วิญญาณรับรู้


อย่างสุดท้ายเป็นขันธ์หมวดที่ ๕ ถ้าเรียกว่านามขันธ์ก็เป็นชนิดที่ ๔ ชื่อ วิญญาณขันธ์ วิญญาณในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจมักใช้ในการเรียกคนที่ตายแล้ว ไปเกิดในภูมิอื่นที่คนอย่างเรา ๆ ไม่เห็นตัว ซึ่งเป็นความหมายที่คลาดเคลื่อนไปอย่างยิ่ง

ความจริงวิญญาณก็คือจิตใจนั่นเอง แต่ที่เราเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป เป็นเพราะเรียกตามหน้าที่ของจิตใจ ทําหน้าที่รู้แจ้งในสิ่งที่กระทบ เช่น พอตากระทบกับสีก็รู้ หูกระทบกับเสียงก็รู้ จมูกกระทบกับกลิ่นก็รู้ ลิ้นกระทบกับรสก็รู้ ผิวกายกระทบกับสิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็งก็รู้ เรื่องราวต่าง ๆ กระทบใจก็รู้ อย่างนี้เราก็เรียกจิตใจที่ทําหน้าที่รู้เหล่านี้ว่า วิญญาณ

ถ้าทําหน้าที่ คิด ก็เรียกว่า จิต

ทําหน้าที่ เก็บรวบรวมสิ่งที่มากระทบไว้ภายใน ก็เรียกว่า หทัย

ทําหน้าที่ น้อมไปหาสิ่งที่มากระทบ  เช่น ตาน้อมไปหารูป (สี) เรียก มโน

ถ้าเรียกจิตใจในลักษณะเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส ใช้คำว่า ปัณฑระ

เรียกในฐานะเป็นเครื่องเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่อยู่ภายนอกและภายใน (เช่น สีเป็นของภายนอก ประสาทตาเป็นของภายใน ก็ใช้ชื่อว่า จักขายตนะ) คือ เชื่อมระหว่างเรื่องราวต่าง ๆ กับใจ เรียกชื่อว่า   มนายตนะ

ถ้าเรียกในฐานะครอบครองความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มนินทรีย์ ดังนี้เป็นต้น

วิญญาณเกิดขึ้นในร่างกายของเราได้ ๖ ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และการเกิดขึ้น ทําการรับรู้ได้ทีละวิญญาณ ถ้าเวลานั้น วิญญาณทางตาทําการรับรู้เรื่องรูป (สี) อยู่ วิญญาณทางอื่นก็ยังไม่เกิด ไม่ใช่เราจะสามารถรู้อะไร ๆ ได้พร้อมกันทุกทาง

วิญญาณ สัญญา และปัญญา มีความหมายคล้ายกัน แต่ลุ่มลึกต่างกัน เช่น ในขณะที่มีผู้ยื่นของอย่างหนึ่งให้เรา วิญญาณทำหน้าที่รับรู้ว่าผู้นั้นให้ของ จึงเกิดเวทนาดีใจ เกิดตัณหาอยากได้ เกิดอุปทานยึดถือว่าควรรับ แล้วเกิดภพคือสภาวะของการเอื้อมมือรับ นี่เป็นรู้สึกระดับ วิญญาณ

เมื่อรับของมาแล้ว มองดูก็ทราบว่าเป็นธนบัตร เป็นของมีค่าใช้ซื้อของได้ ที่รู้ว่ามีค่า เพราะจําได้ นี่เป็นความรู้ระดับสัญญา คือ จําได้หมายรู้

แต่ถ้ารู้ลึกซึ้งละเอียดถี่ถ้วนขึ้นไปอีก เช่น รู้ว่าธนบัตรสมัยไหน มีมูลค่าเท่าใด เป็นสิ่งสมมติใช้ในโลกนี้ ตายแล้วเอาไปด้วยไม่ได้ ควรบริจาคทำทานเพื่อให้เป็นเสบียงติดตัว ก็จะเป็นนำทรัพย์นั้นติดตัวไปใช้ในโลกหน้าได้ รู้ในระดับนี้ เรียกว่าปัญญา รู้ตามความป็นจริง

วิญญาณแต่ละประเภททั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบครบบริบูรณ์ คือ

ทางตา ต้องมีสี (รูป) มีประสาทตา มีแสงสว่าง มีระยะทาง และมีความใส่ใจ (คือความตั้งใจดู) มีครบดังนี้แล้ว จักขุวิญญาณจึงเกิด

ในทํานองเดียวกัน ทางหู ก็ต้องมีเสียง มีอากาศ มีประสาท มีความใส่ใจ

ทางจมูก มีกลิ่น มีอากาศ มีประสาทจมูก มีความใส่ใจ

ทางลิ้น มีรส น้ำ ประสาทลิ้น ความใส่ใจ

ทางกาย มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ประสาทกาย ความใส่ใจ

ทางใจ มีเรื่องราวต่าง ๆ ความใส่ใจ ดังนี้เป็นต้น

วิญญาณทั้ง ๖ เป็นของไม่คงที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ในที่สุดก็ดับไป ความไม่เที่ยงนี้เอง ทําให้ทุกข์เกิดขึ้นและยิ่งมีการยึดถือด้วยอำนาจอุปาทานว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเราเป็นของเรา ต้องการให้เป็นไปตามความต้องการ ความทุกข์ก็ยิ่งพอกพูน

