งใด ก็จะโย้ตัวออกจากอ้อมแขนคนเลี้ยง ยื่นมือสองข้างตรงมาที่ข้าพเจ้าเป็นอาการขอร้องให้ข้าพเจ้าอุ้มแกทุกครั้ง ถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมอุ้ม เด็กก็จะแสดงอาการเสียใจร้องไห้โยเย ทําท่าโผตัวไม่ยอมเลิก ข้าพเจ้าจึงมักรีบอุ้มทุกครั้งที่พบกัน ไม่ให้แกผิดหวัง ยกเว้นมือของข้าพเจ้าเปรอะเปื้อนสิ่งใดอยู่ ก็จะพูดบอกแกว่า

มือของยายเปื้อนอยู่นะคะ ให้ยายล้างมือก่อน เดี๋ยวยายมาอุ้มหนูค่ะ

พร้อมกันก็ต้องยกมือขึ้นแบให้แกเห็นว่ามือไม่สะอาด แกก็จะ หยุดโยเย แล้วคอย

วันนั้นก็เป็นเช่นปกติ น้องเอ้ได้ยินเสียงข้าพเจ้าพูดธุระกับลูก แกก็ส่งเสียงเรียกข้าพเจ้าว่า จ๋า...จ๋า...(เป็นคําทักคนที่แกรู้จักทุกคน) และเมื่อพี่เลี้ยงไม่ยอมอุ้มมาหา เอ้ก็ทําเสียงร้องกวนโยเย อา.เง้...เง้. อื้อ.เง้...อื้อ..อื้อ...

คนเลี้ยงอุ้มน้องเอ้มาหาข้าพเจ้า ซึ่งนั่งพิมพ์หนังสือจากความทรงจํา (ฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๓) เขาปล่อยเด็กให้คลานตาม เก้าอี้นั่งตัวยาวเข้ามาหา ข้าพเจ้าหยุดพิมพ์ดีด วางแขนสองข้างทอดอยู่บนโต๊ะ พร้อมทั้งหันหน้าไปทักทาย

เอ้...กินข้าวแล้วยังลูก วันนี้เอ้แต่งตัวชะสวยเชียว เสื้อก็สวย กระโปรงก็สวย สีชมพู น้าอาดจะพาเอ้ไปเที่ยวไหนเอ่ย น้าอาด คือ นางสาวสะอาด พี่เลี้ยงผู้ใจดีของหนูเอ้

เด็กน้อยชะงักจากการคลานมาหาข้าพเจ้า ก้มมองตัวเอง ใช้นิ้วมือเล็กๆ ของแกจับเสื้อแล้วก็เคลื่อนไปจับกระโปรง ยิ้มแสดงความดีใจในคําชมของข้าพเจ้า ต่อจากนั้นก็คลานต่อมาจนถึงโต๊ะพิมพ์ดีดใช้นิ้วเล็กๆ จิ้มตามอย่างข้าพเจ้า แต่กําลังกดไม่มาก จึงไม่ทําให้กระดาษพิมพ์เสียหาย

ความสนใจของเด็กมีระยะสั้น กดแป้นพิมพ์อยู่ไม่นานก็เลิกหันไปหันมาก็มองมาท่อนแขนของข้าพเจ้าที่วางพาดโต๊ะพิมพ์ดีด ข้าพเจ้าใส่เสื้อแขนสั้น น้องเอ้จึงมองเห็นเนื้อนิ่มๆ เหี่ยวหย่อนยานที่ใต้ท้องแขน แกใช้นิ้วเล็กๆ ทั้งห้านิ้วของมือขวาเอื้อมมาบีบเบาๆ แล้วปล่อย เนื้อแขนข้าพเจ้าก็แกว่งห้อยไปมา เพราะข้าพเจ้าเป็นคนอ้วนมีเนื้อมาก

เมื่อเนื้อข้าพเจ้าแกว่งตามแรงบีบของแกได้น้องเอ้ก็ชอบใจบีบเล่นใหม่ แล้วปล่อยให้แกว่งไปมาอีก พร้อมกันนั้นก็ยิ้มและหัวเราะเอิ๊กอ๊าก เหมือนได้เล่นของสนุก และยังเงยหน้ามองข้าพเจ้า คงจะดูว่ายายจะดุแกหรือเปล่า เมื่อข้าพเจ้ายิ้มด้วยและพูดว่า

หยิกแขนยายทําไม เนื้อมันนิ่มดีหรือลูก

แกก็ยิ้มและหัวเราะกับข้าพเจ้า เหมือนจะบอกว่า

ใช่จ้ะใช่จ้ะ ขอหนูเล่นหน่อย

ข้าพเจ้ามองนิ้วน้อยๆ ของเด็กเมื่อเทียบกับนิ้วมือของตนเองแล้ว มันช่างน่าเกลียดอะไรอย่างนั้น นิ้วของแกเล็กๆ เรียวกลมกลึงผิวเรียบ ใช้นิ้วทั้งห้ารวมกันก็ยังไม่เท่านิ้วเดียวของข้าพเจ้า ผิวเนื้อตามแขนขา ละเอียดอ่อนนิ่มนวลสีขาวอมชมพู ส่วนของข้าพเจ้าผิวกระด้างสีน้ำตาล ดํากระด่าง เห็นรูขุมขนชัดเจน ไม่เนียนนุ่มอย่างทารกน้อยนั่น เอ้ อายุไม่เต็มขวบ ส่วนข้าพเจ้าใกล้ ๖๐ ปี ผิวของเราต่างกันราวฟ้ากับดิน

