หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๘)


ช่วงออกพรรษากลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็จะเริ่มเข้าฤดูกาลทอดกฐินต่อเนื่องภายใน ๑ เดือนจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ คือวันลอยกระทง และยังมีวันที่สำคัญยิ่งอีกวันหนึ่ง คือ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ศกนี้ ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๑๓๒ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นหลักปฏิบัติธรรมตามคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เลือนรางหายไปนับจากวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปีมาแล้วในฐานะที่พวกเราเป็นศิษยานุศิษย์ต่างก็น้อมระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่และศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมคำสอนวิชชาธรรมกายและตั้งใจที่จะแสดงความกตัญญูบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา อันเป็นมงคลสูงยิ่ง ดังพุทธพจน์ ที่ว่า

ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง

วันนั้น มีเหล่ากัลยาณมิตรสาธุชนจากทั่วประเทศและอีกหลายท่านที่เดินทางมาจากวัดหรือศูนย์สาขาต่างประเทศรวมกันแล้วนับเรือนแสน ทุกท่านตั้งใจมาร่วมพิธีบำเพ็ญบุญตั้งแต่ภาคเช้าด้วยการตักบาตรคณะสงฆ์ภาคสายนั่งสมาธิกลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญอย่างดีเยี่ยมภาคบ่าย ผู้มีบุญเข้าร่วมริ้วขบวนผ้าป่าธรรมชัยที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีความยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้โดยเจ้าภาพผู้มีบุญอัญเชิญผ้าป่าธรรมชัยเพื่อบูชาธรรมในวาระ ๑๓๒ ปี พระเดชพระคุณหลวงปู่ และส่งเสริมงานพระศาสนาทั่วไทย ในภาคค่ำก็ร่วมกันสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรจน ชิตัง เมได้ถึง ๔ ล้านจบในวันนั้น และเวียนประทักษิณ ณ บริเวณมหารัตนวิหารคด รอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ และจะพร้อมใจกันสวดจนครบเป้าหมายแสนจบต่อวัน ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) นี้

ภาพประวัติศาสตร์การสร้างบารมีร่วมกันของทุกท่านยังประทับอยู่ในใจไม่ลืมเลือน อาทิภาพเยาวชนตัวน้อยทั้งที่สามารถเดินได้เองและที่พ่อแม่ช่วยอุ้มเข้าร่วมเดินในริ้วขบวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า บุคคลเหล่านี้ตั้งใจที่จะสืบทอดและค้ำจุนพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ให้สถิตสถาพรตลอดไปอีกยาวนานอย่างแน่นอน




จากฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็คือพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ คือ รัชกาลที่ ๑ ที่พระองค์มีพระราชศรัทธาจัดให้มีการทำสังคายนา และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงหลายฉบับ และสมัยของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงหลายฉบับเช่นกัน และมีกรณีพิเศษที่พระราชทานแก่พระอารามหลวงเพิ่มอีก ๑ ฉบับ คือ ฉบับเทพชุมนุม ที่มีคัมภีร์ ๑ ผูกระบุชื่อว่า "ธัมมกายาทิ" รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานจารึกเรื่องธรรมกายที่มีเนื้อหาชัดเจนสำหรับคัมภีร์ฉบับเทพชุมนุมนี้พระราชทาน โดยมีพระราชประสงค์ให้พระภิกษุสามเณรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเอาไว้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นการที่มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ธรรมกายเป็นของใหม่หรือมิได้ปรากฏหลักฐานมาก่อนนั้นย่อมไม่เป็นความจริง เพราะข้อแท้จริงปรากฏว่า ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบันฯ DIRI ได้พบหลักฐานรายละเอียดในคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงถึง ๒ รัชกาล ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังตารางด้านล่าง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งของมวลมนุษยชาติมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เรื่องธรรมกายนั้นเป็นสิ่งดีที่มีอยู่จริง มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่ยุคต้นสมัยรัตนโกสินทร์


ในฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญเกี่ยวกับ "ปฐมเทศนา"คือ พระสูตรธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ค้นพบในประเทศไทยอันเป็นดินแดนสำคัญส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบด้านนั้น ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกซาบซึ้งและตระหนัก (Awareness) ในความสำคัญของสิ่งนั้นได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้จะไม่ลงรายละเอียดลึกเกี่ยวกับหลักการของ "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แต่จะขอมุ่งเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี หลักฐาน "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ที่พบในประเทศไทยเป็นสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องนั้นระบุว่า พระธรรมจักร หรือ พระธรรมจักรศิลาที่มีการค้นพบเก่าแก่ที่สุดนั้น พบอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีจำนวนมากมายหลายชิ้น และแต่ละชิ้นมีการแกะสลักลวดลายที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้มีเรื่องราวการค้นพบและมีการเผยแพร่กล่าวอ้างถึงเป็นครั้งแรกในราวปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โดย Mr.L.Fournereau และต่อมา Mr.Pierre Dupont นักสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีชาวฝรั่งเศสนำไปศึกษาและเรียบเรียงขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) ในหัวข้อ "โบราณคดีมอญแห่งอาณาจักรทวารวดี" และต่อมาศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของโลก นำมากล่าวถึงเป็นบทความในวารสารทางวิชาการชื่อ Artibus Asise เล่มที่ ๑๙ ตอนที่ ๓/๔ ซึ่งต่อมา ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้นำมาแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

ภาพพระธรรมจักรค้นพบที่จังหวัดนครปฐมปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ภาพปกหนังสือประชุมศิลาจารึกนี้ มีหลักฐานเกี่ยวกับธรรมจักรในศิลาจารึกเรียบเรียงโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส

กล่าวถึงท่าน ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นั้น ท่านไม่เพียงแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ โดยทั่วไปเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นผู้ค้นพบหลักฐาน คาถาธรรมกายที่จารึกเป็นอักษรเขมรโบราณอีกด้วย โดยภายหลังจากที่ค้นพบ คาถาธรรมกายใน พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ท่านได้นำมาศึกษาถอดความและเรียกชื่อคัมภีร์นั้นใหม่ว่า ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา(การอธิบายความหมายเกี่ยวกับธรรมกาย) ด้วย

การค้นพบ พระธรรมจักรศิลา นั้น ควรกล่าวได้ว่ามีความสำคัญหลายประการ คือในด้านหนึ่ง การค้นพบนี้ทำให้เราทราบว่าพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิตั้งแต่แรกจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ดังนั้นบริเวณพื้นที่องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม น่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิ ประการต่อมาคือตัวของ พระธรรมจักรศิลา ดังกล่าวซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕ ซ.ม. สูง ๑.๐๙ เมตร (รวมฐาน) นี้ มิได้มีเพียงลวดลายทางประติมากรรมธรรมชาติพืชพันธุ์สวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังปรากฏจารึกอักษรบาลีสั้น ๆ แบ่งเป็นตอน ๆ อยู่ทางด้านหน้าของตัวพระธรรมจักรด้วย ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ตัวอักษรที่ใช้สลักลงบนศิลาทั้งหมดล้วนมีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรที่ใช้จารึกคาถา เย ธมฺมา ที่ค้นพบในบริเวณเดียวกันนี้อย่างมาก เพียงแต่ข้อความทั้งหมดที่พบบนพระธรรมจักรศิลานี้ มีความหมายแตกต่างออกไป


สำหรับส่วนประกอบของ วงล้อพระธรรมจักร นั้นประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนของดุม กำ และกง เช่นเดียวกับในพระธรรมจักรศิลานั้นก็มีส่วนประกอบทั้ง ๓ ส่วนนี้อยู่ครบถ้วน แต่สิ่งที่เป็นพิเศษกว่านั้นก็คือ ในพระธรรมจักรศิลาอายุเก่าแก่กว่า ๑,๔๐๐ ปีนี้ มีข้อความที่แสดงถึง หลักการ(Principle) หรือ องค์ธรรม(Dhamma) ที่สำคัญแห่ง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธเราได้เรียนรู้มาอย่างชัดเจน กล่าวคือ

๑) ในส่วนของ กง นั้น ปรากฏข้อความจารึก ๓ ข้อความ คือ สจฺจญาณํ (การรู้ความจริง) กิจจญาณํ (การรู้กิจที่ต้องทำ) กตญาณํ (การรู้กิจที่ทำแล้ว)

๒) ในส่วนของ กำ นั้น ปรากฏข้อความที่เกี่ยวกับอริยสัจ (ความจริง ๔ ประการ) และ มรรค (วิธีการดำเนินไปสู่ความหลุดพ้น) ดังต่อไปนี้ ๑. ทุกขสจฺจํ (ความจริงแห่งทุกข์) ๒. ทุกขสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ (การกำหนดรู้ทุกข์) ๓. ทุกขสจฺจํ ปริญญาตํ (การกำหนดรู้ทุกข์นั้นแล้ว) ๔. สมุทยสจฺจํ (การรู้บ่อเกิดแห่งทุกข์) ๕. สมุทยสจฺจํ ปหาตวฺวํ (การละเหตุแห่งทุกข์) ๖. สมุทยสฺส ปหีนํ (การละเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว) ๗. นิโรธสจฺจํ (ความจริงแห่งการดับ) ๘. นิโรธสจฺจํ สจฺฉิกาตวํ (ความจริงแห่งการดับที่ต้องทำให้แจ้ง) ๙. นิโรธสจฺจํ สจฉิกตํ (ความจริงแห่งการดับที่ได้ทำให้แจ้งแล้ว) ๑๐. มคฺคสจฺจํ (ความจริงแห่งมรรค) ๑๑. มคฺคสจฺจํ ภาเวตฺตวํ (ความจริงแห่งมรรคที่ต้องทำให้เกิดขึ้น) ๑๒. มคฺคสจฺจํ ภาวิตฺตํ (ความจริงแห่งมรรคที่ทำให้เกิดขึ้นแล้ว) ๑๓. นิยฺยานิกเหตุทสฺสนา (การเห็นจุดหมายคือการดับ) ๑๔. ธิปเตยฺยภาเวนมคฺคสจฺเจน (การดำเนินไปสู่จุดนั้นคือการดับ) ๑๕. นิยฺยานิกเหตุทสฺสนา (ซ้ำข้อความข้างต้น)

๓) ในส่วนของ ดุม ชั้นนอกและชั้นใน มีปรากฏข้อความเรียงต่อกันดังนี้

๑. ติปริวัฏฏ์  ๒. ทวาทสาการํ  ๓. ธมฺมจักกํ  ๔. ปวตฺติตํ  ๕. ภควตา (ดุมชั้นนอก) 

และ ๑. สจฺจกิจฺจกตญาณํ ๒. จตุธาจตุธา กตํ ๓. ติวฏฏํ ทฺวาทสาการํ ๔. ธมฺมจกฺกํ มเหสิโน (ดุมชั้นใน)

การปรากฏข้อความบนจารึกในวงล้อพระธรรมจักรดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นไว้อย่างชัดเจนว่า "มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" และถูกสร้างขึ้นเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ข้อความในจารึกคือข้อความที่เกี่ยวข้องกับอริยสัจ ๔ ประโยชน์แห่งมรรค และญาณ ๓ ประการ ซึ่งเป็นลักษณะของพระธรรมจักรโดยตรงขณะเดียวกันข้อความที่ปรากฏบนจารึกนี้คือ "คาถา" ที่มิได้ปรากฏอยู่ในที่ใด ๆ นอกจากในหนังสือสารัตถสมุจจัยและในปฐมสมโพธิกถาแต่สิ่งที่ควรกล่าวถึงไว้เป็นพิเศษก็คือ "อายุของตัวอักษรบนจารึกนี้ เห็นได้ชัดว่ามีอายุเก่าแก่กว่าข้อความในเอกสารหรือหนังสืออื่นใดทั้งหมด แม้แต่สารัตถสมุจจัยก็ดี หรือในภาณวารก็ดี แม้ว่าจะมีข้อความลักษณะเดียวกันนี้ (แต่) ก็น่าจะแต่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าปรากรมพาหุแห่งลังกา ซึ่งอยู่ในระหว่างครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘" ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าธรรมจักรศิลานี้ต้องเป็นหลักฐานจารึกที่มีความเก่าแก่กว่าหลักฐานอื่นใดที่แสดงข้อความในลักษณะเดียวกัน

ผู้เขียนและคณะนักวิจัยเห็นว่า ประเด็นที่สำคัญกว่าความเก่าแก่ของธรรมจักรศิลาและข้อความที่ค้นพบก็คือความสอดคล้องกันของข้อความบนธรรมจักรศิลากับพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตนสูตรทั้งนี้เพราะเมื่อผู้เขียนได้นำข้อความในธรรมจักรศิลาไปศึกษาเชื่อมโยงกับเนื้อหาในพระธรรมเทศนาและเอกสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ข้อความในธรรมจักรศิลานี้ แท้จริงแล้วก็คือหลักธรรมที่เป็นเครื่องนำพาไปสู่การเข้าถึงพระธรรมกายในภาคปริยัตินั่นเอง

ด้วยข้อสรุปดังกล่าวนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแผ่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิแถบนี้จริง ด้วยลักษณะและความเก่าแก่ของตัวอักษรทำให้เราสามารถศึกษาย้อนไปถึงการมีอยู่ของอาณาจักรเก่าแก่ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง เช่น อาณาจักรมอญแห่งทวารวดี อาณาจักรปยูแห่งศรีเกษตรหรืออาณาจักรฟูนันที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมอินโดจีน ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งถูกถ่ายทอดมายังดินแดนสุวรรณภูมิมิใช่สิ่งใหม่ หากแต่ได้รับการสืบทอดกันต่อมาอย่างยาวนานนับพันปีแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนและหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องธรรมกาย

ดังนั้น การได้โอกาสร่วมสวดสาธยายธรรมของพุทธบริษัทในยุคของเรา คือ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่ง หากเปรียบไปแล้วก็เท่ากับเป็นการร่วมกัน "บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์" อีกหน้าหนึ่งให้แก่พระธรรมจักรศิลา เสมือนว่าธรรมจักรศิลานั้นได้หมุนมาสู่ยุคของเรา เช่นเดียวกับที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมารได้กล่าวแสดงธรรมไว้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มีใจความตอนหนึ่งว่า ปฐมเทศนาบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ "เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกนัก มิใช่ธรรมพอดีพอร้าย และธรรมนี้จะเป็นตำรับตำราของพุทธศาสนิกชนสืบต่อไปด้วย..."


อ้างอิง :
ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ชำระและแปล (พิมพ์ครั้งที่ ๒)
พระนคร, ๒๕๐๓.
พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), ธัมมจักกัปปวัตนสูตร กรุงเทพฯ :  วัดพระธรรมกาย, ๒๕๓๗.
ชีวประวัติและอมตเทศนา พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฉบับสมบูรณ์ กรุงเทพฯ : วัดปากน้ำ, ๒๕๔๐.
ภาพอักษรตัวเขียน อักษรปัลลวะ โดยความเอื้อเฟื้อจากท่านอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ
ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย

Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙


หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙)






คลิกอ่านหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามบทความด้านล่างนี้
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๓)
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๔)
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๕)
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๗)
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙)
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๘) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๘) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.