อานิสงส์ถวายเภสัชและรักษาพระภิกษุอาพาธ


อาโรคฺยปรมา  ลาภา
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ (มาคัณฑิยสูตร)

ความสุขขั้นพื้นฐานของทุกคน คือ อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืน ไม่ต้องรับประทานยารักษาโรค ไม่ต้องเสียเวลาไปหาหมอ สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ล้วนปรารถนากันทั้งสิ้น แต่น้อยคนนักจะสมปรารถนา ในสมัยพุทธกาล มีโยมอยู่ท่านหนึ่งอายุ ๘๐ ปี ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ บวชพระตอนอายุ ๘๐ ปี และเป็นพระนานถึง ๘๐ ปี รวมเป็น ๑๖๐ ปี ก็ไม่อาพาธ ลุกเดินคล่องแคล่วเหมือนพระหนุ่ม ท่านชื่อ พระพากุลเถระ เป็นสาวกเอตทัคคะเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้มีอาพาธน้อย ความเป็นเลิศนี้เกิดจากผลบุญที่ท่านได้มีโอกาสทำไว้ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน

สมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า  ในชาตินั้น ท่านเป็นฤๅษีทรงอภิญญาสมาบัติ  ได้รักษาพระบรมศาสดาจากอาการประชวรด้วยโรคลม ท่านชวนลูกศิษย์ไปเก็บยามาจากภูเขา และปรุงยารักษาพระพุทธองค์จนทรงหายจากโรคนั้น  ท่านหมั่นนึกถึงบุญนั้นด้วยความปลื้มปีติบ่อย ๆ แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เป็นผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

สมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า  พระเถระเกิดในครอบครัวเศรษฐีในกรุงหงสาวดี  วันหนึ่งท่านชวนเพื่อน ๆ ไปทำบุญที่วัด เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุด้านมีอาพาธน้อย ท่านจึงตั้งความปรารถนาอย่างนั้นบ้าง ดังนั้นตลอดชีวิตของท่าน  เมื่อทำบุญครั้งใดก็จะหมั่นอธิษฐานจิตตอกย้ำให้เป็นอย่างพระภิกษุรูปนั้น

สมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า  ในชาตินั้นท่านเป็นฤๅษีทรงอภิญญา เห็นพระภิกษุจำนวนมากป่วยเป็นไข้ป่า เพราะดอกไม้ป่าเป็นพิษ จึงปรุงโอสถรักษาโรคถวายพระภิกษุเหล่านั้นจนหายดี

สมัยพระกัสสปพุทธเจ้า  ท่านเห็นวัดแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสีมีสภาพคร่ำคร่า ทรุดโทรม กำลังจะร้าง จึงบูรณะซ่อมแซม โดยให้ช่างซ่อมแซมอาคารเก่าและสร้างอาคารใหม่เพิ่ม เช่น โรงอุโบสถ ห้องครัว ห้องน้ำ เป็นต้น และจัดแจงถวายเภสัชทุกชนิดแด่ภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นเป็นประจำอีกด้วย

ทารกผู้อยู่ในท้องปลา

ในชาติสุดท้าย ท่านมาบังเกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพี เมื่อยังเป็นทารกแรกคลอด พวกพี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่แม่น้ำ และถูกปลาใหญ่ฮุบเข้าปาก เมื่อปลาตัวนั้นกลืนเด็กเข้าไปก็รู้สึกเหมือนถูกความร้อนแผดเผาไปทั่วร่างกาย จึงว่ายน้ำด้วยความทุรนทุรายจนไปติดตาข่ายของชาวประมงเมืองพาราณสี พอนำออกจากตาข่าย ปลาก็ตายทันที ชาวประมงหามปลาตัวนั้นเดินป่าวประกาศว่าจะขายราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะ แต่ก็ไม่มีใครซื้อ จนมาถึงบ้านของเศรษฐีตระกูลหนึ่งซึ่งไม่มีบุตร ชาวประมงก็ลดราคาเหลือเพียงกหาปณะเดียวเศรษฐีจึงรับซื้อไว้ โดยทั่วไปเวลาทำอาหารจะต้องผ่าท้องปลา แต่วันนั้นภรรยาเศรษฐีเห็นปลาตัวใหญ่ผิดปกติ จึงให้คนทดลองผ่าข้างหลัง ก็พบทารก จึงอุ้มไปให้เศรษฐีดู เศรษฐีรีบอุ้มทารกไปยังพระราชสำนัก และกราบทูลพระราชาว่า ข้าพระองค์พบเด็กทารกในท้องปลา จะทำประการใดดี พระเจ้าข้าพระราชาตรัสว่า เด็กอยู่ในท้องปลาได้โดยปลอดภัย ถือว่าเป็นเด็กมีบุญ ดังนั้นท่านจงเลี้ยงเขาไว้เถิด