ขณะที่มองเทียบกันอยู่นั่นเอง พลันข้าพเจ้าก็หวนระลึกถึงความหลังเมื่อราว ๕๐ ปีก่อน ข้าพเจ้าจําได้แม่นยํา ทั้งที่เวลานั้นอายุก็คงราว ๕-๖ ขวบ ข้าพเจ้านั่งเล่นอยู่กับย่าของข้าพเจ้า ท่านมีอายุคราวเดียวกับข้าพเจ้าในเวลานี้ เวลาอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปไหน ย่าจะใช้ผ้าแถบผืนยาวพันหน้าอกแทนการใส่เสื้อ แล้วเหน็บชายไว้ข้างๆ แขน

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะมีความรู้สึกเหมือนข้าพเจ้าบ้างหรือไม่ ในสมัยเด็กๆ นั่นคือ เมื่อเรารักใครสักคน เราจะรักร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นของคนๆ นั้นหมดทุกอย่าง สําหรับความรู้สึกของข้าพเจ้า เป็นดังที่พูดนี้ ข้าพเจ้ารักย่า ข้าพเจ้ารักหมดทั้งร่างกายของท่าน รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวเนื่อง ข้าพเจ้าไม่เคยมองเห็นความแก่ชราของย่า รู้แต่ว่ารูปร่างอย่างนี้คือคนที่เรารัก แม้เพื่อนบางคนจะพูดว่า ยายของเราสวยกว่าย่าของเธอ ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นจริงด้วย แต่ก็ไม่เคยนึกรักยายของเพื่อนเลย

แล้ววันนั้นเมื่อข้าพเจ้าเล่นอยู่ ย่าได้ลุกขึ้นชวนข้าพเจ้าไปโม่แป้งทําขนม ขณะที่ท่านยกแขนขึ้นโม่แป้ง ข้าพเจ้าก็เห็นเนื้อใต้ท้องแขนท่านแกว่งไปมา ข้าพเจ้ารู้สึกอยากจับ จึงเอามือไปจับบีบเบาๆ บีบแล้วบีบอีก รู้สึกว่านิ่มมือน่าจับเล่น พอปล่อยเนื้อตรงนั้นก็ยังแกว่งได้เสียอีก ข้าพเจ้าจึงเล่นไม่ยอมเลิก 

ย่าคงจะนึกรําคาญ และคงไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของข้าพเจ้า ที่จับเนื้อท่านเล่นด้วยความรัก ท่านพูดว่า

เล่นแขนย่าแล้วยังหัวเราะเยาะอีกรึเนี่ย หาว่าย่าแก่แล้วเนื้อหนังก็ต้องเหี่ยวรึยังไง เอาเถอะ ย่าไม่เอามันไปไหนหรอก ไอ้นี่ ก็ต้องทิ้งไว้ให้เจ้าน่ะแหละ

ถ้อยคําว่า ไอ้นี่ ก็ต้องทิ้งไว้ให้เจ้าน่ะแหละ ความจริงข้าพเจ้าคิดได้เองอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ วัยนั้นว่า อีกหน่อยเด็กก็จะต้องกลายเป็นคนแก่ เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แม้ไม่มีใครอยากได้ แต่ก็เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ทุกคนต้องพบ ต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่น่าเสียใจเท่าความเข้าใจผิดของย่า

เราเล่นเนื้อที่แขนย่าด้วยความนึกรักว่ามันนิ่มดีน่าเล่น มันแกว่งได้ เราก็หัวเราะชอบใจ ไม่ใช่หัวเราะเยาะความแก่ของย่า เหมือนย่าเข้าใจอย่างนั้น

ข้าพเจ้าใคร่จะอธิบายให้ย่าเข้าใจเสียใหม่ แต่ด้วยวัยเพียง ๕ - ๖ ขวบดังกล่าว ข้าพเจ้าอธิบายไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะใช้คําพูดอย่างไร จะบอกว่าตนเองรักย่า แล้วก็รักเนื้อเหี่ยวๆ ยานๆ ของย่านั่นด้วย ก็ดูไม่น่าเชื่อ เพราะลักษณะเนื้ออย่างนั้นไม่น่ารักน่าดูสักนิดเดียว หากเป็นเนื้อของคนแก่คนอื่น ข้าพเจ้าก็คงรังเกียจ ไม่ยอมจับเล่นแน่นอน เมื่อไม่สามารถอธิบายให้ย่าเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดได้ และเห็นย่าเข้าใจผิดไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็เลิกเล่น พร้อมกับทําหน้าเสียยิ้มแห้งๆ นับแต่วันนั้นก็ไม่กล้าจับเล่นอีกเลย และพลอยไม่กล้าจับคนแก่อื่นๆ ไปอีกด้วย คอยสอนตนเองไว้ว่า

ความแก่ เป็นของน่าเกลียด แม้เจ้าของตัวคนแก่เอง ก็ยังรังเกียจเนื้อตัวที่เหี่ยวย่นของตน ใครไปจับต้อง ยังถึงกับหวาดระแวงว่า จะไปเยาะเย้ยขำขันความน่าเกลียดนั้น

ด้วยการคิดได้ดังนี้เรื่อยมาเมื่อหนูเอ้จับเนื้อแขนข้าพเจ้าบีบเล่น พร้อมทั้งยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง ข้าพเจ้าจึงเข้าใจความคิดของทารกน้อย เด็กเห็นมันนิ่มและแกว่งได้ ก็ชอบใจบีบเล่น แม้เมื่อข้าพเจ้าเมื่อยขา ยกขึ้นวางพาดบนม้ายาว เนื้อหนังตรงหัวเข่าก็ย่นเป็นเกลียว เอ้ก็ใช้นิ้วเล็กๆ หยิบดึงแล้วดึงอีก พร้อมทั้งเงยหน้ายิ้มเต็มที่จนตาปิด แสดงว่าแกรู้สึกสนุกมาก พอข้าพเจ้าบีบยาจากหลอดทาบริเวณหัวเข่า เด็กน้อย
ก็ทําตามอย่าง ใช้นิ้วชี้เล็กๆ แตะยาไปถูกทาบริเวณเข่าทั้งสองของแก

เด็กทายาและใช้มือนวดไปมาตามอย่างข้าพเจ้า แกเพียงทําตามอย่างเพื่อความสนุก แต่แกจะไม่มีทางทราบเลยว่า การทายาของคนแก่มิได้ทําเพราะความสนุกเพลิดเพลินเหมือนแก คนแก่ทําเพราะมีทุกขเวทนา ทั้งปวดทั้งเมื่อย บางทีเมื่อยขาเหมือนวิ่งมาไกลเป็นกิโลๆ ปวดเหมือนมีหนามยอกตําอยู่ในเส้นโลหิตใหญ่ๆ ทั้งแขนทั้งขา นี่คืออาการของความชรา

ข้าพเจ้ามองหน้าหนูเอ้ มองแล้วยิ้มตอบใบหน้าน้อยๆ นั้นไม่ออก ใจก็คิดแต่ว่า หนูเอ๋ย เจ้าก็ช่างเหมือนยายเมื่อวัยเด็ก จับเนื้อนิ่มๆ ของคนแก่ด้วยความสนุกสนาน หารู้ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมันกลับมาเกิดซ้ำขึ้นใหม่ให้เห็นอยู่ขณะนี้ ต่างกันก็ตรงที่ยายเข้าใจความรู้สึกของเจ้า แต่ย่าของยายท่านไม่เข้าใจ ต่อไปในอนาคตเมื่อเจ้าโตขึ้น แก่เหมือนยาย คงจะมีเด็กอีกสักคนบีบเนื้อที่ท้องแขนของเจ้าในทํานองเดียวกัน นี่คือ วัฏฏะ คือการวนเวียนทําอะไรซ้ำๆ ซากๆ

ยายกําลังจะบอกหนูเอ้อยู่เดี๋ยวนี้ว่า วัฏฏะที่แปลว่าการเวียนไปก็คือการทําอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีกยายไม่ได้หมายความแค่การบีบเนื่อเหี่ยวๆ ของคนแก่เล่นเท่านั้น แต่เราทุกคนทําสิ่งต่างๆ ในชีวิตซ้ำกันอย่างไม่รู้จบ

หนูเอ้มองหน้าข้าพเจ้าอีกครั้งเมื่อข้าพเจ้าไม่พูดอะไรกับแกต่อไป คงจะสงสัยว่าทําไมยายจึงเงียบเสียงคุย ข้าพเจ้ายิ้มให้ใบหน้าเล็กๆ นั้น เหมือนจะบอกว่า สิ่งที่อยู่ในใจยายนั้น พูดออกมาเอ้ก็ไม่เข้าใจ เพราะ ายกําลังพูดกับหนูว่า

เอ้เอ่ย เมื่อย่าของยายมีพ่อของยาย ย่าก็ต้องทํานา เหน็ดเหนื่อยเพื่อเลี้ยงพ่อ พ่อโตขึ้นก็เรียนหนังสือเพราะสมัยนั้นมีโรงเรียนกันแล้ว เพิ่งตั้งขึ้นทั่วประเทศใหม่ๆ เรียกว่าโรงเรียนประชาบาล พ่อของยายเรียนจบแล้ว เป็นหนุ่มก็ได้เป็นครู แต่งงานกับแม่ของยายซึ่งเป็นครูด้วยกัน แล้วยายก็เกิดขึ้นมา พ่อกับแม่ของยายต้องทํามาหากินหลายอย่าง เป็นครู ทํานา ค้าขาย ฯลฯ เพื่อให้ได้เงินเลี้ยงดูและส่งยายกับน้องของยายเรียนในโรงเรียนชั้นสูงของประเทศ ยายเรียนจบแล้วก็แต่งงาน ยายก็ทํามาหากินรับราชการ เอาเงินเดือนมาเลี้ยงลูกของยาย อีกไม่ช้าลูกของยายกลับมาจากต่างประเทศก็จะต้องมาแต่งงานมีลูก แล้วก็ต้องเลี้ยงลูกของเขาต่อๆ กันไปอีก ไม่รู้จักจบ

ลี้ยงลูก พอลูกโตมีครอบครัว ก็มีหลาน พ่อแม่ไปทํางาน ปู่ย่าตายายก็ต้องเป็นฝ่ายช่วยดูแลหลาน วนเวียนซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้

ยายยังไม่ลําบากใจเหมือนเอ้ ตรงที่ย่าของยายไม่รู้หนังสือเลย พ่อของยายเรียนจบประชาบาล ยายเรียนจบมหาวิทยาลัยภายในประเทศ ลูกของยายจบปริญญาโทต่างประเทศ ถ้าเขามีลูก ลูกของเขาอาจได้เรียนต่อเป็นด็อกเตอร์ (ปริญญาเอก) ทําประโยชน์ให้สังคมมากกว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เรียกว่าดีขึ้นๆ เรื่อยๆ

แต่เอ้นั้น พ่อกับแม่เป็นด็อกเตอร์อยู่แล้วทั้งคู่ เอ้จะดีกว่าพ่อแม่ เป็นอภิชาตบุตร เอ้ก็ต้องเรียนอย่างต่ำต้องไม่น้อยกว่าปริญญาเอก ต้องทําความดีให้มากกว่า และถ้าจะแต่งงานก็ต้องแต่งงานกับคนที่อย่างน้อยเสมอกัน ถึงขนาดนั้น เอ้ก็ยังได้ชื่อว่า ไม่ดีกว่าพ่อแม่ ไม่ใช่อภิชาตบุตร เป็นเพียงอนุชาตบุตร บุตรเสมอด้วยบิดามารดาเท่านั้น

ยายคิดแทนหนูเอ้เพียงแค่นี้ ยายก็เหนื่อยใจแทนหนูเต็มที่ ตัวน้อยๆ เพียงเท่านี้ ทําไมจึงต้องมานั่งแบกข้อสมมติต่างๆ ของสังคม ในที่สุดก็ แก่ เจ็บ แล้วก็ตาย มีอยู่เท่านั้นเอง ทุกข์ทั้งนั้น

ยิ้มอันเบิกบานสนุกสนาน ประกายตาบริสุทธิ์ที่หนูเอ้มองยายนั้น ทําให้ยายยิ้มตอบหนูไม่ออก เพราะยายไปคิดถึงทุกข์อันใหญ่หลวงที่หนูเอ้จะต้องเผชิญกับมันในอนาคตอันใกล้

เวลาผ่านไป หนูก็จะแก่เป็นเด็ก ๓-๔ ขวบ แล้วก็จะต้องเข้าโรงเรียน กินอิ่มบ้างไม่อิ่มบ้าง เพราะต้องรีบไปโรงเรียนแต่เช้าตรู่ตามประสาเด็กชาวกรุง อาหารของโรงเรียนที่จัดให้ ก็เป็นอาหารหม้อใหญ่ ไม่อร่อย กินลงบ้างไม่ลงบ้าง กว่าจะกลับถึงบ้านก็มืดคํ่า อ่อนเพลียง่วงนอน ไม่อยากกินอะไร

วนเวียนบ้านกับโรงเรียนอยู่อย่างนี้นับเป็นสิบๆ ปี เรียนชั้นอนุบาล ประถม มัธยมและอุดมศึกษา ฐานะทางบ้านดีก็ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ เรียนๆ จบออกมาก็แทบจะหมดเรี่ยวแรงประกอบอาชีพ เพราะขณะที่เรียน เวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า ความแก่ชราก็ครอบงำร่างกายพร้อมไปด้วยตลอดเวลา บางทีพอเรียนจบออกมาทํางานก็พาลเป็นคนขี้โรคป่วยซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ยิ่งขึ้น

ความแก่ตามติดตัวจี๋อยู่ตลอดเวลาดังนี้ ยังพากันมองไม่เห็น กลับไปเห็นเป็นความเจริญเติบโต เห็นเป็นความสวยงาม แล้วจับคู่แต่งงาน สร้างชีวิตเด็กเล็กขึ้นมาใหม่ ให้หมุนเวียนแทนตัวต่อไปไม่รู้จบ ส่วนตนเองก็ย่างเข้าสู่ความชราที่มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นๆ เหมือนที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไม่มีผิด ซึ่งเขียนไว้ว่า

เราจะต้องประสบทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ เพราะอวัยวะทั้งหลายหย่อนยาน ทําอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ) ให้พิกลพิการไป ความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็หมดสิ้นไป กําลังวังชาลดน้อยถอยลง สติอ่อนกำลัง กลายเป็นคนหลงลืมจําอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก ทําให้คนรู้จักหรือที่อยู่แวดล้อมรําคาญ เบื่อหน่าย ไม่เคารพเลื่อมใส

ความแก่เป็นโทษภัยที่เห็นกันอยู่ชัดเจนขนาดนี้ ทําทุกข์หนักให้ตลอดเวลาขนาดนี้ เป็นเรื่องแปลกที่ผู้คนมองไม่เห็น กลับไปหาทุกข์ด้วยการแสวงหาความแก่จากผู้อื่นมาเพิ่มอีก ด้วยการมีครอบครัว บุตร ธิดา ภรรยาสามี วุ่นวายกันไม่รู้จบสิ้น ซึ่งคนเหล่านั้นล้วนแต่แบกความแก่ติดตัวมาทุกคน

คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากคนเก่ายุคก่อน มาจนปัจจุบัน จนต่อไปในอนาคต จึงทําเรื่องวนเวียนซ้ำชากรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดไป นี่แหละคือ วัฏฏะ

ยายเคยเป็นคนโง่อย่างนั้นมาแล้ว ขณะที่ยายกําลังมองหนูเอ้อยู่เดี๋ยวนี้ ยายอยากให้หนูรู้ทันชีวิต รู้แล้วคิดได้ คิดเหมือนที่ยายกําลังคิดอยู่ หนูจะได้ไม่ใช้ชีวิตเพลี้ยงพล้ำเหมือนชีวิตของยาย เอาเวลาในชีวิตซึ่งก็เท่ากับเวลาที่คนอื่นๆ ได้มา ไปใช้ให้เป็นกําไรต่างๆ เช่น การสร้างบุญสร้างบารมีเพื่อให้เลิกเกิด ถ้าเลิกเกิดได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และทุกข์ทั้งหลายก็มลายสูญสิ้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ เหมือนสนิมเหล็กที่เกิดในแท่งเหล็ก ถ้าไม่มีแท่งเหล็ก สนิม เหล็กจะเกิดที่ไหนถ้าไม่มีการเกิดขึ้นของ รูปร่างกาย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ไม่มีตามไปด้วย หนูเอ้รู้เรื่องรึเปล่าที่ยายกําลังคุยกับหนูอยู่ในใจนี่น่ะ

ข้าพเจ้าคุยเก้อ เด็กน้อยไม่รู้เรื่อง จับเนื้อยานๆ บ้าง ย่นๆ บ้าง ของข้าพเจ้าเล่นไปสักพักก็เบื่อ ปีนป่ายหาของเล่นอื่นๆ ต่อไป สักครู่ พี่เลี้ยงก็พาหนูเอ้ไปกินน้ำส้ม กินนม แล้วพาไปเล่นกับเพื่อนบ้านอีกหลังหนึ่ง

แต่เพียงชั่วครู่เดียว เจ้าของบ้านหลังใหม่ ซึ่งก็สนิทสนมกับข้าพเจ้าดี ก็พาหนูเอ้มาหาข้าพเจ้า พร้อมกับฟ้องขึ้นว่า

"ดูหนูเอ้ซีคะ ตลกใหญ่แล้ว เค้าทำท่าลุกขึ้นยืนไม่เหมือนเด็กอื่นทั่วๆ ไปเลยค่ะ เค้าลุกขึ้นยืนเหมือนคุณป้าไม่มีผิด ใครเห็นก็ต้องหัวเราะกันงอหายเลย" เล่าแล้วรวมทั้งพี่เลี้ยงของหนูเอ้ก็พากันหัวเราะขำกันต่อไป

ถึงตอนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกอยากขอยืมคำพูดของย่ามาพูดกับคนที่หัวเราะเหล่านี้เสียจริงๆ อยากจะบอกกับพวกเขาว่า

"ไอ้ท่าลุกขึ้นยืนที่ขำกันนักหนานี่น่ะ ไม่เอาไปไหนหรอก ก็จะเอาเป็นมรดกทิ้งไว้ให้พวกเธอนี่แหละ"

คนปกติโดยทั่วไปที่อยู่ในวัยแข็งแรง เวลาเขานั่งอยู่กับพื้น เมื่อจะลุกขึ้นยืน ก็จะเปลี่ยนจากท่านั่งราบเป็นท่านั่งยองเสียก่อน แล้วจึงยืดเข่าขึ้นในท่ายืนตรง

สำหรับข้าพเจ้าเวลานี้ ด้วยความชราที่มาครอบครองร่างกาย  ทำให้ทำท่าเหมือนคนปกติดังกล่าวไม่ได้ ถ้าข้าพเจ้านั่งราบอยู่ จะลุกขึ้นยืนจะต้องเปลี่ยนจากท่านั่ง เป็นท่าคุกเข่า เท้าแขนทั้งสองทั้งเบื้องหน้าให้น้ำหนักตัวส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดถ่วงลงมาที่แขนทั้งสองข้างแล้วจึงค่อยโก่งโค้งให้ก้นโด่งขึ้น ยันขาขึ้นตรงให้ได้เสียก่อน แล้วจึงคืนน้ำหนักจากท่อนแขน กลับไปสู่ท่อนขาตามเดิม พร้อมกับยืดหลังให้ตรง ก็จะเป็นอันลุกขึ้นยืนสำเร็จ อาการยืนของข้าพเจ้าจะใช้เวลานานกว่าคนปกติ ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกทันทีว่าร่างกายของข้าพเจ้ากำลังแสดงความชรา หมดกำลัง

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น ร่างกายที่ชรา หมดกําลังจริงๆ หัวเข่าทั้งสองไม่มีแรงเหมือนเก่า เมื่อใจสั่งให้ขยับเคลื่อนไหว เข่าก็ไม่ขยับหรือขยับไต้ก็ทํางานไม่ได้ดังเดิม ขาแข้งซึ่งเคยยกได้คล่องแคล่ว กลายเป็นของหนักจนบางครั้งยกไม่ขึ้น ต้องใช้มือช่วยยก

ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่คนแก่อย่างข้าพเจ้า เห็นอาการแล้ว ทุกคนต่างก็รู้ว่าข้าพเจ้ามิได้แกล้งทำ เป็นลักษณะของผู้เฒ่า ต้องเมื่อยขัดบ้างยอกบ้างไปตามกาลเวลา เห็นแล้วก็ไม่มีใครสนใจ

แต่เด็กหญิงเอ้ตัวน้อย คงคิดตามประสาทารกว่า นั่นคืออาการของคนปกติ เป็นท่าทางที่แกสังเกตได้ชัดเจน เพราะข้าพเจ้าค่อยๆ ทำลักษณะอาการเป็นไปอย่างช้าๆ เด็กจึงจำได้ทุกท่าทาง ส่วนคนปกติอื่นๆ ลุกขึ้นยืนกันอย่างสะดวกรวดเร็ว หนูเอ้สังเกตไม่ทัน การลุกขึ้นยืนของหนูเอ้จึงเป็นท่าที่ใครเห็นก็ต้องหัวเราะขำ เพราะตลกมากจริงๆ เริ่มต้นด้วยการยืดตัวเอาแขนค้ำพื้น แล้วจึงค่อยๆ ยืดหัวเข่าโก่งก้นขึ้นช้าๆ จนเข่าตรงได้แล้ว จึงหาที่ใช้มือเกาะแล้วยันตัวขึ้น ทุกขั้นตอนที่ทําช่างเหมือนอาการคนแก่อย่างข้าพเจ้าไม่มีผิด ก็คิดดูเถอะคนอายุขวบเดียวกับคนอายุเกือบ ๖๐ ปี ทําท่าเหมือนกันทุกอย่าง แต่ขนาดตัวผิดกันชนิด ๘ กิโลกรัม กับ ๗๒ กิโลกรัม ไม่ตลกอย่างไรไหว