สมัยหนึ่งเมื่อครั้งเริ่มสร้างวัดพระธรรมกายใหม่ ๆ ข้าพเจ้าชอบชวนผู้ใต้บังคับบัญชาหลาย ๆ คนที่มีศรัทธาไปช่วยงานทุกวันอาทิตย์ มีอยู่ ๒ รายที่เป็นสาวใหญ่ จิตใจมีศรัทธา เมื่อข้าพเจ้าชักชวนทั้งคู่กลับปฏิเสธ โดยกล่าวว่า

“อาจารย์คะให้หนู ๒ คน ไปโรงพยาบาลเถอะค่ะ โรงพยาบาล...” ตอบพร้อมกับออกชื่อโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่ง

“อ้าว... ไปทําไมล่ะ มีใครป่วยเหรอค่ะ

ไม่ใช่ญาติหรือคนรู้จักหรอกค่ะ มีแต่ทหารที่ไปรบแล้วบาดเจ็บพิการกลับมาน่ะค่ะ อีกฝ่ายตอบ

“แล้วคุณไปช่วยอะไรเค้าได้ค่ะ ข้าพเจ้าถามอย่างสงสัย

“ช่วยได้แยะเชียวค่ะ หนู ๒ คนชอบไปนั่งคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ทหารที่ตาบอดเพราะถูกกับระเบิดน่ะค่ะ พวกนี้น่าสงสารที่สุด อายุยังน้อย ๆ กําลังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น บางทีทั้งตาบอดแขนขาขาดหมดเลยค่ะ พวกเค้ากลุ้มใจ คิดแต่อยากตายทุกวัน ๆ พอหนูไปเยี่ยมทุกอาทิตย์ ๆ เค้ามีความหวังค่ะ มีกําลังใจ ตั้งใจคอยให้ถึงวันอาทิตย์เร็ว ๆ  ให้หนูคุยให้ฟังบ้าง เข็นรถให้นั่งออกมารับอากาศเย็น ๆ ที่สนามหญ้าบ้างบางทีเค้าขออนุญาตทางโรงพยาบาลไปที่โน่นที่นี่ ให้หนูพาไป ก็ดูเค้ามีความสุขขึ้น ฝ่ายนั้นอธิบายเสียยืดยาว

“แล้วคุณเองมีความสบายใจดีรึเปล่าเล่าค่ะ ข้าพเจ้ามองหน้า

“หนูว่าหนูได้บุญนะคะ ทําให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมีกําลังใจ มีรายหนึ่งนะคะ พอบาดเจ็บมารู้ตัวว่าตาบอด แกเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่ หน้าตาหล่อมาก ทางบ้านก็มีฐานะร่ำรวย แต่ตนเองต้องมาพิการ กลุ้มใจมาก ถึงกับเดินเปะปะขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้นบนสุดของโรงพยาบาล จะกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลช่วยไว้ทัน ต่อมาหนูไปปลอบใจหลายครั้งเข้า ตอนนี้หายเสียใจแล้วค่ะ หนูก็รู้สึกดีใจมากที่ช่วยให้กําลังใจเค้าได้

ในเวลานั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้ท้วงติงแต่อย่างใดว่า การทําความดีอย่างนั้นกับการช่วยกันสร้างวัด อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน ได้แต่ท้วงว่า

“อย่างไรก็อย่าสงสารเกินกว่าเหตุก็แล้วกัน... คือหมายถึง ไม่ต้องสงสารจนคิดไปใช้ชีวิตคู่กับคนพิการให้เป็นภาระหนักโดยไม่จําเป็น

ที่เอามาเล่าประกอบเรื่องตอนนี้ เพื่อให้เห็นว่าวิญญาณที่เกิดขึ้นทางอวัยวะใด ตาก็ตาม หูก็ตาม จมูก ลิ้น กาย หรือแม้ใจเองก็ตาม เป็นของแปรเปลี่ยนเสื่อมสลายได้ อย่างทหารที่ถูกกับระเบิดจนพิการ คนที่ตาบอด จักขุวิญญาณก็เสียไป คนที่หูหนวก โสตวิญญาณก็เสียไป   คนที่แขนขาขาด กายวิญญาณตรงอวัยวะส่วนนั้นก็ไม่มี วิญญาณทั้ง ๖ เหล่านี้ แม้มีอยู่ประจําตัวมิได้พิการไปไหน ก็ใช่ว่าจะทํางานคงที่ตลอดเวลาบางทีก็ใช้งานได้ดี บางทีก็ไม่ได้เรื่อง ถ้าไม่เป็นเพราะอวัยวะส่วนที่ตั้งของวิญญาณเหล่านั้นเสื่อมสภาพลง เช่น ตาฟาง หูตึง ฯลฯ ก็เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของตัววิญญาณ คือความรับรู้นั้นเสียเอง

อย่างเช่น บางคนชอบไปดูสินค้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า ดูทีแรก ๆ เมื่อยังไม่เคยเห็น ก็เกิดเวทนาคือความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจเป็นสุขเวทนา ถ้าเวทนานั้นแรงกล้าก็ปรุงต่อเป็นตัณหาความอยากได้ ต้องไปขวนขวายแสวงหาเงินทองมาจับจ่ายซื้อหาเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา หรือบางที่ไม่มีความสามารถหาเงินให้พอซื้อ แต่โลภะคือตัณหามีมาก อาจทํากายทุจริตลักขโมย เป็นต้น

แต่เมื่อได้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นแล้ว วันหลังไปห้างสรรพสินค้าอีก มองเห็นสินค้าเหล่านั้น จักขุวิญญาณทํางานแล้วก็จริง แต่เวทนาคือความสุขที่ได้เห็นไม่เหมือนเดิม อาจจะน้อยลงหรือไม่มีเลยก็เป็นได้

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม๔ บทที่ ๑๗
วิญญาณรับรู้ วิญญาณรับรู้ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:50 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.