วันมาฆบูชากับชาวพุทธ


ในสมัยพุทธกาล อะไรทำให้พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย ในวันมาฆบูชา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมในวันวิสาขบูชา และแสดงธรรมครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในวันอาสาฬหบูชา ในวันนั้นเมื่อฟังปฐมเทศนาเสร็จ พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วขอออกบวช ทำให้สังฆรัตนะเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ธรรมออกไปอีก จนเกิดพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรกในโลก พระองค์ตรัสบอกพระสาวกทุก ๆ รูปที่ติดตามพระองค์อยู่ว่า บ่วงทั้งหลายที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงนั้นแล้ว เธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ คือประกาศคำสอนในพระพุทธศาสนาให้ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย งามพร้อมทั้งอรรถะ (เนื้อหา) และพยัญชนะ (ลีลา, ตัวอักษร) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์โลกผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้จักอาจรู้ทั่วถึงธรรมนั้นมีอยู่ แต่เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็น เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรมไปเถิด เธอจงไปคนเดียวหลาย ๆ ทาง อย่าไปทางเดียวหลาย ๆ คน จากนั้นพระองค์ก็ตรัสว่า แม้เราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน และในพรรษาแรกนั้นเอง พระองค์ได้เสด็จไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมบริวารรวมแล้ว ๑,๐๐๓ ท่าน ใช้เวลาถึง ๓ เดือน จึงปราบพยศชฎิล ๓ พี่น้องได้ เพราะทั้ง ๓ พี่น้องนั้นเป็นอาจารย์ใหญ่ของแคว้นมคธ ซึ่งเป็นมหาอำนาจในยุคนั้น และพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระราชาของแคว้นทรงนับถือมาก ชาวเมืองจึงพลอยนับถือกันทั้งเมือง ดังนั้นการจะไปพลิกทิฐิมานะของชฎิล ๓ พี่น้องจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สุดท้ายชฎิล ๓ พี่น้องก็ยอม แล้วขอออกบวช แล้วไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองทั้งหลาย ทำให้พระพุทธศาสนาเริ่มมั่นคงมากขึ้น คณะสงฆ์ก็เริ่มมากขึ้น

หลังจากตรัสรู้ธรรมได้ ๙ เดือน ในวันเพ็ญเดือน ๓ จึงเกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตขึ้น คือมีการประชุมพร้อมขององค์ ๔ โดยไม่ได้นัดหมาย คือ

๑. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย

๒. พระสงฆ์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาทั้งสิ้น

๓. ทุกรูปล้วนเป็นพระภิกษุที่บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้

๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

เนื่องจากเหตุการณ์ทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน บางยุคพระอรหันต์มารวมตัวกัน ๑,๒๕๐ รูป บางยุค ๑,๒๕๐,๐๐๐ รูป จำนวนอาจจะเปลี่ยนไป แต่เหตุการณ์คล้ายกัน เพราะเป็นวันที่ถือว่าเป็นการลั่นระฆังประกาศพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ

เมื่อคณะสงฆ์ในวันนั้นพร้อมพระองค์ก็ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ คือหลักเกณฑ์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้ทั้งวิธีการในการสอน และวิธีการปฏิบัติตนขณะไปเผยแผ่ธรรมะ เมื่อคณะสงฆ์ทั้งหมดรับทราบหลักปฏิบัติตรงกัน การออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงเป็นระบบ และขยายออกไปกว้างขวางอย่างรวดเร็ว

ที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้ก็เพราะว่าพระทุกรูปเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และทรงอภิญญาครบถ้วน คือมีฤทธิ์ทางใจ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตทุกอย่าง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งกระแสจิตออกไป ทุกรูปรู้วาระจิต จึงมาประชุมพร้อมกัน

สำหรับโอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงให้หลักการไว้นั้น มี ๓ ประการหลักๆ ดังนี้

โอวาทปาติโมกข์ที่เกี่ยวกับหลักการในการทำงาน มี ๓ ข้อ ดังนี้

ข้อที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง

เนื่องจากพระองค์ทรงทราบว่า การออกไปเผยแผ่ศาสนาจะต้องเจออุปสรรคมากมาย ทั้งจากคนที่ไม่เข้าใจ และคนที่เสียประโยชน์ ซึ่งเขาก็จะต้องหาทางโจมตี จึงทรงสั่งไว้ว่าให้มีความอดทน อดกลั้น

ข้อที่ ๒ นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยมความอดทน ของเราเป็นการอดทนอย่างมีเป้าหมาย เพราะรู้ว่าเรากำลังจะแนะนำสั่งสอนชาวโลกทั้งหลาย ให้มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสว่าเป็นเยี่ยม

ข้อที่ ๓ นหิปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหยนฺโต แปลว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าสมณะ หลักการทำงานในพระพุทธศาสนาห้ามทำร้ายใคร ห้ามเบียดเบียนใครเด็ดขาด อย่าไปแก้ปัญหาโดยเอากิเลสไปสู้กับกิเลส

