อานิสงส์บุญถวายสังฆทาน
“พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า
การถวายสังฆทานมีผลมาก หากพี่กลับไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง
จะหมั่นถวายทานมุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ และจะไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตเลย”
สังฆทาน มิได้หมายถึง
การถวายถังเหลืองที่บรรจุสิ่งของจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ตามมโนภาพในใจคนทั่วไป แต่ สังฆทาน
คือ ทานที่มุ่งเจาะจงไปในหมู่สงฆ์โดยไม่เลือกถวายจำเพาะรูปใดรูปหนึ่ง
ถวายให้เป็นสิทธิ์กลางแด่คณะสงฆ์ เพื่อคณะสงฆ์จะจัดสรรแบ่งปันต่อไป
การถวายสังฆทานแม้ถวายพระภิกษุเพียงรูปเดียว
แต่ถ้าท่านมารับถวายในนามตัวแทนสงฆ์ก็จัดว่าเป็นสังฆทานเช่นกัน
สังฆทาน...เป็นทานที่ขยายใจให้กว้างไปในความเป็นหมู่คณะ
คือ เพื่อให้เป็นประโยชน์แด่สงฆ์โดยส่วนรวม ไม่เหมือนปาฏิบุคลิกทาน
ซึ่งเป็นทานที่เลือกถวายเจาะจงแด่พระที่คุ้นเคยหรือที่ตนศรัทธาเท่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่ามีผลมากกว่าปาฏิบุคลิกทานดังนี้
“เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าสังฆทานด้วยปริยายอะไร ๆ เลย
สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์นั่นแลเป็นประมุขของผู้บูชา
และเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า”
ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบผลานิสงส์ของสังฆทานกับปาฏิบุคลิกทาน
สมัยหนึ่ง
มีธิดาสองพี่น้องชื่อภัททาและสุภัททาแห่งบ้านนาลกคาม
บิดาของพวกเธอเป็นอุปัฏฐากพระเรวตเถระ ต่อมา นางภัททาผู้เป็นพี่สาวได้แต่งงานไป
แต่พอรู้ว่าตัวเองเป็นหมัน จึงขอให้สามีพาน้องสาวของตน
คือนางสุภัททามาเป็นภรรยาร่วมด้วยอีกคน เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้ว
พี่สาวยังได้สอนน้องด้วยความปรารถนาดีว่า “เธอต้องยินดีในการให้ทาน ไม่ประมาทในการประพฤติธรรม
แล้วประโยชน์ในปัจจุบันและในภพหน้าจะได้บังเกิดขึ้นแก่เธอ” นางสุภัททาผู้เป็นน้องสาวก็ทำตามโอวาทของพี่สาว
โดยตั้งใจสั่งสมบุญกุศลอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลย
วันหนึ่ง
นางสุภัททาได้ไปนิมนต์พระเรวตเถระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน
พระเถระต้องการให้นางได้บุญมากขึ้นกว่านี้
จึงแนะนำให้นางมีโอกาสถวายสังฆทานแด่คณะสงฆ์ โดยท่านเมตตาพาพระภิกษุอีก ๗ รูป
เพื่อให้เป็นองค์สงฆ์มาฉันที่บ้านด้วย
นางได้ถวายภัตตาหารแด่พระทุกรูปด้วยจิตเลื่อมใสยิ่งนัก
อุปนิสัยในการถวายทานของทั้งสองพี่น้องนั้นแตกต่างกัน
คือ พี่สาวมักเลือกถวายเฉพาะพระที่ตนศรัทธาหรือคุ้นเคย
แต่น้องสาวไม่เลือกถวายเฉพาะเจาะจงรูปใด ครั้นละโลกไป น้องสาวไปเกิดเป็นเทพธิดาในชั้นนิมมานรดี
ส่วนพี่สาวได้ไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์ เป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช
เทพธิดาสุภัททาตรวจตราสมบัติของตนในชั้นนิมมานรดีก็พบว่า
“สมบัติเหล่านี้
เราได้มาด้วยการอยู่ในโอวาทของพี่สาว แล้วทำทานด้วยจิตที่มุ่งไปในหมู่สงฆ์” จากนั้นก็ตรวจดูสมบัติของพี่สาวตน
ก็เห็นว่าพี่สาวได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในชั้นดาวดึงส์ซึ่งต่ำกว่าตน
นางจึงคิดที่จะอนุเคราะห์พี่สาวโดยลงไปหาที่วิมานของภัททาเทพธิดา
พร้อมกับกล่าวเรียกชื่อของอดีตพี่สาวแสนดี ฝ่ายภัททาเทพธิดาเห็นเทพธิดาผู้แปลกหน้า
จึงถามขึ้นว่า “ท่านมีรัศมีรุ่งเรืองเกินทวยเทพชั้นดาวดึงส์
ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านมาก่อน ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน
จึงได้เรียกชื่อเดิมของข้าพเจ้าว่าภัททา”
สุภัททาเทพธิดาตอบว่า “ฉันชื่อสุภัททา ในภพครั้งยังเป็นมนุษย์
ฉันเป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เป็นภรรยาร่วมสามีของพี่ด้วย ครั้นละจากภพมนุษย์แล้ว
ก็ได้ไปเกิดในชั้นนิมมานรดี” ภัททาเทพธิดาถามถึงบุพกรรมของน้องสาวว่า
ทำบุญอะไรถึงได้ไปบังเกิดในชั้นนิมมานรดี
ทั้งยังเป็นผู้สว่างไสวรุ่งเรืองมากเช่นนี้ สุภัททาเทพธิดาก็เฉลยว่า “เมื่อชาติก่อน
ฉันมีใจเลื่อมใสได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่ แด่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป เพราะบุญนั้นฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ”
ภัททาเทพธิดาถามต่อไปว่า “พี่ได้ถวายภัตตาหารแด่ภิกษุทั้งหลายผู้ประพฤติพรหมจรรย์มากครั้งกว่าเธอ
แต่ทำไมยังเกิดในเหล่าเทวดาชั้นต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายน้อยครั้งกว่าพี่ ทำไมจึงได้รับผลวิเศษเช่นนี้ล่ะ” สุภัททาเทพธิดาจึงอธิบายบุพกรรมของตนเพิ่มไปอีกว่า
“พระเรวตเถระมุ่งจะให้เกิดประโยชน์เพื่ออนุเคราะห์แก่ฉัน
จึงบอกให้ฉันถวายแด่สงฆ์เถิด เพราะการถวายทานที่เป็นไปในหมู่สงฆ์นั้น
มีผลมากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงบุคคล ทานของฉันจึงเป็นสังฆทานซึ่งมีผลหาประมาณมิได้
ส่วนพี่ถวายเฉพาะพระภิกษุเป็นรายบุคคล ดังนั้นทานของพี่จึงมีผลไม่มากเท่าฉัน”
ภัททาเทพธิดาได้ฟังก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ
จึงกล่าวว่า “พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า
การถวายสังฆทานมีผลมาก หากพี่กลับไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง จะหมั่นถวายทานมุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์
และจะไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตเลย” จากนั้นสุภัททาเทพธิดาก็ลาไปสวรรค์ชั้นนิมมานรดีของตน
ลำดับนั้น
ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นสุภัททาเทพธิดาซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองกว่าชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด
และได้สดับการสนทนาของเทพธิดาทั้งสอง จึงตรัสสรรเสริญผลบุญอันมากมายของสังฆทานว่า “ดูก่อนภัททา
น้องสาวของเธอรุ่งเรืองกว่าเธอ
ก็เพราะในชาติก่อนนางได้ถวายสังฆทานซึ่งมีผลไม่มีที่เปรียบได้ ความจริงในเรื่องนี้
ฉันเคยทูลถามพระพุทธเจ้าครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏว่าถวายทานในบุคคลประเภทใดถึงจะมีผลมาก
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า
ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง
ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้
ทานที่ถวายแด่หมู่สงฆ์ย่อมมีผลมากกว่าถวายเป็นรายบุคคล
แม้ว่าจะเป็นท่านผู้ปฏิบัติอริยมรรค ๔ หรือท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ ก็ตามที
พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณยิ่งใหญ่ไพบูลย์
ไม่มีที่เปรียบได้ เหมือนทะเลที่ยากจะคาดคะเนได้ว่ามีปริมาณน้ำเท่านั้นเท่านี้
ฉะนั้น พระสงฆ์แลเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร
พระสงฆ์เป็นเยี่ยมในหมู่นรชน เป็นผู้นำแสงสว่างแห่งพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศแล้วมาชี้แจงแถลงไข
ใครก็ตามที่ได้ถวายทานมุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์
ชื่อว่าเป็นทานที่ถวายดีแล้วและบูชาโดยชอบแล้ว
เพราะทานนั้นจัดเป็นสังฆทานที่มีผลมากมาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับความเป็นหมู่คณะส่วนรวมมากกว่าส่วนบุคคล
หากมองในระยะยาว ถ้าปรารถนาให้พระศาสนามั่นคงเป็นที่พึ่งของมวลมนุษยชาติในยุคต่อ ๆ
ไปแล้ว ก็ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหมู่คณะสงฆ์ มิใช่จากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เพราะการสืบทอดพระศาสนาเป็นภารกิจของศาสนทายาททุกรุ่นทุกคน
ดังนั้นจึงเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมการถวายด้วยใจที่มุ่งไปในหมู่สงฆ์จึงได้ผลบุญมากกว่าการเลือกถวายรายบุคคล
การเลือกถวายเจาะจงรายบุคคลแม้ว่าเป็นผู้มีคุณวิเศษมากเพียงใดก็ตาม
ก็ยังไม่เทียบอานิสงส์แห่งการถวายทานที่มุ่งตรงต่อหมู่คณะสงฆ์ได้เลย ดังนั้นเมื่อปรารภเหตุจะถวายทาน
ไม่พึงเลือกที่รักผลักที่ชังในตัวพระ พึงถวายเป็นสังฆทานอุทิศสงฆ์เถิดประเสริฐนักได้ทั้งบุญเน็ต
ๆ ได้ทั้งประโยชน์ต่อพระศาสนา และอนุชนรุ่นหลังที่จะตามมาอีกมากมาย
Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
คลิกอ่านอานิสงส์แห่งบุญของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามบทความด้านล่างนี้
อานิสงส์ถวายเภสัชและรักษาพระภิกษุอาพาธ
อานิสงส์การรักษาศีล ๕
อานิสงส์ถวายความหอม
อานิสงส์แห่งการสดุดียกย่องพระพุทธคุณ
อานิสงส์บูชาการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อานิสงส์การให้ทานเพื่อขจัดความตระหนี่
อานิสงส์การเป็นภรรยาที่ดี
อานิสงส์ถวายน้ำอ้อย
อานิสงส์ถวายทานบ่อย ๆ
อานิสงส์การให้ทาน
อานิสงส์สร้างที่ปฏิบัติธรรม
อานิสงส์การบูชาด้วยดอกบัว (ปีถัดไป)
อานิสงส์บุญถวายสังฆทาน
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:42
Rating:
กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า การที่เราใส่บาตรที่หน้าบ้านและร่วมใส่บาตรทุกอาทิตย์ต้นเดือน และพิธีใส่บาตรในโอกาสพิเศษต่าง ๆ นี้ถือเป็นการถวายสังฆทานไหมเจ้าคะ
ตอบลบ