ศิลปะกับศาสนา


พระพุทธศาสนากับศิลปะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร ?

บ่อเกิดของศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือศาสนา เพราะเมื่อคนเรามีความศรัทธาในศาสนา ก็จะทุ่มเทอุทิศตนเพื่อให้สิ่งดี ๆ บังเกิดขึ้นแก่ศาสนาที่ตนนับถือ ฉะนั้นศาสนสถานแต่ละแห่งจึงเกิดขึ้นจากพลังศรัทธาของคนในชุมชนรวมกัน หาช่างที่ฝีมือดีที่สุด ทำอย่างตั้งใจที่สุด ช่างที่เราจ้างมาสร้างบ้าน เขามาทด้วยค่าจ้าง แต่ถ้าทำเพื่อศาสนา คนทำมีแรงจูงใจหลักไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นความศรัทธา จึงต้องทำให้สุดฝีมือของตัวเอง ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ยกระดับศิลปะของชุมชนขึ้นมา เมื่อมีความพร้อมทั้งทุนและฝีมือ ก็มีการยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ศิลปะทั้งหลายมีการพัฒนา ไม่เฉพาะสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว แต่รวมถึงศิลปะที่เนื่องด้วยศาสนาทั้งหมด ขนาดจารึกคำสอนคัมภีร์ใบลานยังต้องมีการพัฒนา สมัยก่อนยังไม่มีกระดาษ ก็แสวงหาว่าอะไรใช้จารึกคำสอนได้ดีที่สุด ช่วงแรก ๆ ก็เอาไหบ้าง หลังเต่าบ้าง มาจารึก แต่จะหาหลังเต่าเยอะ ๆ มาจากไหน ไหก็เขียนได้ไม่กี่ตัว สุดท้ายก็เจอว่าเขียนบนใบลานดีกว่า เพราะใบลานที่ผ่านกรรมวิธีแล้วมีความทนทานหลายร้อยปี และต้องหาวิธีจารอีกว่าทำอย่างไรจึงจะมีตัวหนังสือที่ชัดและอยู่ได้นานที่สุด และยังหาวิธีเข้าเล่มอีก แค่ตัวคัมภีร์อย่างเดียวก็ผ่านศิลปะตั้งมากมาย แล้วเรียนรู้กันจากท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น

ศาสนาสอนให้คนสมถะ แต่เวลาสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ บางทีใช้ทองแท้ ใช้เพชรนิลจินดา ตรงนี้มีความขัดแย้งกันหรือไม่ ?

เรื่องส่วนตัวเราเรียบง่าย แต่ถ้าเรื่องส่วนรวมที่แสดงออกถึงความเคารพบูชาแล้ว จะเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนมีอยู่ไปบูชาสิ่งที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย นี้เป็นธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องไปเลือกทำเลที่เหมาะที่สุด มาเจอสวนเจ้าเชต ทำเลเหมาะสม บรรยากาศดี แต่เจ้าของไม่ขายต้องเอาเงินมาปูให้เต็มที่ดินถึงจะยอมขายให้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ต่อสักคำ ขนเงินมาปูเรียงเคียงกันจนเต็มผืนแผ่นดินนั้นเลย ศรัทธาขนาดนี้ ถามว่าทำเกินไปหรือเปล่า เปล่าเลย ทำไมไม่ไปหาที่ไกล ๆ จะได้ราคาถูก ๆ ท่านไม่หา เพราะต้องการที่ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวท่านเองอยู่ง่าย ๆ แต่ถ้าทำเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อส่วนรวม ก็จะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้

แล้วดูสิว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง เชตวันมหาวิหารกลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล พระภิกษุจากทั่วทุกสารทิศจาริกมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ ชาวเมืองสาวัตถีเองก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นี่ ถ้าอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปหาที่ดินสร้างวัดนอกเมือง เวลาพระมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละครั้งเป็นพันเป็นหมื่นรูป ถามว่าใครจะมาใส่บาตร ไม่สะดวก แต่พอยอมตัดใจซื้อที่แพงที่มีทำเลเหมาะเท่านั้น ประโยชน์เกิดขึ้นมหาศาล ที่พระพุทธศาสนาเป็นปึกแผ่นถึงปัจจุบันนี้ได้ ทำเลที่ตั้งของเชตวันมหาวิหารมีส่วนอย่างยิ่งเลย เป็นศูนย์กลางในการประมวลคำสอน ประมวลพระวินัยในพระพุทธศาสนา ตกทอดมาถึงเราในยุคปัจจุบัน

เมื่อเอาสิ่งที่เยี่ยมที่สุดบูชาพระรัตนตรัยแล้วเกิดอะไรขึ้น เราต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์อย่างหนึ่งว่า คนทุกคนไม่ได้พร้อมที่จะเข้าถึงธรรมในทันทีทันใด มีทั้งคนพร้อมและไม่พร้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบคนเหมือนบัว ๔ เหล่าใช่ไหม กลุ่มคนส่วนใหญ่คือคนที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราว ศรัทธาก็มีพอประมาณ คนเหล่านี้นี่แหละที่เราต้องทอดบันไดลงไปรับเขาขึ้นมา อย่าไปทิ้งเขา คนกลุ่มนี้พอมาถึงวัด เห็นอารามสะอาดสะอ้านวิจิตรงดงาม สิ่งต่าง ๆ ล้วนเนื่องด้วยพระรัตนตรัย จะดูอะไรก็เจริญหูเจริญตาเจริญใจไปหมด รู้สึกว่าสร้างดีอย่างนี้แสดงว่าต้องมีดีจริง มิฉะนั้นทำไมจะต้องสร้างดีขนาดนี้ ใจเขาจะเริ่มเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พอใจเริ่มเปิด พระเทศน์สอนหน่อยก็เข้าใจได้ง่าย นี้เป็นเครื่องช่วยเขา ดังนั้นสิ่งที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัยทำให้ดีและประณีตเถิด เป็นบุญเป็นกุศลต่อตัวผู้ทำเองด้วย แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อมหาชนด้วย แต่ตัวเราให้อยู่อย่างเรียบง่าย กินใช้อย่างพอดี ๆ ตามอัตภาพของเรา

ในแต่ละประเทศและแต่ละยุคมีศิลปะที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาต่างกันไป เรื่องนี้มีเหตุผลและที่มาที่ไปอย่างไร ?

สังเกตไหมว่า วัดจีน วัดญี่ปุ่น วัดไทย หรือแม้แต่วัดพม่าก็ตาม ลักษณะพระพุทธรูปมีเอกลักษณ์บางอย่างต่างกันไป แต่เราดูออกว่าเป็นพระพุทธรูป เพราะมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะมหาบุรุษ เช่น เส้นพระเกศาขดเป็นก้นหอย พระเนตรเรียวยาวโค้ง เป็นต้น แล้วทำไมถึงมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน เราต้องเข้าใจว่า ในครั้งพุทธกาลหรือหลังพุทธกาลใหม่ ๆ ยังไม่มีการปั้นพระพุทธรูป เพราะว่าผู้คนต่างเคารพศรัทธาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดหัวใจ แล้วลักษณะมหาบุรุษก็สมบูรณ์มาก จนกระทั่งไม่มีใครอาจหาญปั้น เพราะเกรงว่าจะไม่เหมือน พลาดไปสักนิดก็รู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ ดังนั้นพอมีอะไรเนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจะทำเป็นรูปธรรมจักรบ้าง วาดเป็นรูปต้นโพธิ์บ้าง อย่างมากก็ทำเป็นรูปคล้าย ๆ เห็นจากข้างหลังบ้าง

การปั้นพระพุทธรูปเริ่มมีตอนที่ชาวกรีกเข้ามาในอินเดีย และในประเทศกรีซมีการปั้นรูปปั้นต่าง ๆ เยอะ ก็เลยเอาศิลปะอย่างนั้นเข้ามาประยุกต์กับพุทธศิลป์ คือ เอาลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ที่มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกออกมาเป็นลักษณะพระพุทธรูป ต่อมามีการพัฒนาไปตามประเทศต่าง ๆ เข้าประเทศไหนก็มีการปรับลักษณะพระพักตร์คล้ายคนของชาตินั้น แต่ก็มีลักษณะร่วมจากลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ทำให้เราดูออก

ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องของพุทธศิลป์ แต่สาระสำคัญคือเป็นองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกราบแล้วให้ระลึกนึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ แล้วตั้งใจฝึกตัวเองให้ทำความดีตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นการบูชาที่ถูกหลัก ถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นการบูชาที่สูงสุด

พระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย เหตุใดถึงมีการปั้นเป็นลักษณะนี้ ?

หลวงพ่อธัมมชโยมีความตั้งใจว่า สิ่งใดที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย ท่านอยากจะทำให้ดีที่สุด ประณีตที่สุด ลักษณะพระพุทธรูปนั้น หลวงพ่อใช้เวลาพัฒนาแบบมาตั้งแต่บวชเลย รวมแล้ว ๔๐ กว่าปี ถ้านับแบบมีเป็นพัน ๆ แบบ บางแบบต่างกันแค่มิลลิเมตรเดียวเท่านั้น อย่างภาพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในงานวีสตาร์ เมื่อปรับภาพแล้วมาให้หลวงพ่อดู พอท่านดูแล้ว ท่านจะบอกว่าให้เพิ่มตรงนี้นิด ลดตรงนี้หน่อย แค่มืออย่างเดียวปรับไปประมาณ ๓๐ ครั้ง ทุกอย่างจะต้องลงตัว และประณีตที่สุด เพื่อให้ตรงกับลักษณะมหาบุรุษมากที่สุด

พระประธานในโบสถ์โดยทั่วไปจะปั้นองค์ใหญ่และมีฐานสำหรับวาง แค่ฐานก็สูงเลยหัวคนไปแล้ว ดังนั้นเวลาคนมากราบพระ ถ้าจะดูพระต้องเงยหน้าดู สิ่งที่อยู่ใกล้ตามากที่สุดก็คือช่วงขา ถ้าจะให้ดูสมส่วนต้องทำให้ขาเล็ก ๆ แล้วส่วนที่อยู่ไกล ๆ เช่น หน้าอก หรือเศียรต้องทำโต ๆ พอเงยดูแล้วจะพอดี ทั้งหมดนี้มาจากความฉลาดของคนโบราณที่มีการปรับสัดส่วนให้พระพุทธรูปงามพอดี เมื่อดูจากตำแหน่งของผู้มากราบไหว้

แต่ของหลวงพ่อท่านต้องการให้เหมือนลักษณะมหาบุรุษ ไม่ได้เอาผู้มากราบพระเป็นที่ตั้ง ท่านต้องการให้ทั้งองค์เหมือนองค์จริงมากที่สุด ซึ่งจะพบว่าถ้าพระพุทธรูปลุกขึ้นยืนจะสมส่วน ทุกอย่างได้สัดส่วนพอดิบพอดี เป็นสัดส่วนกายวิภาคของมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งในการปั้นต้องใช้ศิลปะอย่างมาก การปั้นพระพุทธรูปไม่ใช่อยู่ ๆ ปั้นเป็นท่านั่งเลย ต้องมีท่ายืนก่อน แล้วกางแขน แล้วก็เอาแบบตรงนั้นมาปรับจนกระทั่งเป็นลักษณะขัดสมาธิและเมื่อสำเร็จเป็นองค์เล็ก ๆ แล้ว จะขยายเป็นองค์ใหญ่ ๕ เมตร ๑๐ เมตร ง่ายมาก ขอให้องค์ต้นแบบสำเร็จก่อน

ทุกขั้นตอนมีเทคนิคมากมายที่ผ่านการพัฒนามาตลอด ๔๐ กว่าปี วัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการให้เหมือนกายมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด จึงเป็นลักษณะอย่างที่เราเห็น แต่สาระสำคัญของการบูชาก็เหมือนกัน คือ บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วตั้งใจปฏิบัติตามปฏิปทาของพระองค์ 

ไม่เฉพาะพระพุทธรูป สิ่งที่เนื่องด้วยพระธรรมคำสอนก็ตาม เนื่องด้วยพระสงฆ์ก็ตาม หลวงพ่อท่านทุ่มเต็มที่ อย่างพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อท่านถึงขนาดหล่อด้วยทองคำเลย เพราะว่าทุกอย่างที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย ท่านเต็มที่ เพื่อเป็นเครื่องยอยกพระรัตนตรัยให้สูงเด่น เป็นเครื่องเจริญศรัทธาของมหาชนทั้งหลาย

มีข้อคิดเกี่ยวกับงานด้านพุทธศิลป์อย่างไร ทั้งในแง่ของผู้สร้างสรรค์ และผู้รักษา ?

ขอฝากข้อคิดไว้ ๒ ทาง คือ ๑. ทางด้านของผู้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ ขอฝากไว้ว่า อย่าทำด้วยความสนุก คึกคะนอง หรือแบบลวก ๆ ผ่าน ๆ แต่ให้ทำตามแบบอย่างดั้งเดิม คือทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจากหัวใจอย่างแท้จริง แล้วทำให้สุดฝีมือ ให้ดีที่สุด และประณีตที่สุด โบราณท่านถือ คนที่จะปั้นพระ จะมาสร้างโบสถ์ เขาจะไม่ดื่มเหล้า ต้องรักษาศีล ต้องตั้งใจสวดมนต์ทำภาวนา เมื่อใจละเอียดอยู่ในบุญ มีศีลมีธรรมแล้ว ผลงานที่ออกมาจึงจะดี ถ้าดื่มเหล้าไปด้วยปั้นไปด้วย ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะหย่อนด้วยศรัทธา ๒. ทางด้านของประชาชนทั่วไปที่มาสักการบูชา เมื่อกราบพระแล้วให้เน้นการปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ไปกราบเพื่อขอหวย แต่กราบเพื่อตั้งใจปฏิบัติตามสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เรา ขณะเดียวกันให้มองไปถึงใจผู้สร้างพุทธศิลป์นั้นว่าเขาทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ให้เรามองในเชิงสร้างสรรค์ มองด้วยความกตัญญูรู้คุณของผู้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์นั้นขึ้นมา จะเป็นพระไทย พระพม่า พระจีน พระเกาหลี พระญี่ปุ่นก็แล้วแต่ เราไปถึงที่ไหนก็กราบได้ ไม่ใช่ไปเห็นไม่เหมือนพระพุทธรูปของไทยก็ไปวิพากษ์วิจารณ์ ทำไมพระจีนเป็นอย่างนี้ พระญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนั้นเราจะเสียสิริมงคล เพราะที่เรากราบนั้นคือองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เรามองพุทธศิลป์ทุกอย่างว่าคือภาพสะท้อน เป็นองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มองไปที่แก่นของการเคารพบชูา คือ ปฏิบัติบูชา ถ้าใครเห็นพุทธศิลป์แล้วไม่ตรงกับความชอบ ไม่ตรงกับความคุ้นเคยของตัวแล้ววิพากษ์วิจารณ์ ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงจริง ๆ ว่าผู้วิจารณ์นั้นจะแบกบาปไปมหาศาลโดยไม่รู้ตัว อันนี้ขอฝากเป็นข้อคิดเอาไว้ แล้วจากนี้ไปให้เรามองศิลปะที่เนื่องด้วยพุทธศิลป์ในเชิงสร้างสรรค์ แล้วรังสรรค์สิ่งที่ดีงามให้บังเกิดขึ้นมาเยอะ ๆ เถิด เพื่อยังใจของสาธุชนทั้งหลายให้สูงขึ้น แล้วก็น้อมมาสู่พระรัตนตรัย

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐









คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง (ปีก่อนหน้า)
ชาตินี้ ชาติหน้า
แนะแนวบัณฑิตใหม่
จับดีเขา จับผิดเรา
ธรรมะกับเสียงเพลง
ศิลปะกับศาสนา ศิลปะกับศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.