หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๓)


ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเล่าย้อนไปถึงพันธกิจที่สำคัญเกี่ยวกับการเดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจทีมงานนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) การไปร่วมประชุมหารือรายละเอียดความร่วมมือทางวิชาการกับท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริดจ์ (Richard Gombrich) ที่ศูนย์พุทธศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Centre for Buddhist Studies) ในหลาย ๆ ประเด็น อาทิเรื่องการสนับสนุนการศึกษาภาษาบาลี การสนับสนุนเรื่องการทำงานวิจัยในประเด็นใหม่ๆ สำคัญๆ ฯลฯ ก่อนที่ผู้เขียนจะเดินทางกลับไปยังประเทศออสเตรเลียเพื่อให้ทันกับช่วงการจัดงานสัปดาห์วิสาขบูชา ซึ่งชาวพุทธหลายเชื้อชาติในออสเตรเลียร่วมกันจัดงานถวายเป็นพุทธบูชาด้วย


เมื่อกลับมาถึงประเทศออสเตรเลีย สิ่งที่น่าปลื้มใจที่รออยู่ก็คือ ข่าวการสำเร็จการศึกษาของ พระมหาวิโรจน์ าณวิโรจโน เปรียญธรรม ๙ ประโยค นาคหลวงรูปล่าสุดของวัดพระธรรมกาย ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรพุทธศาสตร์จากภาควิชาเทววิทยาและศาสนวิทยา ภาคภาษาอังกฤษ (เทียบเท่าปริญญาตรี) ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ ๑ (First Honors) จากมหาวิทยาลัยโอทาโก และอีกท่านหนึ่ง คือบัณฑิตแก้วต่างประเทศ คุณก้องภพ ปัญญาเลิศสินไพศาล ที่สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรพุทธศาสตร์จากภาควิชานี้เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกิจ ๗ ขั้นตอน ที่ได้รับมอบหมายมา ซึ่งผู้เขียนได้ดำเนินการให้ลุล่วงมาโดยตลอดในช่วงเวลา ๑๕-๑๖ ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ในท้ายที่สุดเราจะได้มีบุคลากรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งในด้านการอ่าน การแปล การศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ การทำงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม เพื่อให้การศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกายจากทั่วโลกบรรลุผลตามมโนปณิธานที่องค์ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยท่านได้ตั้งไว้ และเพื่อให้สมกับการที่วิชชาธรรมกายได้รับการค้นพบมาถึง ๑๐๐ ปีแล้วในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๐) อีกโสตหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จของการทำงานวิจัยนั้น สิ่งที่น่ายินดีอีกอย่างหนึ่งในห้วงเวลาเดียวกันนี้ก็คือ การที่ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ. ๙ คนแรกของวัดพระธรรมกาย นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้รับเกียรติให้ตีพิมพ์ผลงานร่วมกับศาสตราจารย์ริชาร์ด ซาโลมอน (Richard Salomon) และทีมงานของท่านในหนังสือ Buddhist Manuscripts in the Schøyen Collection เล่มที่ ๔ ซึ่งหลังจากที่รอคอยมาเป็นเวลานับสิบปีหลังจากออกเล่มที่ ๓ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งการได้รับเกียรติครั้งนี้ถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญในความร่วมมือกันทางวิชาการมาอย่างยาวนานระหว่างทีมงานของศาสตราจารย์ Jens Braarvig ทีมงานของศาสตราจารย์ Richard Salomon และสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยมาจนถึงปัจจุบันด้วย


สำหรับหนังสือ Buddhist Manuscripts in the Schøyen Collection นี้ เป็นหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ ขนาด A4 และหนาราว ๑ ๑/๒ นิ้วฟุต ซึ่งรวมบทความที่รายงานการศึกษาคัมภีร์พุทธโบราณที่พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ชุดเดียวกันกับ ธรรมเจดีย์ที่นำมาสักการะที่เมืองไทย เนื้อหาประกอบด้วยความเป็นมาของคัมภีร์ เนื้อหาของคัมภีร์ในภาษาดั้งเดิมที่ปริวรรตเป็นอักษรโรมันแล้ว รวมทั้งบทแปลเป็นภาษาอังกฤษและบทวิเคราะห์เชิงภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hermesac.no/march2017.html) บทความที่ได้รับการตีพิมพ์นี้เป็นบทความแรกที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ มีความยาวถึง ๑๒๒ หน้าพิมพ์ ชื่อบทความคือ “Fragments of an Ekottarikāgama Manuscript in Gāndhārī” เป็นผลงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้แก่ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ซาโลมอน ดร.ทิโมธี เลนซ์ และนักศึกษาปริญญาเอกชาวจีน ลิน เชียน กับนักวิชาการสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย คือ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล ซึ่งปฐมเหตุของการศึกษาคัมภีร์ชุดนี้เกิดจากการที่ ดร.ชนิดา บังเอิญหาคำตอบได้ว่า คัมภีร์นี้เป็นพระสูตรอะไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับพระไตรปิฎกบาลี จึงทำให้เกิดการตื่นตัวของทีมงานที่ศึกษาคัมภีร์พุทธโบราณแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่จะนำคัมภีร์ชุดนี้มาศึกษาอย่างจริงจัง

สำหรับความเป็นมานั้น ดร.ชนิดาเล่าว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ทางทีมงานได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อธัมมชโยให้ไปศึกษาคัมภีร์ภาษาคานธารี ซึ่งจัดเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดของพระพุทธศาสนาเท่าที่ค้นพบมาจนถึงเวลานี้ จึงได้ประสานงานกับศาสตราจารย์ริชารด์ ซาโลมอน แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ศึกษากลุ่มคัมภีร์ดังกล่าวเพื่อส่งนักวิจัยไปร่วมศึกษาด้วย

และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่โครงการฯ ทางมหาวิทยาลัยได้เอื้อเฟื้อโดยการจัดห้องเรียนภาษาคานธารีเบื้องต้น (Klub Junior / basic Gandhari) ให้ควบคู่กับการให้เข้าร่วมประชุมกลุ่มในทีมศึกษาคัมภีร์ (Kharosthi Klub) และเข้าร่วมฟังในห้องเรียนภาษาสันสกฤตชั้นต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาคัมภีร์คานธารี โดยเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่เปิดภาคเรียนปลายเดือนกันยายนพ.ศ. ๒๕๕๔

ใน Klub Junior นั้น สมาชิกนักวิจัยได้เรียนพื้นฐานของภาษา ตัวอักษร การฝึกอ่านจากจารึกโบราณและคัมภีร์ที่ตีพิมพ์แล้ว ส่วนใน Kharosthi Klub เป็นการศึกษาร่วมกันของผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาคานธารีแล้ว มาช่วยกันวิเคราะห์เนื้อหาหรือประเด็นปัญหาในการศึกษาชิ้นส่วนคัมภีร์คานธารีที่ยังไม่ตีพิมพ์ ซึ่งผู้รับผิดชอบแต่ละชิ้นจะนำเข้ามาหารือใน Klub

หลังจากที่ทีมนักวิจัยดีรีได้ฝึกอ่านคัมภีร์คานธารีมาระยะหนึ่งแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ดร.ทิม ซึ่งเป็นครูฝึกของ Klub Junior ได้ทดลองเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของคัมภีร์คานธารีชิ้นหนึ่งมาให้อ่าน มีคำว่า นิพพาน ความสุข และมีชื่อของสมาธิระดับต่างๆ ที่น่าสนใจ ดร.ชนิดาจึงขอมาเป็นการบ้านเพื่อสืบค้นเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกบาลี พบว่า เนื้อหาตรงกับนิพพานสูตร (นิพพานสุขสูตร) ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต จึงทำเนื้อหาเปรียบเทียบกันและส่งให้อาจารย์ดูเป็นการส่งการบ้าน

ในภายหลังจึงทราบว่า ความจริงคัมภีร์กลุ่มนี้เคยนำมาอ่านกันใน Kharosthi Klub ราวสิบปีก่อน แล้วยังเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ตีพิมพ์เนื่องจากยังไม่มีใครระบุได้ว่าเป็นคัมภีร์อะไร และเมื่อ ดร.ชนิดาทราบชัดแล้วว่าเป็นพระสูตรจากอังคุตตรนิกาย ศาสตราจารย์ซาโลมอน หัวหน้าโครงการ จึงให้นำคัมภีร์กลุ่มนี้ เฉพาะที่เป็นลายมือเดียวกันออกมาให้ช่วยกันอ่านทั้งหมด สิ่งที่พบเพิ่มขึ้นคือ คัมภีร์ชิ้นอื่นๆ ในกลุ่มนี้ที่เขียนด้วยลายมือเดียวกันเป็นพระสูตร ในอังคุตตรนิกายทั้งหมด โดยอยู่ในหมวด ๙-๑๑ ทั้งสิ้น และมีการจัดเรียงของพระสูตรใกล้เคียงกันมากกับในพระไตรปิฎกบาลี นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกลายมือหนึ่งที่จารึกพระสูตรในอังคุตตรนิกายต่อเนื่องจากลายมือแรกนี้ ซึ่งเมื่อนำมาต่อกันแล้วจะเห็นภาพการจัดลำดับของพระสูตรที่ตรงกันหรือไปในทิศทางเดียวกันกับพระสูตรบาลี

การค้นพบนี้จึงนับว่ามีความสำคัญต่อวงการการศึกษาคัมภีร์พุทธดั้งเดิมในฐานะที่เป็นคัมภีร์ลายมือเขียนชุดแรกที่ยืนยันว่าครั้งหนึ่ง ในอดตีอันไกลพ้น ภาษาคานธารีเคยเป็นภาษาที่บันทึกคัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันกับพระไตรปิฎกบาลี และการบันทึกคัมภีร์พุทธในยุคพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ นั้น มีการจัดหมวดหมู่ของพระสูตรกันแล้ว ยิ่งกว่านั้นการค้นพบคัมภีร์กลุ่มนี้ยังยืนยันว่า ในอดีตพระพุทธศาสนาสายวิภัชชวาท (ต้นสายของเถรวาทในปัจจุบัน) ได้เคยเผยแผ่มาถึงดินแดนคันธาระนานแล้ว ดังผลของการศึกษาร่วมกันของนักวิชาการจาก ๒ สถาบันดังกล่าวซึ่งรายงานไว้ในบทความในหนังสือเล่มนี้แล้ว

ในขณะที่ในแง่ของหลักฐานธรรมกายการศึกษาคัมภีร์คานธารีกลุ่มนี้ยืนยันความถูกต้องของคำสอนในวิชชาธรรมกายในบางประเด็นไว้ด้วย เช่น

ยืนยันคุณสมบัติของนิพพานว่าเป็นความสุขที่เที่ยงแท้ แตกต่างจากสังขารธรรมที่ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์

ยืนยันว่า การเห็นบุญ-บาป ธรรมขาว-ธรรมดำ ดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้นั้น เป็นคุณวิเศษที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา แม้พระพุทธองค์เองที่ทรงพยากรณ์สิ่งต่างๆ ก็ด้วย ทรง เห็นแจ้งและรู้แจ้งก่อนเช่นกัน

ยืนยันว่า การเห็นไม่จำเป็นต้องยึดติดและการทำใจหยุดนิ่งโดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาปูชนียาจารย์สอนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถูกต้อง ควรทำ และนำไปสู่การพ้นทุกข์ ตรงตามหลักฐานที่มีในคัมภีร์พุทธดั้งเดิม

จึงนับเป็นย่างก้าวที่สำคัญยิ่งในการศึกษารวบรวมหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณที่เราซึ่งเป็นลูกหลานพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ควรภาคภูมิใจและปีติใจ

ขอเจริญพร

เอกสารอ้างอิง
Jantrasrisalai, Chanida, Timothy Lenz, Lin Qian, and Richard Salomon. “Fragments of an Ekottarikāgama Manuscript in Gāndhārī.” In Buddhist Manuscripts vol. IV edited by Jens Braarvig, 1-122. Oslo: Hermes Pub., 2016.

Cr. นวธรรม และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐






หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๓) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๓) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:51 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.