เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย
เข้าพรรษาเวียนมาอีกครา
ยามนี้ฟ้าดินราวกับจะเป็นใจ สายฝนโปรยปราย แมกไม้เขียวขจี ส่วนข้าวกล้าก็เติบใหญ่
พืชพันธุ์ธัญญาหารทุกหนแห่งงอกงามพร้อมพรั่งราวกับจะเรียกร้องเชิญชวนให้ธรรมชาติภายในของเราเจริญงอกงามไปด้วยกัน
ข้าวงอกงามเพราะฝน ฉันใด จิตใจก็งอกงาม เพราะบุญ ฉันนั้น ฤดูฝนสำหรับชาวพุทธจึงมิใช่แค่ฤดูกาลสำหรับการเพราะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเท่านั้น
หากยังหมายถึงเทศกาลสำหรับการบ่มเพาะชีวิตจิตใจให้งอกงามด้วย
หันกลับมามองชาวพุทธในยุคปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเทศกาลเข้าพรรษา
แต่ละคนอาจจะมีความรู้ความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางท่านอาจนึกถึงภาพของขบวนแห่เทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่สลักเสลาอย่างวิจิตรงดงาม
บางท่านบอกว่าช่วงเข้าพรรษาเป็นเทศกาลที่ชาวพุทธมักเข้าวัดทำบุญกันมากกว่าปกติ
หรือบางท่านบอกว่าเป็นพุทธบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน
เพื่อจะได้ไม่สร้างความเสียหายแก่พืชผลของชาวไร่ชาวนา เป็นต้น
จากหลากหลายมุมมองดังกล่าว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า
สังคมไทยทุกวันนี้จะมีชาวพุทธสักกี่คนที่ เข้าใจความหมายของคำว่า "เข้าพรรษา"
อย่างแท้จริง
คำว่า
"พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายพิเศษต่อวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งในแง่ของการทำมาหาเลี้ยงชีพ
และการประพฤติตนตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อหน้าฝนมาถึงครั้งใด
คนไทยสมัยก่อนจะเริ่มลงมือทำไร่ไถนา และเร่งปักดำข้าวกล้าในนาให้
เสร็จเรียบร้อยก่อนจะเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา
เพื่อที่ว่าเมื่อพระภิกษุสงฆ์เริ่มจำพรรษา ตนเองก็จะเริ่มเข้าวัด ทำทาน รักษาศีล
และเจริญภาวนาได้อย่างตลอดต่อเนื่องในพรรษาไปพร้อม ๆ กัน
หากใครเคยอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า
มีเนื้อหาหลายตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พระภิกษุใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษาปรารภความเพียรด้วยการเจริญสมาธิภาวนา
เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ส่วนพระภิกษุผู้บรรลุธรรมแล้ว
จะคอยทำหน้าที่แสดงธรรมสงเคราะห์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย กล่าวโดยสรุปคือการจำพรรษาในพระพุทธศาสนานั้น
มีความหมายซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น ด้วยกัน คือ ในชั้นแรก
หมายถึงการที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องอธิษฐานอยู่ประจำวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งใดแห่งหนึ่ง
ไม่เที่ยวจาริกไปค้างแรมที่อื่น ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี เว้นไว้ แต่มีกิจจำเป็นเท่านั้น
ซึ่งพรรษานี้มีพระภิกษุสามเณรอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่วัดพระธรรมกายทั้งสิ้น
๒,๐๘๙ รูป แบ่ง เป็นพระภิกษุ ๑,๗๙๗ รูป และสามเณร ๒๙๒ รูป
ส่วนความหมายในชั้นที่ ๒ หมายถึง
การที่พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้เวลาในช่วงนี้ประพฤติตนเยี่ยง "พระโยคาวจร" ประกอบความเพียร หมั่นประคองใจให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ซึ่งเป็น
"การจำพรรษา ณ กลางวงกาย" เพื่อผลแห่งการเข้าถึงพระธรรมกายภายในนั่นเอง
อีกประการหนึ่ง
การเข้าพรรษาไม่ใช่เพียงเรื่องของคณะสงฆ์เท่านั้น แต่ยังเป็นกิจของฆราวาสทุกคนอีกด้วย
โดยสามารถทำได้ครบทั้ง ๒ ชั้น เช่นเดียวกัน ชั้นแรกคือ
การปฏิบัติภารกิจการงานในฐานะผู้ครองเรือนให้ครบถ้วน อย่าให้ขาดตกบกพร่อง
ส่วนในชั้น ที่ ๒ คือ การหมั่นจรดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาสบายในทุกอิริยาบถเช่นกัน
เหมือนดังวิถีชีวิตในช่วงเข้าพรรษาของผู้คนในสมัยก่อน
ที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่าง แน่นแฟ้น โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา
บรรพบุรุษของเราจะตั้งใจทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ควบคู่ไปกับการจำพรรษาของพระสงฆ์
โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน ทำความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ให้กับตนเอง
เพราะการที่คนเราได้มีโอกาสทำความดีเป็นพิเศษอย่างจริงจัง
และต่อเนื่องยาวนานถึง ๓ เดือน เต็มนั้น ถือว่าเป็นการ "บ่มบุญ" ที่จะก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายหลายประการตามมา เริ่มต้นด้วยเรื่องของการมีสัมมาทิฐิ เรื่องของกำลังใจในการสร้างความดี ตลอดจนการสั่งสมบารมีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น
ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี เป็นต้น
เนื่องจากปีพุทธศักราช
๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น
ท่านใดที่ตั้งใจทำความดีเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษานี้ นอกจากจะได้รับอานิสงส์ไปตามส่วนแห่งการปฏิบัติแล้ว
ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้คว้าชัยชนะที่ไม่มีวันแพ้อีกในวัฏสงสาร ตามความหมายของคำว่า พุทธชยันตี ซึ่งหมายถึง "ชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง" อันเกิดจากความเพียรสั่งสมความดี และแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง เอาชนะกิเลสในใจตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่องในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นช่วงการทำความดีที่พิเศษสุด ในวาระอันเป็นมหากุศลนี้
เราจะกลับมาให้ความสำคัญกับการเจริญสมาธิภาวนา นำแบบอย่างอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมตามอย่างสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
มาทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนคนรอบข้างให้มาสร้างความดีร่วมกัน
สันติภาพอันแท้จริงที่ทุกคนแสวงหา ย่อมเกิดตามมาอย่างแน่นอน...
Cr. อัญชลี เรืองจิต
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๙
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล) (เดือนมกราคม)
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู (เดือนมีนาคม)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา (เดือนมิถุนายน)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ (เดือนกรกฎาคม)
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล) (เดือนมกราคม)
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู (เดือนมีนาคม)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา (เดือนมิถุนายน)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ (เดือนกรกฎาคม)
เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:48
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: