ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา



พระพุทธศาสนายกย่องมนุษย์ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองจากความเป็นมนุษย์ปุถุชนขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลได้ เพราะเหตุนี้ จึงทำให้พวกเราทั้งหลายได้ตระหนักว่า บทฝึกฝนตนเองในพระพุทธศาสนา ช่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างล้ำเลิศ ที่ยังความประเสริฐให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ และพร้อมทั้งยืนหยัดในพระธรรมคำสอนมายาวนาน จนปัจจุบันที่ได้มีการฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ธรรม ซึ่งเป็นการตอกซ้ำย้ำเตือนให้ผู้คนทั้งหลายได้มั่นใจว่า พระอริยสัจธรรมแห่งพระพุทธองค์นั้น ไม่เคยสอนให้มีการว่าร้าย ทำร้าย หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง และสงครามแต่อย่างใด และยังคงมุ่งสอนให้ผู้คนทั้งหลายละความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจของตนให้ผ่องใส เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือความหลุดพ้น ดังนั้น บทฝึกตนในโครงการอบรมพระธรรมทายาททั้งในช่วงเข้าพรรษาและภาคฤดูร้อนของวัดพระธรรมกาย จึงได้มีการนำหลักคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจัดทำเป็น หลักสูตรอบรมและบทฝึกที่ประดุจจะย้อนสู่ยุคสมัยพุทธกาล และจากการสำรวจความเห็นของผู้เข้าอบรมพบว่า มีพระธรรมทายาทจำนวนมากที่ตั้งตารอคอยบทฝึกในช่วงสุดท้ายของการอบรม นั่นคือการเดินธุดงค์จาริกไป ให้ทุกก้าวย่างเป็น "ย่างก้าว ย่างแก้ว" และสืบทอดก้าวที่ยาวไกลของอายุพระพุทธศาสนา.. ตลอดกาลนาน

ย่างก้าวที่ย่ำ ย้ำความเป็นพระแท้

หลังจากผ่านการฝึกอบรมมาจนถึงช่วงสุดท้ายของหลักสูตร สิ่งที่พระธรรมทายาททุกรูปต่างรอคอย ก็คือ การเดินธุดงค์ และเชื่อว่าความรู้สึกของท่าน ขณะที่เริ่มคล้องย่ามและยกกลดขึ้นวางบนบ่า คือความรู้สึกที่ย้อนกลับมาย้ำเตือนให้แต่ละท่านตระหนักแล้วว่า เราคือสมณะ เราคือผู้ที่ออกจากเรือนเหมือนนกที่จากคอน ไม่มีบ้านเรือนอยู่แบบชาวโลกทั้งหลาย จะมีที่พักพิงอาศัยก็คือกลดที่อยู่บนบ่า และสัมภาระสิ่งของที่จะใช้ก็มีเฉพาะสิ่งที่บรรจุในย่ามที่กำลังสะพายเท่านั้น และแม้บ้านเรือนของเราจะอยู่สุขสบาย แต่เราจะไม่ห่วงหาอาวรณ์แม้เมื่อจรจากมา แต่กลับมุ่งจะประพฤติปฏิบัติธรรม อดทน ฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ เพื่อความเป็นพระแท้ และขณะที่ก้าวย่างแต่ละก้าว ก็จะคอยเตือนตนเสมอให้ "มองกลาง  มองทาง" นั่นคือ จิตใจจะจรด มองเข้าไปในกลางกาย ดำเนินจิตให้เข้าไปในกลาง ความสงบ สว่างใส และมุ่งสอดใจเข้าไปในกลางความสว่างที่ใสกระจ่าง ละเอียดมากยิ่งขึ้นในกลางของกลางนั้น ขณะที่ภายนอก สายตาอาจจะมองเส้นทางที่ก้าวไป และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความปลื้มปีติอย่างไม่มีประมาณ เมื่อสำนึกในใจว่า เรากำลังประพฤติธรรม บำเพ็ญตนเป็นพระแท้ เราคือ พุทธบุตรผู้กำลังดำเนินตามรอยวัตรปฏิบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เรากำลังทำตนให้เหมาะสมกับการที่มีคนมารอต้อนรับกราบไหว้ และเรากำลังสืบทอดก้าวย่างอันยาวไกล อันจักสืบต่อไปสู่อนาคตของพระพุทธศาสนา จึงกล่าวได้ว่า การเดินธุดงค์ครั้งนี้ ยังให้เกิดทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ของชาวโลก และประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา


ทุกเส้นทาง ก้าวย่างเพื่อชาวโลก

จากพระพุทธโอวาทในสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย  พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น การเดินธุดงค์ของพระธรรมทายาทภาคฤดูร้อนปีนี้ แต่ละศูนย์ฝึกอบรมทั่วประเทศ ต่างก็จัดให้มีกิจกรรมเพื่อยังให้เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมเติมบรรยากาศของการเดินธุดงค์ให้มีความหลากหลาย เช่น การออกบิณฑบาตในหมู่บ้านเป็นแถวยาว ซึ่งจุดเด่นของการบิณฑบาตของพระธุดงค์แต่ละแห่งก็คือ แต่ละรูปจะห่มดองครองผ้าอย่างเป็นระเบียบงดงาม สีผ้ากลมกลืนกัน และขณะออกบิณฑบาต แต่ละรูปต่างเดินไปด้วยการสำรวมกิริยาอาการ มองดูน่าเลื่อมใส นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนชาวบ้านให้มาร่วมสวดมนต์และฟังธรรมในตอนเย็นหลังเลิกงาน พร้อมทั้งสอนการนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ พบความสว่างภายใน บางสถานที่ก็จัดให้มีการจุดโคมไฟถวายเป็นพุทธบูชา ยังให้เกิดความประทับตา ประทับใจแก่ผู้คนทั้งหลายที่มาร่วมกิจกรรม


จากวัดร้าง เสริมสร้างให้เป็นวัดรุ่ง

ปัจจุบันมักจะกล่าวกันว่า พระภิกษุเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง และวัดร้างเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่สิ่งที่ปรากฏอีกเป็นจำนวนมากไม่แพ้กัน คือมีวัดจำนวนมากที่กำลังจะเริ่มร้าง และมีพระอยู่ในวัดเพียงรูปสองรูปเท่านั้น ดังนั้น กิจกรรมของพระธรรมทายาทที่ออกเดินธุดงค์ก็คือ การพัฒนาวัดร้างและวัดที่กำลังจะร้างให้กลายเป็นวัดรุ่ง และการที่วัดจะรุ่งได้นั้น มิใช่เพียงการก่อสร้าง ทาสี ปรับปรุงตกแต่งสถานที่ให้ดูสะอาดตาและสวยงามเท่านั้น  หากจะต้องมีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของวัด ที่ส่งเสริมการเป็นวัดรุ่งอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถาวรต่อไป และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญก็คือชาวบ้านรอบวัด ซึ่งการเดินธุดงค์ของพระธรรมทายาทแต่ละศูนย์ทั่วประเทศครั้งนี้  นอกจากจะเข้าไปปักกลดพำนักในวัดต่าง ๆ และมีการพัฒนาปรับปรุงวัดให้สะอาด สวยงามแล้ว พระธรรมทายาทจะต้องเชิญชวนประชาชนรอบวัด ให้มาร่วมสวดมนต์ นั่งสมาธิ และบางแห่งก็มีการเวียนเทียนรอบโบสถ์ อันเสมือนจะเป็นการจุดความสว่างไสวแห่งแสงพระพุทธธรรมให้ส่องสว่าง ยังความสุขสงบและสันติสุขแก่ชุมชน ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และหวงแหนวัดวาอารามอันเป็นศาสนสถานแห่งการรวมจิตใจ อันเปี่ยมด้วยศรัทธาของผู้คนในชุมชน และแผ่ขยายสู่สังคมในวงกว้างออกไป


ความในใจของพระธุดงค์ ผู้องอาจ

การเดินธุดงค์จาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ ของพระธรรมทายาทในภาคฤดูร้อนนี้ หลายรูปได้กล่าวเปิดใจตรงกันเสมือนออกมาจากดวงใจดวงเดียวกันว่า “การเดินธุดงค์ของพระธรรมทายาทนั้น เป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อการประกาศพระศาสนาให้ชาวโลกได้รับรู้ เป็นการไม่หยุดนิ่ง เป็นปฏิบัติการเชิงรุกให้สังคมตื่นตัว และเป็นการรวมตัวกันที่ดีที่สุดของชาวพุทธ ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ  นอกจากนี้ยังเป็นการปลุกจิตสำนึกของทุก ๆ คนให้เกิดความรักความหวงแหนในสถาบันศาสนาที่เปรียบเสมือนเสาหลักของคนไทย และสิ่งสำคัญหากไม่มีกิจกรรมเช่นนี้แล้ว คนดี ๆ ในสังคมคงหายาก สังคมคงจะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อน เพราะคนจิตใจต่ำทรามจะเต็มเมือง

พระธรรมทายาทบางรูปกล่าวว่า “การออกบวช และการเดินธุดงค์เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาได้อย่างดียิ่ง เป็นการปลุกกระแสความรักในพระพุทธศาสนา ทำให้เห็นคุณประโยชน์และคุณค่าของพระพุทธศาสนา ที่สามารถพัฒนาจิตใจคนให้รู้จักเป้าหมายชีวิต รู้จักกฎแห่งกรรม ซึ่งส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอกุศล”

และพระธรรมทายาทบางรูปกล่าวสรุปเป็นข้อ ๆ ถึงผลดีของการบวชและการเดินธุดงค์ ดังนี้

๑. สร้างศรัทธาให้สาธุชนที่ยังไม่ศรัทธาให้เกิดศรัทธา ที่ศรัทธาแล้วให้ศรัทธายิ่งขึ้นไป
๒. สืบชาติ สืบศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทั่วโลกพบกับสันติสุขที่แท้จริง
๓. มีกิจกรรมดี ๆ ที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ มีคุณค่ามหาศาล สมกับที่ทุ่มเทงบประมาณและบุคลากร
๔. ประเทศชาติมั่นคงเพราะประชาชนมีความสามัคคี มีจิตใจที่ดีงาม ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี ๆ

ภาพพระเดินธุดงค์  ภาพแห่งสันติสุข
ภาพแห่งความประเสริฐ

การเดินธุดงค์ธรรมชัยภาคฤดูร้อนของพระธรรมทายาทในแต่ละศูนย์ทั่วประเทศ แม้จะเริ่มมายังไม่ถึงสิบปี แต่ควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะร่วมกันส่งเสริม และสร้างให้บังเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะบัดนี้สิ่งที่ดีงาม และความเป็นสิริมงคลกำลังจะบังเกิดในบ้านเมืองของเรามากขึ้น ในขณะที่หลายประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี จนกลายเป็นผู้นำของโลกทางด้านการเงิน และอุตสาหกรรม แต่ประเทศเหล่านั้นกลับล้มเหลวทางด้านศีลธรรม ทำให้ผู้คนในประเทศนั้น ๆ ยากที่จะมีความสุขได้  ดังนั้น เราจึงควรมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพียงเล็กน้อย มุ่งหน้าดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ให้แพร่หลายยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้จะมีอุปสรรคและสิ่งที่ท้าทายต่อการก้าวไปข้างหน้า เพราะหากเราหยุดหรือท้อถอยเสียแล้ว เราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก หรือ Change the World ได้  ดังนั้น  "ย่างก้าว  ย่างแก้ว"  ของพระธรรมทายาทผู้ออกเดินธุดงค์ในครั้งนี้ คือก้าวย่างที่จะนำไปสู่ความก้าวไกลของพระพุทธศาสนา และในวันนี้ถือว่าท่านเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการนำโลกไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และจุดประกายเริ่มต้นยุคของการแผ่ขยายคำสอนอันประเสริฐแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ยังความรุ่งโรจน์โชติช่วง สว่างไสว และยังประโยชน์และสันติสุขที่แท้จริงแก่มวลมนุษยชาติตลอดไปตราบสิ้นกาลนาน





Cr. พระสมศักดิ์  จนฺทสีโล
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๖  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๕


ไม่มีบทความ
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้





คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
Change the World in Nepal จุดประกายแสงแห่งธรรมในแดนประสูติ (เนปาล)  (เดือนมกราคม)
บวชเป็นพระแท้ แบบฉบับลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู  (เดือนมีนาคม)
ก้าวสู่ปีที่ ๘ แห่งการหยัดสู้ เคียงข้างพุทธบุตร ๒๘๖ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้  (เดือนกรกฎาคม)
เข้าพรรษา จำพรรษา ณ กลางวงกาย  (เดือนกันยายน)
ย่างก้าว ย่างแก้ว ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา ย่างก้าว ย่างแก้ว  ..ย่างไกลของอายุพระพุทธศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:28 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.