โอวาทปาติโมกข์ที่เกี่ยวกับหลักการในการสอน มี ๓ ข้อ

ข้อที่ ๑ สพฺพปาปสฺส อกรณํ แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การละชั่ว ตั้งแต่ไม่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว

ข้อที่ ๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา แปลว่า การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม คือ ทำความดี

ข้อที่ ๓ สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว คือ การบำเพ็ญภาวนาทำใจให้ผ่องใส

กล่าวสั้นๆ ก็คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส โอวาทปาติโมกข์ที่เกี่ยวกับหลักการในการปฏิบัติตนของพระภิกษุ มี ๖ ข้อ

ข้อที่ ๑ อนูปวาโท แปลว่า ไม่ว่าร้ายใคร ห้ามโจมตีว่าร้ายใคร

ข้อที่ ๒ อนูปฆาโต แปลว่า ห้ามทำร้ายใคร

ข้อที่ ๓ ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร แปลว่า ให้สำรวมความประพฤติให้ดี คือไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร แต่เน้นการพัฒนาตัวเอง เน้นการปรับปรุงตัวเองให้สมบูรณ์ขึ้น

ข้อที่ ๔ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า รู้ประมาณในการบริโภคโภชนาหาร อยู่ง่าย กินง่าย เรียบง่าย

ข้อที่ ๕ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ แปลว่า อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด หมั่นทำสมาธิ รักการบำเพ็ญจิต

ข้อที่ ๖ อธิจิตฺเต จ อาโยโค แปลว่า ประกอบความเพียรในอธิจิต ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา ข้อนี้แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ตาม แม้พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วก็ตาม ท่านยังไม่เว้นข้อนี้เลย

นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่พระองค์เดียว แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสอนอย่างนี้ นี่คือหลักการปฏิบัติตัวของผู้ประกาศพระพุทธศาสนาจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะพระภิกษุ แม้ ชาวพุทธควรจะถือหลักปฏิบัตินี้ด้วย นี่คือคำตอบว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงยั่งยืนมั่นคงมา ๒,๐๐๐ กว่าปี และเผยแผ่ด้วยความสงบร่มเย็นมาโดยตลอด ไม่มีสงครามศาสนาเลย เป็นเพราะพระองค์ทรงวางกรอบ เอาไว้อย่างดีเยี่ยมในโอวาทปาติโมกข์ จึงนับเป็นบุญของพวกเราทุกคน ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ขอให้ตั้งใจใช้ประโยชน์ ใช้โอกาสนี้กันให้คุ้ม อย่าเป็นเฉพาะชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน อย่างนั้นน่าเสียดาย กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมมาสอนเราได้ ทรงสร้างบารมีมานานมาก ทรงอดทนเสียสละทุกอย่างด้วยความเมตตาต่อเรา เมื่อเราพบพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ศึกษาและปฏิบัติให้คุ้มกับความเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเราทุกคน

คำสอนนี้จะนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้อย่างไร

ไม่ว่าเราจะทำงานพระพุทธศาสนาหรือทำงานอื่นก็ตาม ใช้หลักการนี้ได้ ๑. อดทน ๒. เป้าหมายชัดเจน ๓. มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นต้องแก้ด้วยความดี นี้คือหลักการทำงานทางโลก แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว

มาดูต่อว่า พระองค์ทรงให้หลักการสอนไว้อย่างไร สั้นๆ คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ถ้าคำ เต็ม ๆ ก็บอกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี่คือหลักการ ที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ตรัสอีกเหมือนกัน ชาวพุทธทุกยุคทุกสมัย จะต้องเดินบนเส้นทางนี้ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส


แต่เดิมเราเน้นวันวิสาขบูชาเป็นพิเศษ
วันมาฆบูชาแม้มีความสำคัญแต่ก็ไม่ได้เน้น
รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงเห็นความสำคัญ
จึงทรงหยิบยกวันนี้ขึ้นมาให้เห็นความสำคัญ และเนื่องด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์
จึงมีศักยภาพที่จะทำให้ชาวพุทธทั้งประเทศ ให้ความสำคัญกับวันนี้

ในอดีตประเทศไทยไม่มีวันมาฆบูชา อะไรทำให้รัชกาลที่ ๔ ทรงกำหนดให้มีวันมาฆบูชาขึ้น

ที่จริงในพระพุทธศาสนาเรามีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย อยู่ที่ว่าจะหยิบยกเหตุการณ์ไหนขึ้นมาปฏิบัติ มาระลึกถึงเป็นพิเศษ ที่ตรงกันทั้งโลกคือ วันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน หรือวันที่เกี่ยวโยงกับวัตรปฏิบัติของสงฆ์ เช่น วันเข้าพรรษา วันออก-พรรษา เป็นต้น

แต่เดิมเราเน้นวันวิสาขบูชาเป็นพิเศษ วันมาฆบูชาแม้มีความสำคัญแต่ก็ไม่ได้เน้น รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงเห็นความสำคัญ จึงทรงหยิบยก วันนี้ขึ้นมาให้เห็นความสำคัญ และเนื่องด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ จึงมีศักยภาพที่จะทำให้ชาวพุทธทั้งประเทศให้ความสำคัญกับวันนี้ จากประเทศไทยก็ขยายไปถึงลาว กัมพูชา และตอนนี้ที่มีการเวียนเทียน มีการปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษในวันมาฆบูชา ก็มีไทย ลาว กัมพูชา ส่วนประเทศพม่าและศรีลังกายังไม่มีเหมือนเรา

อะไรคือจุดประสงค์ของการเวียนเทียนในวันมาฆบูชา

ในวันมาฆบูชาครั้งแรกไม่มีการเวียนเทียน เพราะมีแต่พระอรหันต์ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเป็นประธาน มีพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป นั่งล้อมพระองค์ไว้ แล้วพระองค์ก็ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักในการออกไปประกาศพระพุทธศาสนา

แต่เรายังไม่ใช่พระอรหันต์ ดังนั้นจึงมีการเวียนเทียนเกิดขึ้นเพื่อบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งเราใช้การระลึกถึงบูชา เวลาเวียนเทียนเราก็ถือทั้งเทียนและธูป เทียนคือบูชาด้วยแสงสว่าง ธูปคือบูชาด้วยของหอม ส่วนการเดินเวียนเทียนเขาเรียกว่าเดินเวียนประทักษิณ คำว่าประทักษิณ แปลว่าข้างขวา คือเอาแขนขวาของเราอยู่ใกล้กับสิ่งที่เราจะให้ความเคารพ การเวียนเทียนของเราจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัยนั่นเอง

ถ้าเราไม่มีโอกาสไปเวียนเทียน เราจะจุดเทียนไว้ในที่พักแทนได้ไหม

ถ้าเราอยู่ต่างประเทศ และวัดที่ใกล้ที่สุดห่างจากเราไปสัก ๕ ชั่วโมง เราไปไม่ไหวเพราะเดินทางไกล ถ้าเป็นอย่างนี้จะแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างนี้ก็ได้ สำคัญที่ความตั้งใจของเรา แต่ถ้าในห้องของเรามีพระพุทธรูปอยู่ หรือเราห้อยพระอยู่ เราก็อาจอาราธนาพระที่ห้อยอยู่มาวางไว้บนโต๊ะ แล้วเวียนรอบโต๊ะ ๓ รอบ โดยสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้ผ่องใสก่อน แล้วค่อยเวียนเทียนรอบองค์พระ ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างสูงสุดจริงๆ ทำด้วยความตั้งใจอย่างนี้ อานิสงส์ก็จะเกิดขึ้นกับเราเช่นเดียวกัน แต่ถ้าวัดอยู่ข้างบ้าน เราขี้เกียจไป แล้วใช้วิธีเวียนเทียนอย่างนี้ เริ่มต้นก็ผิดแล้ว

นอกจากการเวียนเทียนและการไปฟังธรรมแล้ว ยังมีอะไรที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชาอีกไหม

เราควรจะมาทบทวนตัวเองตามหลักการ ๓ ประเด็นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนไว้ในโอวาทปาติโมกข์ เพื่อสำรวจตัวเองว่าขณะนี้เรายืนอยู่ตรงจุดไหน กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำอยู่สอดคล้องตามหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นเหมือนการปรับจูนเครื่องปรับทิศทาง ปรับศูนย์ของเรา แล้วนาวาชีวิตของเราลำนี้ ก็จะแล่นไปข้างหน้าได้อย่างตรงต่อเป้าหมาย และประสบความสุขความสำเร็จในที่สุด

กิจกรรมในวันมาฆบูชาของวัดพระธรรมกายเป็นอย่างไรบ้าง

มีการตักบาตรพระภิกษุสงฆ์กว่าพันรูป ตั้งแต่ ๖ โมงเช้า หลังจากนั้น ๐๙.๓๐ มีการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ถวายภัตตาหารเพล ช่วงบ่ายมีการปฏิบัติธรรมอีกรอบ แล้วก็ฟังธรรม ส่วนช่วงกลางคืนมีการเวียนเทียน และจุดโคมประทีป เป็นแสนดวงบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งมีชาวพุทธจากต่างประเทศ มาร่วมงานกันหลายสิบประเทศทีเดียว ทั้งคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจากต่างประเทศ เป็นการระลึกถึงการที่พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกัน ถือเป็นวันบุญใหญ่อีกวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านสาธุชนท่านใดปลอดโปร่งจากภารกิจ ก็มาเอาบุญกุศลนี้เกื้อหนุนตัวเรา ให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทุกเรื่องราวได้อย่างสบายๆ แล้วก็จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิตกันทุกคน....


Cr. พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖
วันมาฆบูชากับชาวพุทธ วันมาฆบูชากับชาวพุทธ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.