แนะแนวบัณฑิตใหม่


ช่วงนี้นิสิตนักศึกษาจบใหม่หลายคนไม่แน่ใจว่าตัวเองถนัดอะไร จบแล้วจะทํางานอะไร มีคําแนะนําอย่างไรบ้าง ?

เรื่องถนัดอะไร จริง ๆ น่าจะถามก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พอเรียนจบส่วนใหญ่คงอยากทํางานในสาขาที่เรียนมา เพราะว่ามีพื้นฐาน แต่คนที่ได้งานไม่ตรงกับสาขาก็มีเหมือนกัน ซึ่งเรื่องเสียเปรียบคนอื่นก็คงมีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะถ้าดูดี ๆ แล้ว ความรู้ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่เราเรียนมา เรียนแล้วก็ลืม ที่เหลืออยู่คือการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การจับประเด็นและทักษะในการดํารงชีวิต สิ่งเหล่านี้ยังติดตัวเราอยู่ ทักษะนี้พอติดตัวแล้วไม่ลืม แต่ความรู้ลืมได้ ดังนั้นถ้าเราต้องเปลี่ยนสาขาไปทํางานด้านอื่น ส่วนที่เสียเปรียบก็คือ ความรู้ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าทักษะชีวิตไม่ได้เสียเปรียบ พอมองอย่างนี้จะพบว่าที่จริงเสียเปรียบไม่มาก พอสู้ไหว และความรู้บางอย่างที่จําเป็นต้องใช้ถ้าเรายังมีไม่พอ เลิกงานก็ไปเรียนเพิ่มสัก ๒-๓ ชั่วโมง หรือหาความรู้ด้วยตัวเอง ถ้าทําอย่างนี้แค่ ๖ เดือน หรือ ๑ ปี เราก็ทันคนอื่นแล้ว เอาเฉพาะความรู้ที่จะต้องใช้งานจริง อะไรที่เรายังมีความรู้ไม่พอก็ไปเสริมสิ่งนั้น เดี๋ยวความรู้ก็จะไล่ทันกัน เสียเปรียบไม่มากเท่าไร ตัวชี้ขาดจริง ๆ ในระยะยาวอยู่ที่ทักษะในการคิด การวิเคราะห์การแก้ปัญหา และการทํางานร่วมกับผู้อื่นถ้าทําตรงนี้ได้ดีเราจะประสบความสําเร็จในการทํางาน

เกรดที่จบมามีความสําคัญมากน้อยเพียงใด ?

ถ้าหากจบจากสถาบันที่เข้ายากและมีชื่อเสียง ก็เป็นการกรองไปในตัวว่าคนที่สอบเข้าได้ต้องมีความรับผิดชอบ และมีสติปัญญาใช้ได้ เพราะบางคนอาจจะหัวดี แต่ขี้เกียจอ่านหนังสือ ก็สอบเข้าไม่ได้ จะเข้าได้ต้องมีทั้งสติปัญญา ความวิริยอุตสาหะ และความรับผิดชอบเป็นการกลั่นกรองคนมาอีกชั้นหนึ่ง สถาบันเหล่านี้พอเข้าไปแล้วสิ่งแวดล้อมจะหนุนส่ง เพราะมีแต่คนฉลาด ๆ คนขยัน ทําให้เราขยันไปด้วย แล้วครูบาอาจารย์ก็ป้อนให้เต็มที่ เพราะว่าเด็กรับได้ สิ่งแวดล้อมก็เอื้อ ทําให้เราได้รับการฝึกฝนดีขึ้น พอจบมาก็เลยกลายเป็นเครดิตของสถาบัน ว่าจบสถาบันนี้ คณะนี้ เกรดขนาดนี้ ดูแล้วดี นั้นเป็นต้นทุนเบื้องต้น เพราะเวลาไปสัมภาษณ์เขายังไม่รู้จักเรา เขาจะดูจากโหงวเฮ้งก่อนว่าบุคลิกท่าทางเราเป็นอย่างไร การพูดการจาเป็นอย่างไร แล้วก็ดูเกรด สถาบันและคณะที่จบเป็นตัวประกอบ แต่ว่าพอทํางานจริง ๆ สิ่งเหล่านี้จะสำคัญน้อยลงไปเรื่อย ๆ เป็นแค่ First Impression หรือความประทับใจแรกพบเท่านั้น เวลาทํางานจริงจะกลายเป็นว่าคุณทํางานได้ดีขนาดไหน ต่อให้จบสถาบันธรรมดา เกรดก็ธรรมดา แต่ขยันขันแข็ง มอบหมายงานอะไรก็ได้เรื่องตลอด อีกคนจบเกรดดีสถาบันดัง แต่จ่ายงานไปแล้วไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่กี่เดือนเท่านั้นคนที่จบจากสถาบันธรรมดา ๆ จะมีเครดิตดีกว่าในสายตาของหัวหน้างาน ดังนั้นคณะที่จบ สาขาที่จบ สถาบันที่จบ เกรดที่ได้ เป็นแค่ต้นทุนหนึ่งในชีวิตเท่านั้น

หลายองค์กรระบุว่าต้องมีประสบการณ์ในการทํางานมาก่อน บัณฑิตใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ควรทําอย่างไร ?

ถ้าไม่มีก็เริ่มไปหาประสบการณ์ตั้งแต่วันนี้ ส่วนคนที่ยังเรียนอยู่ก็เตรียมการตอนนี้เลย ประสบการณ์ในการทํากิจกรรมก็ได้ เคยทํากิจกรรมชมรมมามีผลงานอย่างนั้นอย่างนี้ก็เตรียมเอาไว้ ถึงคราวไปพรีเซนต์ (Present) ก็เปิดให้ดูเลย เคยมีบัณฑิตจบใหม่มาพรีเซนต์ตัวเองให้ฟัง เขาเตรียมการมาดีมาก ว่าเขาเคยได้รับประกาศนียบัตรจากการทํากิจกรรมนั้น มีผลงานนี้ พรีเซนต์เป็นเรื่องเป็นราว ฟังแล้วประทับใจ ถ้าเวลาไปสมัครงานเราสามารถพรีเซนต์ประสบการณ์จากกิจกรรมที่เราทําผ่านมาได้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ในการทํางานรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ไม่แน่ว่าเขาอาจจะให้น้ำหนักดียิ่งกว่าประสบการณ์ในการทํางานตามบริษัทต่าง ๆ เสียอีก เพราะแสดงว่าเราเป็นคนที่แอคทีฟ (Active)

มีความเห็นอย่างไรในเรื่องที่ว่าเรียนจบปริญญาตรีหรือโทแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ?

รู้สึกว่าสตีฟ จอบส์ก็ไม่จบปริญญาตรี แต่เขาตั้งบริษัทแอปเปิลได้ หรือแม้แต่มาร์ก  ซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่จบปริญญา ส่วนคนที่ตั้งวอทส์แอป เขาตั้งบริษัทมา ๕ ปี มีพนักงาน ๕๐ คน ขายบริษัทได้เงินมา ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ไม่จบปริญญา แม้แต่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ก็ไม่จบปริญญาอีกเหมือนกัน ถามว่าทําไมเขาถึงประสบความสําเร็จในชีวิต เพราะเขาคิดเป็น ดังนั้นการจบปริญญาเป็นตัววัดแค่ชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องเรียนแล้ว การเรียนให้จบเป็นต้นทุนที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว แต่อย่าจบเพียงเพื่อเอาใบปริญญามาโชว์กัน

ในประเทศญี่ปุ่นใครไปสมัครเรียนหรือสมัครงานก็ตาม เขาจะมีใบกรอกประวัติอย่างละเอียดว่า คุณเคยทําอะไรมาบ้าง แล้วเขาจะประเมินจากทุกอย่างที่คุณเคยทํามา  เช่น คนนี้จบปริญญาโท คนนั้นจบโทแล้วมีบทความวิชาการที่เขียนขึ้นมากี่เรื่อง ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการฉบับไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ บางคนจบคอร์สเวิร์กแล้วก็ยังไปหาประสบการณ์เรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศอีก เขาจะประเมินจากสิ่งเหล่านี้ บางคนจบคอร์สเวิร์กในญี่ปุ่นแล้วมาอยู่ที่จุฬาฯ ฝึกภาษาไทยเพิ่มให้ใช้งานคล่องขึ้น แล้วก็ไปฝังตัวในองค์กรต่าง ๆ เก็บข้อมูล ศึกษาวิจัยเสร็จแล้วกลับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบ้านเราจะมองว่าเสียเวลามาก ถ้าเข้าเรียนชั้นไหนจะต้องจบให้เร็วที่สุด เอาใบปริญญามาให้ได้ คือความภาคภูมิใจ ถ้าไม่ได้ปริญญาคือสูญเปล่า แต่ของเขามุ่งไปที่ความรู้ ถ้าที่ไหนที่ให้ความรู้เขาได้ เขาก็ไป เวลา ๒ ปี ๓ ปีเขายอมให้ มีคนหนึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จบคอร์สเวิร์กปริญญาเอก ๕ ปีไปแล้ว และเผอิญมีอาจารย์ที่เก่งมากอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาก็ไปสมัครเรียนปริญญาเอกที่สวิตเซอร์แลนด์อีกปีสองปี จะได้ถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ที่เก่งด้านนี้เป็นอันดับ ๑ ของโลก เขาไม่ได้คิดว่าไปแล้วต้องได้ปริญญา แล้วถ้ายังไม่จบปริญญาเอกเป็นโปรเฟสเซอร์ได้หรือ เป็นได้ เพราะเวลาไปสมัครเป็นอาจารย์ที่ไหนเขาดูจากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วประเมินดูว่าฝีมือใช้ได้ก็รับเป็นอาจารย์ แล้วทําผลงานต่อไป สุดท้ายก็เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ พอความรู้แน่นพอเมื่อไรก็ทําวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แล้วมาขอดอกเตอร์ เขาประเมินคนจากความสามารถจริง ๆ ไม่ได้ดูแต่เปลือก ในแง่นี้บ้านเรายังติดเปลือกอยู่นิดหน่อย จึงเอาปริญญามาโชว์กัน ถ้าเป็นไปได้ให้ดูว่าเราอยากจะเป็นอะไร อยากทํางานอะไร แล้วที่ไหนให้ความรู้เสริมเราได้ให้ไปที่นั่น งานอะไรช่วยเพิ่มทักษะและประสบการณ์ได้ให้ไปทํางานนั้นและทําอย่างทุ่มเท ถ้าไม่ได้อยู่ในสายวิชาการที่จําเป็นต้องมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก แค่ปริญญาตรีก็เหลือเฟือแล้ว หากจะเรียนปริญญาโทเพิ่มควรเรียนเพื่อเอามาใช้ ไม่ใช่เพื่อเอาใบปริญญามาโชว์ ขอให้ปรับทัศนคติตรงนี้ใหม่

บัณฑิตจบใหม่จะไปสมัครงานอย่างไรให้ได้ผล ?

เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด อย่าไปกังวลกับสถาบันที่จบ เกรดที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คิดไปก็เปล่าประโยชน์ ให้ทําในสิ่งที่เตรียมตัวได้ เช่น ฝึกบุคลิก ตัดผมให้เรียบร้อย แต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ ให้ดูดีมีมารยาท ฝึกบุคลิก การเดิน การนั่ง การพูด การแนะนําตัวเอง บางคนตื่นเต้นกังวลจะไปสัมภาษณ์ไม่รู้จะทําอย่างไร พอเขาถามก็ตอบผิดตอบถูก ให้ลองร่างว่าจะแนะนําตัวเองอย่างไรบ้าง ร่างแบบกระชับและเข้าเป้า สามารถเอาจุดเด่นมานําเสนอได้ ร่าง เกลา แก้ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ซ้อมพูด  ๑๐๐ รอบหน้ากระจก อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ ผู้ที่เตรียมตัวพร้อมที่สุดคือผู้ที่ได้เปรียบ แล้วจะเป็นผู้ชนะ

เมื่อเรียนจบแล้วนอกจากเป็นมนุษย์เงินเดือน จะไปทําอย่างอื่นได้หรือไม่ ?

ต้องบอกว่าไร้ขีดจํากัด คนไหนที่เริ่มทํางานตั้งแต่เรียนจะไม่กังวลเรื่องนี้ แต่คนที่เรียนอย่างเดียว พอจบแล้วจะกังวล ไปสมัครงานแล้วเขาจะรับไหม จะทําอาชีพส่วนตัวก็ไม่มีประสบการณ์ แต่คนไหนเคยทํางานตั้งแต่เด็กจะไม่กังวลเลย ประสบการณ์จะหล่อหลอมให้ทํางานเป็น ขอเล่าเรื่องตัวเองนิดหน่อย ตอนอยู่ชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดสกลนคร อายุ ๑๒ ปีเศษ ๆ ตอนนั้นที่บ้านมีแผงอยู่ในตลาดสด ทิ้งว่าง ๆ อยู่ เด็กอายุ๑๒ เลยคิดการณ์ใหญ่ว่าจะทําธุรกิจส่วนตัว จึงไปขอคุณพ่อใช้แผง ตอนนั้นที่บ้านทําร้านอาหารก็คิดจะทําธุรกิจที่สอดคล้องกับที่บ้าน คือ ขายน้ำแข็งบด มีลูกค้าประจําแน่เพราะที่บ้านซื้อน้ำแข็งอยู่แล้ว จากนั้นก็เริ่มทําที่เก็บน้ำแข็ง เอาไม้ต่อขึ้นมา แล้วก็เอาโฟมบุกันความร้อน แล้วเอาอลูมิเนียมบุทับอีกชั้นหนึ่ง แล้วสั่งน้ำแข็งจากโรงน้ำแข็งมาลง พอลูกค้าต้องการน้ำแข็งก็เอาเลื่อยมาเลื่อย ตอกให้เป็นชิ้นเล็กลง แล้วใส่ไปในที่บดน้ำแข็ง พอบดเสร็จก็ใส่ปี๊บไปส่งลูกค้า อายุ ๑๒ เป็นเจ้าของกิจการแล้ว  จ้างลูกจ้าง ๑ คน ให้ช่วยที่บ้านด้วย ถึงเวลาจะบดน้ำแข็งก็มาช่วยบด กลางวันมีลูกค้าประจํา ๑ ราย คือที่บ้าน ตอนเย็นสัก ๔ โมงกว่า ๕ โมง ก็มาดูแลร้านน้ำแข็ง  เพราะว่าพอช่วงเย็น ๆ คนที่เขาขายหมู ขายกุ้ง ขายปลา ขายอาหารทะเลต่าง ๆ ต้องเอาของที่เหลือมาแช่น้ำแข็ง เราก็จะไปถามเขาว่าจะเอาน้ำแข็งเท่าไร แล้วก็บดไปส่ง  ตอนเย็นลูกจ้างกลับบ้านแล้ว เราก็บดไปส่งเอง แต่ปี๊บน้ำแข็งมันใหญ่ แรก ๆ ยกขึ้นบ่าไม่ไหวก็อุ้มไป พอ ๒-๓ เดือนกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น คราวนี้เอาขึ้นบ่าได้ ผ่านไปปีสองปี แบกได้ทีละ ๒ ปี๊บ กิจการเรามีรายรับเข้ามา หักต้นทุนแล้วยังมีกําไร  เพราะฉะนั้นพอผ่านอย่างนี้มาแล้วจะไปทํางานอะไรไม่กลัวเลย ช่องทางในการทํางานมีอยู่ทั่วไป ไม่ได้ตีบตัน อยู่แค่ว่าต้องไปสมัครงานกินเงินเดือนอย่างเดียว แต่การเป็นเจ้าของกิจการต้องแบกรับความเสี่ยง เศรษฐกิจไม่ดีกระเทือน เศรษฐกิจดี รายรับอาจจะเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่า ๓ เท่า ฉะนั้น จะต้องมีความสุขุมรอบคอบ มีการเก็บข้อมูล มีการสร้างความสัมพันธ์ และทุ่มเทมากกว่าคนทํางานกินเงินเดือน เพราะว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของธุรกิจนั้น ๆ จึงต้องเค้นศักยภาพมากเป็นพิเศษ บางคนจบแค่ชั้นประถมขายก๋วยเตี๋ยวรายรับอาจจะสูงกว่าจบปริญญาโทปริญญาเอกอีกนะ เพราะฉะนั้น ขอให้เรากล้าที่จะลงมือทํา แล้วไม่ต้องไปรอตอนเรียนจบ อยู่ชั้นไหนก็เริ่มได้ จะเป็นงานอาชีพ งานกิจกรรม งานจิตอาสาก็ตาม ขอให้ลงมือทํา เพราะว่าในวัยเรียนเรามีเวลาเหลือ อย่าไปใช้กับเรื่องไร้สาระ เอามาเพิ่มทักษะประสบการณ์ในชีวิตดีกว่า แล้วเราจะเป็นคนที่ทํางานเป็น มีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

บัณฑิตจบใหม่ควรจะบริหารรายรับรายจ่ายอย่างไร ?

ไม่ว่าจะมีเงินเดือนเท่าไรก็ตาม ต้องรู้จักเก็บออม คนทั่วไปเวลาจะออมทรัพย์จะใช้เงินไปก่อน สิ้นเดือนเหลือเท่าไรถึงเอาไปฝากธนาคารไว้ อันนั้นผิดหลัก เพราะมักจะไม่ค่อยเหลือ บางทีจะขาดด้วย หลักการออมทรัพย์ที่ดีคือ พอรับเงินเดือนมาแล้วต้องหักส่วนหนึ่งออมไว้เลย รับเงินมาแล้วเอาเข้าธนาคารก่อน ส่วนที่เหลือค่อยมาวางแผนว่าจะใช้อะไรเท่าไร แบ่งงบเป็นส่วน ๆ วางแผนแล้วใช้จ่ายตามนั้น โดยแต่ละวันควรทําบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย ถ้าอย่างนี้ไม่มีปัญหา จะมีเงินพอใช้แล้วจะมีเงินเก็บด้วย พอมีเงินสะสมอยู่ก้อนหนึ่งจะเริ่มลงทุนทําธุรกิจก็ได้ ฉะนั้นขอให้วางแผนการใช้จ่าย  อย่าเป็นลักษณะรับเงินเดือนมาก็ใช้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวไม่ทันสิ้นเดือนก็หมดก่อนแล้ว ไปรูดบัตรเครดิตเป็นหนี้เขา ชีวิตจะมีปัญหามากเลย ฉะนั้นต้องมีการวางแผนการเงินที่ดี

เจริญพร

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐









คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง (ปีก่อนหน้า)
ชาตินี้ ชาติหน้า
ศิลปะกับศาสนา
จับดีเขา จับผิดเรา
ธรรมะกับเสียงเพลง
แนะแนวบัณฑิตใหม่ แนะแนวบัณฑิตใหม่ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:14 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.