ชีวิตหลังความตาย
ครั้งเมื่อข้าพเจ้าอายุราว
๑๔-๑๕ ปี ไปว่ายน้ำเล่น มีเด็กอายุ ๘-๙ ขวบโผตัวเข้ามากอดหลังข้าพเจ้า
เด็กว่ายน้ำไม่เป็น จึงกอดไหล่ข้าพเจ้าไว้แน่น ทําให้ไม่สามารถใช้แขนและมือพุ้ยน้ำพยุงตัวได้
เราทั้งสองคนจึงจมดิ่งลงสู่ท้องน้ำเบื้องล่าง ยิ่งข้าพเจ้าดิ้นรนเพื่อใช้แขนว่ายน้ำเท่าใด
เด็กผู้นั้นก็ยิ่งกอดข้าพเจ้าแน่นด้วยความกลัวมากขึ้นเท่านั้น
พากันจมอยู่ครู่ใหญ่ กระทั่งมีคนว่ายน้ำมาดึงตัวเด็กออกไป
เพราะเขามองเห็นผมของแกลอยปริ่มน้ำขึ้นมา เวลานั้นข้าพเจ้าหมดกำลังไม่สามารถพยุงตนเองว่ายโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาได้
กลับจมดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำลึกลงไป รู้สึกห้ามตนเองไม่ได้ ต้องกินน้ำเข้าไปอึกแล้วอึกเล่า
ดูเหมือนท้องตนเองกางออกเหมือนจะระเบิด นึกรู้ว่ากําลังจะต้องตายแน่
รู้สึกเสียใจอย่างรุนแรง ความทุกข์ตอนนั้นคิดเป็นห่วงบิดามารดา คิดปรารถนาตอบแทนบุญคุณของท่าน
กล่าวคําในใจลาตายต่อพ่อแม่ แล้วความรู้สึกทั้งหมดก็ดับวูบลง
จวนเจียนใกล้เวลาหมดสติขาดความรู้สึกตัวทั้งสิ้นลงนั้น
กินเวลาไม่นานนัก คิดแล้วเป็นเพียงไม่กี่วินาที ถ้าพูดถึงความทุกข์ในเวลาที่ต้องตายจริงๆ
คือในขณะดวงจิตดับลง ในความรู้สึกของข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นทุกข์น้อยกว่าความทุกข์ทรมานเพราะเจ็บป่วย
ไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บปวดบาดแผล หรืออะไรๆ
ที่เป็นทุกข์ทางกายมักจะกินเวลานานกว่า บางทีเป็นชั่วโมง เป็นวันๆ
เจ็บป่วยบางอย่างเป็นเดือนเป็นปี แต่ตอนตายนั้นชั่วแวบเดียวเท่านั้นเอง
ครั้งที่สองที่เหมือนใกล้ตาย
ก็คือการถูกวางยาสลบเตรียมถูกผ่าตัด มีความกังวลว่า ถ้าสลบไปแล้วไม่ฟื้น
จะต้องไปที่ไหน ความห่วงเรื่อง “ไปไหน” นี่ต่างหากที่ดูจะเป็นความทุกข์ที่แท้จริงของความตาย
เมื่อแพทย์ให้ยาข้าพเจ้าดมแล้ว สักครู่ก็รู้สึกว่าเสียงพูดคุยของแพทย์และพยาบาลค่อยๆ
เบาลงทีละน้อยๆ แต่ก็ยังรู้สึกตัว ข้าพเจ้าใช้วิธีกระดิกนิ้ว
ให้แพทย์รู้ว่าข้าพเจ้ายังไม่สลบ แต่ไม่สามารถเปล่งเสียงพูดออกมาได้
ครู่หนึ่งนิ้วก็ไม่สามารถสั่งให้กระดิกได้ ยังได้ยินเสียงแพทย์ พูดคุยกันแผ่วเบา
เหมือนอยู่ไกลๆ ท้ายที่สุดรู้สึกเหมือนใครเอาสําลีชุบน้ำอุ่นๆ ลากพาดตรงท้อง
(ความจริงคงเป็นขณะแพทย์ลงมือใช้มีดกรีดหนังและเนื้อหน้าท้อง แต่ประสาทรับความรู้สึกทางกายถูกยาสลบควบคุมไว้
จึงทําให้ไม่เจ็บปวด รู้สึกเพียงอุ่นๆ ต่อจากนั้นเมื่อสั่งให้ร่างกายทําอะไรไม่ได้อีก
ข้าพเจ้าจึงตั้งใจหลับ ก็คงเหมือนตาย ไม่ใช่ตายจริง แต่เป็นตายแบบจําลอง
เมื่อฟื้นขึ้นมาก็เห็นว่า ถ้าตอนสลบอยู่นั้นจะไม่มีการฟื้น เป็นการตายไปจริงๆ
ความตายก็เป็นสิ่งไม่น่ากลัว ไม่ทุกข์ทรมานเท่าความเจ็บ คงมีที่น่ากลัวอยู่เพียงเรื่องเดียวคือ
ตายแล้วไม่รู้จะไปไหน สิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับความตายมีอยู่ ๕ อย่างคือ
อย่างแรก
ตายอายุเท่าไหร่ รู้ไม่ได้ ไม่รู้จะตายตอนเด็ก ตอนหนุ่มสาว
ตอนกลางคน หรือตอนแก่
อย่างที่สอง
ตายด้วยโรคหรืออาการอย่างไร ก็ไม่รู้ อาจจะเจ็บป่วย เป็นลม
หรืออุบัติเหตุ ฯลฯ
อย่างที่สาม
ไม่รู้จะตายเวลาใด กลางวันกลางคืน กี่โมงกี่ยาม ไม่สามารถรู้กําหนดแน่นอน
อย่างที่สี่
สถานที่ที่จะตาย ก็ไม่มีทางรู้ได้ บนฟ้า กลางดิน หรือในทะเล รู้ไม่ได้ทั้งสิ้น
อย่างที่ห้า
ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน เป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางทราบอีกเหมือนกัน
ข้าพเจ้าเล่าถึงตนเองเมื่อใกล้หมดสติหรือใกล้สลบ
สิ่งที่เป็นทุกข์ หวาดหวั่น คือไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ต่อมาได้รู้จักบุคคลบางท่าน
ซึ่งเคยตายแล้วฟื้น ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ความทุกข์จากการตายคือไม่รู้ว่าตายแล้วจะถูกพาไปที่ไหน
และทุกข์เพราะไม่อยากจากคนที่ตนรัก
ปลายปี
๒๕๓๐ ดูจะเป็นราวกลางๆ เดือนธันวาคม สมาชิกกลุ่มปฏิบัติธรรมของกรมชลประทานได้มากล่าวชวน
“คุณป้าคะ
วันศุกร์ตอนบ่ายอาทิตย์นี้ พันเอกพิเศษเสนาะ จินตรัตน์
นายทหารที่เคยตายแล้วฟื้นมาสองครั้ง จะมาเล่าประสบการณ์ให้ข้าราชการและผู้สนใจฟังที่ห้องประชุมของกรมฯ
น่ะค่ะ คุณป้าจะไปฟังกับพวกเราไหมคะ”
“ไปซี
ป้าก็ชอบฟัง จะได้นํามาไต่สวนเทียบเคียงกันดูว่าที่พันเอกเสนาะไปพบเห็น
เมื่อนํามาเปรียบเทียบกับธรรมปริยัติและธรรมฝ่ายภาคปฏิบัติ
มีเหมือนกันหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง” ข้าพเจ้าตอบรับ และได้ไปตามกําหนดนัด
