ความยึดถือในของไร้สาระ


ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีลักษณะเฉพาะประจําตัวอยู่อย่างหนึ่ง     เรียกว่าไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของใคร

ผู้ใดก็ตามที่มีความยึดถือเหนียวแน่น คือมีอุปาทานในสิ่งที่มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมยึดถือในสิ่งไม่มีสาระ ก็ต้องพบแต่ความทุกข์ไม่มีสิ้นสุด

ความยึดถือที่เรียกว่าอยู่ในขั้นอุปาทาน คือความยึดถือที่ประกอบด้วยโลภะ (อยากได้ในกามคุณอารมณ์) และทิฏฐิ (ความเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ ๕ เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา)

ถ้าใครเป็นนักฟังเทศน์อยู่บ้าง คงจะเคยได้ยินพระท่านเทศน์ถึงของทั้ง ๕ นี้ว่า เปรียบเสมือนของไม่มีสาระอะไรเลย ท่านว่า

รูปขันธ์ เปรียบเสมือนฟองน้ำ

เวทนาขันธ์ เหมือนต่อมน้ำ

สัญญาขันธ์ เหมือนพยับแดด

สังขารขันธ์ เหมือนต้นกล้วย

วิญญาณขันธ์ เหมือนเงาหรือเหมือนการเล่นกลมายา

รูปขันธ์ ว่าเป็นเหมือนฟองน้ำ ผู้คนสมัยนี้คงไม่รู้จักฟองน้ำจริง ๆ เสียแล้วคงรู้จักแต่ฟองน้ำที่มีขายตามท้องตลาด ที่มันเป็นผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ฟองน้ำที่ใช้เปรียบเทียบเรื่องรูปขันธ์

เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในวัยเด็ก ๘-๙ ขวบ เวลานั้นเขื่อนต่าง ๆ ในประเทศยังไม่มีเลย เวลาหน้าฝน            ฤดูน้ำหลาก ลำน้ำแม่กลองหน้าบ้านข้าพเจ้าจะเอ่อล้นตลิ่ง น้ำสีแดง (คือแดงแบบสีของดินที่ปนมากับน้ำ) ขุ่นเป็นดังโคลน พวกผู้ใหญ่มักจะห้ามเด็ก ๆ ว่า

อย่าลงไปเล่นน้ำที่กําลังขึ้นใหม่ ๆ กันนะ เดี๋ยวจะเป็นตาแดง

เวลานั้นข้าพเจ้ากับเพื่อน ๆ ไม่ทราบเหตุผลว่าทําไมต้องเป็นตาแดง คิดกันว่า

“อ้อ น้ำมันมีสีโคลนแดง ๆ ไปอาบเข้า ตาเลยต้องแดงตามกระมัง”

พวกเด็ก ๆ มักจะเคยเป็นตาแดงกันมาแล้วทุกคน ไม่มีใครชอบอาการของมันเลย เคืองและระคาย ราวกับมีเม็ดกรวดเม็ดทรายอยู่ในตา ตาก็แดงแฉะ ลืมไม่ขึ้น ขี้ตาออกมาเต็มไปหมดจนหนังตาบนกับตาล่างติดกัน ลืมไม่ได้ ต้องใช้สําลีชุบน้ำอุ่นบรรจงเช็ด ใช้ยาหยอดหลายวันกว่าจะหาย เป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายมาก เชื่อกันในสมัยนั้นว่าแค่มองดูคนที่เป็น เราก็จะติดโรคแล้ว

ความจริงน้ำขึ้นใหม่ ๆ นั้นเป็นน้ำที่ท่วมเลยตลิ่ง ท่วมไปตามพื้นดินและบ้านเรือนราษฎร ก็สมัยก่อนหน้าบ้านในชนบทไม่มีส้วมใช้กันเลย อย่างดีที่สุดคือเว็จ คือใช้ขุดหลุมให้ลึกหน่อยเอาไม้พาดปากหลุมนั่งถ่าย บ้านทั่ว ๆ ไป ถ่ายอุจจาระกันตามพื้นดินในที่รก ๆ เมื่อน้ำหลากล้นมาก็พัดพาอุจจาระทั้งหลายกวาดละลายไปตามน้ำ เชื้อโรคนานาชนิดก็เต็มไปในน้ำ ใครไปมุดดําน้ำเล่น น้ำสกปรกเข้าตา ทําให้ตาเจ็บ

เมื่อถูกห้ามเล่นน้ำ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก็ต้องหาเรื่องอื่นเล่น สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือต่างคนต่างหาไม้อันยาว ๆ ไม่หนักนัก ไปนั่งคอยอยู่ที่ริมตลิ่ง คอยตีฟองน้ำที่ลอยผ่านมา ฟองน้ำนั้นเกิดจากกระแสน้ำที่พัดอย่างแรงจากที่สูงมาที่ต่ำ ทําให้น้ำโป่งเป็นฟองเล็กฟองน้อยรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่บ้างก้อนเล็กบ้าง และเนื่องจากน้ำมีดินปนอยู่มาก ผงดินเหล่านั้นทําให้รูปฟองน้ำคงตัวอยู่ได้นานกว่าปกติ จึงลอยไปได้เป็นวัน ๆ กว่าจะแตกกระจายหายไป ข้าพเจ้ากับเพื่อนชอบแย่งกันใช้เรียวไม้ไผ่ตีก้อนฟองน้ำให้แตกกระจาย ใครตีทีเดียวกระจายหมดถือว่ามีฝีมือ   ถ้ากระแสน้ำไม่แรงนัก เราก็ถึงกับพายเรือเลาะอยู่ข้างตลิ่งคอยตีฟองน้ำบ้าง เก็บไม้ฟืนที่ลอยมาตามน้ำบ้างเป็นที่สนุกสนาน

พอฟังพระท่านเปรียบเทียบว่า รูปขันธ์เหมือนฟองน้ำ ก็ให้รู้สึกจับใจ กินใจ เพราะรู้จักดี มันจะเป็นก้อนเล็กก็ตาม ใหญ่ก็ตาม มีรูปร่างแปลกแค่ไหนก็ตาม บางก้อนลอยมาใหญ่โตเท่าปี๊บตักน้ำ เท่าหม้อหุงข้าว มีรูปร่างเหมือนสัตว์ เหมือนบ้านเมืองจําลอง เหมือนภูเขา เหมือนเรือ แต่ถูกข้าพเจ้ากับเพื่อน ๆ ใช้ไม้ตีทีเดียวก็กระจัดกระจายกลายเป็นแผ่นน้ำเรียบไปตามเดิม มันไม่เป็นสาระแก่นสารอะไรเลยจริง ๆ ฟองน้ำเป็นร้อยก้อนพันก้อน สู้แต่ไม้ฟืนที่ลอยน้ำมาเพียงดุ้นเดียวก็ไม่ได้ เอามาตากแดดให้แห้งยังหุงข้าวได้

รูปขันธ์เปรียบเสมือนฟองน้ำ ร่างกายของเรามาจากธาตุติน ลมไฟ แต่ละวินาทีที่ผ่านไปมันก็เปลี่ยนแปรแตกดับไปทีละนิดละหน่อยอยู่ทุกขณะ สายตาของเราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ถ้าเป็นการเห็นทางใจ จะสามารถเห็นได้ชัดเจนถี่ถ้วนว่าแต่ละเซลล์ในร่างกายพากันตายอยู่ทุกขณะ     ที่เกิดใหม่ก็มีน้อยและด้อยคุณภาพกว่าเดิมตลอดเวลา เราเรียกความเสื่อมสภาพเหล่านี้ว่าความชรา ท้ายที่สุดก็แตกทําลายตายกลายเป็นดินน้ำลมไฟไปตามเดิม

ฟองน้ำเมื่อรวมตัวเป็นรูปร่างให้เห็นเป็นเหมือนเรือ ภูเขา บ้าน ตัวคนตัวสัตว์ ชั่วครู่ก็สลายกลายเป็นสายน้ำไปตามเดิม รูปร่างเมื่อครู่ก็เป็นของว่างเปล่า ไม่มีอะไรให้เป็นสาระเหลืออยู่เลย

รูปร่างกายของคนหรือสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้สัตว์ในภูมิอื่นก็ไม่ต่างอะไรกับฟองน้ำ เพียงแต่ระยะเวลาที่จะคืนไปเป็นความว่างเปล่าตามเดิมนานกว่ากัน ความนานรวมกับความค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงในทางเสื่อม ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงปุ๊บปั๊บเหมือนเราเอาไม้ตีให้ฟองน้ำแตก จึงทำให้เราหลงใหลยึดถือเอาเป็นจริงจัง เห็นเป็นของมีสาระแก่นสาร

เอาเถอะ บางทีเรามองดูรูปร่างกายของเราทุกวันในกระจกเงา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ถ้าเราจะถ่ายรูปไว้สักปีละครั้ง แล้วนำภาพเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันทุกปีไป ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมชัดเจน

ข้าพเจ้าเคยได้ยินคําคมของคนโบราณพูดถึงความเสื่อมของรูปไว้เป็นปริศนาน่าคิดว่า รูปสามารถเปลี่ยนจากสูงแล้วต่ำ ดําแล้วขาว ยาวแล้วสั้น หันแล้วนิ่ง จริงแล้วปลอม หอมแล้วเหม็น เย็นแล้วหนาว ในทำนองนี้ ร่างกายที่สูงสง่า พอชราก็โค้งงอต่ำ ผมเคยดําแก่เข้าก็หงอกขาว สายตาเคยมองเห็นไกลในระยะทางยาว ก็กลายเป็นตาสั้นต้องจ้องแทบติดหน้า หูเคยได้ยินชัดใครเรียกก็หันมาดู แก่เข้าหูตึง ใครเรียกก็อยู่นิ่งไม่ได้ยิน แต่เดิมมีฟันจริงใช้ พอชราเข้าฟันก็หักต้องใช้ฟันปลอม ในวัยแข็งแรงดมน้ำหอมก็ชื่นใจชมว่าหอม แต่เมื่อแก่ลงประสาทจมูกเสื่อมสมรรถภาพ ได้กลิ่นสิ่งใดฉุนจัดก็ระคายเคืองต้องจาม ต้องไอ กลายเป็นของเหม็นไม่ชอบใจ   ยามหนุ่มสาวอากาศเย็นแค่ไหนก็ทนได้สบายตัว แก่เฒ่าเข้าเย็นหน่อยก็รู้สึกหนาวจับใจ พาลเป็นไข้ไม่สบาย

รูปขันธ์จึงเป็นของไม่เที่ยง ไม่เป็นแก่นสาร นําแต่ความทุกข์ใจมาให้ ถ้าหากไปยึดถือว่ารูปนั้นคือเรา เราคือรูปอันนั้น หรือยึดว่ารูปนั้นเป็นของเรา 

พอถึงเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และเฉย ๆ ก็ล้วนแต่คอยเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนอยู่เสมอ   วันนี้ฟังเพลงของนักร้องมีชื่อเสียงคนหนึ่ง รู้สึกสบายหู เสียงนุ่มนวลกังวานหวาน ฟังซ้ำบ่อยเข้าหน่อยเข้าก็เบื่อ ไม่ไพเราะเหมือนเดิมเสียแล้ว ต้องหาเพลงใหม่ของนักร้องใหม่มาฟัง เรื่องที่เกิดจากทวารอื่น ๆ เช่น ทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทํานองเดียวกัน ไม่มีสุขทุกข์อันใดทนอยู่สภาพเดิมตลอดเวลา ต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ จึงจะพอทนได้  การต้องการเปลี่ยนอยู่เสมอนี่เอง ทําทุกข์กายทุกข์ใจให้เกิดขึ้น เช่น มีเครื่องแต่งตัวชุดที่ชอบที่สุด เห็นว่าสวยมาก ให้ใส่ซ้ำทุกวันก็ใส่ไม่ได้ เบื่อหน่ายกลายเป็นทุกข์เสียแล้ว

เมื่อเอาเวทนามาเปรียบกับต่อมน้ำ จึงช่างเป็นความเปรียบเทียบที่เหมาะเจาะเสียจริง ท่านผู้อ่านรู้จักต่อมน้ำหรือเปล่า ถ้าท่านอยู่ในเมืองหลวงอย่างที่กรุงเทพฯ หรือที่เมืองใหญ่ ๆ มีแต่ตึกรามโต ๆ มีถนนคอนกรีตท่านอาจไม่รู้จักต่อมน้ำ

แต่สําหรับข้าพเจ้า น่าประหลาดแท้ ๆ เคยรู้จักอย่างดี และพิจารณาเห็นความไม่มีแก่นสารของมันได้ชัดเจนตั้งแต่จําความได้ เพียงแต่ไม่รู้จักการเปรียบเทียบว่าเวทนาเหมือนต่อมน้ำเท่านั้น

ในยามเด็กดังกล่าวแล้ว บ้านของข้าพเจ้าเป็นเรือนไทยสองหลังแฝด (ปัจจุบันปี ๒๕๓๓ ตั้งอยู่ที่ลานกัลปพฤกษ์ของวัดพระธรรมกาย) แต่ครั้งนั้นยังมุงหลังคาด้วยใบจากไม่ใช่กระเบื้องดังในปัจจุบัน บ้านหลังคาทรงไทยมีรูปหลังคาเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เอียงราว ๆ ๔๕ องศา ดังนั้นเวลาฝนตก สายฝนที่หล่นลงมาจากหลังคาจะไหลแรงมาก เมื่อตกจากหลังคายังพื้นดินเบื้องล่าง ก็จะขังนองตลอดแนวชายคา

ทีนี้พอสายฝนลดกําลังแรงลง ตกเป็นหยด ๆ หยดน้ำจากชายคา เมื่อตกลงไปกระทบน้ำฝนที่ขังอยู่ที่พื้นดิน ก็ทำให้ผิวที่พื้นดินเว้าลงไปชั่วครู่หนึ่งเป็นต่อมน้ำ แล้วก็รวมตัวกันเข้าใหม่ ต่อมน้ำก็หายไป เมื่อน้ำตกลงมาอีก ก็เกิดต่อมน้ำชั่วแวบเดียวขึ้นมาอีก เป็นอยู่ดังนี้ จนกว่าฝนจะขาดเม็ด ขณะที่บางแห่งเป็นต่อมน้ำลึกลงไปในผิวน้ำ บางแห่งกลับเป็นฟองใสเป็นรูปครึ่งวงกลมลอยขึ้นมา แล้วก็แตกวับหายไปกับตา กลายเป็นผิวน้ำไปตามเดิม

ข้าพเจ้าในวัยเด็กครั้งกระโน้นชอบไปนั่งริมชายคาที่ใต้ถุนบ้านเวลาฝนตก นั่งเงียบ ๆ จ้องดูภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมน้ำนั้นบางต่อมก็โต บางต่อมก็เล็ก ที่โตก็หายช้านิดหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กหายรวดเร็วมาก ตามสังเกตมองแทบไม่ทัน ส่วนฟองน้ำก็ใสสะอาดสวยงามจริง ๆ บางอันก็เป็นฟองใหญ่ขนาดไข่ไก่ บางอันก็เล็กขนาดตัวแมลงวัน บางทีก่อนที่มันจะแตกวับหายไป มันกลับลอยไปติดกันเป็นแพเป็นรูปร่างประหลาด ฟองน้ำเกิดจากสายฝนที่ชายคาหายไปเร็วกว่าก้อนฟองน้ำที่ไหลมาในแม่น้ำยามฤดูน้ำหลาก แต่อย่างไรก็ตาม ฟองน้ำในแม่น้ำถ้ามีฝนตก เพียงครู่เดียว เม็ดฝนก็จะทําให้ฟองน้ำหายไปโดยเร็ว

ข้าพเจ้าชอบนั่งมองทั้งฟองน้ำและต่อมน้ำว่ามันเกิดขึ้น รูปร่างเพียงอยู่ชั่วครู่เดียว แล้วก็แตก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็แตก มีลักษณะซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ดังนี้ มันเหมือนอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เวลานั้นนึกไม่ออกได้แต่มองเพลินทุกครั้งที่ฝนตกแล้ววิ่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านจนบางครั้งถูกมารดาดุเอา

หนู นั่นไปทําอะไรอยู่ที่ชายคาน่ะลูก แม่ถามข้าพเจ้า

หนูดูน้ำฝนที่มันตกจากชายคาจ้ะแม่ มันเป็นต่อมเป็นฟองสวยดี แต่เสียดายมันเป็นรูปสวย ๆ อยู่แป๊บเดียว แล้วก็หายไป” ตอบมารดา เสียดายที่มารดาไม่มีความรู้ทางธรรมะจะสอน   ท่านจึงบ่นของท่านไปเสียอีกอย่าง

ไม่เอาลูก ไม่ไปนั่งดู เดี๋ยวถูกละอองฝน จะเป็นหวัด”

นี่ถ้าข้าพเจ้าได้รับคําสอนเหมือนที่กําลังทราบอยู่ขณะนี้ คงจะได้ปัญญาทางธรรมมาตั้งแต่เด็กว่า ต่อมน้ำ ฟองน้ำที่เห็นนั่นเหมือนความสุข ความทุกข์ที่เราเป็นกันอยู่ มันเปลี่ยนแปรไม่เที่ยงแท้อยู่ตลอดเวลาและโดยความจริง ที่เราเรียกว่าความสุขนั้น   แท้ที่จริงก็คือความทุกข์ที่ลดลงเท่านั้นเอง  ไม่มีอะไรที่เป็นสุขจริง ๆ สักหน่อยเดียว เหมือนต่อมน้ำ ฟองน้ำที่เป็นรูปร่างเกิดขึ้นชั่วครู่ แล้วก็สลายกลายไปหมดลง

ด้วยเหตุที่เคยนั่งสังเกตความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของธรรมชาติต่าง ๆ เหล่านี้มาในวัยเด็ก พอเวลาบัดนี้เพียงได้ยินได้ฟังคําอุปมาเท่านั้น ภาพสิ่งที่นํามาเปรียบเทียบก็ผุดกระจ่างขึ้นมาในความทรงจําทันที จึงเข้าใจซาบซึ้ง พลอยให้นึกต่อเนื่องสืบไปว่า ข้าพเจ้าอาจเคยได้ยินได้ฟังคําอุปมาเหล่านี้มาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงได้สนใจสังเกตสิ่งที่เด็กทั่วไปไม่สนใจ  สังเกตพบแล้วก็ให้รู้สึกว่า เหมือนอะไรสักอย่าง แต่ก็นึกไม่ออก

ส่วนการเปรียบเทียบในเรื่องที่ ๓ เรื่องสัญญา  คือความจำ เปรียบเหมือนพยับแดด เรื่องพยับแดดนี่คนในเมืองก็ยากที่จะรู้จัก แต่ชีวิตของข้าพเจ้าได้วิ่งไล่พยับแดดจนเหนื่อยมาแล้ว  จึงได้รู้จักความลวงตาของมันเป็นอย่างดี

ครั้งเมื่อพ่อของข้าพเจ้าเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประชาบาลแห่งหนึ่ง โรงเรียนนั้นอยู่ไกลจากบ้านราว ๓ กิโลเมตรเศษ ๆ ข้าพเจ้าเดินทางไปโรงเรียนพร้อมพ่อ   จากบ้านเดินตัดทุ่งนาออกมาเป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร จากนั้นเดินตามทางรถไฟไปจนกระทั่งถึงโรงเรียน เข้าเรียน ๓ โมงเช้า เลิกเรียนบ่าย ๓ โมง ขณะที่เดินกลับบ้านอยู่บนทางรถไฟนั่นเอง ข้าพเจ้ามองเห็นของสิ่งหนึ่งบนทางรถไฟข้างหน้า ห่างจากที่ข้าพเจ้าและพ่อเดินอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าเมตร จึงพูดกับพ่อว่า

“พ่อจ๋า โน่นดูซิ บนทางรถไฟมีน้ำไหลท่วมอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อตรงข้างทางไม่มีน้ำอยู่เลย น้ำมันขึ้นไปไหลผ่านรางรถเยอะแยะ หนูจะรีบวิ่งไปกินน้ำนะพ่อ” แล้วข้าพเจ้าก็ออกวิ่งตื๋อไปข้างหน้า เสียงพ่อตะโกนเรียกอยู่ข้างหลังว่า

“อย่าวิ่งเลยลูก เหนื่อยเปล่า ๆ มันเป็นภาพลวงตา ไม่ใช่น้ำจริง ๆ หรอก”

ข้าพเจ้ามิได้หยุดวิ่งตามที่พ่อเรียก กลับนึกเถียงในใจว่า ก็มองเห็นชัด ๆ อยู่ว่า มีน้ำไหลบ่าท่วมทางรถไฟเต็มไปเป็นระยะทางยาว พ่อว่าเป็นภาพลวงตาได้อย่างไร ต้องวิ่งไปดูให้เห็นว่ามันเป็นอะไรกันแน่

คิดแล้วก็วิ่งไปโดยเร็ว เมื่อกะคะเนว่าเป็นระยะทางเท่าที่มองเห็น พอไปถึงกลับไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ทางรถไฟเป็นปกติ มองไปข้างหน้า ภาพน้ำท่วมเลื่อนหนีห่างไปอยู่ที่โน่น วิ่งตามไปถึงก็ไม่มีอะไร ภาพหนีไปอย่างเดิม ข้าพเจ้าวิ่งตามไปพักใหญ่ จนแน่ใจว่าตามไม่ทัน จึงหยุดคอยพ่อ มองหน้าแสดงว่ายอมแพ้ เป็นภาพน้ำท่วมลวงตาจริง ๆ เสียงพ่ออธิบายให้ฟังว่า

“เขาเรียกว่าพยับแดดน่ะลูก เวลาแดดร้อนจัด ๆ อากาศมันร้อน มันขยายตัว ทําให้เป็นภาพลวงตา อย่างที่ลูกเห็นนั่นแหละ

ข้าพเจ้ามองดูพยับแดดอีกครั้ง ถอนหายใจ พร้อมกับนึกว่าของอะไรไม่รู้ ไม่เห็นมีจริง ๆ เลย มาหลอกให้ตาของเราเห็นผิด ๆ ไป

พยับแดดที่เห็นลวงตา มันช่างไร้แก่นสาร ไม่เป็นของคงที่จริงจังสักนิดเดียว น่าตลกที่มองเห็นเป็นตัวตน ครั้นเข้าไปใกล้กลับไม่มีอะไรเลย

สัญญาคือความจําของคนเรามันไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมอยู่ตลอดเวลา ใครยึดถือในสัญญาก็เหมือนยึดถือในสิ่งลวงตา เหมือนยึดถือเอาพยับแดดหรือเกลียวคลื่นในท้องน้ำของที่เกิดขึ้นมาชั่วคราวแล้วก็หายไป

ทีนี้พอพูดถึงสังขารขันธ์ ซึ่งเปรียบไว้ว่าเหมือนต้นกล้วย เข้าใจว่าหลายคนคงรู้จักต้นกล้วย เพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่ายและปลูกกันอยู่ทั่วไป แต่ก็ไม่แน่นัก สําหรับชีวิตเด็กในสมัยปัจจุบันตามเมืองใหญ่ ๆ เกิดมาก็ต้องแกร่วอาศัยกันอยู่ในคอนโดมิเนียมหลาย ๆ ชั้น อาจจะรู้จักก็เพียงผลกล้วยก็ได้ แต่ต้นกล้วยไม่แน่นักว่าจะรู้จัก

สําหรับข้าพเจ้าแล้วรู้จักดีเหมือนกับเพื่อน ๆ ทุกคนในวัยเด็ก เพราะเคยคัดเลือกหน่อกล้วย ขุดด้วยเสียม ใช้มีดตกแต่งให้ดี แล้วนำมาปลูกลงในหลุมที่เตรียมดินไว้ดีแล้ว รดน้ำ พรวนดิน ดูแลจนต้นกล้วยเติบใหญ่ ออกปลีออกลูก ตัดปลีเอามาจิ้มน้ำพริก จิ้มปลาหลน เลี้ยงต้นแม่ไว้ให้สมบูรณ์ รอจนลูกแก่ เหลี่ยมตามลูกหายไป หรือมิฉะนั้นก็รอให้สุกคาเครือ แล้วจึงตัดเอาลงมาบ่ม เคยปลูกกล้วยเป็นดง ๆ ดังนี้ ฟังคําเปรียบเทียบ จึงรู้สึกกินใจ เข้าใจถี่ถ้วนลึกซึ้ง เคยถามพ่อว่า

พ่อจ๋า ทําไมเวลาเราตัดลูกกล้วยออกจากต้นแล้ว พ่อต้องให้หนูฟันต้นของมันทิ้ง หรือไม่ก็ไปตามคนเลี้ยงหมูมาตัดเอาไปหั่นคลุกกับรำเลี้ยงหมู ทําไมพ่อไม่ทิ้งไว้ให้มันออกลูกใหม่อีกเล่าจ๊ะ ทีต้นไม้อื่นอย่างต้นมะม่วง ขนุน ชมพู่ เรายังไม่ตัดมันทิ้งเลย ทิ้งไว้ไม่นานมันก็ออกลูกให้เรากินอีก”

พ่อตอบข้าพเจ้าว่า ต้นกล้วยมันเป็นไม้ไม่มีแก่น มันออกลูกหนเดียว แล้วมันจะไม่ออกอีก เราทิ้งไว้ มันก็ตายอย่างเดียวแหละลูก ธรรมชาติของมันเป็นยังงั้นจ้ะ”

คําว่า ไม้ไม่มีแก่น ทําให้ข้าพเจ้าสงสัยลําต้นของต้นกล้วยเป็นกำลัง วันหนึ่งพ่อใช้ให้ตัดกล้วยต้นเตี้ย ๆ ข้าพเจ้าจึงโค่นต้นมันลง แล้วใช้มีดโต้ชําแหละออกทีละชั้นเรื่อยไป ดึงออกทีละกาบ ๆ เป็นเนื้อนิ่ม ๆ แถมมีช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ให้น้ำขังอยู่เต็มจนถึงแก่นข้างใน ซึ่งเป็นแท่งยาวมีเนื้อแน่นขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เนื้อไม้แข็งเหมือนต้นไม้อย่างอื่น ๆ แกะออกทั้งต้นล้วนแต่ใช้อะไรไม่ได้ อย่างมากถ้าไม่ให้คนเลี้ยงหมูเอาไปเป็นอาหารหมูแล้ว ก็เอามีดผ่ากาบกล้วยทางยาวออกเป็นเส้น ๆ ตากแดดไว้  พอแห้งเก็บไว้ทําเชือกมัดสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่ไม่เหนียวนัก สมัยก่อนยังไม่มีเชือกที่ทําด้วยไนล่อนใช้ เราก็ใช้เชือกกล้วยบ้าง เชือกที่ทํามาจากเปลือกของต้นปอบ้าง เอาไว้ผูกห่อของ

สําหรับข้าพเจ้า ต้นกล้วยมีประโยชน์ก็ตรงที่ตัดมันออกเป็นท่อน ๆ เอาไปเป็นทุ่นลอยสําหรับเกาะเวลาว่ายน้ำเล่นกับเพื่อน ๆ ใช้เท่านั้นแล้วก็ต้องปล่อยลอยทิ้งตามน้ำไป เพราะเล่นได้เพียงวันสองวัน สู้ต้นนุ่นแห้ง ๆ ไม่ได้ ใช้เล่นได้เป็นเดือน

ต้นกล้วยในดงมีลําต้นโตบ้างเล็กบ้างหลายขนาด บางต้นที่สมบรูณ์ดี โตกว่าลําตัวคนด้วยซ้ำ ดูแล้วเหมือนมันแข็งแรงกว่าต้นไม้เล็กอื่น ๆ แต่เมื่อตัดออกมากลับเป็นต้นไม้ที่มีแต่น้ำ ทิ้งไว้ก็เน่าแล้วก็กลายเป็นเหมือนใบไม้แห้งผุกรอบ ใช้ทําฟืนเหมือนไม้อื่น ๆ ไม่ได้

ความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจ เป็นธรรมชาติที่มาเกิดรวม ๆ กัน เหมือนกาบกล้วยที่รวมกันอยู่แน่นจนเป็นต้นกล้วย   ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ซึ่งภาษาทางธรรมเรียกว่า เจตสิก เหล่านี้ ก็มีสภาพเหมือนกาบกล้วยธรรมชาติชนิดหนึ่งก็เหมือนกาบกล้วยกาบหนึ่งมารวมกันอยู่หลาย ๆ กาบก็เป็นต้นกล้วยขึ้นมา ต้นกล้วยใช้ทําประโยชน์อะไรไม่ได้มาก ก็เหมือนสังขารธรรมทั้งหลายที่มาประชุมกันปรุงแต่งจิต ไม่ได้เป็นแก่นสารสาระประโยชน์อะไร ต้นกล้วยจะใช้ทําพื้นบ้าน ฝาเรือน กลอนประตูแม้กระทั่งทําฟืน ก็ทําไม่ได้ฉันใด สังขารขันธ์ก็ไม่สามารถทำจิตให้มีสาระอะไรขึ้นมา เป็นเพียงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ ทำให้ทุกข์เกิด และไม่น่ายึดถือว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราแต่ประการใด

ขันธ์ที่ ๕ เรียกชื่อวิญญาณขันธ์ เปรียบได้กับเล่ห์มายา  การเล่นกล ซึ่งเป็นการกระทําที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และแสดงให้เห็นผิดไปจากความจริง

ครั้งหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าอายุราวสิบขวบเศษ เพื่อนของบิดาซึ่งเป็นคนมีอาชีพในการแสดงกลได้มาเยี่ยมครอบครัวของเรา ได้สอนวิธีเล่นกลให้ข้าพเจ้า ๒-๓ อย่าง มีเรื่องการต่อเชือกที่ตัดแล้วให้สนิทเหมือนเก่า การเรียกเหรียญ (สตางค์) จากมือเปล่า การดึงผ้าผืนเดียวให้เป็นผ้าหลายผืนต่อ ๆ กัน

ลุงนักเล่นกลผู้นั้น ได้แสดงวิธีการเล่นให้ข้าพเจ้าดูอย่างช้า ๆ ข้าพเจ้าจึงสามารถเห็นทุกขั้นตอน

ลุงคะ นี่มันเล่นโกหกกันนี่ค่ะ เราทําอย่างหนึ่ง แต่ให้คนดูมองอีกอย่างหนึ่ง อย่างเรื่องต่อเชือกเนี่ย เราตัดตรงปลายมันออกแต่หลอกตาคนดู ให้เขาเห็นว่าตัดตรงกลาง เรียกเหรียญก็แกล้งให้คนดูสนใจที่มือ แต่เรากลับแอบหนีบไว้ที่แขนบ้าง ที่อุ้งมือบ้าง แล้วแกล้งปล่อยออกมาเวลาคนดูมองไม่ทัน เรื่องดึงผ้าก็ให้ดูผืนหนึ่ง แต่ดึงจริง ๆ เป็นอีกผืนต่างหาก โกหกทุกเรื่องเลยค่ะ

“เล่นกล ก็คือ เล่นโกหกน่ะแหละหลาน แต่เป็นการโกหกที่ทําด้วยความว่องไวรวดเร็วมาก จนสายตาของคนดูตามเห็นไม่ทัน เราทําอย่างหนึ่ง แต่หลอกให้คนดูดูอีกอย่าง เขาจึงเรียกการแสดงอย่างนี้ว่าการเล่นมายากล อาศัยความไวจนสายตาคนดูมองไม่ทันไงล่ะ

วิญญาณ คือจิต ก็ว่องไวหลอกล่อไม่ผิดกับมายากล บางทีไวยิ่งกว่ากลับกลอกไปมา คิดเรื่องนี้อยู่ไม่พอ ประเดี๋ยวไปคิดต่อเรื่องอื่นเสียแล้ว ปรากฏแก่ใจเราว่าเหมือนเป็นจิตดวงเดียว แต่ความจริงแล้วเป็นคนละขณะกัน คิดเรื่องเมื่อครู่ก็เป็นจิตแบบหนึ่ง สังขารธรรมกลุ่มหนึ่งปรุงแต่งอยู่ คิดเดี๋ยวนี้ก็เป็นจิตที่มีสังขารธรรมอีกกลุ่มปรุงที่จะคิดต่อข้างหน้าก็ทำนองเดียวกัน แต่ความรวดเร็วในการคิด ความต่อเนื่องของขณะจิตที่คิดหลอกล่อให้เรารู้สึกเหมือนเป็นจิตเดียวกันตลอดเวลา ยิ่งกว่าเล่ห์เหลี่ยมของนักมายากลทั้งหลายในโลกนี้ทีเดียว

ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ได้กล่าวโดยเปรียบเทียบมายืดยาวเหล่านี้ มันเป็นอยู่ของมันโดยธรรมชาติ เป็นของไม่มีเจ้าของ ไร้สาระว่างเปล่าและไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ๆ คือไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น เป็นไปตามกรรม เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่ง

ของว่างเปล่า ของไม่คงที่แน่นอนต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ และพ้นวิสัยที่จะไปบังคับให้อยู่ในอํานาจอย่างนี้ ใครเข้าไปยึดถือว่าเป็นตนหรือเป็นของตน ผู้นั้นย่อมประสบแต่ทุกข์ตลอดกาล

การยึดถืออย่างเหนียวแน่น เรียกว่าอุปาทาน อุปาทานในขันธ์ ๕ นี่แหละคือทุกข์โดยแท้    การไม่ยึดถือ แต่บริหารขันธ์เหล่านี้ตามความเป็นจริง ตามเหตุตามผลอันสมควรกับสภาพ ย่อมทำให้สังขารธรรมส่วนที่เป็นปัญญาเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดและเลิกยึดถือได้โดยสิ้นเชิง

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขาติ กล่าวโดยย่อ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ในรูปขันธ์มีอายตนะ คือเครื่องมือรับรู้ทางทวารทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อายตนะเหล่านี้เมื่อกระทบกับสี เสียง กลิ่น รส ความเย็น ร้อน อ่อน แข็งเข้า ทําให้เกิดเวทนา

เวทนานั่นเอง  เป็นเหตุให้เกิดความชอบใจไม่ชอบใจ ได้สุขเวทนาก็ชอบใจ ได้ทุกขเวทนาก็ไม่ชอบใจ

ความชอบใจไม่ชอบใจ เป็นเหตุให้เกิดตัณหาอยากได้ในสิ่งถูกใจ อยากพ้นในสิ่งไม่ถูกใจ

ตัณหา คือความอยากนี่เองเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน

อุปาทาน เป็นเหตุให้เกิดภพ ความมีความเป็นตามสภาวะที่ยึดถือ

ภพ เป็นเหตุให้เกิดชาติ

ชาตินั่นแหละ ทําให้เกิดชรา พยาธิ มรณะ อะไรต่อมิอะไรที่เป็นความทุกข์ติดตามมาเป็นขบวนการ

ถ้ารู้ทันว่าขันธ์เป็นของว่างเปล่า ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่ควรยึดถือ ก็เหมือนตัดไฟเสียแต่ต้นลม ตัดความทุกข์ออกทิ้งทั้งขบวน

ข้าพเจ้าอาจจะคุยกับท่านผู้อ่านยากไปบ้าง แต่ทดลองคิดดูตามตัวอย่างนี้สักเล็กน้อย     สมมติว่าเรานั่งรถไปตามถนน คนที่นั่งรถไปคันเดียวกับเราถ่มเสมหะทางเหนือลม ลมพัดมาถูกใบหน้าเราเต็มหน้า ถ้าเรายึดว่าตัวตนนี้เป็นเรา  ใบหน้าที่ถูกสิ่งสกปรกนี่เป็นใบหน้าเรา เราย่อมทุกข์หนักและพาลโกรธคนที่ถ่มเสมหะ อาจถึงมีเรื่องมีราวต่อว่าต่อขานกันขึ้นมา

ตัวอย่างนี้ข้าพเจ้าพบมาด้วยตนเอง ครั้งหนึ่งเคยขึ้นรถเมล์ประจำทาง ถูกกระเป๋ารถทําอาการอย่างนี้   บังเอิญข้าพเจ้าได้เรียนรู้ธรรมะเรื่องความยึดถือในขันธ์เป็นทุกข์อย่างยิ่ง   ขนาดเป็นเพียงรู้ขั้นสุตตมยปัญญา คือปัญญาเกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียน (การฟัง) ก็ยังหักห้ามจิตใจไว้อยู่

“ตัวเราก็เป็นเพียงธาตุดิน เสลดน้ำลายของคนอื่นก็เป็นเพียงธาตุน้ำ แล้วคนถ่มก็ตั้งใจถ่มทิ้งลงดินไปโน่น แต่ธาตุลมกลับพัดมาโดนเรา ก็เราก็แค่ธาตุดิน อย่าไปคิดอะไรมาก ลองดูหน้าคนถ่มซี ซีดเซียวตกใจพูดไม่ออก สงสารเขาเถอะ อย่าไปตําหนิอะไรเลย แค่ใคร ๆ รุมกันมองหน้าเขาอย่างตําหนิเขาก็อายและเสียใจแย่แล้ว

คิดแล้ว ข้าพเจ้าก็ค่อย ๆ เอากระดาษทิชชู่เช็ดสิ่งสกปรกนั่นทิ้งไป แล้วก็ทําอากัปกิริยาเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกข์ก็ไม่เกิดแก่ข้าพเจ้า หรือแก่ใคร ๆ

หรือว่า ถ้าขณะเดินทางเราพบรถชนคนตาย ถ้าเรายึดถือว่าคนตายเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ เราก็คงสลดใจธรรมดา ๆ แต่ถ้ามองไปที่ศพ เห็นสวมเสื้อผ้าเหมือนลูกหลาน เหมือนบิดามารดาของเรา ใจเกิดยึดว่าศพนั้นคือญาติของเรา ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา หนักจนใจรับไม่ได้ บางคนถึงกับเป็นลมหมดสติไปทันที

ตัวอย่างง่าย ๆ ดังนี้ ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจ

ยึดอะไรว่าเป็นตัวเราก็ตาม ยึดอะไรว่าเป็นของเราก็ตามเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

อ่านข้อความเรื่องการมีอุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้จบลงแล้ว บางท่านอาจจะโต้แย้งว่า โธ่เอ๋ย ให้เลิกยึดว่านี่คือตัวเรา นี่คือของเรา เลิกได้ยังไงกัน ถ้าเลิกยึดเสียแล้ว ชีวิตวันหนึ่ง ๆ จะอยู่ไปมีความหมายอะไรเล่า  งั้นก็ไม่ต้องทําอะไร ๆ ให้ใครอีกแล้ว ไม่ต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ไม่ต้องเลี้ยงครอบครัวบุตรภรรยาสามีไม่ต้องทําความดีความชั่วอะไรทั้งหมด เพราะไม่มีอะไรจะให้ยึดถือร่างกายและจิตใจเป็นเพียงความหมุนเวียนของสภาวะทางธรรมชาติเท่านั้นเอง

การแย้งด้วยคําพูดเพียงแค่นี้ เป็นเพียงปัญญาระดับตื้น ๆ แค่คิดเอา แต่จะทําจริงไม่ได้ คือเลิกยึดถือจริงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น บอกว่า ไม่ยึด แต่ถ้ามีใครเอาไม้มาตีที่ร่างกายตนเองแรง ๆ ก็อดเจ็บไม่ได้ นอกจากเจ็บแล้ว อาจมีการโกรธเคืองตามมา มีการตอบโต้ให้เป็นกายทุจริต วจีทุจริต

การไม่ยึดถือ ต้องเป็นปัญญาระดับภาวนามยปัญญา  แยกหรือถอดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกได้ทีละกาย ๆ ตั้งแต่มนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน) กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ไปจนถึงกายธรรม การทําดังนี้ไม่สําเร็จได้ด้วยการบอกเล่า แต่ทําได้ด้วยการปฏิบัติเจริญกรรมฐานภาวนา

ทีนี้สําหรับคนโดยทั่ว ๆ ไปซึ่งส่วนใหญ่ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล ยังไม่สามารถถอดขันธ์ ๕ ทิ้งไปให้มีแต่ธรรมขันธ์เข้ามาแทน ก็จําต้องหาอุบายในการคิดเป็นหลักยึดประจำใจของตน ๆ ก็พอทำให้ลดความทุกข์ลงไปได้ไม่น้อย

ครั้งเมื่อข้าพเจ้าเริ่มสนใจศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนาด้วยการอ่านเอาความรู้ ยังมิได้ลงมือปฏิบัติเจริญภาวนาอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าชอบคําสอนของพระเถระรูปหนึ่ง ท่านสอนว่าการปฏิบัติธรรมคือ

หน้าที่ให้ดีที่สุด ทําโดยไม่หวังผลว่าตนเองจะได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ ทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งควรทําเท่านั้น ทําแล้วก็แล้วกัน

เวลานั้นข้าพเจ้าทําตามคําสอนที่กล่าวถึงโดยเคร่งครัด หน้าที่ควรทำต่อใคร ทําให้ดีที่สุด หน้าที่ต่อพ่อแม่ ต่อครูอาจารย์ ต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อครอบครัวมีสามีและลูก ๆ ต่อบริเวณญาติมิตร และเหล่าเพื่อนบ้าน ฯลฯ

ขณะทําหน้าที่ ยามใดที่ตั้งใจทําให้สมบูรณ์ ยามนั้นก็มักเหนื่อยกายเหนื่อยใจมิใช่น้อย แต่สิ่งที่ได้รับคือความสบายใจที่ตนเองติเตียนตนเองไม่ได้ และเกิดการคลายความยึดมั่นถือมั่นในความมีความเป็นต่าง ๆ  เห็นทุกข์เห็นโทษของการมีการเป็นหมดทุกเรื่อง มีสิ่งใดก็ทุกข์ด้วยการดูแลรักษา และความพลัดพราก เป็นอะไรก็ต้องทุกข์ด้วยการรับผิดชอบผู้คนและสิ่งที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อเห็นทุกข์มากเข้า จิตใจก็เบื่อหน่าย คลายจากความอยากมีโน้น อยากมีนี่ และด้วยการที่ทําหน้าที่โดยไม่คิดถึงสิ่งตอบแทนที่ควรได้ บางครั้งเมื่อได้ประสบการรู้คุณการตอบแทนคุณจากผู้ที่เคยได้รับ ประโยชน์ก็กลายเป็นผลพลอยได้ที่นึกไม่ถึง เลยเหมือนเป็นดังโชคดีโดยบังเอิญ

สมัยเมื่อข้าพเจ้าสําเร็จการศึกษาออกทํางานรับราชการ มีรายได้ค่อนข้างดีในสมัยเมื่อสามสิบปีก่อนโน้น ข้าพเจ้าส่งเสียน้อง ๆ เล่าเรียนโดยไม่รบกวนเงินทองของบิดามารดา โดยเฉพาะน้องสาวคนเล็กซึ่งมีอายุห่างจากข้าพเจ้าถึง ๑๗ ปี ข้าพเจ้าเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็กเหมือนเป็นลูกคนโต เวลานี้เขาเล่าเรียนจบระดับปริญญา มีการงานทําเป็นหลักฐาน มีครอบครัวอบอุ่น ฐานะมั่นคง น้องส่งเงินเลี้ยงดูข้าพเจ้าเป็นรายเดือนทุกเดือน เมื่อข้าพเจ้าท้วงว่า

ความจริงพี่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มีเงินบํานาญจากทราชการบ้าง มีบ้านให้คนเช่าบ้าง ลูก ๆ ก็ทํางานหมดทุกคนแล้ว พี่ก็พออยู่พอกิน ที่เหลือก็ได้อาศัยทําบุญเป็นเสบียงติดตัวไปชาติหน้า ส่วนหนูกําลังตั้งครอบครัว ลูก ๆ กําลังกินกําลังใช้ ต้องเตรียมเก็บเงินเป็นทุนให้พวกเขาเรียน หนูไม่ต้องให้พี่ก็ได้จ้ะ

น้องสาวกลับแย้งข้าพเจ้าว่า

หนูไม่มีพ่อไม่มีแม่แล้ว เหลืออยู่แต่พี่ พี่ก็เคยเลี้ยงดูหนูมาแต่เล็กแทนพ่อแทนแม่ หนูให้เงินพี่ใช้ หนูก็ถือว่าหนูได้ทําบุญ พี่ไม่รู้อะไรตั้งแต่หนูให้เงินพี่ หนูจะหยิบจะจับงานสิ่งใด ก็ได้เป็นเงินเป็นทองไปหมด ครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา หนูเชื่อว่าบุญกุศลจากการที่หนูทําบุญกับพี่นี่แหละคุ้มครองชีวิตครอบครัวหนู พี่อย่าปฏิเสธนะคะ ให้โอกาสหนูทําบุญตลอดไปเถอะ คนอื่น ๆ เขาทําบุญกับพี่ พี่ยังรับเงินของเขา หนูเป็นน้องแท้ ๆ พี่ก็ต้องรับให้หนูได้บุญด้วย

ความจริงอานุภาพของการทํากุศลกรรม ไม่น่าสงสัยเลย ข้าพเจ้าทําบุญกุศลอยู่ทุกวัน ได้อาศัยเงินของตนเอง รวมกับของน้อง และของเพื่อนสหธรรมิกบางท่านที่บริจาคไว้ มีตักบาตรทุกวัน ๙-๑๑ รูป จนหมดพระภิกษุสามเณรที่เดินผ่านหน้าบ้าน ถวายภัตตาหารทุกสัปดาห์และทุกเดือน ต่อพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระธรรมกายทั้งวัด ถือศีลเจริญภาวนา ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน ถวายค่าพยาบาลพระอาพาธ ถวายร่วมสร้างศูนย์กลางพระธรรมกายแห่งโลก  ให้ธรรมเป็นทาน ฟังและศึกษาธรรม ขวนขวายช่วยเหลือกิจการของพระศาสนา เช่น ช่วยเผยแผ่ด้วยการพูด ด้วยการเขียน ฯลฯ

บุญเหล่านี้ ข้าพเจ้าอธิษฐานจิตให้คุ้มครองปกป้องผู้คนที่เป็นเจ้าของเงินบริจาคทุกคน ตลอดจนผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งปวง ให้มีความสุขความเจริญถ่ายเดียว อธิษฐานจิตอยู่ทุกวัน  เมตตาธรรมอันนี้ย่อมมีพลานุภาพไม่น้อย ให้เป็นที่อัศจรรย์ใจดังที่กล่าวแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อประมาณปี ๒๕๐๘ ข้าพเจ้ารับราชการเป็นหัวหน้าแผนกการศึกษาสงเคราะห์อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน และพิการทางร่างกาย เวลานั้นมีคนพิการตาบอด หูหนวก สามารถเรียนจบชั้นสูงระดับอนุปริญญา และระดับปริญญา แต่ไม่สามารถสมัครเข้าทํางานของราชการได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับลูกจ้าง หรือรับราชการ

ข้าพเจ้าได้เข้าชี้แจงต่อข้าราชการผู้ใหญ่ ให้เพิ่มเติมระเบียบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ทั้งที่ในที่ประชุมครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุและตำแหน่งน้อยที่สุดในที่ประชุม ที่ประชุมเห็นด้วยและแก้ไขระเบียบบรรจุคนพิการที่มีความสามารถเป็นลูกจ้างประจํา และในที่สุดก็เป็นข้าราชการ

ปลายปี ๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบข้าราชการตาบอดในระดับซี ๖ ผู้หนึ่ง ได้กล่าวถึงบุญคุณที่ข้าพเจ้าได้กระทําให้พวกเขาสามารถรับราชการได้ เขาระลึกถึงอยู่เสมอ ส่วนข้าพเจ้ากลับลืมเสียสนิทสิ้นเชิง เมื่อถูกฟื้นความหลังจึงจําได้ และก็รู้สึกชื่นใจ ทั้งที่ได้กระทํางานเรื่องนี้ไปโดยไม่หวังให้ใครรู้คุณแต่อย่างใด

การทําสิ่งใด โดยยึดว่าทําหน้าที่ให้ดีที่สุด จะทําให้ค่อยคลายความยึดมั่นในตัวตน ในของ ๆ ตนไปทีละน้อย ๆ เมื่อใดได้ลงมือปฏิบัติก็จะยิ่งแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถค่อยเพิกถอนอุปาทานในขันธ์ ๕ ไปได้ในที่สุด

เล่าประสบการณ์ของตนเองไว้เพื่อให้ท่านได้ใช้ประกอบการพิจารณา จะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์อันไม่เที่ยงแท้

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม๔ บทที่ ๑๘
ความยึดถือในของไร้สาระ ความยึดถือในของไร้สาระ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:07 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.