จับดีเขา จับผิดเรา


การจับผิดผู้อื่นเกิดจากความรู้สึกอิจฉาใช่หรือไม่ ?

คนเราทุกคนต้องการความภูมิใจในตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีความดีเด่นพิเศษกว่าคนอื่นก็จะรู้สึกพอใจ แต่ว่าจะเด่นได้มี ๒ แบบแบบแรกก็คือ ตั้งใจฝึกตนเอง ทุ่มเททำงานจนกระทั่งมีความรู้ ความสามารถ มีผลงานที่โดดเด่นกว่าคนอื่น นี้คือวิธีที่สร้างสรรค์ อีกวิธีคือไม่ต้องทำอะไร คอยจับผิดคนอื่นแล้วเหยียบเขาลงไป สุดท้ายเหลือตัวเองคนเดียวเด่นกว่าเขา นี้คือวิธีทำลาย

วิธีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม คือ วิธีที่สร้างสรรค์ ถ้าทุกคนพยายามพัฒนาตัวเองเหมือนแข่งกันทำความดี สังคมก็เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าหากสังคมใดผู้คนแสวงหาความโดดเด่นด้วยการเหยียบย่ำคนอื่นให้ต่ำลง นั้นคือสังคมที่จะแย่ลง แต่มีคนไม่น้อยเลือกวิธีจับผิดคนอื่น จับดีเขา จับผิดเรา ติฉินนินทา วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ซึ่งที่จริงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรแก่ตัวเองเลย นั่งดูแต่ข้อเสียของคนอื่น ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมข้อเสียนั่งคิดแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น ตัวเราก็เหมือนกองขยะกองใหญ่ แต่คนที่ดูข้อดีของคนอื่นแล้วมุ่งมั่นจะพัฒนาตัวเอง จะเหมือนทะเลซึ่งเป็นที่รวมของน้ำ

คนที่ชอบจับผิดผู้อื่นมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ?

สภาพจิตใจแย่เลย เหมือนที่รวมขยะ ใครมีขยะตรงไหนพยายามหาจนเจอ แล้วเก็บเอามาไว้ที่ตัวเอง เอาตัวเองเป็นที่รวมขยะทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราอย่าเป็นอย่างนั้น ให้ดูว่าคนนั้นคนนี้เขามีดีอะไร ถ้าศึกษาเรียนรู้เห็นข้อดีของเขาแล้ว จะได้มีแนวทางสำหรับพัฒนาตัวเอง

ถ้าหากเราปรารถนาดีอยากเตือนใครจะพูดอย่างไรให้เขารับฟัง ?

ต้องใช้ศิลปะอย่างสูงทีเดียว เพราะทุกคนต้องการความภูมิใจในตัวเอง พอมีใครมาบอกว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน ใหม่ ๆ จะเหมือนมีกำแพงกั้นไว้ก่อน เพราะมันกระทบกระเทือนอีโก้ตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากจะแนะนำใครก็พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้กระทบกระเทือนใจเขา คนเราเวลามีใครมาเตือนก็เท่ากับเขาอยู่บนทาง ๒ แพร่งแล้ว คือจะน้อมรับคำแนะนำหรือจะเกิดปฏิกิริยาปกป้องตัวเองแล้วสวนกลับ

พูดถึงเรื่องนี้ก็นึกถึงวัดเราเมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นอาตมายังเรียนอยู่ และมารับบุญเป็นฝ่ายต้อนรับที่วัดในวันอาทิตย์ เจอญาติโยมสูบบุหรี่ เขามาวัดครั้งแรก ไม่รู้ว่ามีระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในวัด ถ้าเราพรวดพราดไปบอกว่า คุณ ที่วัดห้ามสูบบุหรี่ ไม่รู้ระเบียบหรือไงเขาอาจจะโกรธแล้วไม่มาวัดอีกเลยตลอดชีวิตก็เป็นได้ แต่หลวงพ่อสอนให้เดินเข้าไปยกมือไหว้ก่อน เข้าไปด้วยความอ่อนน้อมแล้วบอกเขาดี ๆ ว่า ขอโทษนะครับ พอดีที่วัดมีระเบียบไม่ให้สูบบุหรี่ในวัด เดี๋ยวผมขอเอาไปทิ้งให้นะครับอย่างนี้เขาจะสบายใจ ไม่เสียความรู้สึก เพราะฉะนั้นจะไปแนะนำคนอื่น เราอย่าไปกระทบกระเทือนอีโก้ใคร ให้แนะนำด้วยความอ่อนน้อม ไม่สั่งสอนแบบผู้ใหญ่สอนเด็ก

ในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่เตือนยังพอรับได้ แต่ผู้ใหญ่ที่มีผู้น้อยมาเตือนรับยากนะ คนไทยเรามีคำว่า ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้เวลาผู้ใหญ่เดินไปไหน พอเห็นนกแล้วชี้บอกว่าไม้ บริวารรับว่า ใช่ครับนาย พอชี้ไปที่ต้นไม้บอกว่านก ลูกขุนพลอยพยักว่านกเป็นแถว พอผู้ใหญ่เจออย่างนบ่อยๆ ก็ชิน พอเจอใครขัดคอเข้าก็หงุดหงิด เพราะไม่คุ้น

ถ้าไปดูในประวัติศาสตร์ประเทศจีน จะพบว่าฮ่องเต้ที่สร้างผลงานเป็นที่เล่าขานมาเป็นพันๆ ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่น้อมรับคำเตือนของคนอื่น เช่น พระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ ผู้สถาปนาราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินจีนรุ่งเรืองมาก ขยายอาณาเขตกว้างไกล ราชวงศ์อยู่มายาวนานหลายร้อยปี ทำให้คนจีนมีความภูมิใจถึงขนาดเรียกตัวเองว่า ถังเหวิน แปลว่า คนราชวงศ์ถัง

ตอนพระเจ้าถังไท่จงขึ้นเป็นฮ่องเต้ใหม่ๆ ท่านศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ที่ราชวงศ์เก่าๆ ล่มสลายไป เป็นเพราะฮ่องเต้ไม่ฟังใคร ขุนนางก็ไม่ขัดคอ เลยพากันลงเหวหมด พระองค์เลยตั้งเว่ยเจิงซึ่งฉลาดมาก ๆ มาดำรงตำแหน่ง ขุนนางคัดค้าน ทำหน้าที่คอยคัดค้านฮ่องเต้ เวลาฮ่องเต้เสนออะไรในที่ประชุม ถ้าความคิดเข้าท่าก็แล้วไป ถ้าไม่เข้าท่า ขุนนางคัดค้านยกมือเลย บอกว่าไอเดียพระองค์ไม่สมควร พระเจ้าถังไท่จงแม้บางทีก็หงุดหงิดเหมือนกันแต่พระองค์กล้ำกลืนฝืนทน จนถึงบั้นปลายชีวิต พระองค์บอกว่า ในชีวิตของพระองค์นั้นมีกระจกอยู่ ๒ บาน หนึ่งคือกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า อีกบานคือเว่ยเจิงนี้แหละที่ส่องให้เห็นสิ่งที่พระองค์ไม่เห็น ทำให้พระเจ้าถังไท่จงสร้างราชวงศ์ถังให้เจริญรุ่งเรืองขนาดที่คนจีนภูมิใจเป็นพันๆ ปีได้

อีกคนคือจักรพรรดิเฉียนหลงในสมัยราชวงศ์ชิง พระองค์มีอัครมหาเสนาบดีท่านหนึ่งเป็นคนฉลาดและขยันมาก ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี เวลาเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ขุนนางคนอื่นก็สบาย ๆ ฮ่องเต้ว่าอย่างไรก็ดีพ่ะย่ะค่ะ แต่อัครมหาเสนาบดีคนนี้มีเรื่องมากราบทูลทุกวัน มณฑลนั้นเกิดอุทกภัยชาวบ้านกำลังเดือดร้อน ที่นี่มีโรคระบาดลง ที่นั่นก็มีปัญหา ทุกวันมีแต่ปัญหามาตลอด แล้วก็เสนอนั่น เสนอนี่ ต้องไปแก้ปัญหานั่น ปัญหานี่ แล้วบางทีจักรพรรดิเสนอไอเดีย ก็คอยคัดค้าน จนจักรพรรดิสั่งถอดยศจากอัครมหาเสนาบดีค่อย ๆ เลื่อนลงไปจนกระทั่งไปเป็นพลทหารซึ่งเป็นยศต่ำสุด ถูกขุนนางดูหมิ่นดูแคลน ต้องไปเจอทุกคนที่เคยเป็นลูกน้องอยู่เหนือตัวเองหมดเลย ทำใจยากเหมือนกัน แต่เสนาบดีท่านนี้ทนได้ ทนไปไม่กี่เดือน วันหนึ่งฮ่องเต้รำพึงขึ้นมาว่า เจ้านี่ไม่อยู่ทำไมรู้สึกบ้านเมืองสงบราบเรียบไปทุกอย่าง ทุกคนบอกไม่มีปัญหา ราบรื่นทุกวัน ฮ่องเต้เป็นคนฉลาด นึกแล้วก็หวาดเสียว เพราะรู้สึกว่าราบรื่นเกินไป ก็เลยมีพระบรมราชโองการให้ไปตามพลทหารคนนี้กลับมารับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี มาคอยคัดค้าน มาคอยเสนอปัญหาเหมือนเดิม

เพราะอย่างนี้จึงทำให้สมัยเฉียนหลงสามารถขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีน ทั้งที่มหาอำนาจทางตะวันตกเริ่มผงาดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่เปิดใจให้กว้างแล้วรับฟังคำท้วงติงของผู้น้อยบ้างจะเจริญ แล้วตัวเรายังไม่ได้มีศักดิ์ศรีขนาดฮ่องเต้เลย จะไปถือทิฐิมานะอะไร เปิดใจรับฟังคำแนะนำของทุกคนเถิด แล้วเราจะมีแต่ความสุขความเจริญต่อไป

หากมีคนมาเตือนในเรื่องที่เราไม่ได้ทำผิด เราควรทำอย่างไร ?

จะให้คนเตือนเตือนถูกหมดก็ยาก แค่เขาหวังดีมาเตือนเรา เราก็ควรน้อมรับ พระพุทธเจ้าบอกว่าบัณฑิตคือบุคคลผู้ฉลาด เห็นผู้ที่ชี้โทษดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เขาชี้โทษให้เรา ๑๐ เรื่อง ชี้ถูกไป ๗ เรื่อง เท่ากับเราปิดจุดอ่อนไปตั้ง ๗ เรื่อง เผื่อเขาชี้แล้วไม่จริงตามนั้น ก็ไม่ต้องไปสวนเขา แต่คนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าอยากอธิบายให้เขารู้ เขาจะได้ไม่เข้าใจเราผิด แต่ถ้าไม่ระวังให้ดีจะกลายเป็นการเบรกเขา ทีหลังเขาเลยไม่กล้าเตือนอีก ให้เรารับฟังก่อน หากจะบอกให้เขารู้ความจริงก็หาวิธีที่นุ่มนวลที่สุด

คนเรายิ่งเป็นใหญ่มากเท่าไร ยิ่งหาคนเตือนยากเท่านั้น โบราณมีคำว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาวมีคนแวดล้อมเต็มเลย แต่ไม่มีใครพูดความจริงจะสรรหาแต่เรื่องดี ๆ มาให้ฟังทั้งนั้น เพราะเขาถือคติว่า ชมจนเอียนดีกว่าติเตียนจนถูกอัด” เพราะฉะนั้น ฮ่องเต้ถังไท่จงจึงต้องตั้งขุนนางคัดค้านเพื่อป้องกันจุดอ่อนตรงนี้ เราเองนับวันเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็จะพบเหมือนกันว่า คนที่เตือนเรามีน้อยลง ๆ ดังนั้นหากมีใครใจเด็ดกล้ามาเตือนเรา รีบขอบคุณเขาเลย พินิจพิจารณาให้ดี บางทีเราคิดว่าเราไม่ผิด แต่เราเข้าใจผิดก็มี เพราะมองจากมุมตัวเอง ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปปกป้องตัวเอง ให้รับฟังแล้วนำมาไตร่ตรองพิจารณาให้ดี แล้วเราจะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองได้ตลอดไม่รู้จบ และอุดช่องโหว่ในชีวิตเราได้อย่างดีเยี่ยม

การจับผิดตัวเอง ควรเริ่มต้นอย่างไร ?

ต้องมีมาตรฐานตรวจสอบ เวลาเราเขียนวงกลม เราอาจรู้สึกว่ากลมดีแล้ว แต่ถ้าเอาวงเวียนมาทาบ จะพบว่ามันไม่กลมจริง เวลาเราดูตัวเอง เราก็ว่าเป็นคนดีใช้ได้ เพราะบางทีเราเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้ามีบุคคลมาตรฐาน เช่นพระพุทธเจ้ามาเทียบ เราจะรู้ทันทีว่าจะต้องฝึกอะไรเพิ่มเติม บารมี ๑๐ ทัศ เราครบถ้วนบริบูรณ์หรือยัง ถ้าเราดีจริงคงหมดกิเลสไปแล้ว ในเมื่อยังไม่หมดกิเลสแสดงว่ายังดีไม่จริง มีบุคคลมาตรฐานเทียบเมื่อไรจึงจะมองเห็น จึงต้องหมั่นคบบัณฑิต และบูชาผู้ที่ควรบูชา เพื่อให้ท่านเป็นมาตรฐานในการประพฤติปฏิบัติแก่ตัวเรา

มีมาตรฐานในการพิจารณาอย่างไรว่า สิ่งที่เขาแนะนำมานั้นถูกหรือผิด ?

การศึกษาธรรมะในพระศาสนาให้ประโยชน์มาก เวลาใครแนะนำเรามา บางทีเรายังไม่มั่นใจว่าถูกหรือผิด ก็ลองไปตรวจสอบกับหลักธรรมดูก่อนว่าสอดคล้องกันหรือเปล่า ถ้าสอดคล้องแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าขัดหลักธรรมก็ไม่ใช่แล้ว เช่น ต้องเอาเหล้าไปให้เขา เขาจะได้ชอบเรา ต้องไปเที่ยวกลางคืน จะได้สนิทกันถ้าอย่างนี้เป็นการแนะนำที่ผิด เป็นต้น

ถ้าใครศึกษาธรรมะให้เข้าใจจนสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน คนนั้นเรียกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำเนินชีวิต หลักนั้นได้มาจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีเราศึกษาหลักธรรม แล้วตีความไม่แตก เราก็ไปหาครูบาอาจารย์ ไปหาผู้รู้ ขอคำแนะนำ ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือและครูบาอาจารย์ของเราจะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เราได้

มีคำแนะนำในการจับดีและจับผิดผู้อื่นอย่างไรบ้าง ?

อยากให้มองทุกแง่ ถ้าในแง่เป็นผู้รับคำแนะนำได้กล่าวไปแล้วว่า ให้มองคนที่เตือนเราว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ น้อมรับเถิด แม้ว่าคำเตือนนั้นจะถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็ไม่เป็นไร รับฟังไว้ก่อน อย่าเพิ่งสวน แย้ง หรือขัดคอ แต่ถ้าเราเป็นผู้ไปเตือนเขา เราต้องเตือนด้วยความสุขุมรอบคอบ ระมัดระวัง อย่าให้ไปกระทบอีโก้ของเขา

มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ประธานบริษัทเหล็กกล้าใหญ่ในอเมริกา มีชื่อเสียงมากในยุคหนึ่ง เขาสามารถทำผลงานโดดเด่น เพราะเขารวมทีมได้เข้มแข็งมาก พนักงานรักและเชื่อฟังเขาหมดทุกคน มาดูตัวอย่างว่าเขาทำอย่างไร

วันหนึ่ง ขณะที่เขาเดินไปตรวจโรงงานเจอคนงานกลุ่มหนึ่งกำลังยืนสูบบุหรี่อยู่ใต้ป้าย ที่เขียนว่า ห้ามสูบบุหรี่ในโรงงานเขาเดินเข้าไปพูดคุยซักถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซักไซ้เรื่องการงานต่าง ๆ แต่ไม่พูดถึงบุหรี่เลย แล้วล้วงบุหรี่ชั้นดีจากกระเป๋าส่งให้ และบอกว่าผมจะขอบคุณมากเลย ถ้าคุณช่วยเอาบุหรี่นี้ออกไปสูบข้างนอก พนักงานก็มีความรู้สึกว่าเจ้านายไม่ได้ดุเราที่สูบบุหรี่ใต้ป้ายห้าม กลับอุตส่าห์ให้บุหรี่มาอีกซองหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่า ควรจะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้านาย เห็นไหมว่าเป็นการเตือนที่เบาที่สุด แล้วไม่กระทบอีโก้ด้วย เตือนอย่างนี้โอกาสที่เขาจะฮึดฮัดขึ้นมาไม่มีเลย

เรื่องคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะ เราต้องเข้าใจตัวเราเอง แล้วจะเข้าใจคนอื่น ถ้าเราอยู่ในสถานะเป็นผู้รับคำเตือน ก็ต้องปรับสภาพใจตัวเองให้ได้ ถ้าอยู่ในสถานะเป็นผู้เตือนคนอื่นยิ่งต้องคิดหาวิธีการเตือนที่นุ่มนวลที่สุด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ ถ้าทุกคนทำสถานะตัวเองให้เป็นผู้รับคำเตือนและผู้ให้คำเตือนที่เหมาะสมอย่างนี้ สังคมโดยรวมจะเจริญขึ้น แล้วจะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


ธรรมะกับเสียงเพลง






คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง (ปีก่อนหน้า)
ชาตินี้ ชาติหน้า
ศิลปะกับศาสนา
แนะแนวบัณฑิตใหม่
ธรรมะกับเสียงเพลง
จับดีเขา จับผิดเรา จับดีเขา จับผิดเรา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 10:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.