คําบอกเล่าของนายทหารซึ่งเคยตายแล้วฟื้น
ได้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบมาระหว่างที่หัวใจหยุดทํางาน
และหมดลมหายใจลงทั้งสองครั้ง ครั้งแรกหมดแรงเพราะเล่นไพ่หามรุ่งหามค่ำค้างวันค้างคืน
อยู่กับเพื่อน ไม่ได้รับประทานอาหาร
“ผมลืมตาไม่ขึ้น
ได้ยินเสียงเหมือนระฆังดังแว่วๆ มีเสียงเหมือนพระสวดมนต์ รู้ว่าแม่ของผมเอาดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือ
บอกผมให้นึกถึงพระอะระหัง ผมรู้สึกคอแห้ง จึงแลบลิ้นเลียริมฝีปาก (ตอนฟื้นผู้เฝ้าไข้บอกว่าแลบลิ้นยาวมาก)
น้ำตาของแม่ที่หยดลงถูกผม ผมรู้สึกว่าเย้น...เย็น
ต่อจากนั้นจึงได้ยินเสียงมีอํานาจมาก (แต่มองไม่เห็นตัวคนพูด) เรียกชื่อผม
บอกว่าผมตายแล้ว ให้ทําตามคําสั่ง
คําสั่งที่ได้รับคือให้เดินไปตามทาง
ตลอดทางมีกลิ่นหอมประหลาดจากรากไม้ มีผู้คนร่วมเดินทางมากมาย ล้วนแต่นุ่งห่มคลุมศีรษะด้วยผ้าขาว
ใบหน้าของเพื่อนร่วมทางเละๆ เหมือนมะขามเปียก ตามสองข้างทางมีอาหารวางเรียงอยู่เต็ม
เมื่อถึงอาหารที่เคยใส่บาตรไว้สมัยมีชีวิต เจ้าหน้าที่ก็จัดให้รับประทาน
แต่ไม่มีน้ำให้ดื่ม เพราะไม่เคยทําบุญด้วยน้ำไว้เลย”
พันเอกเสนาะฯ รู้สึกเสียใจ และคิดอยากกลับฟื้นมีชีวิตอีกครั้ง เพื่อมีโอกาสทําบุญด้วยน้ำ
ท่านจึงหนีจนหกล้มและได้ฟื้นขึ้นมา จึงได้เริ่มประกอบกุศลกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น
การตายครั้งที่สอง มีรายละเอียดต่างๆ
มากกว่าครั้งแรก มีแผ่นแก้วมารองรับให้นอนไป
ไม่มีเสียงวางอํานาจน่าเกรงกลัวอย่างครั้งแรก อาจเป็นเพราะครั้งหลังประกอบกุศลกรรมก่อนตายไว้มาก
ได้พบเห็นที่อยู่ใหม่ของตนเองในสวรรค์ ได้เห็นเพื่อนที่ตายแล้วไปอยู่กันอย่างไร
และรู้เห็นว่าเพื่อนคนใดกําลังจะตายไปตามลําดับก่อนหลัง รู้ถึงวันตายของตนเองแน่นอนในครั้งที่สาม
ได้เห็นทั้งนรกและสวรรค์
สรุปแล้ว
ข้าพเจ้าพอประมวลความรู้สึกของผู้เล่าได้ว่า ในการตายครั้งแรกมีความทุกข์ใจมาก
เป็นห่วงมารดา ภรรยาและลูกๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ที่ไม่สบายใจมากที่สุดคงจะเป็นความว้าเหว่ที่ต้องเดินทางคนเดียวในการตายครั้งแรก
และไม่รู้จุดหมายปลายทาง
อีกรายหนึ่ง
