มัจจุราชทวงชีวิต




คนที่ในเวลามีชีวิตอยู่ ไม่ได้ประกอบบาปกรรมร้ายแรง เวลากำลังจะตายจึงมีทุกข์ไม่มาก ตอนตายจริงคือตอนจิตดับ จึงมักรู้สึกวูบไปเท่านั้น แต่สําหรับคนที่ทําบาปเป็นอาจิณกรรม หรือมีความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง ปลงไม่ตกก่อนตาย ย่อมจะทุกข์มากอย่างรายญาติผู้ใหญ่ห่างๆ ของข้าพเจ้าท่านหนึ่ง

รายนี้ พ่อให้ข้าพเจ้าเรียกว่า ปู่แป๊ะ เวลานั้นข้าพเจ้าอายุยังไม่เต็ม ๑๐ ขวบ ได้พูดค้านพ่อว่า

“ไม่เรียกว่าปู่ไม่ได้หรือคะพ่อ หนูไม่อยากมีปู่ขี้เมาขนาดหนักยังงั้น แล้วแม่ก็บอกว่า เขาเป็นคนชอบรับอาสาชาวบ้านทุบหัววัวควายให้ตายเป็นประจํา ก็ไม่ใช่ปู่จริงๆ ของหนูซักหน่อย ไม่ต้องเรียกหรอกนะคะ หนูไม่ชอบ”

นิสัยหรือจะเรียกให้ถูกต้องคือสันดานของข้าพเจ้าเป็นดังนี้มาตั้งแต่จำความได้ และเป็นคนที่เกลียดคนทําชั่วเอาเสียจริงๆ จังๆ แม้จะรู้ว่าเป็นญาติให้สนิทแค่ไหนก็ตาม ใจมันก็ไม่ยอมรับ แต่ความที่รักพ่อรักแม่มาก เวลาท่านใช้ให้ทําอะไร ก็อดทนทําเพื่อให้ท่านทั้งสองสบายใจ ครั้งใดที่ท่านให้ข้าพเจ้ากราบไหว้ญาติๆ ซึ่งมีนิสัยชอบทําบาปทํากรรมของท่าน ข้าพเจ้าจะรู้สึกไม่สบายใจเลย ต้องฝืนใจกระทํา บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้ามักจะใช้อุบายแอบปลีกตัวหนีไปที่อื่นเสียก่อนที่จะถูกบังคับให้ไหว้

ก็คนที่ชื่อปู่แป๊ะคนนี้ เป็นคนแก่มากแล้ว ผมหงอกขาวทั้งศีรษะ หน้าตาเหี่ยวย่นเป็นริ้วเป็นรอย เห็นกันครั้งใดข้าพเจ้าอยากวิ่งหนีเพราะมีแต่กลิ่นเหล้าฟุ้งออกมาจากปาก ตามเนื้อตามตัวก็เหม็นกลิ่นเหล้าไปด้วย งานที่ปู่แป๊ะชอบทําที่สุดคืองานฆ่าวัวฆ่าควาย ในตําบลที่บ้านของปูแป๊ะตั้งอยู่เป็นที่ห่างไกลตัวเมืองมาก สมัยนั้นไม่มีถนนหนทาง รถชนิดต่างๆ ยังไม่มี เห็นกันอยู่ก็แต่รถไฟ วันหนึ่งๆ จะวิ่งผ่านทุ่งนาก็สัก ๒-๓ ขบวน บ้านใครจะจัดงาน ไม่ว่าจะงานแต่งงาน บวชนาค งานศพ โกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ หรืออะไรๆ ก็ตาม เรื่องที่จะคิดไปซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์จากตลาดในตัวเมือง ไม่มีทางทําได้ ต้องเดินทางด้วยเท้าแต่เช้ามืด กลับมาก็เย็นมืดค่ำ เนื้อสัตว์ชนิดไหนก็เน่าหมด เพราะสมัยโน้นน้ำแข็งเป็นของหายาก

ดังนั้น บ้านที่จะจัดงานทุกบ้าน จึงต้องซื้อสัตว์เป็นๆ มาขังไว้ และให้คนที่ชํานาญฆ่า มีทั้งวัว (บางทีก็ควาย) หมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลา ปู่แป๊ะมีความชํานาญเรื่องฆ่าวัวควาย ใครๆ ก็มาจ้างบ้างวานบ้างอยู่ไม่ขาด บางทีคนต่างตําบลก็มาตามไปฆ่า จนดูเหมือนอาชีพประจําของแก คือ ดื่มเหล้าและฆ่าวัวควาย

แล้ววันหนึ่ง มีคนมาส่งข่าวว่าปู่แป๊ะป่วยมาก ร้องหาพ่อของข้าพเจ้า พ่อแต่งตัวพร้อมกับพูดชวนว่า

สองคนแม่ลูกจะไปเยี่ยมคนป่วยด้วยกันหรือเปล่า สําหรับพี่ เห็นท่าจะต้องไป เลี่ยงไม่ได้ เพราะคนเจ็บถามหา พ่อถามแม่พร้อมทั้งกล่าวเป็นเชิงให้โอกาสเลือก แม่ตอบพ่อว่า

พี่ไปคนเดียวเถอะ คนเจ็บใกล้ตายยังงั้น ลูกเห็นเข้าก็จะกลัวเอาเปล่าๆ คนที่มาบอกข่าวเขาเล่าด้วยไม่ใช่รึว่าอาแป๊ะแกทําอาการน่ากลัว

ข้าพเจ้าอยากทราบเรื่อง อาการน่ากลัวนั่นเป็นกําลังว่าเป็นอย่างไร จะถามพ่อ พ่อก็จะรีบไป พอถามแม่ แม่ตอบว่า

แม่ฟังคนเล่าไม่ค่อยชัดนักหรอกลูก เวลาเขาพูดให้พ่อของหนูฟัง เสียงของเขาค่อยมาก ได้ยินอยู่หน่อยหนึ่งว่า เหมือนวัว เหมือนวัว เอาไว้พ่อกลับมา หนูค่อยถามพ่อนะจ๊ะ

พ่อไม่กลับบ้านในวันนั้น แม่พูดกับข้าพเจ้าว่า พ่อไม่กลับบ้าน แสดงว่าปู่แป๊ะคงตายแล้ว พ่อของหนูจึงต้องอยู่ช่วยจัดงานศพ เฮ้อ หมดเวรหมดกรรมกันเสียที อยู่ไปก็ทำแต่บาป

ปูแป๊ะชอบทําบาป ทําไมดูเหมือนพ่อเคารพรักแกจังเล่าคะ ชอบฆ่าวัวด้วย กินเหล้าด้วย หนูไม่เห็นชอบสักนิดเดียว ข้าพเจ้าบ่น ทำนองปรารภกับมารดา ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า

ปู่แป๊ะแกรักพ่อของหนูมาก แกว่าลูกของแกมีตั้ง ๗ คน ไม่มีใครดีเท่าพ่อหนูสักคนเดียว เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดจะรังแกพ่อของหนู ปู่แป๊ะแกจะไปอาละวาดป้องกันทันที แถมขู่พวกเหล่านั้นเสร็จว่า ใครทําอะไรหลานคนนี้ของแก แกจะจองเวรล้างผลาญให้ถึงที่สุด

ข้าพเจ้าฟังแล้วเข้าใจทันที เพราะเวลานั้นกํานันในตําบลที่ข้าพเจ้าอาศัยไม่อยู่ในศีลธรรม ชอบเบียดเบียนชาวบ้าน และพ่อมักจะช่วยแนะนำชาวบ้านให้รู้ทันเล่ห์เหลี่ยม จนกระทั่งชาวบ้านพากันมานับถือพ่อกว่ากํานัน กระทั่งทางอําเภอเรียกพ่อไปถามว่าจะตั้งให้เป็นกํานันเสียเลยเอาไหม พ่อไม่รับคําเพราะกํานันมีเงินเดือนน้อยกว่าครูมาก พ่อจึงมีศัตรูอยู่หลายคน

เมื่อพ่อกลับมา ข้าพเจ้ารีบถามถึงอาการน่ากลัวก่อนตายของปู่แป๊ะ พ่อเล่าให้ข้าพเจ้ากับแม่ฟังว่า

ไม่รู้จะเล่าอย่างไรถูก เจ้าประคุณเอ๋ย น่ากลัวจริงๆ เมื่อพ่อไปถึง แกกําลังทุรนทุรายคลานสี่เท้า ทําท่าเหมือนวัวตอนที่กําลังถูกจูงไปผูกกะหลักสําหรับจะทุบหัวนั่นแหละลูก หนูไม่เคยเห็น เวลาเขาจะฆ่าวัว เขาก็จะจูงมันไปผูกที่หลัก ตอนนี้วัวส่วนมากมันจะรู้ตัวว่ามันจะถูกฆ่า มันก็จะดื้อ พยายามดึงเชือก เอาขายันพื้นดินถอยหลังกรูด คนก็จะพากันมาช่วยดึงรั้งจนวัวสู้ไม่ได้ ต้องถูกผูกหลัก ถูกทุบหัวจนได้

พ่อหยุดเล่า คงไม่อยากนึกถึงเหตุการณ์ที่ไปเห็น ข้าพเจ้ารีบถามต่อ แล้วไงอีกคะ พ่อมองหน้าข้าพเจ้าแสดงสีหน้าไม่สบายใจนัก เล่าต่อว่า

ที่น่าสลดใจจนพูดไม่ถูก ปู่แป๊ะแกร้องเสียงไม่เหมือนคนเลยลูก แกร้องเสียงเหมือนวัวตอนถูกทุบหัวหรือตอนถูกเชือดคอไม่มีผิดเลยลูก เสียงดัง โ...อ้...ก โ...อ้...ก ดังมากเชียว ได้ยินไปทั้งหมู่บ้าน แกดิ้นทุรนทุรายตูมตามแทบจะตกบ้าน ไม่รู้เอาเรียวแรงมาจากไหน พวกลูกๆ เลยต้องเอาเชือกช่วยกันมัดมือมัดเท้าผูกไว้กับเสาเตียงนอน ไม่ใช่ผูกแบบนอนหงายนะลูก เพราะถ้านอนหงายแกจะสําลักน้ำลายที่ออกจากปากเป็นฟองฟอดอยู่นั่น ต้องผูกแขนขาอยู่ในท่าคลานสี่ขาเหมือนล่ามวัวนั่นแหละ

ข้าพเจ้าฟังแล้วก็รู้สึกหวาดหวั่น แต่ก็อดถามต่อไม่ได้ เวลาปู่แป๊ะเห็นพ่อไปเยี่ยม แกจำพ่อได้มั๊ยคะ

พ่อว่าแววตาของแกที่มองพ่อนั้นแกต้องจําพ่อได้ มองดูเหมือนแกร้องให้พ่อช่วย แกทําอาการบุ้ยใบ้เหมือนเห็นสิ่งน่ากลัวเหลือกําลังเหมือนมีใครกําลังจะมาฆ่า แกกลัวลนลานอย่างที่เรียกว่า กลัวตาเหลือก ใบหน้าแสดงอาการเจ็บปวดมาก แกร้องดังสุดเสียงทีเดียว พยายามจะพูดกับพ่อ แต่เสียงที่ออกมากลายเป็นเสียงวัวใกล้ตายไปหมด เสียงโอ้ก โอ้ก คล่อก คล่อก ดังลั่นอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน พวกลูกๆ ต้องเปลี่ยนเวรกันเฝ้า แต่ละคนเห็นอาการทรมานยังงั้น  ก็คิดเหมือนกันหมดเลย คือคิดอยากให้ตายเร็วๆ

"แปลกจังนะคะ เป็นคนแท้ๆ ทําไมไม่ร้องเหมือนคน พูดเหมือนคน ไปร้องเสียงวัวได้ยังไง ปากก็มีเหมือนเรา น่าจะพูดเหมือนเรา ร้องเหมือนเราได้ ไม่ใช่มีปากเล็กเท่ารูเข็มอย่างเปรตตาก้อนซักหน่อย(จากความทรงจําฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๑) จะได้อ้าให้กว้างพูดอย่างเราไม่ได้ ส่งเสียงทีไร เป็นดังวี้ด...วี้ด...ทุกที ข้าพเจ้าปรารภ แม่จึงอธิบายให้ฟังว่า

เมื่อตอนแม่รุ่นสาวเพิ่งชอบกับพ่อของหนู ยังไม่ทันได้แต่งงานกัน แม่ถูกลูกหมาตัวเล็กนิดเดียว แต่มันเป็นบ้ากัดเอา แม่ก็ไม่เฉลียวใจ จึงไม่ได้เข้าไปฉีดยาในเมือง ต่อมาพิษกําเริบ แม่กระหายน้ำเป็นกำลัง แต่ดื่มน้ำไม่ลงแม้แต่อึกเดียว คอมันแข็งหมดทั้งคอเลยลูก ลิ้นก็แข็ง เวลาแม่ส่งเสียงจะพูดขอน้ำดื่ม เสียงที่ออกมาก็เป็นเหมือนเสียงหมาเห่า แม้แต่แม่จะบอกตาของลูกว่า แม่เอาสายสร้อยไว้ในลิ้นชักโต๊ะเครื่องแป้ง เสียงที่พูดก็กลายเป็นเสียงหมา เพราะลิ้นมันแข็ง ขาก็แข็ง มือก็แข็ง ปวดหัวมาก ลุกยืนไม่ได้ ต้องคลานทุรนทุรายไปมาเลยเหมือนหมาจริงๆ แล้วทีนี้ ทั้งคลานทั้งเห่าเชียวจ้ะ แต่แม่ก็รู้ตัวนะลูกว่าแม่เป็นคน เพียงแต่เราไม่สามารถบังคับประสาทส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เท่านั้น ปู่แป๊ะนี่ แม่ว่า แกต้องรู้ตัวเหมือนตอนแม่เจ็บหนักนั่นแหละ เพียงแต่บังคับร่างกายไม่ได้ ลิ้นแข็ง คอแข็ง คลานกระเสือกกระสน เสียงที่ร้องจึงออกมาเป็นเสียงเหมือนวัวใกล้ตาย เพราะทำบาปเรื่องฆ่าวัวไว้ไงจ๊ะ

ข้าพเจ้าฟังแล้วสงสารแม่จับใจ คลานเข้าไปนั่งกอดแม่ไว้กลั้นร้องไห้ถามท่านว่า

หนูรู้ว่าใครคลั่งเพราะหมาบ้ากัดแล้วต้องตายทั้งนั้น ทำไมแม่จึงไม่ตายคะ ลืมเรื่องปู่แป๊ะ หันมาสนใจเรื่องของแม่จนหมด

สมัยโน้นเขาใช้ยาไทยโบราณ พ่อของหนูเดินข้ามทุ่งข้ามท่าไปเป็นวันๆ ไปหาหมอ หมอให้ยามาต้มกินด้วย ให้ยามาพอกแผลด้วย เนื้อเน่าตรงแผลเป็นไตแข็ง ยากัดหลุดออกมาทั้งก้อน ยาต้มก็ขับพิษออกมา แม่จึงรอดตายจ้ะ

ปู่แป๊ะอาจเป็นอย่างที่แม่ว่าก็ได้ แต่ข้าพเจ้าอยากรู้นักหนาว่าปู่แป๊ะเห็นอะไร

พ่อตอบข้าพเจ้าไม่ได้ ปู่แป๊ะก็ตายไปแล้ว ใครก็ถามแกไม่ได้ แกตายไปพร้อมกับความหวาดกลัวลนลานถึงขีดสุด ข้าพเจ้าเก็บปัญหานี้ค้างอยู่ในใจนานนับ ๒๐ ปี กว่าจะได้ศึกษาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติจึงได้ทราบว่า คนที่กําลังจะตายนั้นห้ามตนเองไม่ได้ ทั้งกายและทั้งใจของสองสิ่งนี้เวลาปกติเราพอควบคุมให้ทําอย่างโน้น ทําอย่างนี้ตามความปรารถนาได้บ้าง แต่ขณะกําลังจะตายควบคุมไม่ได้เลยสักอย่าง

เวลาข้าพเจ้าคุยปัญหานี้กับใครๆ ข้าพเจ้าชอบพูดเปรียบเทียบว่า ใจของคนเราเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองทําไว้ทั้งทางกาย วาจา ใจ เหมือนใจเป็นฟิล์มภาพยนตร์บันทึกชีวิตไว้ ในยามร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพปกติ ก็เหมือนเครื่องฉายภาพยนตร์ประจําตัวยังมีสภาพดี ต้องการให้คิดเรื่องอะไร ใจก็พอจะทําตามเหมือนฉายภาพยนตร์เรื่องที่ตนอยากดู แต่ครั้นยามใกล้ตาย เหมือนเครื่องฉายเสีย ฟิล์มก็จะกรอกลับไปตามเรื่องตามราว บังคับไม่ได้ ถ้าในชีวิตสร้างไว้แต่ภาพเหตุการณ์ดีงาม ฟิล์มจะถูกกรอไปหยุดอยู่ตอนใด ก็มีแต่เรื่องดีที่เป็นกุศล เจ้าของฟิล์มเห็นแล้วก็ชื่นใจ มีความยินดี ใจคอผ่องใส ดับจิตแล้วย่อมไปสู่สุคติ ตรงข้าม ถ้าฟิล์มนั้นบันทึกไว้แต่ความชั่ว ใจย่อมเศร้าหมอง ตายแล้วไปทุคติ ดังนั้นคนฉลาด ย่อมจะต้องสร้างแต่เหตุการณ์ดีๆ ไว้ในฟิล์มชีวิต

ปู่แป๊ะ ญาติห่างๆ ของข้าพเจ้าคนนั้น บันทึกฟิล์มชีวิตไว้แต่เรื่องบาปปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ใหญ่ เมื่อใกล้ตาย กรรมบันดาลให้เห็นภาพสถานที่ที่ตนจะต้องไปเกิด ที่นั่นคือนรก ต้องมองเห็นเครื่องทรมานอย่างที่ตนเคยทํากับวัวควาย สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตนเอง รู้สึกหวาดกลัวทุรนทุรายหนี ตาเหลือกตาลาน แต่ก็หนีไม่พ้นถูกทรมานจนได้ จึงได้ส่งเสียงร้องเป็นที่น่าสังเวชใจดังกล่าวนั้น มีความทุกข์จากการตายโดยตรงอย่างนี้

บางรายก็มองเห็นเป็นเหตุการณ์ที่ตนเคยทําไว้ เป็นเหตุการณ์ไม่ดี เห็นแล้วก็เร่าร้อนไม่สบายใจ ไขว่คว้าหาที่พึ่ง ก็ไม่มีใครให้พึ่งได้ เป็นทุกข์มากมายยิ่งนัก ใจคอก็เศร้าหมอง ตายแล้วไปทุคติ

บางรายมีการกระทําของตนเองในเวลาใกล้ตายขณะนั้นเป็นอารมณ์ เช่น นึกโกรธคนโน้น เกลียดคนนี้ อยากจะทําร้าย หรือด่าว่า  แต่เมื่อใกล้ตายไม่มีแรงทําได้อย่างใจ อารมณ์นั้นก็กลายเป็นภาพให้ตนเห็นขึ้นมาได้เองว่า ได้ทํากรรมไม่ดีตามที่ตนต้องการ ใจก็ไม่ผ่องใส ตายแล้วไปทุคติ

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๔ บทที่ ๘
มัจจุราชทวงชีวิต มัจจุราชทวงชีวิต Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.