คนเราส่วนใหญ่คิดกันว่า ความแก่ มาทีหลังการเกิดหลายๆ ปี ต้องรอให้ผมหงอก ฟันหัก ตามัว หูตึง ฯลฯ อะไรๆ เหล่านั้น แต่ที่จริงแล้ว แม้หนูเอ้อายุยังไม่ถึงขวบ ก็เรียกว่าแก่ได้ อย่างน้อยก็แก่กว่าเด็กที่อายุน้อยกว่าแก ทารกแม้เกิดวันเดียวก็ยังแก่กว่าทารกที่อยู่ในครรภ์ยังไม่ได้คลอด เด็กแม้อยู่ในครรภ์ก็ยังแก่อ่อนต่างกันตามความแก่ของครรภ์มารดา สรุปแล้ว ความจริงที่แท้นั้นคือ ชีวิตของสรรพสัตว์นั้นแก่ตั้งแต่เกิดทีเดียว ต่างกันแต่เป็นความแก่ที่เห็นชัด และความแก่ที่เห็นไม่ชัด

อย่างความแก่ที่เห็นไม่ชัด เช่น จากวัยทารก เปลี่ยนเป็นเด็ก จากเด็กเปลี่ยนวัยรุ่น จากวัยรุ่นกลายเป็นวัยหนุ่มสาว อย่างนี้มองไม่เห็นความเสื่อม คนทั่วไปจึงเรียกเสียใหม่ว่าเป็นวัยเจริญเติบโต แต่ถ้าเราจะ พิจารณาให้เห็นแท้จริง เราจะเห็นว่าเสื่อมอยู่แล้วทุกวัย ยกตัวอย่าง ดูผิวหนัง ดูเส้นผมของวัยต่างๆ เหล่านี้ จะเห็นว่าวัยยิ่งสูงขึ้นผิวหนังยิ่งหยาบกระด้าง เส้นผมก็แข็งกว่า เพียงแต่เห็นความแตกต่างไม่ชัดเจนมาก จึงมองความจริงไม่ออก หลงคิดว่าเป็นความเจริญเติบโตไป ไม่เหมือนวัยผู้ใหญ่เปลี่ยนเป็นวัยกลางคน วัยกลางคนเปลี่ยนเป็นวัยชรา ลักษณะ ของวัยหลังๆ นี่ เห็นความเสื่อมโทรมชัดเจน

ของทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตล้วนแต่ต้องเสื่อมหรือที่เรียกว่าชราด้วยกันทั้งสิ้น ที่เสื่อมชัดๆ เช่น ไม้ผุ คนแก่ เป็นชราเปิดเผยมองเห็นได้ง่าย ส่วนความเสื่อมของหินของเพชรของ พระอาทิตย์ ภูเขา ทะเล ฯลฯ เป็นชราปกปิด เห็นไม่ชัด

ท่านผู้อ่านอาจนึกไม่ถึงว่าการกระทําของหนูเอ้ แค่จับเนื้อหนังเหี่ยวๆ ย่นยานของข้าพเจ้าบีบเล่นนิดหน่อยนั้น ทําให้ข้าพเจ้าคิดถึงความน่ากลัวของความแก่ชราอยู่หลายวัน จนกระทั่งต้องเปิดตู้พระไตรปิฎก อยากทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสเรื่องความแก่ ไว้อย่างไรบ้าง

ได้พบข้อความอยู่หลายตอนกล่าวไว้ ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๘ ชราสูตร ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พระอานนท์ เข้าเฝ้า ถวายการปรนนิบัติ บีบนวดพระวรกายด้วยฝ่ามือ เห็นพระสรีระของพระบรมศาสดา จึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าประหลาดใจ แต่เดิมมาข้าพระองค์ ไม่เคยเห็นพระวรกายของพระองค์เป็นอย่างนี้ ทําไมเวลานี้ พระฉวีวรรณของพระองค์ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน พระสรีระหย่อนย่นเป็น
เกลียวไปหมด พระกายค้อมไปข้างหน้า (หลังโกง) พระจักษุ (ตา) พระโสตะ (หู) พระฆานะ (จมูก) พระชิวหา (ลิ้น) พระกายะ (ร่างกาย) ปรากฎว่าแปรปรวนไปหมดทีเดียวพระจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า ดูก่อนอานนท์เรื่องนี้เป็นธรรมดา ความแก่ก็มีอยู่ในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นแหละ โรคภัยไข้เจ็บก็มีอยู่ในความไม่มีโรคนั่นแหละ ความตายก็มีอยู่กับความมีชีวิตถึงเธอจะตําหนิติเตียนความแก่อันเลวทราม ที่ทําให้ผิวพรรณหมดความสวยงาม แต่ความแก่ก็ยังคงย่ำยีรูปร่างกายอยู่นั่นเอง ไม่เลิกราไปได้ ใครจะมีอายุยืนถึงร้อยปี ก็หนีความตายไม่พ้น สัตว์ทั้งปวงมีความตายคอยอยู่ข้างหน้า ความตายไม่ยอมละเว้นใครๆ เลย ครอบงำย่ำยีทุกชีวิตหมดทีเดียว

คิดดูเถิด ขนาดเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงหนีความชราไม่พ้น และทรงสอนให้พุทธบริษัทรู้จักคิดอยู่เสมอ ถึงเรื่องความแก่ ความตายที่ทุกคนต้องเผชิญ เช่น ตอนที่สตรีสหายของนางวิสาขา ทำอุบายตามนางวิสาขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่เพื่อฟังพระธรรมเทศนา แค่เพื่อแอบพกเอาสุราที่เหลือของสามีเข้าไปดื่มกัน แล้วครองสติไม่อยู่ แสดงท่าทางไม่สมควร ร้องรําทําเพลงสนุกสนาน พระบรมศาสดาจึงทรงบันดาลให้เกิดความมืดมิดขึ้นทั่วบริเวณ จนสตรีเหล่านั้นหวาดกลัว ขนพองสยองเกล้า หายมึนเมา แล้วตรัสสอนว่า 

ร่าเริงอะไรกันอยู่ ยินดีอะไรกันอยู่ ในเมื่อโลกที่เราอยู่ร่วมกันนี่เหมือนถูกไฟไหม้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ เราทุกคนถูกความมืดหุ้มห่ออยู่ ทำไมจึงไม่แสวงหาดวงประทีปกันเล่า จงมองดูร่างกายที่ถูกกรรมสร้างขึ้นมานี่ซี เต็มไปด้วยแผล ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน เป็นร่างที่กระสับกระส่าย ร่างที่คนพากันคิดถึงอยู่ ร่างนี้ไม่มั่นคงยั่งยืนมีแต่ต้องคร่ำคร่าเรื่อยไป เป็นรังของโรคภัยไข้เจ็บ ต้องผุพัง เปื่อยเน่าแตกตาย ในที่สุด กระดูกที่ไม่พึงปรารถนามีสีขาวๆ เทาๆ เหมือนนกพิราบ แล้วจะน่าชื่นชมยินดีอะไรกันเมื่อได้เห็นกระดูกเหล่านั้น

ร่างกายที่กรรมสร้างขึ้น ที่แท้แล้วคือเมืองของกระดูก มีเนื้อและเลือดมาฉาบทาเอาไว้ เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่ ราชรถทั้งหลายย่อมเก่าคร่ำคร่าได้ฉันใด ร่างกายของเราก็แก่คร่ำคร่าได้ทํานองเดียวกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษไม่รู้จักการเก่า คร่ำคร่า สัตบุรุษชอบคบสัตบุรุษด้วยกัน คนที่ไม่ใคร่ฟังธรรม (คนมีสุตะน้อย) เป็นคนที่แก่เหมือนโคถึก คือเจริญแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ

เราตถาคตแสวงหานายช่างเรือน (ผู้ที่ทําให้ต้องเกิดอยู่ชาติแล้วชาติเล่า) อยู่ตลอดเวลา เมื่อยังหาไม่พบ ก็ต้องเกิดแล้วเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน เกิดทุกครั้งก็เป็นทุกข์ทุกครั้งร่ำไป นี่แน่ะนายช่างสร้างเรือน(ตัณหา) เวลานี้เรา (ตถาคต) เจอตัวท่านแล้ว สร้างเรือนให้เราไม่ได้อีก ซี่โครงของท่านเราก็หักเสียหมด ยอดเรือนเราก็หักเสียแล้ว จิตของเราบรรลุถึงพระนิพพานปราศจากการปรุงแต่งใดๆ เราบรรลุถึงความสิ้นตัณหาแล้ว

คนโง่ทั้งหลายที่ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เหมือนคนหนุ่มที่ไม่รู้จักหาทรัพย์เอาไว้ คนโง่เหล่านั้นก็จะซบเซาเหมือนนกกะเรียนแก่ๆ ที่ต้องซบเซาอยู่บนเปือกตมที่ไม่มีปลาให้จับกิน กลายเป็นคนต้องนอนทอดถอนใจ คิดถึงทรัพย์เก่าที่หมดไปแล้ว หมดไปเหมือนลูกศรที่หมดจากแล่ง (ไม่มีจะยิงอีก)"

(จากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ หน้า ๒๙-๓๐ พระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับหลวง)

ข้าพเจ้านํามาเขียนเล่าให้ท่านอ่านถ้อยคําไม่เหมือนในคัมภีร์นัก พยายามพูดเป็นภาษาปัจจุบัน เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย และรู้ความของชีวิตเสียแต่ต้น จะได้ไม่คิดแก้ไขธรรมชาติจนเกินไป เช่น ทําศัลยกรรมตกแต่ง การย้อม การขัด การผ่าตัด อะไรต่อมิอะไร ให้วุ่นวาย แล้วในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ได้ตลอดไป

ยิ่งคนต้องทุกข์เพราะความชราเท่าใด ก็ต้องแสวงหาทรัพย์สินเงินทองแล้วใช้จ่าย เพื่อแก้ไขร่างกายมิให้ชราด้วยอุบายต่างๆ ทําให้สถาบันที่มีอาชีพด้านนี้ทำมาหากินรุ่งเรือง

แต่สําหรับคนฉลาด คนมีปัญญา เขาย่อมรู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า ชีวิตไม่ควรหมกมุ่นอยู่ในเรื่องไร้สาระอย่างนั้น เราจะแสวงหาอะไรกัน จากสิ่งที่ไม่มี ดังนั้นเขาจึงใช้ชีวิตของเขาแสวงหากําไรด้วยการ สร้างบุญสร้างบารมีให้ได้ติดตัวไปมากที่สุด

ความยั่งยืนในความงามและความแข็งแรงของร่างกายไม่มีอยู่ในโลกนี้ ใครมัวแสวงหา ผู้นั้นได้ชื่อว่า แสวงหาในสิ่งที่ไม่มี สมควรเรียกว่าเป็นคนโง่อย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าพยายามค้นข้อความจากคัมภีร์มาเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสเกี่ยวกับเรื่องความแก่ชราไว้อย่างไร ท่านอ่านแล้วคงได้ข้อคิดสอนใจบ้างไม่มากก็น้อย ข้าพเจ้าจึงขอตั้งความหวังและขออธิษฐานจิตให้ท่านสามารถเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่ถ้าท่านยังไม่แน่ใจว่าควรเชื่อและเห็นคล้อยตามความจริงเหล่านี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ใคร่ชักชวนให้ท่านลงมือปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา เริ่มต้นด้วยอาโลกกสิณ ถือเอาแสงสว่างเป็นอารมณ์ กําหนดให้ใจนิ่งหยุด เป็นหนึ่งจนเห็นกายในกายเข้าไปจนถึงกายธรรม ใช้ดวงตาของกายนั้น (ญาณของธรรมกาย) พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เซลล์ต่างๆ ในกายของเรามันมีทั้งที่กําลังตาย และกําลังเกิดใหม่แทน ความชราเกิดขึ้นเพราะเซลล์ที่เกิดใหม่เกิดได้จํานวนน้อยกว่าเซลล์ที่ตายลง ทั้งยังไม่มีความแข็งแรงเท่าเซลล์เดิม เหตุนี้เองทําให้ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอ

เปรียบไปก็เหมือนเรามีสวนกว้าง ๑ ไร่ มีคนงานดูแล ๑๐ คน พอผลัดเปลี่ยนจ้างคนงานใหม่ ให้คนงานเดิมออก เราไม่จ้างให้ครบ ๑๐ ลดจํานวนลงทุกครั้งที่เปลี่ยนชุดคนงาน คนน้อยแต่ต้องทํางานเท่าเดิม ผลงานก็ออกมาไม่ดีฉันใด เซลล์ต่างๆ ที่มีจํานวนลดลงก็ไม่สามารถ หล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงสดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนเดิมได้ฉันนั้น

และความอ่อนแอตรงจุดนี้เอง ที่เราเรียกว่า ความชรา

ทุกวินาที ทุกลมหายใจที่ผ่านไป ร่างกายของเราถูกครอบงำด้วย ความชรา ความชรานี้เองฉุดกระชากลากถูเราไปสู่ความตาย

ถ้าเทียบชีวิตเหมือนการเดินทางด้วยการพายเรือข้ามฝั่ง เมื่อได้เรือมาแล้ว คนมีปัญญาจะต้องใช้เรือนั้นรีบพายให้เร็วที่สุด เพื่อไปถึงฝั่งก่อนคํ่าฉันใด เมื่อได้อัตภาพร่างกายนี้เกิดมาแล้ว เราก็ต้องใช้สร้างบุญ สร้างบารมีให้มากที่สุดก่อนที่จะถึงแก่ความตายฉันนั้น เราจึงได้ชื่อ คนฉลาด

ใครก็ตามได้เรือมาแล้วมัวห่วงการตกแต่งประดับประดาเรือ ไม่ยอมพายเรือนั้นเสียที เมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำไปเรื่อยๆ เวลาพายเรือก็หมดไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดพระอาทิพย์ลับขอบฟ้าก็หมดหนทางพายเรือ เพราะมองไม่เห็นทางไปฉันใด ใครมีมัวห่วงเรื่องความสวยงามของสรีระ ร่างกายเกินกว่าเหตุ จนลืมใช้เวลาสร้างบุญสร้างบารมี เพื่อเลิกเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่ต่างอะไรกันกับพวกบ้าแต่งเรือ ท้ายที่สุดเมื่อความชรามาถึง ความตายมาถึง สิ้นชีวิตลง ไม่มีบุญไม่มีบารมีอะไรๆ ติดตัวไปเลยเช่นเดียวกัน

ถ้าหากจะบ้า เราจงมาบ้าพายเรือกันเถิด ใครจะติเตียนว่าเรือของเขาขี้เหร่อย่างไรก็ช่างเขา เราเอาแต่เรื่องตั้งใจพายของเราดีกว่า เมื่อหมดเวลาพระอาทิตย์ตกดินก็จะรู้กันว่าใครไปได้ไกลแค่ไหน ชีวิตเราที่ เป็นกันอยู่ ทําดูถูกดูหมิ่นกันว่า รวยกว่า สวยกว่า โก้กว่า เด่นกว่า มียศถาบรรดาศักดิ์เหนือกว่า ที่แท้แล้วเป็นเพียงสิ่งจอมปลอม สมมติกันเอาเองทั้งนั้น ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสารแท้จริง

สําหรับสิ่งที่เป็นของจริง เป็นที่พึ่งอันมั่นคงของชีวิตก็คือ กุศลกรรมต่างๆ ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา สิ่งเหล่านี้อาจจะมองไม่เห็นความเด่นความโก้เหมือนอย่างเรื่องอื่นๆ แต่จะให้คุณค่าสมกับคำที่ว่า ตายแล้วรู้กัน

Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๔ บทที่ ๑ 
มรดกของทุกคน มรดกของทุกคน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:58 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.