ข้าพเจ้ารู้จักในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลานั้นข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องไปบรรยายธรรม
และให้การอบรมธรรมปฏิบัติที่กลุ่มปฏิบัติธรรมการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ตั้งอยู่บางรัก สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอายุยี่สิบปีเศษ
ขาพิการข้างหนึ่งเพราะเป็นโปลิโอมาแต่เด็ก ประกอบอาชีพรับวาดภาพเหมือน
ได้ให้ความสนใจเข้าฟังด้วยเป็นประจํา
เขาได้เล่าถึงการตายแล้วฟื้นของเขาเองให้ฟังในการผ่าตัดครั้งหนึ่ง
ภายหลังที่ถูกวางยาสลบแล้ว
"ผมลุกขึ้น
ออกมายืนมองดูบนเตียงที่เพิ่งลุกมา เห็นร่างเดิมของผมนอนหลับตานิ่งอยู่
มีพยาบาลและหมอวิ่งเข้าวิ่งออกกันวุ่นวาย ทำอะไรยุ่งอยู่กับร่างที่นอนอยู่นั่น
ผมพูดกับพวกเขาว่า ผมอยู่นี่ ผมอยู่นี่ ก็ไม่มีใครพูดกับผมสักคน ดูเหมือนไม่มีใครมองเห็นผมเลย
ผมไม่รู้จะไปไหน
จึงเดินเรื่อยเปื่อยออกมาข้างนอกแล้วอยากกลับบ้าน
นึกเท่านั้น ตัวเองก็ปรากฏตัวอยู่หน้าบ้าน พอจะเข้าไปในบ้าน มีผู้หญิงแก่สูงอายุ นุ่งผ้าลายร้องห้ามไม่ให้ผมเข้าไป
เขามีหน้าที่ดูแลบ้านนี้อยู่ ผมต้องอ้อนวอนขอร้องต่างๆ จึงได้รับอนุญาต
พอเข้าบ้านได้ก็เห็นพ่อแม่พี่น้อง แต่ไม่มีใครเห็นผม พูดกับใคร ก็ไม่มีใครพูดด้วย
ผมจึงรู้ว่าตนเองตายแล้ว
กําลังรู้สึกเสียใจ
ไม่รู้จะไปทางไหน ก็มีมือใหญ่ของใครก็ไม่รู้ มองไม่เห็นตัว มาจับตัวผมลอยลิ่วๆ
ขึ้นไปในที่สูงขึ้นทุกทีๆ มือนั้นใหญ่มากครับ มีกําลังมากด้วย ผมไม่มีเรี่ยวแรงต่อสู้เหลืออยู่เลย”
รายชายพิการผู้นี้พอมือใหญ่หิ้วไปดูสวรรค์ชั้นต้นๆ
ก็พอตามไปดูได้ แต่พอจะถูกหิ้วต่อให้ไปสูงขึ้น เจ้าตัวเล่าว่า รู้สึกทนไม่ได้ให้เร่าร้อน
อึดอัดทุรนทุราย ต้องร้องว่า
“ไปไม่ได้
ไปไม่ได้ ปล่อยตัวเถอะ ปล่อยตัวเถอะ ขอให้ลงมาชั้นต่ำๆ หน่อย หรือจะพาไปดูที่อื่นๆ
ที่ไม่ใช่ข้างบนนั่นก็ได้”
มีเสียงดังตอบมาว่า “ไปไหนไม่ได้อีกแล้ว
เดียวเข้าร่างไม่ได้ เพราะร่างเก่าที่ทิ้งมาอาจจะมีอันตราย ต้องรีบกลับแล้ว
แต่ก็กลับไปอย่านานนัก จะคอยอยู่นะ แล้วรีบกลับมา”
สิ้นเสียงมือนั้นก็ปล่อยตัว
ร่างของผู้เล่าก็ลอยลิ่วๆ หล่นลงมา เจ้าตัวเล่าว่า ตอนหล่นลงมาก็มองเห็นทัศนียภาพของกรุงเทพฯ
เหมือนกระโดดร่มจากเรือบิน แต่ภาพนั้นชัดเจนมาก ไม่มีอะไรบัง เห็นบ้านเรือน ตึกราม
ต้นไม้ใบหญ้าแม่น้ำลําคลอง เห็นกระทั่งหลังคาโรงพยาบาลที่ทิ้งร่างไว้หลังจากผ่าตัด
พอหล่นผ่านหลังคาลงมาก็ไม่เจ็บอะไร เพราะตัวเวลานั้นเบามาก
(กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันเป็นกายโปร่งเบา ไร้น้ำหนัก)
มองเห็นบุรุษพยาบาลสองคนกําลังเข็นเตียงที่วางร่างกายเนื้อของเขาอยู่บนนั้น
จะเอาลงทางลิฟท์ไปเก็บในห้องเก็บศพ คนเล่าเห็นดังนั้นก็รีบร้อนไปที่ร่างของเขา
เอาหัวชนก็แล้ว กอดตัวก็แล้ว ก็เข้าร่างเดิมไม่ได้
กําลังชุลมุนเข้าร่างด้วยท่าทางต่างๆ
ก็ยังเข้าไม่ได้อยู่นั้น เตียงก็ถูกเข็นมาถึงประตูลิฟท์ เข้าประตูได้แล้ว
แต่กายฝันก็ยังเข้าร่างไม่ได้ เตียงเข้าไปคาประตูลิฟท์อยู่ครึ่งหนึ่ง
ไฟฟ้าที่ลิฟท์ก็ดับลงอย่างอัศจรรย์ เสียงดังสั่งมาโดยไม่เห็นตัวว่า
"ออกมายังไงก็เข้ายังงั้นซี!”
ผู้เล่าฟังแล้วจึงทําตาม
ตอนออกจากร่างเป็นท่านอน เขาก็จึงปีนขึ้นบนเตียง ไปนอนทาบตัวกับร่างเดิม
(ศูนย์กลางกายต้องตรงกันจึงเข้าร่างได้) จึงฟื้นขึ้น พอรู้สึกตัวในร่างเก่า
รู้สึกหิวน้ำเป็นกําลัง ก็ร้องเสียงแผ่วๆ ออกมา “ขอน้ำกินหน่อยครั...บ
ข...อ น้ำ...ครั...บ”
บุรุษพยาบาลสองคนได้ยินเสียงศพพูดได้
ยังเห็นลืมตาขึ้นด้วย ทั้งคู่ไม่สนใจเรื่องเสียงขอน้ำกินเลย
ปล่อยเตียงได้ก็เผ่นหนีกันตึงตังโครมคราม ร้องเสียงลั่น “ผีหลอก...ผีหลอก...”
วิ่งไปร้องไปจนเงียบเสียง
"ตอนนั้นนอกจากหิวน้ำมากแล้ว
ผมเจ็บหน้าอกที่สุด ผมนึกรู้ว่าตอนผมหยุดหายใจ หมอคงช่วยกันปั้มหัวใจผมเป็นการใหญ่
จึงเจ็บระบมยังงี้ บุรุษพยาบาลหนีไปหมดแล้ว ใครๆ ก็ไม่มีผ่านมา ผมก็เลยต้องนอนรออยู่พักใหญ่
จึงมีเสียงหมอเสียงพยาบาลเดินพูดกันเอะอะ มาให้คนช่วยกันเข็นผมกลับ” คนตายแล้วฟื้นเล่าต่อ
บอกว่าตายไปประมาณ ๕-๖ ชั่วโมง
ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ในวันที่ ๑๕
ธันวาคม ๒๕๓๒ คนเล่าเพิ่งมาหาข้าพเจ้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคมนี้เอง บอกว่า
"ป้าครับ
หมอให้ผมเข้าโรงพยาบาลอีกครับ คราวนี้ผ่าแถวไขสันหลัง ผมรู้สึกใจไม่ดีเลยครับ
มันเป็นการผ่าตัดใหญ่กว่าทุกคราวที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าผมจะไม่ได้กลับ (ตาย) มาอีกแล้วครับ
เพื่อนๆ ที่ผ่าตัดแบบเดียวกันก่อนหน้าผมเนี่ย ไม่กลับเลยสักคนเดียวครับ”
“ทําใจให้สบายซี
เราเรียนภาวนากันแล้ว ตอนนี้คุณต้องไปถูกเก็บตัวก่อนผ่าตัดเป็นเดือนๆ ที่โรงพยาบาล
ก็ตั้งหน้าภาวนาไปทุกวันทุกคืนเลยนะคะ
บุญจะได้เกิดขึ้นมากๆ อํานาจบุญจะได้ช่วยคุ้มครองรักษา ทําใจดีๆ ป้าว่าโหงวเฮ้งของคุณยังดีอยู่นะ
ต้องได้กลับมาเจอป้าอีกนะ"
ข้าพเจ้าแข็งใจพูดปลอบ ทั้งที่มองหน้าเขาแล้ว
ก็รู้สึกใจหายอยู่ไม่น้อย สีหน้าค่อนข้างหมอง มีราศีดําคล้ำจับอยู่น่าเป็นห่วง
“ผมรู้ตัวดีครับป้า
คนที่มือใหญ่มากจับผมครั้งนั้น เค้าก็บอกว่า เค้าจะคอยผม เพราะจะต้องกลับไปใหม่ไม่นานนัก
ข้อสําคัญที่ผมรู้ตัวดี คือรู้สึกว่าข้างในของผมมันรวนเหมือนไม่ยอมทํางานครับ”
เขาพูดพร้อมกับทํามือวนไปทั่วหน้าอกและหน้าท้อง
แสดงท่าทางอาการให้ข้าพเจ้าทราบว่าอวัยวะภายในบริเวณนั้นทํางานไม่ปกติ
เมื่อเจ้าตัวสังหรณ์ใจขนาดหนัก ข้าพเจ้าจึงถามอย่างไม่ต้องเกรงใจออกไปว่า
“ถ้าเครื่องจักรในตัวรวนกันขนาดนั้น
จะไม่กลับก็ช่างมันปะไร คุณจะได้เปลี่ยนหุ่นใหม่ รีบกลับมาเกิดทันที
ยังพอโตทันร่วมสร้างบารมีกับหมู่คณะเราต่อไป พอเกิดก็รีบมาให้ถึงวัดเลยนะ
เอาหุ่นดีๆ”
ข้าพเจ้าพูดอย่างให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา
เพราะคนฟังนั่งล้อมข้าพเจ้าอยู่ร่วม ๒๐ คน ทําสีหน้าบอกไม่ถูกกันอยู่ทั้งสิ้น
พูดแล้วก็นับนิ้วมือให้คนฟังดูเสียด้วย
แถมยังพยักหน้าว่าข้าพเจ้ายังทันได้เห็นให้รีบๆกลับมาเกิด
อีกฝ่ายไม่รู้สึกสนุกร่วมกับคําพูดสัพยอกของข้าพเจ้าเลย จึงตอบมาว่า
“ผมเป็นห่วงคุณแม่ครับ
ไม่มีใครเลี้ยงดู ผมอยู่ก็พอมีรายได้เลี้ยงท่าน ท่านแก่มากแล้ว
ผมอยากตอบแทนบุญคุณของท่านอีกสักระยะ”
ฟังแล้วข้าพเจ้าก็สลดใจ ครอบครัวนี้
มารดาของเขามีลูกถึง ๗ คน ลูกที่ดูแลท่านมากที่สุดกลับเป็นลูกพิการ
เขียนภาพเหมือนขายเลี้ยงมารดา ข้าพเจ้าก็พูดปลอบต่อไปอีก
"แต่ผมก็อดห่วงท่านไม่ได้
ไม่มีใครรักแม่หรอกครับ เพราะเค้าต่างมีครอบครัวกันหมด เค้าก็ต่างคนต่างรักครอบครัวของเค้าน่ะครับ”
เมื่อถูกยืนยันว่า ไม่สามารถปลงใจให้ตก
ข้าพเจ้าจึงปลอบด้วยไม้ตายทีเดียว
"คุณไม่ได้มีแม่คนเดียวเท่านั้น
เรามีมานับเป็นล้านๆ ชาติ นับจำนวนแม่ไม่ได้
และเราก็ต้องจากกับแม่เพราะความตายมาพรากทุกชาติ ไม่เราตายก่อนก็แม่ตายก่อน
มันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความอยากหรือไม่อยากของเราซักหน่อย ต้องตัดใจให้ได้
ถ้าไม่ตายก็กลับมาทํามาหากินเลี้ยงแม่และสร้างบารมีต่อ ถ้าถึงคราวตาย
ใจคอเศร้าหมองห่วงหน้าพะวงหลังยังงี้ จะไปดีได้ยังไง เดี๋ยวได้เป็นเปรต
เป็นสัตว์เดรัจฉาน จิ้งจก ตุ๊กแก หนู หรือตัวอะไรๆ คอยเฝ้าคนที่ตัวห่วงเท่านั้น
ทำกรรมฐานและช่วยงานวัดมาตั้งหลายปี จะยอมให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นเหรอ ค่อยๆ ไปลองคิดดู
ป้าก็ให้คําแนะนําได้แค่นี้แหละ คุณต้องช่วยตนเองแล้ว ทีนี้อย่าห่วงใครๆ เลย
ห่วงตัวเองเถอะค่ะ” อีกฝ่ายยิ้มแห้งๆ
ข้าพเจ้าพูดให้สติอีกครู่ใหญ่ สีหน้าของอีกฝ่ายก็ยังไม่ดีขึ้นนัก
ข้าพเจ้าเองก็หมดปัญญาปลอบต่อ เลยตัดบทไปว่า
“แต่ป้าว่าคงไม่เป็นไรน่า
เพราะคนมือใหญ่นั่นเค้าใจดีนะ คุณก็ลองบอกเค้าดีๆ ว่า ขอกลับมาเลี้ยงแม่ด้วย
มาสร้างบุญกุศลให้เต็มที่ด้วย แล้วจะแบ่งส่วนกุศลให้เค้า เอ้าลองติดสินบนดูนะ
ป้าว่าเค้าคงยอม
ดูอย่างพี่สาวของคุณยายอาจารย์ที่ป้าเล่าให้พวกคุณฟังซี
ยังติดสินบนพญายมได้เลย คุณก็เอามั่งชี ถึงจุดนี้ผู้ฟังยิ้มออก ดูมีความหวังขึ้น
แล้วก็ลาจากข้าพเจ้าไป
นี่เอามาเล่าว่ายังไม่ทันตายเลยค่ะ
เพียงแค่กลัวตายก็เป็นทุกข์ย่ำแย่แล้ว ใจเสีย ขวัญเสีย หมดกําลังใจ
ห่วงอาลัยคนอยู่ข้างหลังวุ่นวายไปหมด สิ้นใจลงก็คงเกิดในภูมิไม่ดีแน่นอน สําหรับรายนี้แม้จะพิการแต่เป็นคนรักดี
หมั่นกระทําบุญกุศลเป็นประจํา ชีวิตในบ้านก็เป็นหัวแรงเลี้ยงพ่อแม่
ทั้งที่ไม่ได้ร่ำเรียนสูง แต่มีความสามารถเขียนภาพเหมือนได้เก่ง (เป็นเอง
ไม่ได้เรียน) จึงมีคนมาจ้างให้เขียน รายได้ค่อนข้างดี งานศาสนานอกจากศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้ทาน
รักษาศีล เจริญภาวนาด้วยตนเองแล้ว ก็ยังบําเพ็ญเวยยาวัจจมัยกุศล ช่วยงานพระศาสนาในวิสัยของตนอยู่เป็นประจําทุกสัปดาห์
ไม่มีย่อท้อ ทําให้เหมือนได้รับเกียรติยศ ยมทูตที่มารับไม่แสดงร่างหรืออาการที่น่ากลัว
คตินิมิต กรรมนิมิตและกรรมอารมณ์" ก็ไม่น่ากลัว
ไม่เหมือนรายน้องสาวของครอบครัวข้างบ้านข้าพเจ้า
ตัวภรรยาเป็นผู้อ่านหนังสือเรื่อง “พบยมทูต” (จากความทรงจําฉบับรวมเล่ม
เล่มที่ ๑) ได้นําเรื่องยมทูตนุ่งผ้าแดงคุยให้ผู้เป็นสามีฟัง สามีพูดว่า
“อ้าว
เรื่องพรรค์ยังงี้มีจริงเรอะเนี่ย ตอนจิตรา (ชื่อสมมติของน้องสาว) กําลังใกล้จะตาย
เค้าร้องให้ผมช่วยด้วย มีคนนุ่งผ้าแดงตัวใหญ่โตมากมาจับตัวเค้าลากเอาไป ร้องให้ผมช่วยจนสิ้นใจไปเลย
ทําท่าทางหวาดกลัว ผมยังว่าเค้าบ้าก่อนตาย พูดอะไรไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่ยังไงๆ ผมไม่เห็นด้วยตนเอง
ก็ยังไม่ยอมเชื่ออยู่ดี”
คนพูดคนนี้ช่างน่าสงสาร
เขาจะยอมเชื่อเรื่องยมทูต เรื่องชาตินี้ชาติหน้า เรื่องบาปกรรมอะไรๆ ง่ายๆ ไม่ได้
เพราะคงเกรงตนเองจะมีบาป น้องสาวที่ตายก็ตายเพราะเสียใจที่ถูกเขาดุด่าจึงกินยาฆ่าตัวตาย
เขาไม่รู้ว่า เรื่องบาปกรรมนั้นไม่ใช่อยู่ที่ความเชื่อหรือไม่เชื่อ ทําบาปผลของบาปก็ต้องเกิดและตามให้ผลต่อผู้ทํา
จะเชื่อหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับจริงที่ต้องเกิด
สําหรับรายนี้ไม่เชื่อเรื่องยมทูต
ไม่เชื่อเรื่องยมโลกมีจริง ชีวิตแต่ความประมาท ในกรณีอย่างนี้ เราควรเลือกเชื่อไว้จะได้ประโยชน์มากกว่า
เมื่อเชื่อว่าถ้ายังไม่สิ้นกิเลส ตายแล้วต้องเกิดอีก เราหมั่นทําบุญกุศลให้มากเข้าไว้
บุญนั่นเองจะเป็นเพื่อนเดินทางของเรา ถ้าพูดถึงชาติหน้าไม่มี
ในชีวิตปัจจุบันคนไม่ทําบาปย่อมอยู่สุขสบาย ไม่มีเวรมีภัยให้ใครมาคิดปองร้าย ชีวิตปัจจุบันก็เป็นสุข
เมื่อเป็นดังนี้ คนฉลาดควรเลือกเชื่อเรื่องยมทูต ยมโลก เรื่องชาติหน้า
จะได้ประโยชน์มากกว่า
ข้อสําคัญคนทําบุญกุศลไว้
ใกล้ตายก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์เรื่องคตินิมิต กรรมนิมิต และกรรมอารมณ์ ไม่ต้องหวาดกลัวลนลานดังตัวอย่างที่ข้าพเจ้าเอามาเล่าอยู่นี้
เพราะถ้ามีบุญมากๆ สิ่งที่ได้พบเห็นขณะใกล้ตายก็จะเป็นเรื่องดีๆ ให้ความอบอุ่นใจ
ถ้ามีบุญมากจริงๆ แม้แต่ยมทูตก็ไม่ต้องพบ
ทางสวรรค์จะส่งเจ้าหน้าที่และยานพาหนะสวยงามมารับตรงไปสู่สวรรค์ทันที
จะเหลือทุกข์เล็กน้อยก็ตรงความรู้สึกห่วงใยคนที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น
ซึ่งถ้าทําใจตัดเรื่องนี้ให้ขาด เลิกห่วงใย ความตายย่อมไม่น่ากลัว
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำเล่ม ๔ บทที่ ๗
ชีวิตหลังความตาย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:14
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: