เมส ไซนัค กับความหวังและทางรอด


เมื่อประมาณ ๕-๖ ปีมานี้ คำว่า Mes Aynak (เมส ไซนัค) ซึ่งเป็นที่ตั้งพุทธโบราณสถานในประเทศอัฟกานิสถาน เริ่มเป็นที่รู้จักและสนใจของชาวโลกมากขึ้น เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งของจีนชนะการประมูลทำเหมืองแร่ทองแดงที่เมส ไซนัค ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก และหากมีการทำเหมือง พุทธสถานเก่าแก่หลายแห่งในบริเวณนี้จะถูกทำลายจนไม่เหลือซาก

ในขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานมีเหตุผลและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ องค์กร NGO และองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกก็มีเหตุผลที่จะต้องอนุรักษ์พุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค เอาไว้เพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของโลกใบนี้ และเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต

ด้วยเหตุนี้องค์กรต่าง ๆ จากทั่วโลกจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อพิทักษ์พุทธโบราณสถานเมส ไซนัค ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิเช่น จัดประชุมและรวบรวมรายชื่อเสนอต่อผู้รับผิดชอบ เช่น UNESCO และประธานาธิบดีแห่งอัฟกานิสถาน ฯลฯ เพื่อหาทางประนีประนอมให้ขุดเจาะเหมืองทองแดงโดยไม่ทำลายพุทธสถาน

ครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองสูงสุดในดินแดนนี้

อัฟกานิสถานในอดีตเป็นแหล่งรวมความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา จึงมีโบราณสถานและพระพุทธรูปเก่าแก่หลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  รวมทั้งพระพุทธรูปยืนสูง ๕๕ เมตร ที่บามิยัน ซึ่งถูกรัฐบาลตาลีบันระเบิดทำลายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่คนทั้งโลก

เมส ไซนัค ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงคาบูล (Kabul) เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งเมส  ไซนัคในปัจจุบัน อดีตคืออาณาเขตของแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีต และเป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก มีทั้งวัด วิหาร เจดีย์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่มีการสำรวจพบมรดกอันล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากที่นี่ เช่น ซากหลักฐานอารามสงฆ์ ร่องรอยของโบสถ์ประดับด้วยประติมากรรมดินเหนียว ภาพวาดฝาผนัง ภาพเขียน ฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และพระพุทธรูปเก่าแก่นับพันองค์ รวมทั้งโบราณวัตถุอีกมากมาย  นอกจากนี้ยังมีพุทธสถานอีกหลายสิบแห่งในบริเวณกว่า ๒๕๐ ไร่ ที่ยังไม่ได้ขุดค้น

ปกป้องพุทธสถาน เมส ไซนัค เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน

แม้ว่าอัฟกานิสถานจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่อาจเลิกล้มการสัมปทานเหมืองทองแดง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันปกป้องพุทธสถานแห่งนี้ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพุทธสถานเมส ไซนัค เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเมื่อสมาพันธ์พิทักษ์โบราณสถานแห่งอัฟกานิสถาน (APAA) พยายามรวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นอุทธรณ์ไปยัง UNESCO ให้ใส่ชื่อโบราณสถานแห่งนี้ไว้ในกลุ่มโบราณสถานที่กำลังถูกคุกคาม และขอให้รักษาพื้นที่แกนหลักของแหล่งโบราณคดีนี้ไว้ แต่ก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้เพียง ๕๐๐ ชื่อเท่านั้น

ต่อมา เมื่อหลวงพ่อธัมมชโย วัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกายทราบข่าว  ท่านจึงให้การสนับสนุนการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกพระธัมฯ และพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้การรวบรวมรายชื่อครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ถวายโล่ประกาศเกียรติคุณแด่หลวงพ่อธัมมชโย

คุณนาเดีย ทาร์ซี ประธาน APAA รู้สึกซาบซึ้งใจในความเมตตาของหลวงพ่อธัมมชโยเป็นอย่างยิ่ง จึงเดินทางมาถวายโล่ประกาศเกียรติคุณแด่หลวงพ่อที่วัดพระธรรมกาย ในฐานะที่ท่านและหมู่คณะร่วมมือกับนานาชาติทั่วโลกปกป้องพุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค และยื่นจดหมายขอบคุณองค์กรเครือข่ายรวมทั้งร่วมบรรยายและอภิปรายหาแนวทางในการพิทักษ์พุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค ที่ห้องประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมีองค์กรการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และองค์กรพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร มูลนิธิธรรมกาย และองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายทั้งสิ้นกว่า ๒๕๐ ท่าน

การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนไทย และผู้ที่สนใจเรื่องราวของพุทธสถาน เมส ไซนัค เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณธรรม ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไป ในการกำหนดเป็นแนวทางพิทักษ์รักษาและอนุรักษ์พุทธโบราณสถานดังกล่าวเสนอแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป

สามัคคีคือพลังและทางรอด

เมส ไซนัค มีกำหนดให้ถูกทำลายให้เสร็จสิ้นภายในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองแดงของรัฐบาลจีน ล่าสุด APAA และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำเสนอวิธีการที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์พุทธสถาน เมส ไซนัค แห่งอัฟกานิสถานให้คงไว้เป็นสมบัติของชาวพุทธทั่วโลก ด้วยการย้ายพระพุทธรูป รูปปั้น และสิ่งก่อสร้างออกจาก เมส ไซนัค ก่อนการทำเหมืองแร่ทองแดงจะเริ่มขึ้น ซึ่งบริษัทที่ได้รับสัมปทานให้เวลานักโบราณคดี ๓ ปี เพื่อขุดค้นพุทธสถานแห่งนี้

ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์กรพุทธทั่วโลก ให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางความคิดในระหว่างการจัดสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ชาวพุทธและองค์กรพระพุทธศาสนาของไทยจึงมีหน้าที่เป็นปากเสียงแทนชาวพุทธทั่วโลกในเรื่องนี้ ซึ่งสำหรับประเด็นปัญหานี้เราก็พยายามทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันชาวพุทธยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงยังไม่มีพลังมากพอที่จะไปกำหนดทิศทางของเรื่องนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวพุทธควรสร้างให้เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจคุ้มครองปกปักรักษาพระพุทธศาสนาที่จะมีขึ้นในอนาคต

“โลกจะไม่ถูกทำลายโดยคนที่ทำไม่ดี
แต่ถูกทำลายโดยคนที่ได้แต่มองโดยไม่ทำอะไรเลย”
อัลเบิร์ต   ไอสไตน์




















Cr. กองบรรณาธิการ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เมส ไซนัค กับความหวังและทางรอด เมส ไซนัค กับความหวังและทางรอด Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:51 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.