บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู



ไม่คิดไม่แปลกที่ต้นโพธิ์ต้นใหญ่ แท้จริงแล้วก็เกิดมาจากเมล็ดโพธิ์เม็ดเล็ก ๆ ที่งอกงามจนเติบโต กลายเป็นไม้ใหญ่ขึ้นมา และในทำนองเดียวกัน  บุคคลสำคัญหรือผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนเริ่มต้นเกิดจากคนธรรมดาที่เริ่มจากการเพาะเชื้อแห่งความดีในตัว แม้จะยังเป็นมวลเล็ก ๆ แต่หากค่อย ๆ พัฒนาให้งอกงามขึ้นในใจ จนในที่สุดย่อมกลายเป็นพลังอานุภาพแห่งความบริสุทธิ์ ยังให้เกิดความสุขและความสำเร็จในชีวิตอันยิ่งใหญ่ได้ และเชื่อว่าลูกผู้ชายทุกคนในโลกล้วนมีเชื้อแห่งความดีในตัวด้วยกันทั้งนั้น  หากค่อย ๆ เพาะบ่มความดีในใจ ด้วยศรัทธามุ่งมั่นก้าวตามเส้นทางแห่งการฝึกฝนอบรมตนเองด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ชีวิตของบุคคลผู้นั้น ย่อมพบกับความมหัศจรรย์ด้วยตัวของตัวเอง และยังส่งผลแห่งความดีนี้ไปถึงบิดามารดาผู้ให้ชีวิตของตนนั้นให้พบกับความมหัศจรรย์เช่นเดียวกันอีกด้วย... เส้นทางที่จะกล่าวนี้ คือเส้นทางอันประเสริฐของบุคคลที่จักเป็นแบบฉบับหรือ  idol ของลูกผู้ชาย... ผู้มีหัวใจกตัญญู...

คุณทำได้ หากคุณ...ได้ทำ

การบวช คือ การพาชีวิตให้ก้าวไปบนเส้นทางแห่งความดีอันบริสุทธิ์ แต่หลายคนอาจจะกังวลว่า การบวชเป็นเรื่องยุ่งยาก ทั้งด้วยการเตรียมตัวซักซ้อม ขั้นตอนพิธีการ การเตรียมจัดงานเลี้ยงสมโภชให้สมฐานะ ทั้งการจัดสรรเวลาไม่ให้กระทบกับธุรกิจการ งาน และบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ "คนหนีโลก"  แต่โดยแท้จริงแล้ว การบวชคือการปลดปล่อยภารกิจ ปล่อยวางความกังวล มิใช่หนีโลก แต่เป็นการเตรียมพร้อมครั้งสำคัญ ที่จะเผชิญโลกอย่างองอาจมั่นใจ แม้จุดมุ่งหมายของการบวชคือเพื่อปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน  ดังที่ผู้บวชจะต้องกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ว่า "สัพพะ ทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ, อิมัง กาสาวัง คะเหตวา, ปัพพาเชถะ มัง ภันเต, อนุกัมปัง อุปาทายะฯ"  ก็ตาม  แต่แม้หากทางพ้นทุกข์จะยังไม่แจ้ง เราก็ยังสามารถที่จะแสวงสั่งสมบุญสร้างบารมีให้ค่อย ๆ เพิ่มพูนมากขึ้นได้ หากใครจะลองจินตนาการถึงภาพที่ตนเองได้บวช และนึกถึงภาพที่บิดามารดาหรือผู้มีพระคุณของตน กำลังหยิบกรรไกรมาตัดปอยผมบนศีรษะของเราผู้ที่ท่านเคยเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังนอนแบเบาะ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย จะกินจะถ่ายหรือจะชำระร่างกายก็ต้องอาศัยท่านตลอด  แต่บัดนี้เด็กคนนี้ของท่านตัวโตแล้ว และอาจจะโตกว่าท่านเสียอีก ท่านคงจะปลื้มปีติอย่างท่วมท้นล้นใจ ยิ่งเมื่อได้ถวายผ้าไตร เพื่อให้เราใช้ห่มกายครองเพศแห่งสมณะ พ่อแม่ท่านคงจะพบกับความรู้สึกเป็นสุขและอิ่มเอิบที่สุดในชีวิต เพราะภาพของเด็กชายตัวเล็กเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว  บัดนี้กลายเป็นพระภิกษุผู้สงบสง่างามยืนอยู่ตรงหน้า แม้มนุษย์และเทวดาก็ย่อมกราบไหว้ และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้  หากเรา...ได้ทำ


ชีวิตสมณะ...
สุขแบบพระด้วยธรรมะภายในใจ

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อุบัติขึ้นในโลก ล้วนมีความปรารถนาตรงกันอย่างหนึ่งคือ ต้องการมีความสุข ดังพระบาลีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า  "สุขกามานิ  ภูตานิ"  แต่ความสุขของแต่ละชีวิตที่แสวงหานั้น ล้วนแตกต่างกันไปตามสภาพและกำลังปัญญาของตนที่จะไขว่คว้าหามาได้ เช่น สัตว์บางพวกขอให้ได้กินอิ่มนอนหลับ ก็ถือว่าเป็นความสุข มนุษย์บางเหล่าก็ถือว่า การได้มาซึ่งความมีชื่อเสียงถือว่าเป็นความสุข ขณะที่บุคคลจำนวนไม่น้อยถือว่าการได้เสพในสิ่งที่ตนพอใจ เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ถือว่าเป็นความสุข จึงเกิดคำถามตามมาว่า อะไรคือความสุขที่แท้จริง ซึ่งผู้ที่ตอบได้จะต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ที่สุด ประเสริฐที่สุด เคยพบกับความสุขหลากหลายรูปแบบมาแล้ว จนสามารถชี้ทางแห่งความสุขอันเป็นอมตะได้ บุคคลผู้นี้ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่สละราชสมบัติออกมาใช้ชีวิตเป็นนักบวช ประทับอาศัยในกุฏิอันเรียบง่าย เสวยพระกระยาหารอันเป็นของที่ได้จากการบิณฑบาต ซึ่งภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนามิใช่เป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องแห่งชีวิตอันสูงส่ง เป็นชีวิตที่จะทำให้พบกับความสุขที่แท้จริงได้ ดังนั้น การบวชเป็นพระธรรมทายาท แม้จะใช้เวลาไม่ยาวนาน แต่จะได้สัมผัสกับชีวิตของผู้อยู่ในโลกแต่ไม่ติดข้องอยู่กับโลก เป็นชีวิตที่มีความสุขแบบพระด้วยธรรมะ ที่ฝึกฝนและสั่งสมให้บังเกิดมีในตน  บุญกุศลก็ยิ่งจะเพิ่มพูนทับทวี  ดังที่หลวงพ่อธัมมชโย เคยกล่าวไว้ว่า "บุคคลใดแสวงหาช่องทาง ย่อมพบช่องทาง  และหากแสวงหาบุญ... ก็ย่อมได้บุญ"


บวชแล้ว..จะได้ทำอะไร

ก้าวแรกที่ผู้สมัครอบรมเข้ารายงานตัวตามศูนย์ฝึกอบรมทั่วประเทศนั้น เชื่อว่าแต่ละท่านย่อมจะพบกับบรรยากาศที่ท้าทายต่อชีวิตลูกผู้ชายผู้รักในการฝึกฝน และรักที่จะพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น นับตั้งแต่การได้แต่งกายด้วยชุดขาวที่จะคอยเตือนให้เรามีสติมากขึ้นในการลุกการนั่ง ทำให้เกิดความสำรวมขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แม้การโกนผมจนศีรษะเบาโล่ง ที่ทำให้หมดกังวลกับการระมัดระวังรักษาความสะอาดและต้องคอยหวีให้เข้ารูปทรงอยู่เสมอ หรือแม้การได้พักในกลดหลังเล็กที่เพียงพอสำหรับการทอดกายพักผ่อนและเก็บสัมภาระสิ่งของ  ล้วนจะเป็นสิ่งสอนใจให้เรารู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพราะพระพุทธธรรมคำสอนมุ่งปลูกฝังให้ทุกคนรู้จักความพอดีที่ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป นอกจากนี้ การได้พักใต้กลดส่วนตัวยังทำให้เรามีเวลาให้กับตนเอง ที่จะพักใจให้สัมผัสกับความสงบ ปลอดจากสิ่งรบกวนให้ใจคอยกังวลกับสิ่งที่เคยเป็นหรือเคยทำในชีวิตทางโลก เพียงแค่บรรยากาศเริ่มต้นเช่นนี้ เชื่อว่าย่อมจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากจะสั่งสมสิ่งที่ดี ๆ ให้กับตนเอง เพื่อให้ตัวเราได้ใช้เพศภาวะของความเป็นนักบวชเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดให้สมบูรณ์ขึ้น

และที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาในการอบรม เราจะได้รับการหล่อหลอมทั้งด้วยกิจวัตรและกิจกรรม หลากหลายที่บรรจุไว้ในหลักสูตรอบรม โดยก่อนบวช ธรรมทายาทจะได้ร่วมกิจกรรมเหล่านี้

๑. ได้ฝึกเสขิยวัตร (มารยาทของพระ) เช่น การฉันภัตตาหาร การกราบ การลุก การนั่ง ฯลฯ เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม และจะกลายเป็นมารยาทที่ดีติดตัวไป


๒. ได้ศึกษาธรรมะ  ถือศีล ๘ และนั่งสมาธิ  เพื่อความบริสุทธิ์กายวาจาใจ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว พ่อแม่และญาติโยมก็จะกราบได้อย่างสนิทใจ

๓. ได้นั่งสมาธิ  ทำให้มีความสงบและความสุขมากขึ้น สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ช่วยเพิ่มไอคิว (IQ) ความฉลาดทางปัญญา และอีคิว (EQ) ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเรียนรู้ การประกอบการงาน และการใช้ชีวิตในสังคม

๔. ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งจะช่วยเพิ่มเอ็มคิว (MQ) ความฉลาดทางจริยธรรม เป็นการเพิ่มเติมคุณธรรม ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และจะได้นำคำสอนมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของ ตนเอง


๕. ได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น  ทำให้เกิดสิริมงคล ภัยอันตรายไม่มากล้ำกราย และช่วยให้ใจสงบเยือกเย็น

๖. กิจวัตรกิจกรรมในการอบรมจะช่วยฝึกคุณธรรมและนิสัยดี ๆ แก่ธรรมทายาท เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นคนดีที่โลกต้องการ

บวชแล้ว..ได้อะไร

เมื่อบวชแล้ว หากผู้บวชฝึกฝนอบรมตนเองตามพุทธวิธีอย่างจริงจัง และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ย่อมได้อานิสงส์ ดังนี้

๑. ได้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ได้บุญ  บุญนี้จะช่วยปิดอบาย เปิดสวรรค์ และช่วยให้ผู้บวชได้เกิดในบวรพระพุทธศาสนาเป็นเวลาถึง ๖๔ กัป  นอกจากนี้  พ่อแม่ยังได้บุญครึ่งหนึ่ง ผู้ชวนบวชหรือสนับสนุนการบวชได้บุญลดหลั่นกันลงไป เท่ากับว่าได้ความคุ้มครองข้ามภพข้ามชาติ

๒. ได้ความสุข ความอิ่มเอิบเบิกบานผ่องใส เหมือนได้ผลัดชีวิตใหม่  ความสุขนี้  เป็นความสุขจากความปลอดกังวล เป็นความสุขที่เกิดจากจิตที่ผ่องใส เพราะได้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมทุกวัน เป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แต่ได้ฟรี ๆ จากการบวช

๓. ได้ฝึกสมาธิอย่างถูกวิธี  เป็นการพัฒนาจิตให้สงบและมีพลังแห่งความบริสุทธิ์ มีฤทธิ์ดึงดูด สิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิต ทั้งคนดี ๆ ของดี ๆ และโอกาสดี ๆ

๔. ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และได้รู้ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทำให้การเกิดมาในชาตินี้ไม่สูญเปล่า

๕. ได้โอกาสทองในการแก้ไขนิสัย และสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย รวมทั้งได้หักดิบเลิกอบายมุขต่าง ๆ

๖. ได้ความภาคภูมิใจ  ที่เกิดมาชาตินี้ได้เป็นหนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์แห่งการฟื้นฟูศีลธรรมครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อความสงบร่มเย็นของประเทศชาติและโลกของเรา

บวชแล้ว..พ่อแม่ได้อะไร

พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกขึ้นสวรรค์ เพราะการบวชเป็นการเติมบุญ  เติมอริยทรัพย์ (ทรัพย์ที่ประเสริฐ) หมู่ญาติก็จะมีส่วนในบุญ และบุญนี้ยังอุทิศไปถึงญาติที่ละโลกไปแล้วได้ด้วย


การบวชทำให้พ่อแม่ได้เป็นญาติกับพระศาสนา ได้ใกล้ชิดพระศาสนามากขึ้น ได้โอกาสในการสร้างบุญมากขึ้น ทำให้ท่านมีสัมมาทิฐิและศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการตอบแทนที่คุ้มกับการที่ท่านให้กำเนิดเรามาอย่างแท้จริง

บวชแล้ว..ครอบครัวได้อะไร

เมื่อพ่อบ้านที่เป็นผู้นำครอบครัวผ่านการบวชเรียนมาแล้ว  ความสุขในครอบครัวจะกลับคืนมา เพราะคนในครอบครัวมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

บวชแล้ว..พระพุทธศาสนาได้อะไร

การบวช ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทั้งแผ่นดิน จะสร้างกระแสความตื่นตัวในการฟื้นฟูประเพณีการบวชกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งจะมีผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มั่นคงเป็นปึกแผ่น  ปัญหาวัดร้างก็จะหมดไป กลายเป็นวัดรุ่งทั้งแผ่นดิน  เมื่อมีพระแท้ในโลกมากขึ้น ก็จะมีพุทธบริษัทที่ดีเพิ่มขึ้น  ชาวโลกก็จะหันมาจับตามองและสนใจศึกษาพระธรรมคำสอน ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปดับทุกข์ในใจชาวโลกมากขึ้น


บวชแล้ว..สังคม ประเทศชาติ และโลกได้ประโยชน์อะไร

การบวชเป็นการช่วยฟื้นฟูศีลธรรมโลกที่กำลังเสื่อมลงทุกขณะให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง  มหากุศลครั้งยิ่งใหญ่จากการอุปสมบทหมู่พระภิกษุนับแสนรูป จะช่วยนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ในที่สุด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์

จะเห็นได้ว่า การบวชมีอานิสงส์หรือผลดีมากมาย เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน และยังเป็นประโยชน์ในภพชาติเบื้องหน้าอีกด้วย  ที่สำคัญยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณอีกด้วย

ภารกิจชีวิตพระธรรมทายาท

โครงการบวชพระธรรมทายาทที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคฤดูร้อนปีนี้เรียกว่า โครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ มีนาคม ถึงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ศูนย์อบรมมีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วไทย และเพื่อไม่ให้ผู้สมัครบวชมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการบวช ทุกศูนย์อบรมจะจัดหาเจ้าภาพให้เสร็จสรรพ เพียงแต่ขอให้ผู้สมัครบวชเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะเป็นพระแท้ผู้เป็นเนื้อนาบุญของญาติโยม ส่วนวันเวลาที่จะบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม ณ วัดพระธรรมกาย และจะอยู่อบรมธรรมะพื้นฐาน ณ วัดพระธรรมกาย จนถึงวันที่ ๗ เมษายน จากนั้นจึงเดินทางกลับไปเข้าพิธีอุปสมบท (บวชพระ) ณ วัดหรือศูนย์อบรมในจังหวัดเดิมของตนทั่วประเทศ


กิจวัตรประจำวันของพระธรรมทายาทแต่ละแห่งจะมีหลักการตรงกันคือ อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง ร่วมปรองดองประคับประคองเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เน้นทำงานเป็นทีม การมีระบบระเบียบ และมีการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่

โครงการอุปสมบทหมู่ครั้งนี้ จบโครงการด้วยการเดินธุดงค์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ - ๑๒ พฤษภาคม ทั้งนี้ เป็นไปตามพระพุทธธรรมคำสอนตอนหนึ่งว่า

"จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ "

ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง (สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย)


ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปิดการอบรม จะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าอบรมทุกรูป

ขออนุโมทนาพระธรรมทายาท
ผู้ยิ่งใหญ่ หัวใจกตัญญู

การจัดโครงการอุปสมบทภาคฤดูร้อนครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง และคาดว่าจักมีกุลบุตรผู้ศรัทธาพร้อมใจกันเป็นสมานฉันท์ ที่จะถือเพศพรหมจรรย์เข้าบรรพชาอุปสมบท ประพฤติปฏิบัติธรรม ตามเนติแบบแผนแห่งโบราณกาล เพื่อธำรงรักษาปณิธานเชิดชูพระพุทธศาสนา และสั่งสมกุศลผลบุญด้วยกตัญญุตาจิตอุทิศแด่ชาติบ้านเมือง อีกทั้งหมู่พี่น้องญาติมิตร ให้ประสบแต่ความสงบร่มเย็น ให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เป็นปิ่นของอารยประเทศ และยังถือว่านอกจากจะเป็นการธำรงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีการบวชของคนไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้มีจำนวนพระภิกษุสงฆ์เพิ่มมากขึ้น จะได้เป็นศาสนทายาทดำเนินกิจวัตรเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา และเผยแผ่คำสอนที่ดีงาม อันจะก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นไปยังผู้คนในสังคมต่อไป..



Cr. พระสมศักดิ์  จนฺทสีโล
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๓  เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๕

คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล)  (เดือนมกราคม)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา (เดือนมิถุนายน)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ (เดือนกรกฎาคม)
เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย  (เดือนกันยายน)
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู บวชเป็นพระแท้  แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:12 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.