ไม่มีตัวเรา


ถ้าท่านผู้ใดได้อ่านเรื่อง แค่คิดว่าเป็นผี ซึ่งข้าพเจ้าเขียนไว้ในหนังสือ จากความทรงจําฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๑ คงจําได้ว่า ตอนกลางคืน พ่อกับแม่มักจะไล่ให้ข้าพเจ้าเข้านอนคนเดียวเสมอ เพราะเวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุ ๗-๘ ขวบ ตัวโต เวลานอนหลับผิดที่ ทั้งพ่อและแม่อุ้มข้าพเจ้าไม่ไหว ท่านจะปลุกเท่าไร ข้าพเจ้าก็ไม่ใคร่ตื่น ยังโชคดีที่บ้านในชนบทสมัยก่อนไม่มียุง

ตั้งแต่จําความได้ ตอนกลางคืนเมื่อพ่อแม่จุดตะเกียงคุยกันเองหรือมีเพื่อนบ้านมาปรึกษาหารือเรื่องราวต่าง ๆ ข้าพเจ้าจะนอนหลับอยู่ใกล้ ๆ ด้วยความรู้สึกเป็นสุขและอบอุ่นใจ จึงปรากฏว่าข้าพเจ้าไม่เคยฝัน ต่อมาเมื่อถูกไล่ให้เข้านอนในห้องเรือนชั้นในของบ้านเรือนไทย (ขณะนี้ปลูกอยู่ในบริเวณวัดพระธรรมกาย ซึ่งพ่อกับแม่เต็มใจถวายให้เป็นสถานอเนกประสงค์ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด เมื่อปี ๒๕๑๓) ห้องมีขนาดกว้างมาก มืดก็มืด จึงนอนด้วยความกลัวผีทุกคืน จนเห็นผีบนหลังคาที่เล่าแล้ว

นอกจากนั้น ด้วยจิตใจที่หวาดกลัว ขาดความอบอุ่นใจ จึงทําให้นอนหลับไม่สนิท กลายเป็นคนนอนฝันแทบทุกคืน ในฝันก็ไม่ใคร่พบเหตุการณ์ดี ๆ มักจะฝันเป็นผีไล่กวดบ้าง สัตว์ร้าย คนร้ายไล่เข่นฆ่าบ้าง ที่เอามาเขียนเล่าไว้ตรงนี้ เผื่อพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกจะได้ระวังเรื่องนี้ไว้ อย่าให้ลูกนอนด้วยความหวาดกลัว เด็กจะนอนหลับไม่สนิท เสียสุขภาพจิต ยอมอุ้มเอาหน่อย ถ้ามิฉะนั้นควรนอนเป็นเพื่อนให้เด็กหลับก่อนหรืออาจให้คนอื่นนอนเป็นเพื่อนก็ได้ แต่ควรให้เป็นคนที่จะพูดคุยให้เด็กได้ข้อคิด คําเตือนคําสอน ข้อแนะนําที่ดี ๆ เพราะจะเป็นคําสอนที่เด็กรับฟัง น้อมใจเชื่อได้ง่ายกว่าเวลาอื่น ไม่ใช่ให้พี่เลี้ยงเล่าเรื่องผีหรือเรื่องเสียหายอื่น ๆ ให้เด็กหวาดกลัวใจเสีย เศร้าหมองยิ่งขึ้นไปอีก

ในความฝันของข้าพเจ้าครั้งกระโน้น ที่ฝันบ่อยที่สุดคือ เมื่อพบเหตุการณ์ไม่ชอบใจต่าง ๆ เช่น ถูกตามไล่จากคนร้ายหรือสัตว์ร้ายอะไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะต้องวิ่งหนีไปที่แม่น้ำ แล้วกระโดดตูมหนีลงไปในน้ำเป็นเรื่องแปลก น้ำในฝันของข้าพเจ้าไม่เคยทําให้สําลัก พอกระโดดลงไปได้ ข้าพเจ้าก็จะคิดว่า

“ตัวเราไม่มี ที่กําลังวิ่งหนีอะไร ๆ อยู่นั้นเป็นตัวเก๊ ถอดทิ้งเมื่อไรก็ได้”

พอคิดว่า ไม่มีตัว เสียแล้ว สัตว์ร้ายหรือคนร้ายที่วิ่งไล่กวดอยู่นั้นก็หาตัวข้าพเจ้าไม่พบ จากนั้นข้าพเจ้าก็จะตกใจตื่น เหงื่อแตกซิก บางทีร้องไห้ด้วยความกลัวจนตื่น อย่างไรก็ตาม ในฝันนั้นข้าพเจ้าไม่เคยถูกสิ่งเหล่านั้นทำร้ายได้เลยสักครั้งเดียว

ความคิดที่ว่า ความจริงคนเราไม่มีตัวตนจริง ๆ มีแต่ตัวตนชั่วคราว นั้น ข้าพเจ้ามิใช่คิดแต่เพียงเวลาฝัน แม้เวลาตื่น ๆ อยู่  ข้าพเจ้าก็คิดเรื่องนี้เองได้บ่อย ๆ ส่วนใหญ่คิดเวลาที่ร่างกายเจ็บป่วย หรือเวลาที่จิตใจมีความทุกข์ไม่สบายใจ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก เดินไม่ได้เป็นเดือน ถูกเหล็กที่ล้อจักรยานบาดหน้าแข้งเป็นแผลเหวอะหวะ บิดามารดาและญาติพี่น้องตลอดจนเพื่อน ๆ ของพ่อแม่ ดูเป็นทุกข์ร้อน หน้าตาไม่สบาย ชักชวนขวนขวายไปหาหมอ หายามารักษา ทั้งยาแผนโบราณและยาสมัยใหม่ พวกญาติผู้ใหญ่ผู้หญิงมักบ่นกันว่า

แหม มาเป็นแผลที่หน้าแข้ง หายแล้วก็จะเป็นแผลเป็น ขาก็จะไม่สวยเสียแล้ว เสียโฉมหมด เสียดายจริงๆ

พูดบ่นออกมาแล้วก็มองหน้าข้าพเจ้าอย่างเป็นทุกข์ เป็นกังวลห่วงใย แต่พอเห็นข้าพเจ้าทําหน้าตาเฉย ๆ บางทียังยิ้มแล้วปลอบคนบ่นเสียอีกว่า

เดี๋ยวมันก็หายหรอกจ้ะ

พวกผู้ใหญ่ก็จะบ่นต่อไปว่า

ดูซีเด็กคนนี้ เจ็บออกขนาดนี้ยังไม่เดือดเนื้อร้อนใจอีก”

ข้าพเจ้าไม่สามารถชี้แจงความรู้สึกต่าง ๆ ออกมาให้พวกผู้ใหญ่เหล่านั้นฟัง เพราะคิดเอาว่า พูดออกมาก็คงไม่มีใครเข้าใจ ดีไม่ดี อาจจะพากันคิดว่าข้าพเจ้าเป็นบ้า เวลานั้นข้าพเจ้าคิดเอาเองดังนี้ว่า

เวลาเราตื่น เราก็มีตัว ๆ หนึ่งไว้ใช้งานให้ทําอย่างโน้นอย่างนี้ เวลาเราหลับมันกลับนอนนิ่งเงียบเหมือนสิ่งของ แต่เรากลับมีตัวอีกตัวหนึ่งเป็นตัวใหม่ ทําหน้าที่ต่าง ๆ ได้เหมือนกัน บางทีทําได้ดีกว่าเสียอีก เช่น เวลานึกไปโน่นไปนี่ ไปได้เร็วมากกว่ากายตอนตื่น ๆ เวลาเราไม่หลับ กายที่ใช้ในฝันไม่รู้ว่าหายไปทางไหน จะว่าไม่มีจริงก็ไม่ใช่ เพราะหลับทีไรก็ใช้กายนั้นทุกที จะว่ามีอยู่จริงก็ไม่ใช่ เพราะตื่นขึ้นแล้วก็หากายนั้นไม่พบ สําหรับกายที่ใช้อยู่ตอนเวลาตื่น ๆ นั้นเล่า เวลานอนหลับก็เป็นเหมือนท่อนไม้ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ใครมาพูดด้วยก็ไม่ได้ยิน ตาก็หลับปี๋มองอะไรไม่เห็น ใครเอาอาหารมาให้ก็ไม่รู้จักกิน ท้ายที่สุดถ้าใครจะคิดมาฆ่าแกงก็ทำได้ง่าย ๆ เหมือนเป็นต้นกล้วยหรือท่อนไม้เท่านั้นเอง มันก็ไม่ใช่ของจริงอีกเหมือนกัน”

พอข้าพเจ้าคิดว่ามันไม่ใช่ของจริงทั้งกายตอนตื่นและกายตอนฝัน จึงไม่รู้สึกกังวลใจอะไรด้วยมากนัก ดูแลรักษาไปตามหน้าที่  หิวก็หาอาหารให้กิน ร้อนก็อาบน้ำให้ หนาวก็ห่มผ้าให้ ไม่สบายก็กินยา ทายาให้ ก็เท่านั้นเอง

นอกจากนั้นยังมีความคิดแปลก ๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดของเด็กวัย ๗-๘ ขวบของข้าพเจ้าจริง ๆ คือคิดว่า สิ่งที่พบเห็นทุกอย่างไม่มีอะไรอยู่อย่างเดิมสักอย่างเดียวมันเปลี่ยนของมันเองอยู่เสมอ ตัวเราวันนี้กับเมื่อวันวานก็ไม่เหมือนเดิม ใจที่คิดวันนี้กับที่คิดวันวานก็ต่างกัน ทั้งตัวและใจปีนี้กับปีที่แล้ว ก็เป็นคนละอย่างกัน มีสบายได้ ก็มีไม่สบายได้ มีไม่สบายได้ก็มีหายได้ ไม่มีอะไรอยู่ในสภาพเดิมยั่งยืน

“วันนี้บาดเจ็บ วันหน้าก็จะต้องหาย ถึงหายแล้วจะไม่สวยเหมือนเดิมก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะใคร ๆ ก็เปลี่ยนจากสวยเป็นไม่สวย สวยมากเป็นสวยน้อยลง ๆ ทุกคนทั้งนั้น จะกลัวไม่สวยไปทําไม ในเมื่อเรา ยึดเอาความสวยให้เป็นของเรา ให้อยู่กับเราตลอดไปไม่ได้ ดูตัวอย่างแม่ของเราซี ในรูปถ่ายที่หน้ากระจกส่องหน้าสวยมาก สมัยเมื่อท่านเป็นสาว เดี๋ยวนี้ไม่สวยเท่าแต่ก่อน แล้วเราจะร้องหา ร้องเอาสิ่งที่มันไม่มีให้โง่ทำไม”

นี่เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกาย สําหรับความทุกข์ที่เกิดทางใจ ๆ เช่น ถูกบิดามารดาทําโทษ ดุว่า หรือถูกครูตําหนิหน้าชั้นเรียน ซึ่งถือว่า เป็นความไม่สบายใจอย่างมาก ข้าพเจ้าก็จะใช้วิธีคิดในทํานองเดียวกับทุกข์ทางกาย

ตอนนี้ถูกตี ถูกดุ เดี๋ยวก็เลิก ใครจะมานั่งตี นั่งดุกันตลอดวัน อายเพื่อนแป๊ปเดียว เดี๋ยวเพื่อนมันก็ลืม เลิกสนใจไปแล้ว เราจะเอามาคิดเสียใจให้โง่ทําไมกัน สู้ชวนพวกเพื่อนเหล่านั้นไปวิ่งเล่นสักพัก เล่านิทานให้ฟังสักเรื่อง เท่านั้นพวกเพื่อน ๆ ก็กลับชื่นชมพอใจเราไปอีก แล้วลืมเรื่องที่ครูดุครูตีเราหมดไปแล้ว

ข้าพเจ้าสอนตัวเองอย่างนี้ทุกที จึงไม่มีความทุกข์เอาเสียเลยในวัยเด็ก ถือเอาความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย มาเป็นยารักษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต

แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น เรียนสูงขึ้น กระทั่งออกทํางานประกอบอาชีพ และทํางานอื่น ๆ ในสังคม ความคิดเรื่องไม่มีตัว กลับค่อยเลือนรางออกไปทุกที ๆ ความยึดถือในความ มีตัวมีตน กลับทวีแน่นแฟ้นจนแยกไม่ออก มีเรื่องศักดิ์ศรีของตนเอง ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล  ชื่อเสียงของโรงเรียน ของสถาบัน ของหมู่คณะ ของประเทศชาติ อะไร ๆ ที่เป็นไปเพื่อของตนเอง และเพื่อสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนมีมากมายหลายเรื่องเหมือนแห เหมือนตาข่ายร้อยรัดมัดตัวไว้สุดแน่นเหนียว ดิ้นไม่หลุด ถอนไม่หลุด

เรื่องนี้ ถ้าไม่ทําอย่างนี้ เสียเครดิตความเป็นตัวหน้า  ยอมไม่ได้ ต้องเอาให้ชนะให้ได้

กองโน้น ฝ่ายโน้น จะดีกว่ากองเราฝ่ายเราได้ยังไง เราต้องได้ประโยชน์เหนือกว่า

“ตำแหน่งนั้นควรเป็นของเรามากกว่าคนโน้น เพราะเรามีความรู้ความสามารถดีกว่า

ผลประโยชน์มาก ๆ ยังงี้มันต้องเป็นของพวกเรา เรื่องอะไรจะให้พวกโน้นเอาไป”

                                                                                        ฯลฯ

เมื่อ ความมีตัวตนเกิดมากขึ้นทุกที สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนก็ทับทวีตามไปด้วย ใจที่ยึดถือกับสิ่งเหล่านั้น ทําความทุกข์ให้เกิดพอกพูน เรื่องนั้นก็ทนไม่ได้ เรื่องนี้ก็ทนไม่ได้ บางเรื่องแทบกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยิ่งเป็นเรื่องกลัวถูกใครตําหนิติเตียน ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ใคร ๆ นิยมยกย่องว่าตนเป็นคนดีคนวิเศษเหนือคนอื่น

ความคิดอันบริสุทธิ์ที่ว่า ตัวตนที่แท้จริง ของเรานั้นไม่มีอยู่จริงในสมัยเด็ก ๆ หายไปหมด กว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าความคิดในครั้งกระโน้นเป็นความคิดที่ถูกต้อง ก็ต้องเผชิญความทุกข์ในโลกต่อมาอีกหลายสิบปี  กระทั่งได้มาฝึกปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา ให้เห็นกายในกายซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไป กายแล้วกายเล่า ตามระดับความสะอาดของใจ

ใจสะอาดบริสุทธิ์เท่าใด กายข้างในซึ่งเหมาะกับระดับใจก็เกิดให้มองเห็นสวยงามประณีตยิ่งขึ้นเท่านั้น การฝึกเจริญภาวนาด้วยการกำหนดมองที่ศูนย์กลางกายนี้เอง ในยามตื่นเราก็สามารถแลเห็นกายที่เราใช้งานในยามฝันนั้นได้ สามารถติดต่อพูดคุยกันด้วยภาษาใจรู้เรื่อง เหมือนที่เขามองเห็นซึ่งกันและกันด้วยกายมนุษย์อย่างนี้

ครั้นแล้วถ้าเราถอดความรู้สึกนึกคิดทั้งมวลในกายมนุษย์ออก เอาไปใส่ไว้ที่กายฝัน แล้วให้กายฝันนั้นเจริญภาวนาต่อ กําหนดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายของกายนั้น ก็จะเป็นฝันในฝัน แลเห็นกายทิพย์ที่ซ้อนอยู่ใน กลางกายฝัน ในทํานองเดียวกันก็จะเห็นกายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่กลางกายรูปพรหม และกายธรรมซ้อนอยู่กลางกายอรูปพรหม เป็นชั้น ๆ ข้างในเข้าไป

เมื่อถึงกายธรรม เราจึงจะรู้แจ่มแจ้งชัดเจนว่า ตัวของเราจริง ๆ อยู่ที่นั่น กายมนุษย์ กายฝัน กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ล้วนเป็นเพียงกายสมมุติทั้งสิ้น เป็นเพียงเอาส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเข้าโดยความพอดี แล้วบัญญัติตั้งชื่อเรียกให้เข้าใจตรงกัน เหมือนรถ เหมือนบ้าน เหมือนโต๊ะเก้าอี้ ตัวของมันตามชื่อที่เรียกนั้น แท้แล้วเป็นของไม่มี สิ่งที่มีอยู่คือ เอาวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ เหล็ก กระเบื้อง ตะปู ทราย สี ฯลฯ มาผสมรวม ๆ กันตามที่สมควรจะอยู่ แล้วก็ตั้งชื่อสิ่งเหล่านั้นว่า บ้าน รถ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ส่วนประกอบของสิ่งสมมุติดังกล่าว ถ้าแยกให้ละเอียดต่อไปยิ่งขึ้น ก็จะเหลือของอีกเพียงไม่กี่อย่าง เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

มาถึงเวลานี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า ความคิดในวัยเด็กนั้นเป็นความคิดที่ถูกต้อง ตัวที่มีอยู่ไม่ใช่ของจริง ส่วนการเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่คงที่สักเรื่องเดียว ไม่ควรยึดถือจริงจัง ที่จริงแล้วคือหลัก อนิจจัง ในไตรลักษณ์ อันเป็นหลักธรรมสําคัญยิ่งของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ข้าพเจ้ารู้จักคิดเรื่องเหล่านี้ได้เอง โดยไม่มีใครสอน คงจะต้องเป็นปัญญาบารมีที่เคยสร้างสมอบรมเอาไว้ในชาติปางก่อน ติดตามมาสั่งสอนตนเองต่อในชาติปัจจุบัน  น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าพลัดไปเกิดในสถานที่และในครอบครัวที่ไม่สามารถให้คําแนะนําหลักความจริงอันเป็นพระสัทธรรมเหล่านี้ ให้ข้าพเจ้าได้ มิฉะนั้นข้าพเจ้าคงทําใจไม่ให้มีความทุกข์ตลอดมาตั้งแต่เล็กทีเดียว

ข้าพเจ้าเล่าความรู้สึกนึกคิดในวัยเยาว์มาให้ท่านผู้อ่านฟังในโอกาสนี้ ด้วยความปรารถนาจะให้ท่านเห็นคําสอนของพระพุทธศาสนา ที่ให้มองทุกสิ่งเป็น อนิจจัง ไม่คงที่ เป็น ทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และเป็น อนัตตา ไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของผู้ใด

ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านนําความรู้ดังกล่าวนี้ไปสอนแก่เด็ก ๆ ลูกหลานของเรา ตั้งแต่เขาพูดรู้ความเถิด เขาจะได้รู้จักคิดอะไร ๆ เป็น ตั้งแต่ต้นทางเดินของชีวิต ความรู้เรื่องไตรลักษณ์จะปกป้องคุ้มครองผองภัย    ไม่ให้เกิดทุกข์ใด ๆ ขึ้นในจิตใจของพวกเขา

อย่าให้ลูกหลานของเราถูกย้อมด้วยอํานาจความยึดถือในตัวตนในของ ๆ ตน ยึดถืออะไร ๆ เป็นตัวของเขาบ้าง เป็นของเราบ้าง ซึ่งจะทำให้ความอยากได้ (สิ่งที่ถูกใจ) และทําให้ความไม่อยากได้ (สิ่งที่ไม่ถูกใจ) เข้ามาเป็นเจ้าชีวิตครอบครองจิตเขาให้โลดแล่น กระทํากรรมต่าง ๆ ตามอำนาจความอยากและความไม่อยากนั้น ๆ ร่ำไป ซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่รู้จบรู้พอ เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่าง ๆ ตลอดชีวิต

ให้เขาเห็นชีวิตเป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะใช้ประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ เพื่อให้กรรมดีงามเหล่านั้นสร้างบุญขึ้นให้มาก ๆ เมื่อมีบุญเพิ่มจำนวนทับทวีขึ้นเรื่อย ๆ บุญเหล่านั้นก็กลั่นตัวเป็นบารมีติดตามเจ้าของ บารมีเมื่อแก่กล้าเต็มที่เป็นเครื่องทําให้พ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง สิ้นความเป็นตัวตน เลิกเวียนว่ายตายเกิดเสียที

เปรียบเทียบให้เขาฟังถึงการสร้างบารมีว่า เหมือนชาวไร่ชาวนา ต้องการอยู่สบายมีกินมีใช้ จึงอดทนตรากตรําปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเอาไว้ (เปรียบกับการสร้างกุศลกรรม) เมื่อต้นพืชเจริญเติบโตออกผล(เปรียบเหมือนได้เป็นบุญขึ้นมา) เราเอาผลิตผลนั้นไปขายได้เป็นเงินจะเก็บไว้กับตัวหรือฝากธนาคาร ก็เปรียบเหมือนเป็นบารมี เพราะเงินนั้นเราสามารถพกติดตัวไปใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในโลกนี้ ของใช้ประจําโลกเราต้องใช้เงินซื้อ แต่สําหรับของใช้ที่จะติดตัวข้ามโลก คือไปใช้ในโลกอื่นหลังจากตายแล้ว ต้องใช้บุญหรือบารมีเท่านั้นที่จะติดตามเราข้ามภพชาติไปได้

เราฝังความคิดที่ถูกที่ควรเหล่านี้ให้ไว้ในจิตใจของลูกหลานเราตั้งแต่พวกเขาเป็นเด็ก เขาก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพดียิ่งกว่าคนยุคเราแน่นอน

หรือจะเปรียบชีวิตเหมือนการพายเรือ มีเวลาจํากัด ต้องพายไปให้ได้ไกลที่สุดก่อนค่ำ (คือตาย) คนฉลาดจึงต้องรีบตั้งหน้าแจว ตั้งหน้าพาย (ทําความดี) ถ่ายเดียว ไม่มัวเสียเวลาเก็บดอกไม้สายบัว เศษขยะข้างทางอะไรอยู่  ไม่ยอมเสียเวลาทะเลาะทุ่มเถียงกับเรือลำอื่น แม้แต่การเสียเวลาตกแต่งประดับประดาลําเรือ ก็จะไม่ยอมเสียเวลาเกินกว่าเหตุ ดูแลลําเรือเพียงเพื่อให้สะดวกเหมาะสมในการใช้พายไปให้ถึงฝั่งโน้นเป็นสําคัญ อย่างนี้เป็นต้น

สอนลูกหลานให้รู้จักคิดดังนี้อยู่เสมอ ๆ ชีวิตลูกหลานของเราก็จะมีที่พึ่งอันปลอดภัย ความทุกข์อะไร ๆ ก็เข้ามาย่ำยีได้ยากดังนี้

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม๔ บทที่ ๑๙
ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.