คิดได้ – คิดเป็น


เมื่อข้าพเจ้าอายุราว ๑๐ ขวบ มีครั้งหนึ่งปิดภาคเรียนเทอมปลาย ป้าสะใภ้มารับไปพักอยู่กับท่านที่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่ง เช้าวันหนึ่ง ท่านชวนข้าพเจ้าไปด้วยกันที่ชายเขา ช่วยกันโกยดินสีขาว ๆ ซึ่งไหลจากภูเขาเวลาฝนตก ที่มีอยู่มากมายมาที่บ้าน

จากนั้นป้าก็เอากระถางใบใหญ่ใส่ขี้ดินนั้น แล้วใส่น้ำสะอาดลงไป กวนไปมาเล็กน้อย รอไว้ให้นิ่งสักครู่เศษไม้ใบหญ้าเล็ก ๆ เศษผงต่าง ๆ ก็พากันลอยขึ้นมา ป้าให้ข้าพเจ้าช้อนทิ้ง และค่อยรินน้ำทิ้งตามไปด้วย ให้เหลือแต่ดินที่ตกตะกอนอยู่ก้นกระถาง ทําอยู่ดังนี้ ๔-๕ ครั้ง กระทั่งไม่มีเศษผงเหลืออยู่อีกเลย ดินก็ขาวสะอาดเหมือนแป้ง แล้วป้าก็ให้ข้าพเจ้าขุดดินที่กลางลานบ้านเป็นหลุมเล็ก ๆ ใช้ผ้าบาง ๆ ปูบนหลุมดินเล็ก ๆ นั้น ตักดินสีขาวในกระถางหยอดบนผ้าเหนือหลุมที่ขุด

ทิ้งเวลาไว้เพียงครู่เดียว ดินบนผ้าก็แห้ง เพราะน้ำซึมลงไปในข้างล่างจนหมด แล้วแกะดินออกจากผ้าใส่กระด้งตากแดดสักพักก็แห้งสนิท ป้าบอกข้าพเจ้าว่า นี่แหละเรียกว่า ดินสอพอง เอาไปอบกับของหอม ๆ เก็บไว้ใช้ทาตัวทาหน้า

ข้าพเจ้ารู้จักดินสอพอง ว่าเป็นแป้งที่แม่เคยทาหน้าทาตัวให้ข้าพเจ้าบ่อย ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เลยว่ามันทํามาจากดินที่เชิงเขา เมื่อต้องมาลงมือทําเสียเองดังนี้ ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าก็ไม่ยอมทาแป้งดินสอพองอีก คิดแต่ว่า แป้งเนี่ย ทําด้วยดินนี่นา เรื่องอะไรจะเอาขี้ดินมาทาหน้าทาตัว

จากนั้นมาเมื่อเติบโตขึ้น ทุกครั้งที่ต้องใช้แป้งทาหน้าทาตัว ก็อดคิดไม่ได้ว่า เอ... แป้งนี่ทํามาจากดินรึเปล่าไม่อยากเอาดินทาหน้าเลย... แต่เมื่อต้องทําตามสังคม ก็เหมือนถูกฝืนใจให้ทํา ข้าพเจ้าจึงทําเท่าที่จําเป็น เช่น เวลาออกจากบ้านไปทํางานหรือไปพบปะผู้คนที่รู้จักอื่น ๆ แต่ถ้าอยู่กับบ้านหรือไปตลาด ไปในที่ไม่มีคนรู้จัก ข้าพเจ้ามักไม่ทาแป้ง ด้วยเหตุนี้ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ข้าพเจ้าจึงเสียเงินซื้อแป้งทาหน้าเพียง ๒ ตลับเท่านั้น และเป็นอันเลิกใช้ ทั้งที่ตลับสุดท้ายยังเหลืออยู่เกินกว่าครึ่ง

โดยเฉพาะการเลิกใช้แป้งที่มีสีต่าง ๆ ทาหน้า ข้าพเจ้าเลิกใช้เด็ดขาดในปี ๒๕๐๕ คงใช้เพียงแป้งทาตัวเด็กเรื่อยมาจนปี ๒๕๑๓ จึงเลิกใช้หมดทุกชนิด สาเหตุที่เลิกก็คือ

ปลายปี ๒๕๐๕ เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปฟังเทศน์จากพระเถระรูปหนึ่งในห้องประชุมคุรุสภา  ท่านพูดเรื่องความโง่ของคนเราในทุกวันนี้ แล้วแต่พากันขาดปัญญาพิจารณาว่าสิ่งใดควรทํา สิ่งใดไม่ควรทํา อะไรควรทำไม่ทำ กลับไปทําในสิ่งที่ไม่ควรทํา ยกตัวอย่างเช่น ในร่างกายของคนเรานี่ วันหนึ่ง ๆ ใบหน้าของเราไม่สกปรกอะไรมาก แต่คนเราโดยเฉพาะผู้หญิงต้องล้างหน้าทาแป้งกันวันยังค่ำ วิธีล้างก็สิ้นเปลืองต้องใช้ครีมใช้สบู่ราคาแพง ๆ ล้าง แล้วก็ทาแป้งให้สวยให้หอม หน้านั้นถูกแต่งกันทั้งวัน ตรงกันข้ามกลับลืมก้น ที่ก้นทั้งทวารหนัก ทวารเบามีสิ่งสกปรกต้องการกําจัดสิ่งสกปรกทิ้งไหลออกอยู่เป็นประจํา วันละหลาย ๆ ครั้ง แต่ผู้คนไม่เคยคิดถึง วันหนึ่ง ๆ ถ้าไม่ถึงเวลาอาบน้ำก็ไม่เคยล้าง นี่คือความโง่ของคน

ข้าพเจ้าฟังแล้วเข้าใจซาบซึ้ง จริงของท่าน ท่านพูดถูกต้อง เราแต่งกันที่หน้า ไม่เคยนึกถึงก้น ยิ่งเรื่องใจแล้วต่างพากันลืมเสียจนสิ้นเชิง    หาคนที่คิดจะแต่งใจเป็นไม่มีเอาเลย ปัญญาง่าย ๆ แค่นี้ยังคิดไม่ได้ จะไปคิดให้ลึกกว่านี้ได้อย่างไร ยิ่งนึกถึงเรื่องดินสอพองที่ตนเองเคยทํา ก็เลยยิ่งเห็นความโง่ของตนเองและผู้คนมากยิ่งขึ้นไปอีก ตั้งใจเลิกแต้มสีบนหน้าตั้งแต่วินาทีนั้น

ทันทีขณะที่ข้าพเจ้ากําลังได้คิด ตั้งใจเลิกการแต่งหน้าทาปากอยู่นั่น เก้าอี้นั่งแถวหน้าไม่ห่างกันมาก มีสตรีอายุค่อนข้างมากแล้วผู้หนึ่ง ลุกขึ้นยืนขอทางผู้คนเดินออกจากห้องประชุม ได้ยินเสียงเธอบ่นว่า

“พระอะไรไม่รู้ พูดจาหยาบคาบ เอาเรื่องก้นมาพูด ไปละไม่ฟังแล้ว

ข้าพเจ้ามองหน้าเธอ เห็นแต่งแต้มเครื่องสําอางสีเข้มเต็มไปทั้งใบหน้า เลยนึกเห็นใจว่า คนชอบแต่งตัวขนาดนั้น จะไปฟังเรื่องให้เห็นก้นดีกว่าหน้ารู้เรื่องยังไงกัน... แต่ก็ไม่น่าจะโกรธเคืองพระเถระท่านจนต้องแสดงกิริยาเดินออกจากห้องประชุม

คําพูดประโยคเดียวกันว่า หน้ากับก้นอะไรสกปรกกว่ากัน ควรล้างก้นหรือล้างหน้าบ่อยกว่ากันดี ข้าพเจ้าฟังแล้วคิดเป็น ส่วนสุภาพสตรีท่านนั้นฟังแล้วโกรธ นี่เวลาผ่านมานาน ๒๗ ปี เธอคงตายไปแล้ว ก่อนตายจะคิดออกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อาจจะสั่งลูกหลานไว้ก่อนตายให้แต่งศพเธอให้สวย ๆ ก็เป็นได้

การคิดเป็น การคิดได้ หมายถึงคิดแล้วเกิดปัญญาสั่งสอนตนเอง ให้บรรเทาจากความโลภ โกรธ หลง ให้ความทุกข์จากสิ่งเหล่านี้ลดลง ให้พ้นจากความเห็นผิดมาเป็นเห็นถูกตามความเป็นจริง

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างอีกบางเรื่อง เช่น พระภิกษุบางรูปท่านสอนคนที่ชอบดื่มสุราว่า

ถ้าเราเอาแก้วมา ๒ ใบ ใบหนึ่งใส่นม ใบหนึ่งใส่เหล้า ยกเอาให้สุนัขกิน ดูซิว่าสุนัขมันจะเลือกกินอะไร ตัวไหนก็ตัวนั้น สุนัขมันเลือกกินนม หมาแท้ ๆ มันยังรู้ว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ ก็เราเป็นคนยังเลือกไม่เป็น ชอบกินเหล้าอยู่ เราก็แย่ (เลว) กว่าหมา

บางคนฟังแล้วคิดเป็นคิดได้ เห็นจริงด้วย เกิดความละอาย เลิกดื่มได้เด็ดขาด นับว่าโชคดีมีปัญญา ส่วนคนไม่มีบุญเก่า ฟังแล้วกลับโกรธว่า

“อะไรกันวะ พระองค์นี้ด่ากูนี่หว่า กูกินเหล้ากูก็ใช้เงินของกู ไม่ได้ไปเดือดร้อนพระสงฆ์องค์เจ้า ทําไมต้องด่าว่ากูเลวกว่าหมา ไม่พอใจโว้ย”

มีตัวอย่างในสมัยครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งทูลลาพระบรมศาสดากลับภูมิลําเนาเดิมของท่าน ตั้งใจจะไปประกาศพระศาสนาที่นั่น

พระพุทธองค์ตรัสห้าม เพราะท้องถิ่นนั้นมีแต่ผู้คนใจคอโหดร้าย เมื่อถูกสั่งสอนอาจโกรธเคืองด่าว่า พระรูปนั้นทูลตอบว่า

“เขาด่าก็ยังดีกว่าเขาทําร้ายร่างกาย พระเจ้าข้า

ตรัสว่า ถ้าเขาทําร้ายร่างกายเอาเล่า

ทูลตอบ ทําร้ายร่างกาย ก็ยังดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย พระเจ้าข้า

ตรัสว่า ถ้าเขาฆ่าเธอให้ตายเล่า

ทูลว่า ก็ดีพระเจ้าข้า เพราะคนบางคนอยากตายถึงกับต้องฆ่าตัวเอง ส่วนข้าพระองค์อุตส่าห์มีคนมาฆ่าให้ นับว่าไม่ต้องลําบาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานสาธุการ อนุญาตให้กลับไปเผยแผ่ศาสนาที่บ้านเดิมได้ คนคิดเป็น คิดได้ แม้ความตายก็เห็นเป็นของดี

หรือตัวอย่างของพระอริยสงฆ์สาวกหลายรูปบรรลุคุณธรรมชั้นสูงเป็นพระอรหันต์ ด้วยการคิดเป็นคิดได้ เช่น ได้เห็นใบไม้ร่วงจากต้นหล่นลงดิน เห็นสายฝนหล่นผ่านหลังคาตกลงกระทบกับน้ำฝนที่พื้นดิน เป็นโป่งน้ำขึ้นมา เห็นน้ำล้างเท้าที่ไหลนองไปตามดินแล้วแห้งลง เห็นเปลวประทีปที่จุดไว้ดับลง เห็นพยับแดด เห็นฟันของคนที่กําลังยิ้ม เห็นผู้แสดงมหรสพ เห็นคนนอนหลับ เห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างดัดลูกศร คันธนู และเห็นช่างทําเกวียน ได้ยินเสียงร้องเพลง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

การเห็นหรือการได้ยินที่กล่าวแล้วเหล่านี้ ทําให้บรรลุคุณธรรมขั้นสูงได้  เพราะท่านผู้เห็นนําไปคิดเปรียบเทียบกับภาวะในร่างกาย และจิตใจของตนเอง ทําให้เกิดวิปัสสนาญาณ รู้แจ้งในพระสัทธรรมที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ คือ

เห็น อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

เห็น ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

และเห็น อนัตตา คือความที่ทั้งรูปและนามหรือกายและใจเหล่านั้น ไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของใคร

เห็นใบไม้ร่วงจากต้นหล่นลงดิน ทําให้ทราบว่าใบไม้เมื่อผลิออกมาแล้ว ก็ไม่คงสภาพเป็นใบอ่อนเท่าเดิมอยู่ได้ตลอดไป ต้องค่อย ๆ แก่ขึ้นเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดก็หลุดจากต้นหล่นลงดินสลายไป เหมือนกายและใจของสรรพสัตว์ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ในที่สุดก็แตกดับสลายไปสิ้น

เห็นโป่งน้ำที่เกิดจากสายฝนหล่นจากชายคา  เมื่อมีสายฝนจากข้างบนกระทบกับน้ำฝนที่พื้นดิน ก็เป็นเหตุให้เกิดเป็นโป่งน้ำเล็กบ้างใหญ่บ้าง โป่งน้ำเหล่านั้นตั้งอยู่เพียงครู่เดียว แล้วก็แตกหายไปสิ้น ชีวิต (ร่างกายและจิตใจ) เกิดขึ้นเพราะความประจวบกันของส่วนประกอบต่าง ๆ มาประกอบกัน มีความยึดถือตัวตนเป็นเหมือนยางเหนียว แต่ก็ให้คงที่อยู่อย่างเดิมไม่ได้ ตั้งอยู่เพียงชั่วครู่เหมือนฟองน้ำแล้วก็แตก

เห็นน้ำล้างเท้าไหลแล้วแห้ง ซึมลงไปในพื้นดิน เมื่อตักน้ำล้างเท้าครั้งแรก น้ำไหลไปได้นิดหนึ่งแล้วก็หมด ล้างซ้ำเป็นครั้งที่สอง น้ำไหลไกลจากครั้งแรกไปอีกหน่อย พอล้างครั้งที่สามก็ไหลไกลยิ่งขึ้นแล้วก็หมด  เหมือนชีวิตสรรพสัตว์ เกิดแล้วต้องตาย บ้างก็ตายแต่เยาว์วัย บ้างก็โตขึ้นมาหน่อยแล้วค่อยตาย บ้างก็ตายในวัยชรา ไม่มีสิ่งใดแน่นอน

เห็นเปลวไฟที่ลุกโพลงแล้วก็ดับ ไฟดับเพราะน้ำมันหมดบ้าง ดับเพราะถูกลมพัดกรรโชกบ้าง ชีวิตเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พอหมดอายุขัยเหมือนหมดน้ำมัน ดับเพราะถูกสิ่งต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุมาตัดรอนเหมือนลมกรรโชกให้ดับ หาแน่นอนอะไรไม่ได้

เห็นพยับแดด เมื่อเราเดินทางไปในที่ร้อนจัด มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ พื้นดินร้อนระอุ มองทอดตาฝ่าเปลวแดดออกไปไกล ๆ จะเห็นเหมือนมีรูปร่างอะไรบาง สิ่งบางอย่างเต้นเป็นริ้ว ๆ อยู่ บางทีมองเห็นเหมือนมีสายน้ำท่วมอยู่เบื้องหน้า สิ่งเหล่านั้นเรียกว่าพยับแดด เป็นภาพลวงตา เพราะเมื่อเดินเข้าไปใกล้ ภาพที่เห็นก็จะหายไปหมด กลับมองเห็นในที่ไกลไปอีกเหมือนเมื่อครู่ วิ่งไล่ตามไปดูอีกก็คงไม่พบอะไร มีแต่ความว่างเปล่าอยู่ตรงนั้นเหมือนเดิม

ชีวิตก็เหมือนพยับแดด เป็นเงา ๆ เฝ้าหลอกลวง เหมือนจะมีสิ่งใดเป็นของสลักสำคัญ แต่แล้วพลันไร้สาระ ปราศจากแก่นสารไปในที่สุด

เห็นฟันของคนอื่น ชวนให้นึกถึงกระดูก เพราะฟันก็คือกระดูก กระดูกมีอยู่ทั่วไปในร่างกาย  เป็นอสุภะ หาความสวยงามเป็นแก่นสารสิ่งใดมิได้ ที่เห็นกันว่างาม เพราะกระดูกเหล่านั้นมีเนื้อและหนังหุ้มอยู่เอาเนื้อหนังออกไปแล้ว ความงามสิ่งใดก็มิได้มีอยู่จริง

เห็นผู้แสดงมหรสพ เมื่อแสดงอยู่หน้าเวที ก็สมมติกันเป็นตัวละครอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวตลก ฯลฯ ล้วนแต่เล่นกันไปตามบทบาท เมื่อกลับเข้าหลังฉาก ต่างคนต่างก็ต้องเลิกการสมมติทิ้งไป ชีวิตเราก็เหมือนตัวละครในมหรสพ ยึดมั่นเป็นคนนั้นคนนี้ ตําแหน่งนั้นตําแหน่งนี้ ที่แท้แล้วเป็นแค่การสมมติ ท้ายที่สุดก็มีแค่เกิดขึ้น แก่ลง เจ็บ แล้วก็ตาย ก็มีเพียงเท่านี้

เห็นคนนอนหลับ คนนอนหลับคือคนขาดสติ ร่างกายเมื่อไม่มีสติควบคุมก็เหมือนซากศพ นอนหลับตา อ้าปาก น้ำลายไหล ส่งเสียงกรนบ้าง ละเมอบ้าง เป็นที่น่าสมเพช ไม่มีความสวยงามอันใดให้เห็นเหมือนเมื่อยามตื่น ความสังเวชใจจึงเกิดขึ้น ทำให้เห็นถึงความหลอกลวง ไร้สาระของรูปนาม

เห็นชาวนาไขน้ำเข้านา น้ำเป็นสิ่งไม่มีจิตใจควบคุม คนยังบังคับให้ไหลไปตามที่ต้องการได้ คนเราเป็นสิ่งมีชีวิตจิตใจ น่าจะฝึกหัดให้ทําอะไร ๆ ได้ง่ายกว่า

เห็นลูกธนู ลูกศร และอุปกรณ์การทําเกวียน ก็คิดได้ว่า ไม้เป็นสิ่งไม่มีจิตใจ คนยังเอามาถาก มาดัดให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ ก็คนเรามีชีวิตจิตใจ น่าจะฝึกหัดให้ทําอะไรได้ง่ายกว่า

ได้ยินเสียงเพลง เนื้อร้องบรรยายว่า      รู้สึกเสียใจที่เห็นดอกไม้ที่แย้มบานในตอนเช้า สวยงามยามกลางวัน แต่พลันเหี่ยวแห้งไปในเย็นค่ำ เหมือนร่างกายสรรพสัตว์ สวยงามแข็งแรงในวัยต้น เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็ดับสลายไป

ตัวอย่างที่เล่ามาข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างที่ผู้พบเห็นคิดได้ คิดเป็น เกิดความรู้แจ้งเป็นพิเศษด้วยตนเองขึ้นมา สําหรับคนบางคนคิดเองไม่ได้ แค่เพียงมีผู้แนะนําให้คิด ความรู้แจ้งก็เกิดขึ้นในทันที เช่น ในรายพระอรหันตเถระนาคเสน หลังจากพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว ประมาณห้าร้อยปี พระนาคเสนจึงถือกําเนิดขึ้น สมัยเป็นทารกอายุ ๗ ขวบ เล่าเรียนไตรเพทสําหรับตระกูลพราหมณ์ได้เชี่ยวชาญหมดสิ้น เห็นว่าเป็นความรู้ที่ไม่มีแก่นสาร เป็นของสูญเปล่าเหมือนลอมฟาง เมื่อพบพระภิกษุอรหันตเถระมีนามว่า พระโรหณะ เห็นแต่งกายแปลก นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดและโกนศีรษะ จึงถามว่าทําไมจึงทําอย่างนั้น ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร

พระโรหณะชี้แจงการแต่งตัว และการปลงผมปลงหนวดของท่านว่า ทำให้ละเครื่องกังวลใจได้ถึง ๑๖ ประการ คือ

๑.     ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ว่าจะต้องใช้สีสัน ใช้แบบอย่างโน้นอย่างนี้)

๒.    ไม่ต้องห่วงเรื่องการหาเครื่องประดับ

๓.     ไม่ต้องห่วงเรื่องต้องไปหาช่างทําเครื่องแต่งตัว (ช่างตัดเสื้อ ช่างทอง ฯลฯ)

๔.     ไม่ต้องห่วงเรื่องการดูแลรักษาเครื่องประดับให้สวยอยู่เสมอ (การเช็ด ขัด ถู ทำความสะอาด)

๕.     ไม่ต้องห่วงเรื่องการเก็บรักษาในที่อันสมควร

๖.      ไม่ต้องห่วงเรื่องการซักล้าง

๗.     ไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้ดอกไม้มาประดับผม

๘.     ไม่ต้องห่วงเรื่องการหาของหอมมาอบ

๙-๑๑. ไม่ต้องห่วงเรื่องยาสระผม (สมัยนั้นยาสระผมทําด้วยสมอ มะขามป้อม หรือดินอย่างใดอย่าง
หนึ่ง)

๑๒. ไม่ต้องห่วงด้วยเครื่องเสียบผม

๑๓. ไม่ต้องห่วงเรื่องมุ่นเกล้าผม

๑๔. ไม่ต้องห่วงเรื่องหาช่างแต่งผม

๑๕. ไม่ต้องห่วงเรื่องดําน้ำขณะอาบ (เพราะจะทําให้เหม็นสาบ)

๑๖. ไม่ต้องห่วงว่าผมจะสวยหรือไม่สวย จะเปลี่ยนเป็นผมหงอกไปหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปกังวลมาก  ถ้าเส้นผมเปลี่ยนแปลงหายสวยงามเมื่อใดย่อมพากันเสียใจ

พระนาคเสนกุมารฟังโทษของเครื่องแต่งกายและผม ๑๖ ข้อ ก็คิดเป็น คิดได้ทันที จึงขออนุญาตบิดามารดาบวชเป็นสามเณร ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุบรรลุเป็นพระอรหันต์มีสติปัญญาแตกฉานสามารถแสดงธรรมได้แจ่มแจ้ง กลับใจบรรดาผู้มีมิจฉาอาชีพทั้งปวง โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระนามว่า พระเจ้ามิลินท์

หรือแม้ตัวอย่างพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ในสมัยโบราณ พอทรงทราบว่า  มีเส้นพระเกศาบนพระเศียรหงอกเป็นเส้นแรกเท่านั้น พระองค์ก็ทรงคิดได้ คิดเป็นว่า ทรงเข้าสู่วัยชรา ควรแสวงหาที่พึ่งสําหรับชาติหน้า จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวชบําเพ็ญเพียรทางจิต บางแห่งปฏิบัติกันดังนี้สืบต่อ ๆ กันมาหลายรัชกาลจนสิ้นวงศ์

การคิดเป็น คิดได้ ต้องเป็นความคิดที่ใจยอมรับ จึงจะทำให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นลดลง หรือทําให้กิเลสที่ครอบงําใจอยู่คลายออก ตนเองต้องเป็นคนกระทําให้ตนเอง ผู้อื่นทําแทนไม่ได้ ผู้อื่นทำให้ได้อย่างมากเพียงแนะให้คิดเท่านั้น เราทุกคนจึงควรฝึกหัด ให้รู้จักคิดเป็นคิดได้ไว้เสมอ ๆ ชีวิตจะปลอดภัย

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม๔ บทที่ ๒๐
คิดได้ – คิดเป็น คิดได้ – คิดเป็น Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:01 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.