Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล)
ดวงจันทร์และดวงดาวสุกสว่างเหนือเทือกเขาเอเวอร์เรสต์เปล่งประกายงดงาม
กล่าวกันว่าเป็นภาพทิวทัศน์ที่สวยที่สุดทางตอนเหนือของประเทศเนปาล ซึ่งหากใครไม่ได้แวะไปเยือน
ถือว่ายังไปไม่ถึงประเทศมนต์เสน่ห์แห่งหุบเขาหิมาลัย
แต่วันนี้เทือกเขาอันศักดิ์สิทธิ์ดูจะงดงามแปลกตากว่าทุกวัน
เมื่อนิมิตหมายอันเป็นมงคลได้บังเกิดขึ้น ด้วยการจุดประกายแห่งธรรมให้สว่างไสวขึ้นอีกครั้ง
ในดินแดนประสูติของพระพุทธองค์
ด้วยดำริของหลวงพ่อธัมมชโย
ประธานมูลนิธิธรรมกาย
ที่ปรารถนาจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในดินแดนประสูติให้กลับคืนมารุ่งเรืองดังเดิม คณะสงฆ์ประเทศเนปาลร่วมกับยอดนักสร้างบารมีทุกหมู่เหล่า
ได้พร้อมใจกันจัดพิธีบรรพชาหมู่สามเณรธรรมทายาท ๑,๑๑๒ รูป ประเทศเนปาล เมื่อวันพฤหัสบดีที่
๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙, ราชบัณฑิต) เมตตาไปเป็นพระอุปัชฌาย์ ณ
บริเวณลานเสาอโศก มายาเทวีลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ในปีเดียวกัน หลังจากได้จัดพิธีบรรพชาหมู่สามเณรธรรมทายาท ๑๑๑ รูป ระหว่างวันที่
๑๙ มกราคม ถึง ๕ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ ๑๑๑ ปี ของพระปัญญานันทะ พระมหาเถระผู้บุกเบิกพระพุทธศาสนาในประเทศเนปาล
บรรยากาศงานมหากุศลครั้งประวัติศาสตร์นี้
อบอวลไปด้วยรอยยิ้มอิ่มบุญเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
นมัสเต...คำทักทายสวัสดีพร้อมพนมมือไหว้แบบเนปาล
แถมพ่วงด้วยรอยยิ้มจริงใจ คือคำแรกที่เราได้ยินเมื่อเดินทางไปถึง
ทำให้รู้สึกอบอุ่นคลายความกังวลเมื่อต้องอยู่ต่างถิ่นแดนไกล รถบัสคันเล็กพาหมู่คณะผ่านถนนแคบ
ๆ จากสนามบินตรีภูวัน เข้าสู่ที่พักในกรุงกาฐมัณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล
หลายท่านได้มีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์สวยัมภูวนารถ และเจดีย์มหาโพธินาถที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล
ซึ่งเกือบทุกเจดีย์มีรูปดวงตาทั้ง ๔ ด้าน
หมายถึงดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ทิศ
เนื่องจากเจดีย์ตั้งอยู่บนภูเขา เราจึงสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของกรุงกาฐมัณฑุได้
๓๖๐ องศา
ในวันที่
๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันตัดปอยผม ได้รับความเมตตาจากท่าน
มหาสังฆนายกแห่งประเทศเนปาลมาเป็นประธานสงฆ์ ผู้บวชในครั้งนี้ต้องผ่านการคัดเลือกจากพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี
คือ ต้องท่องขานนาคได้ สวดมนต์ได้ นั่งสมาธิได้ เป็นต้น
เพื่อเหมาะสมเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐแก่ญาติโยม พิธีในครั้งนี้มีพุทธศาสนิกชนชาวเนปาลเข้าร่วมหลายพันคน
ทำให้ขบวนแห่นาคธรรมทายาทยาวเป็นกิโลเมตร
ความประทับใจในการจัดเตรียมสถานที่นั้นยากจะลืมเลือน
เพราะการจัดงานบวชอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับประเทศไทย แต่ยากเอาการสำหรับการจราจรในประเทศเนปาล
ปิ๊นๆ
มอๆ... ตลอดทั้งวันในกรุงกาฐมัณฑุ
จะได้ยินเสียงแตรรถดังทั้งวัน คนเนปาลใช้วิธีบีบแตร
เพื่อจะบอกคนอื่นว่าฉันมาแล้วนะ ระวังด้วยนะ แม้จะดูวุ่นวาย
แต่กลับไม่เห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเมืองนี้เลยสักครั้ง อาศัยความเอื้ออาทรในชีวิตประจำวันที่มีให้กัน
ทุกคนจึงขับขี่อย่างสบายใจ รถที่ใช้ส่วนมากจะเป็นรถคันเล็ก ๆ เช่น
รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ติดป้ายทะเบียนสีแดงเท่านั้น สมคำบอกเล่าที่ว่า
เนปาล...มีแต่รถป้ายแดง
อีกสิ่งหนึ่งที่จะเห็นอยู่ทั่วไปบนถนนที่จอแจคือ
วัว คนเนปาลนับถือวัวมาก เพราะถือว่าวัวเป็นพาหนะของพระศิวะ
วัวจึงมีสิทธิเสรีที่จะเดินไปไหน มาไหนตามใจชอบ โดยไม่มีใครคอยขัดขวาง
ว่ากันว่าคนขับรถที่นี่ระวังวัวมากกว่าระวังคน ขับรถชนคนยังพอจะเคลียร์กันได้
แต่ถ้าขับรถชนวัว... จำคุกสถานเดียว
แต่กระนั้นพิธีแห่นาคธรรมทายาทก็เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
เพราะความศรัทธาของ พุทธศาสนิกชนชาวเนปาลไม่ยิ่งหย่อนกว่าประเทศใดในโลก
สมชื่อเมืองแห่งเทพเจ้า เพราะคนเนปาลมีวิถีชีวิตผูกพันกับศาสนามาก
พวกเขาผสมผสานอิทธิพลของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
ทุกบ้านจะมีเทพเจ้าประจำบ้าน ตามถนนหนทางก็มี
การปฏิบัติศาสนกิจถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต คนเนปาลไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเช้า-เย็น
ซึ่งคนที่ไปวัด ไหว้พระมาแล้วจะแต้มสีแดงที่หน้าผาก
นับเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา
ในรอบปีคนเนปาลจะมีเทศกาลที่ต้องหยุดงานเฉลิมฉลองทางศาสนา
๒๐๐ กว่าวัน นั่นหมายความว่า
คนที่นี่ทำงานกันแค่ปีละร้อยกว่าวันเท่านั้น ยิ่งฤดูหนาวจะทำงานแค่ ๑๐ โมงเช้า ถึงบ่าย ๓ โมงเย็น
ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลงานบวชที่เราจัดพอดี แม้อุณหภูมิจะลดต่ำกว่าศูนย์องศา ทว่า
เป็นฤดูการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะท้องฟ้าโปร่งใสสวยงามที่สุดในรอบปี
ชาวพุทธเนปาลบอกข่าวงานบุญนี้ปากต่อปาก จึงมีคนมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
แม้ประเทศเนปาลจะมีปัญหาในด้านสาธารณูปโภคมาก
น้ำไม่ค่อยไหล ไฟฟ้าดับวันละ ๔-๑๘ ชั่วโมงต่อวัน พอ
๔-๕ ทุ่มร้านรวงปิดหมดแล้ว เงียบสงบไม่มีแสงสี
แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อหมู่คณะยอดนักสร้างบารมีที่ไปร่วมจัดงานบวชครั้งนี้แต่อย่างใด
เพราะต่างสวมหัวใจพระบรมโพธิสัตว์
มุ่งหวังที่จะจุดประกายความสว่างไสวแห่งธรรมในดินแดนประสูติแห่งนี้มาตั้งแต่ต้น
เพราะเราตระหนักดีว่า ประเทศเนปาลมีสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจมากที่สุด
นั่นคือ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก
ซึ่งเราได้จัดให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบรรพชาในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ นับเป็นกิจกรรมงานบุญที่ช่วยจุดประกายความหวังอันสว่างไสวให้กับชาวพุทธเนปาลทั่วประเทศ
จากจำนวนประชากร ๒๗ ล้าน มีชาวพุทธอยู่ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ คือ ๒ ล้าน
๓ แสนคน
นับเป็นจำนวนไม่น้อยในการผลักดันกิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไปในอนาคต
ภาคเช้า ๐๗.๓๐ น. เป็นพิธีเวียนประทักษิณรอบเสามายาเทวี จากนั้น
ตัวแทนมูลนิธิธรรมกายกล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ ประธานฝ่ายฆราวาส
เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนปาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ กล่าวเปิดงาน
ในพิธีขอบรรพชา ตัวแทนนาคธรรมทายาท ๒ ท่าน น้อมนำพานพุ่มถวายพระอุปัชฌาย์ พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี
สุรเตโช ป.ธ. ๙, ราชบัณฑิต)
จากนั้น พระอุปัชฌาย์ให้โอวาทแก่นาคธรรมทายาท เสร็จแล้วนาคแปรแถวเข้าไปคล้องอังสะ
และไปเข้าพื้นที่ครองผ้า ต่อด้วยพิธีขอสรณคมน์และศีล และพิธีขอนิสัย
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีบรรพชา มีการถ่ายภาพประวัติศาสตร์ที่ด้านหน้าเสามายาเทวี
ในช่วงเย็นได้จัดพิธีรวมใจจุดประทีป
ณ ลุมพินีสถาน จุดที่เป็นต้นกำเนิดแสงแห่งสันติภาพโลก ประธานสงฆ์ไทย
พระราชรัตนรังสี เมตตานำกล่าวคำอธิษฐานจิต ค่ำคืนนั้นดวงประทีปสว่างไสวไปทั่วทั้งบุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์
ส่งสัญญาณสำคัญให้โลกรับรู้ว่าพระพุทธศาสนาจะกลับมารุ่งเรืองสว่างไสวดังเช่นครั้งพุทธกาล
นอกจากนี้
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ประธานาธิบดีเนปาล
ดร.ราม บาราน ยาดาฟ ยังขอปวารณาที่จะนำต้นกำเนิดประทีปแห่งสันติภาพโลกจากสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ไปส่องสว่าง
ณ ศูนย์รวมใจของชาวเนปาลทั้งประเทศ ที่จตุรัสทุนดีเคล เมืองหลวงกาฏมัณฑุ
โดยจัดให้เป็นวาระแห่งชาติในชื่อ Together for World Peace โดยมีท่านประธานาธิบดีมาเป็นประธานในพิธี
สำหรับบุคคลประวัติศาสตร์ที่ได้ร่วมกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในดินแดนประสูติ หลวงพ่อธัมมชโยมีดำริให้จัดทำหอประวัติศาสตร์
Hall of Fame จารึกชื่อผู้มีส่วนร่วมในบุญครั้งนี้ด้วย
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า
อะไรคือความสำเร็จที่เรียกได้ว่า “เกินควรเกินคาด” ในพิธีบรรพชาหมู่สามเณรธรรมทายาท ๑,๑๑๒ รูป ครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศเนปาล
สิ่งที่เราต่างสัมผัสและรับรู้ได้ คือ
พลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธเนปาลที่สื่อผ่านภาพและเสียงไปทั่วโลก
เป็นการตั้งคำถามนำพาเราให้ค้นหาคำตอบที่ว่า ท่ามกลางกระแสแห่งศรัทธาในศาสนาฮินดูอันแข็งแกร่ง
ศาสนาพุทธแทงยอดทะลุขึ้นมาเหนือเมฆหมอกแห่งอภิปรัชญาเหล่านั้นได้อย่างไร
ภาพที่เราเห็นทำให้ชาวไทยเข้าใจพระพุทธศาสนาในทางที่ถูกต้อง
ว่าความจริงเนื้อแท้แล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนแสวงหาที่พึ่งอันประเสริฐ ซึ่งเป็น “สารธรรม” นำความสงบสุขอันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา มากกว่าตัวบุคคลหรือพิธีกรรม
อันจะนำไปสู่สันติสุขแก่ตนเองและสังคมโลกอย่างแท้จริง
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู (เดือนมีนาคม)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา (เดือนมิถุนายน)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ (เดือนกรกฎาคม)
เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย (เดือนกันยายน)
รอลงบทความของปี ๕๔ |
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู (เดือนมีนาคม)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา (เดือนมิถุนายน)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ (เดือนกรกฎาคม)
เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย (เดือนกันยายน)
Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:28
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: