เมื่อผู้หญิงขอเป็นช้างเท้าหน้า วันสตรีสากล ๘ มีนาคม




การที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นช้างเท้าหลัง เป็นเพราะการอบรมเลี้ยงดูหรือเปล่า

ภาพที่ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังในบ้านเมืองเราคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ในบางประเทศ ในบางชุมชน ผู้หญิงยังถูกกดอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในบางประเทศก็มีความเสมอภาคขึ้นมามากแล้ว

ความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายที่ทำให้เกิดภาพนี้ขึ้นมา เกิดจากเหตุ ๓ อย่างคือ

ประการที่ ๑ ความแตกต่างทางสรีระที่หญิงกับชายแตกต่างกัน ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องอื่นๆ เช่น ทำให้อารมณ์ของผู้หญิงอ่อนไหวกว่าผู้ชาย

ประการที่ ๒ เรื่องของวัฒนธรรม วัฒนธรรมเป็นอย่างไรก็มีส่วนกำหนดบทบาทสถานภาพของผู้หญิงตามความคาดหวังของวัฒนธรรมนั้น ๆ

ประการที่ ๓ เรื่องกฎหมาย บางประเทศถือเป็นกฎหมายเลยที่กดผู้หญิงเอาไว้ เช่น ในอัฟกานิสถาน พอตาลีบันขึ้นมาก็ประกาศห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ ห้ามทำงาน

ปัญหาความรุนแรงเรื่องผู้หญิงโดนกดขี่เกิดจากอะไร

สาเหตุหลัก ๆ มาจากเรื่องสรีระ ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก เพราะธรรมชาติให้มาอย่างนั้น จากสรีระนี้เองที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงเรื่องวัฒนธรรมบางอย่างด้วย เช่น ถ้าใครมีลูกสาวแล้วไม่ดูแลให้ดี เกิดลูกไปท้องขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร ทำให้พ่อแม่ต้องระมัดระวังลูกสาวเป็นพิเศษ แต่ลูกชายไม่มีปัญหา พอเป็นอย่างนี้เลยเกิดความแตกต่างกันขึ้นมา ลูกสาวจะไปไหนต้องคุมเข้ม ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่าง แล้วการที่ผู้หญิงมีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าผู้ชาย ก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมหลายอย่างมาคุม เอาไว้อีก บางทีก็คุมมากเกินไปจนกระทั่งเลยเถิด ดังเช่นเรื่องราวที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ดังต่อไปนี้

ในครั้งพุทธกาล เศรษฐีท่านหนึ่งมีลูกสาวหน้าตาดีมาก เลยเก็บลูกสาวไว้ที่ยอดปราสาท ยุคนั้นไม่มีวิทยุ ทีวี อินเทอร์เน็ตก็ไม่มี คนที่มีสิทธิ์เข้าถึงตัวลูกสาวเศรษฐีได้มีแต่นางทาสีที่เป็นหญิงรับใช้คนเดียวเท่านั้น คอยส่งข้าว ส่งนํ้า อย่างนี้ถือว่าเป็นการขังคุกลูกสาวหรือเปล่า แต่สุดท้ายลูกสาวเศรษฐีมองลงมาจากหน้าต่าง เห็นหนุ่มคนหนึ่งรูปร่างเข้าท่าดี เลยวางแผนหนีตามไป เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมก็มีส่วนมาจากสรีระ แต่บางอย่างก็เกินเลยไป จนกระทั่งกลายเป็นการจำกัดเสรีภาพเหมือนกัน

แต่ปัจจุบันถือว่าคลี่คลายไปมากแล้ว สมัยก่อนห้ามผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้ง เดี๋ยวนี้ไม่มีปัญหา ในเมืองไทยก็ไม่มีปัญหาอย่างนี้ ในทางกฎหมายชาย-หญิงถือว่าค่อนข้างเสมอภาคแล้ว ยังมีเหลืออยู่บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ เช่น แต่ก่อนมีธรรมเนียมไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เดี๋ยวนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตรีก็มีแล้ว เพราะฉะนั้นถือว่าค่อนข้างเสมอภาคกันมากแล้ว จะมีบ้างก็เป็นเรื่องทางด้านวัฒนธรรมมากกว่า เช่น กฎหมายไม่ห้าม แต่ในเชิงประเพณีนิยมห้าม และโอกาสของผู้ชายก็ดูเหมือนว่าจะมากกว่าหน่อย ๆ เช่น จะมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้ชายก็มักจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าผู้หญิง เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของความคิดและวัฒนธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ ปรับบ้าง

เมื่อพื้นฐานความแตกต่างทางสรีระมีอยู่ ก็ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นช้างเท้าหน้า ใครเป็นช้างเท้าหลัง ใครจะเป็นผู้นำ ใครเป็นผู้ตาม แต่ให้ถือว่า ทั้ง ๒ ฝ่าย จะต้องทำงานประสานกัน อุดจุดอ่อนแล้วเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกัน ร่วมมือกันทำงานให้ประสบความสำเร็จดีกว่า

บ้านไหนที่สามีภรรยาทำงานเข้าขากันดี พลังมันไม่ใช่ ๑+๑ เป็น ๒ แต่ ๑+๑ เป็น ๑๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ เลย มันทวีคูณขึ้นไป เพราะผู้ชายมักเก่งในเชิงบุกทะลวงไปข้างหน้า แต่การเก็บรายละเอียด คอยอุดช่องโหว่ สุขุม รอบคอบ การปฏิสันถารติดต่อ สิ่งเหล่านี้ผู้หญิงทำได้ดีกว่า พอมีการเสริมกันอย่างนี้พุ่งพรวดเลย เท่ากับว่ามีคู่ชีวิตเป็นที่ปรึกษา ช่วยกันทำงาน ช่วยกันสร้างฐานะสร้างครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

อาตมาเคยมีโอกาสต้อนรับและสนทนากับพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านรู้จักกับครอบครัวหนึ่ง สามีเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ รวยมากระดับหลายๆ พันล้าน สร้างตัวมาด้วย ๒ มือ พอออกเรือนแล้ว ฝ่ายชายตั้งอกตั้งใจทำงานมาก และให้ความไว้วางใจฝ่ายหญิงเต็มที่ หาเงินได้ก็ให้ฝ่ายหญิงเป็นคนเก็บ ฝ่ายหญิงนำเงินไปซื้อที่ดินบริเวณรอบบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในระยะ ๓๐ กิโลเมตร ใครมาเสนอขายซื้อไว้หมด ซึ่งที่ดินผืนนั้นปัจจุบันคือที่ตั้งของหมู่บ้านเสรีที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในยุคนั้นไร่หนึ่งราคา ๔๐๐ - ๕๐๐ บาท ตอนนี้ไร่หนึ่งราคาประมาณ ๔๐ - ๕๐ ล้าน ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยพ่อบ้านเป็นคนหาเงิน แม่บ้านเป็นคนเก็บ แล้วนำไปลงทุนซื้อที่ อย่างนี้จะถือว่าใครเป็นช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง แทบจะบอกไม่ได้ว่าใครนำใครตาม ถือเป็นคู่ชีวิตที่แบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดและความพร้อมของแต่ละคนมากกว่า

สมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องพลังสตรีหรือไม่

สังคมอินเดียในช่วงพุทธกาล ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว สถานะของสตรีค่อนข้างจะตามหลังผู้ชายมากกว่าปัจจุบันมาก สตรีเมื่อยังเด็กต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ ออกเรือนเมื่อไรก็อยู่ในความดูแลของสามี พอสามีเสียชีวิตก็อยู่ในความดูแลของบุตร เรียกว่าเป็นผู้ตามจริงๆ และมีสิทธิทางกฎหมายน้อยมาก

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สิทธิสตรีเสมอภาคกับบุรุษ ให้สามารถออกบวชเป็นภิกษุณีได้นั้น นั้นคือการปฏิวัติของสังคมอินเดียครั้งยิ่งใหญ่ แม้มีบางคนพูดว่าบวชเป็นภิกษุณีแล้ว อย่างไรก็ต้องให้ความเคารพพระภิกษุ แม้เพิ่งบวชใหม่ก็ตาม ก็เป็นเพราะข้อจำกัดทางสรีระ และบทบาทของวัฒนธรรมบางอย่างประกอบเข้ามา ภิกษุณีต้องพักในวัดที่มีพระภิกษุอยู่ด้วย เพราะเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ศีลของภิกษุณีกับภิกษุก็ไม่เท่ากัน ศีลภิกษุณีมี ๓๑๑ ข้อ ของพระภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ ถามว่าทำไมไม่เท่ากัน ก็เกิดมาจากสรีระที่ไม่เท่ากันนั่นเอง

ในปัจจุบันผู้หญิงที่ได้เป็นใหญ่ก็มี เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรีก็มี แต่เทียบสัดส่วนแล้ว ยังน้อยกว่าผู้ชาย ผู้บริหารระดับสูงทั้งในวงราชการหรือวงการธุรกิจ ทำไมผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะจริง ๆ สตรีมีความแปรผันและผันผวนทางอารมณ์มากกว่าผู้ชาย หงุดหงิดง่ายกว่า ควบคุมอารมณ์ได้น้อยกว่า

สตรีบางท่านอาจเป็นข้อยกเว้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ผู้หญิงมีอารมณ์หวือหวามากกว่าผู้ชาย แต่ก็มีความละเอียดอ่อนพลิ้วไหวมากกว่าเช่นเดียวกัน พอเป็นอย่างนี้ ในบทบาทที่เป็นผู้นำ ผู้บริหาร ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนจำนวนมาก และมีเรื่องมากระทบเยอะ จึงต้องการความหนักแน่นมากเป็นพิเศษ ดังนั้นสรีระของชายจึงเหมาะกับบทบาทนี้มากกว่าเท่านั้นเอง แต่พอมีสตรีท่านใดที่หนักแน่นเป็นพิเศษขึ้นมา ก็สามารถขึ้นเป็นผู้นำได้เหมือนกัน เราต้องทำความเข้าใจว่ามันมาจากพื้นฐานความแตกต่างทางสรีระ เมื่อสรีระต่างกันจะไปบอกให้เหมือนกันก็เป็นไปไม่ได้ บางอย่างผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชาย บางอย่างผู้ชายทำได้ดีกว่าผู้หญิง ต้องเข้าใจและยอมรับ ให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างนี้จึงจะดี

จุดเด่นหรือจุดยืนของสตรีที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ

ประการสำคัญต้องมีความเชื่อมั่นและสามารถควบคุมอารมณ์ได้ คือต้องเป็นคนหนักแน่น เอาชนะ จุดอ่อนของสตรีที่มักโกรธ อารมณ์หวือหวา อ่อนไหว ต้องผ่านไปให้ได้ จึงจะสามารถทะยานมาอยู่แถวหน้าได้ และต้องมีความอดทนมาก ถ้าไปอ่านประวัติของคุณฮิลลารี คลินตัน จะเห็นว่าไม่ธรรมดา ต้องอดทนจริง ๆ ถึงจะก้าวมาอยู่ข้างหน้าได้

แม้ในอดีต ในสังคมที่สตรีถูกกดอย่างสุด ๆ ก็ยังมีสตรีบางท่านที่ก้าวผงาดขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างเช่นพระนางบูเช็คเทียน ซึ่งเป็นสตรีที่ถือว่าเป็นจักรพรรดินีของจีนในสมัยต้นราชวงศ์ถัง ในยุคที่ผู้หญิงอยู่ในความดูแลของผู้ชายโดยสิ้นเชิง พระนางบูเช็คเทียนเริ่มต้นจากการเป็นนางสนมอยู่ในวัง ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงอะไรเลย พอจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ ก็ถูกนำไปโกนหัวบวชเป็นแม่ชีอยู่ในวัดเหมือนกับสนมคนอื่น ๆ แต่พระนางหาทางดิ้นรนจนกระทั่งกลับเข้ามาสู่วงจรอำนาจได้ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีของจีน

ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะพระนางบูเช็คเทียนเป็นนางสนมที่แปลก สนมคนอื่นได้แต่แต่งตัวสวย ๆ งาม ๆ แล้วรอจักรพรรดิเรียก แต่พระนางบูเช็คเทียนพยายามไปเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ แล้วเอาตำราต่าง ๆ มาศึกษาหาความรู้ ทำให้โลกทัศน์ของพระนางกับหญิงอื่นในยุคนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันก็ต้องบอกว่ากึ๋นต่างกัน ซึ่งเกิดจากการศึกษาเรียนรู้ พอโลกทัศน์กว้าง ก็เริ่มเห็นช่องทางที่จะพ้นจาก ภาวะนั้นไป พูดง่าย ๆ ว่า พระนางบูเช็คเทียนสามารถเอาตัวเองหลุดออกจากกรอบความคิดทางวัฒนธรรมได้ เพราะถ้าตัวเองยังหลุดกรอบไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะก้าวขึ้นมาได้ ต้องหลุดจากกรอบด้วยตัวเองก่อน จากนั้นจึงทำให้สังคมรอบข้างค่อย ๆ ก้าวหลุดจากกรอบตามตัวเอง สังคมจีนที่มองผู้หญิงเป็นผู้รับใช้ฝ่ายชายโดยสิ้นเชิง ทำไมยอมรับพระนางบูเช็คเทียนเป็นผู้นำประเทศ อันนี้อยู่ที่ฝีมือ ที่ตัวเองหลุดจากกรอบความคิดได้ แล้วพัฒนาความสามารถ แล้วก้าวเป็นขั้น ๆ เดินไปตามจังหวะ สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ

สิ่งแวดล้อมก็มีผลมาก ใครโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ก็จะถูกหลอม ถ้าเมื่อไรถูกหลอมแล้ว ตัวเองก็ยอมรับสภาพ มันก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป แต่เมื่อไรก้าวหลุดออกจากกรอบความคิดนั้นได้ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเกิดขึ้น และต้องก้าวหลุดออกมาด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่หลุดมาด้วยการเรียกร้อง

อย่างพระนางบูเช็คเทียนก็ไม่ได้เรียกร้องสิทธิสตรีเลย แต่พระนางเข้าใจความคิดของคนจีน ของสังคมจีน เมื่อตัวเองก้าวหลุดออกมา ก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะควบคุมความเป็นไปรอบตัว จนกระทั่งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้

อย่างสังคมอิสลามก็เป็นสังคมหนึ่งที่สตรีมีสิทธิ์น้อยกว่าผู้ชาย ผู้ชายมีภรรยาได้ ๔ คน แต่ผู้หญิงมีไม่ได้ เวลาผู้หญิงออกจากบ้านก็ต้องคลุมหน้าคลุมตา แต่ในประเทศที่เป็นมุสลิมอย่างปากีสถาน ทำไมผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ที่เป็นอย่างนี้อยู่ที่กึ๋น ถ้าสตรีก้าวหลุดพ้นจากกรอบ ความคิดทางวัฒนธรรมได้ มีความเชื่อมั่น มั่นใจตัวเอง ฝึกพัฒนาความรู้ความสามารถตลอด อดทนก้าว ทีละก้าว สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จได้ โอกาสมีสำหรับทุกคน อยู่ที่ว่ากึ๋นของทุกคนพอหรือไม่เท่านั้นเอง

ถ้าอยากเป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ต้องเริ่มต้นพัฒนาตัวเองจากตรงไหน

คำว่าผู้หญิงเก่งหรือประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว จริง ๆ แล้ว งานการมีหลายอาชีพ อาจจะเป็นหมอ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ ที่เป็นผู้หญิงเก่ง ๆ ก็มีเยอะแยะ คือถ้าจับอาชีพไหนแล้วก็ต้องฝึกพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพนั้น ๆ ให้ดี ให้รู้จริง คู่กันไปกับการฝึกเสถียรภาพทางอารมณ์ อุดช่องโหว่ อุดจุดอ่อนของเรา แล้วเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ก้าวมาประสบความสำเร็จได้

สตรีที่เป็นต้นแบบในใจของผู้หญิงทุก ๆ คน

ถ้าต้นแบบในยุคปัจจุบันนี้ ก็นึกถึงคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย คุณยายอาจารย์เป็นลูกชาวนาอำเภอนครชัยศรี ไม่เคยเรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่สามารถสร้างวัดอย่างวัดพระธรรมกายได้ และเป็นครูบาอาจารย์ของพระภิกษุในวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่หลวงพ่อ เป็นต้น ที่ท่านทำได้เพราะท่านฝึกตัวอย่างยิ่งยวด มีความหนักแน่นมั่นคง ทำอะไรทำจริง เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ มาฝึกธรรมะกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ก็ตั้งใจจริงจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย และอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่จนกระทั่งหลวงปู่มรณภาพ ก่อนมรณภาพหลวงปู่สั่งคุณยายว่าให้อยู่ที่วัดปากน้ำ อย่าไปไหน เดี๋ยวจะมีผู้มาสืบทอดวิชชา คุณยายเคารพครูบาอาจารย์ ท่านก็รออยู่ที่วัดปากน้ำจนกระทั่งพบหลวงพ่อ แล้วก็สอนธรรมะให้ จนหลวงพ่อเรียนจบจากเกษตรก็มาบวช แล้วจึงมาสร้างวัดพระธรรมกาย

คุณยายบอกว่า คุณยายกอข้อไม่กระดิก คืออ่านหนังสือไม่ออก แต่คุณยายจริงตัวเดียวจึงสร้างวัดได้ จริงตัวเดียวนั่งธรรมะได้ นี่คืออุบาสิกาท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากในปัจจุบัน และเป็นผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย

ทุกอย่างสามารถทำได้ถ้าจริงตัวเดียว จากจริงนี่แหละจะกลายเป็นเสถียรภาพ ความหนักแน่นทางอารมณ์ แล้วเป็นการพัฒนาตัวเองอย่างยิ่งยวดตลอดต่อเนื่องทั้งชีวิต....

Cr. พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เมื่อผู้หญิงขอเป็นช้างเท้าหน้า วันสตรีสากล ๘ มีนาคม เมื่อผู้หญิงขอเป็นช้างเท้าหน้า วันสตรีสากล ๘ มีนาคม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.