ข่าวแพร่สะพัดไปถึงบ้านเศรษฐีโกสัมพี พวกเขาจึงพากันไปเมืองพาราณสี  ขณะนั้นมารดาผู้ให้กำเนิดเห็นภรรยาเศรษฐีพาราณสีกับพี่เลี้ยงกำลังแต่งตัวเด็ก จึงตรงไปขออุ้ม แล้วก็เล่าถึงสาเหตุที่มาเมืองนี้ ภรรยาเศรษฐีพาราณสีรีบพูดขึ้นทันทีว่า เด็กคนนี้เป็นลูกเรามารดาของเด็กถาม ท่านได้เด็กมาจากไหนนางตอบว่า เราได้มาจากในท้องปลามารดากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เด็กคนนี้ก็ไม่ใช่ลูกของท่าน แต่เป็นลูกของเรานางจึงถามว่า ว่าแต่ท่านล่ะได้เด็กมาจากที่ไหนมารดาตอบว่า อ้าว! เราอุ้มท้องเด็กคนนี้มาตั้ง ๑๐ เดือน  แต่มีปลามาฮุบเด็กไปตอนพี่เลี้ยงพาไปอาบน้ำภรรยาเศรษฐีพาราณสีกล่าวว่า ลูกของท่านคงจะถูกปลาตัวอื่นกลืนไปกระมังทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จึงพากันไปยังพระราชสำนัก

สองตระกูลผลัดกันเลี้ยงดู

พระราชาทรงตัดสินว่า หญิงคนนี้ใคร ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่มารดา เพราะเธอตั้งท้องมาถึง ๑๐ เดือน แต่หญิงอีกคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่มารดา เพราะว่าพบเด็กในท้องปลาและช่วยเหลือเด็กเอาไว้ เอาอย่างนี้แล้วกัน ทั้งสองตระกูลจงเลี้ยงดูเด็กคนนี้ร่วมกันเถิดทั้งสองตระกูลจึงเลี้ยงดูเด็กร่วมกันโดยผลัดกันนำเด็กไปเลี้ยงดูฝ่ายละ ๔ เดือน เมื่อถึงวาระของตนก็นำเรือมารอรับ เรือของพวกเขามีมณฑปแก้วอยู่บนเรือด้วย และมีวงดนตรีขับประโคมเพื่อให้เด็กน้อยเพลิดเพลินระหว่างเดินทางล่องไปตามแม่น้ำคงคา จนเมื่อมาถึงจุดแบ่งเขตระหว่างเมืองทั้งสอง พวกคนรับใช้ของเศรษฐีอีกเมืองหนึ่งก็นำเรือมารอรับเพื่อพาเด็กเข้าไปในตัวเมือง แล้วให้เด็กเสวยสุขสมบัติในปราสาท


การเดินทางไป-มาระหว่างสองเมืองเช่นนี้มีมานานจนอายุได้ ๘๐ ปีทีเดียว ด้วยเหตุที่ตระกูลทั้งสองเกี่ยวข้องกับเขา เขาจึงได้รับการขนานนามว่า พากุละหมายถึง ผู้ได้รับการเลี้ยงดูจาก ๒ ตระกูล

ต่อมา พากุละได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วมีศรัทธาออกบวช และบำเพ็ญเพียรอยู่เพียง ๗ วัน ในวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔  ท่านมีอายุยืนมาก ตลอดชีวิตไม่เคยเจ็บป่วยเลยแม้ชั่วครู่เดียว ไม่เคยต้องฉันยาใด ๆ แม้จะเป็นผลสมอสักชิ้นก็ตาม นอกจากอายุยืนแล้ว ท่านยังมีกำลังกายที่แข็งแรงยิ่งกว่าคนทั่วไป เวลาอยู่ในอิริยาบถนั่งก็ไม่เคยต้องพิงฝาผนังหรือพิงพนักเก้าอี้ เวลาจำวัดพักผ่อนก็ไม่เคยล้มตัวลงนอนเอาหลังแตะพื้นเลยสักครั้ง นี่คือความมหัศจรรย์แห่งความเป็นผู้มีโรคน้อยของท่าน

พระเถระมีปกตินั่งเข้าสมาบัติเป็นประจำ เมื่อล่วง ๔ เดือนไปแล้ว ขนผ้าจีวรของท่านจะเปื่อยหลุดลุ่ยตามกาลเวลา แต่ท่านไม่เคยต้องกังวลเรื่องแสวงหาผ้าจีวรเลย เพราะหมู่ญาติของท่านจะสั่งให้คนทำจีวรใหม่ด้วยผ้าสาฎกเนื้อละเอียดอ่อน แล้วใส่ผอบส่งไปถวายทุกครั้ง

เมื่อถึงวันปรินิพพาน  พระเถระเดินไปตามกุฏิและประกาศแก่พระภิกษุอื่น ๆ ว่า นิมนต์ทุกรูปออกมาจากกุฏิเถิด วันนี้เป็นวันที่ผมจะต้องปรินิพพานแล้วเมื่อมาประชุมพร้อมเพรียงกันแล้ว พระเถระก็มีความคิดว่า ตอนเรามีชีวิตอยู่ เราตั้งใจไว้ว่าอย่าได้เป็นภาระแก่ใคร แม้ตอนปรินิพพาน ร่างกายของเราก็อย่าให้ต้องเป็นภาระของใครเลยท่านจึงเข้าเตโชสมาบัติ พอปรินิพพานแล้วก็เกิดเปลวไฟเผาไหม้สรีระจนหมดสิ้น  เหลือแต่พระธาตุของท่านซึ่งมีลักษณะเหมือนดอกมะลิตูม


ท่านกัลยาณชนทั้งหลาย... หากต้องการแข็งแรง มีอายุยืนนานอย่างพระพากุละ ก็ต้องประกอบเหตุให้ได้เช่นท่าน ตั้งแต่การถวายยา จนถึงการศึกษาหาความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้เชี่ยวชาญเหมือนพระเถระที่ท่านเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญการปรุงยาและรักษาเนื้อนาบุญจนหายอาพาธ และเราต้องแนะนำการดูแลสุขภาพให้พระท่านได้ด้วย เพราะความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ก็เป็นเสมือนยารักษาโรคแบบพกติดตัวตลอดเวลานั่นเอง

เคล็ดไม่ลับของการดูแลตนเองในชีวิตประจำวันให้มีอายุยืน มีดังต่อไปนี้

๑. สัปปายะการี  ทำร่างกายให้มีแต่ความสบาย เพื่อเกื้อกูลต่อสุขภาพ เช่น ไม่เครียด อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท

๒. สัปปาเย มัตตัญญู  รู้ประมาณพอดี ไม่ทำตัวสบายจนเกินไป เช่น นั่งนาน นอนนาน ยืนนานจนเกินไป เส้นจะยึดติด

๓. ปะริณะตะโภชี  รับประทานแต่อาหารที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก

๔. กาละจารี  ใช้ชีวิตให้เหมาะสมในเรื่องเวลา จัดสรรเวลาให้ลงตัว ไม่ทำอะไรเร่งรีบจนเกินไป

๕. พรหมะจารี  ถือพรหมจรรย์ตามความเหมาะสมแก่ฐานะ เช่น ถือศีล ๘  ฝึกการปล่อยวางจากภาระครอบครัว การงาน สิ่งเย้ายวนทางโลก  และหมั่นปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิให้สม่ำเสมอ


Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อานิสงส์ถวายเภสัชและรักษาพระภิกษุอาพาธ อานิสงส์ถวายเภสัชและรักษาพระภิกษุอาพาธ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:45 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.