ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๑๑


ตอนที่ ๑๑

ความรู้ประมาณ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

------------------------------------------

ดังนั้น จากความหมายของคำศัพท์ ๒ คำนี้ ก็ทำให้เข้าใจพระพุทธดำรัสได้อย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงของการบรรลุธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพระเถระสามารถทำหน้าที่เกี่ยวกับการบรรลุธรรมใน ๒ ลักษณะ คือ
      
(๑) พระเถระทำหน้าที่บำเพ็ญภาวนา เพื่อกำจัดนิวรณ์ ๕ หรือกิเลสระดับกลางในตนให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด พากเพียรบำเพ็ญธรรมจนสามารถบรรลุอริยมรรค อริยผลในระดับต่างๆ
      
(๒) พระเถระทำหน้าที่สอนการเจริญภาวนาให้แก่ประชาชน เพื่อผลักดันสังคมไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน

การทำหน้าที่ของพระเถระทั้ง ๒ ลักษณะนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังมีพระเถระผู้บรรลุธรรม ทำหน้าที่เป็นผู้นำการบรรลุธรรมทั้งของสงฆ์และประชาชนอยู่เสมอ ตราบนั้นโลกก็ยังมีผู้บรรลุธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้ในทุกยุคทุกสมัย พระพุทธศาสนาก็ยืนยงต่อไป แม้ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ตาม

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญในการกำจัดนิวรณ์ ๕ เป็นลำดับแรกของ การเจริญภาวนา ก็เพราะว่าการกำจัดนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นกิเลสระดับกลางออกจากใจได้หมด จะทำให้ใจสงบ มีสมาธิแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน รวมเป็นหนึ่ง บริสุทธิ์ผ่องใส อีกทั้งส่องสว่างราวกับเป็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ภายในกายเกิดปีติสุข ขวัญ กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะบำเพ็ญภาวนาให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก่อนทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก็ทรงพากเพียร กำจัดนิวรณ์ ๕ เป็นอันดับแรกเช่นกัน ดังที่พระสารีบุตรได้กล่าวถึงการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตไว้ว่า

แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีต .. ในอนาคตกาล.. ในบัดนี้ ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

อนึ่ง สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนก็คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารนั้น มิใช่การหลุดพ้นด้วยการนั่งยานอวกาศไปเรื่อย ๆ จนออกนอกจักรวาล แต่จะต้องเริ่มต้นที่การเจริญภาวนาจนกระทั่งใจหยุดนิ่ง สงบจากนิวรณ์ ๕ รวมเป็นจุดเดียว สงบนิ่งเป็นสมาธิ ณ ศูนย์กลางกายของเรา

ครั้นเมื่อบำเพ็ญภาวนาต่อไป จิตเป็นสมาธิละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ก็จะบรรลุฌานระดับต่าง ๆ ตามลำดับ ถ้าผู้ปฏิบัติทุ่มเททำความเพียรอย่างต่อเนื่องไม่ท้อถอย ไม่ย่อหย่อน และถูกต้องตามหลักวิชา ก็จะสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งอยู่ภายในกายกว้างศอก ยาววา หนาคืบ ของเรานี่เอง

ธรรมระดับต่าง ๆ นั้น แบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ ๓ ระดับ คือ

(๑) ระดับต้น คือ โลกียฌาน ประกอบด้วย รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งเป็นธรรมะ ที่อยู่ในระดับปุถุชน

(๒) ระดับกลาง คือ โคตรภูญาณ (เป็นธรรมะที่อยู่ระหว่างปุถุชนกับพระอริยบุคคล)

(๓) ระดับสูงสุด คือ โลกุตรธรรม ประกอบด้วย มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ซึ่งเป็นธรรม ที่ทำให้กำจัดกิเลสออกจากใจไปตามลำดับ และเป็นพระอริยบุคคลสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ก่อนที่จะบรรลุโลกุตรธรรม จะต้องเริ่มต้นที่การเจริญภาวนาจนสามารถทำให้ใจหยุดนิ่งปลอดจาก นิวรณ์ ๕ ให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก ครั้นเมื่อเจริญภาวนาต่อไปก็จะสามารถบรรลุธรรมระดับต้น คือ โลกียฌาน ต่อจากนั้นถ้ามีความวิริยอุตสาหะในการบำเพ็ญภาวนาสม่ำเสมอ ย่อมบรรลุธรรมระดับกลาง คือ โคตรภูญาณ ถ้าบำเพ็ญภาวนาอย่างยิ่งยวดต่อไป ก็จะบรรลุโลกุตรธรรม ทำให้เปลี่ยนจากสภาวะปุถุชนเป็นอริยบุคคลไปตามลำดับ จากพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ จึงสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ แม้ในยุคพุทธกาลมีพระภิกษุที่ตั้งใจเล่าเรียนธรรมะ ตั้งใจแสดงธรรม ตั้งใจสวดสาธยายธรรม ตั้งใจไตร่ตรองธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าหากพระภิกษุรูปนั้นยังไม่ทุ่มเทให้กับการเจริญภาวนาอยู่เป็นปกตินิสัย พระองค์ก็ยังไม่ตรัสเรียกภิกษุรูปนั้นว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ดังปรากฏหลักฐานใน ปฐมธรรมวิหาริกสูตร ดังนี้

ดูก่อนภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการแสดงธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมกระทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความ สงบใจในภายใน เพราะการสาธยายธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการสาธยายธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการตรึกตามธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการตรึกตรองธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมไม่ปล่อยให้วันคืนล่วงไป ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการเล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้อยู่ในธรรม อย่างนี้แล ..

ดูก่อนภิกษุ กิจใดอันศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล อนุเคราะห์ อาศัย ความเอ็น ดูพึงกระทำ แก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเรา เพื่อเธอทั้งหลาย

จากพระดำรัสนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญของการบรรลุธรรมเป็นอันดับหนึ่ง เพราะไม่ว่ากิจด้านคันถธุระของภิกษุจะดีเยี่ยมขนาดไหน แต่ถ้าหากยังไม่ทำกิจด้านวิปัสสนาธุระ พระองค์ก็ไม่ทรงชื่นชมยินดี ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงมองการณ์ไกลว่า พระภิกษุทุกรปู เมื่อก้าวเข้าสู่เถรภูมิแล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำการบรรลุธรรมทั้ง ๒ ประการได้ ดังนั้น ตนเองก็ต้องหมั่นบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงธรรมได้จริง เพื่อทำที่พึ่งในการกำจัดกิเลสของตนให้บังเกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนภาวนาให้แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถบรรลุธรรมได้จริง มีที่พึ่งในการกำจัดทุกข์ของตนได้จริง พระพุทธศาสนาจึงจะเกิดความมั่นคงในการบรรลุธรรม และมีอายุยืนยาวไปตราบนานเท่านาน

ดังนั้น จากการศึกษาวิธีการเร่งสร้างความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนาตามลำดับ ๆ เราย่อมเห็นภาพรวมแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงทั้ง ๔ แนวทางให้กับพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน ทำให้สังคมพุทธและสังคมสงฆ์สามารถผนึกกำลังช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้มั่นคง และสามารถสร้างผู้นำการบรรลุธรรมรุ่นใหม่ ๆ ให้บังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถดำรงคงอยู่มาตราบกระทั่งทุกวันนี้

เพราะเหตุนี้ การที่เราจะรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ก็ต้องช่วยกันสร้างสังคมพุทธให้เข้มแข็งด้วยการทำหน้าที่ประจำทิศ ๖ สร้างสังคมสงฆ์ให้เข้มแข็งด้วยอปริหานิยธรรม สร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัยให้เข้มแข็ง ด้วยการศึกษาและปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัดและสร้างความมั่นคงของการบรรลุธรรมให้เข้มแข็งด้วยการเคี่ยวเข็ญอบรมตนเองให้หมั่นบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งสามารถเป็นผู้นำการบรรลุธรรมให้แก่ประชาชนนั่นเอง


การฝึกความรู้ประมาณ
เพื่อพานักโทษแหกคุกออกจากวัฏสงสาร

เมื่อเราได้ศึกษาการวางรากฐานของพระพุทธศาสนามาตามลำดับจนถึง ณ จุดนี้ ย่อมเห็นภาพรวมของพุทธภารกิจเร่งด่วน ๓ ประการอย่างชัดเจนแล้วว่า หลังจากที่ได้เสวยวิมุตติสุขจากการตรัสรู้ตามลำพังพระองค์เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงต้องแบกภาระการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดของคนทั้งโลกไว้เพียงลำพังพระองค์เดียว แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์จึงทรงสามารถเร่งสร้างคน เร่งสร้างครู เร่งสร้างความมั่นคง ด้วยพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ตั้งแต่ใกล้รุ่งของวันหนึ่งไปจนจรดใกล้รุ่งของอีกวันหนึ่ง

กล่าวคือ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรม เวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา เวลาย่ำรุ่งทอดพระเนตรสำรวจหาสัตว์โลกผู้ควรตรัสรู้ เพื่อเสด็จไปโปรด พระองค์ทรงงานหนักหามรุ่งหามค่ำแบบนี้ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อบอกความจริงของชีวิตให้ชาวโลกรับรู้ว่า ท่านทั้งหลายเป็นนักโทษผู้ติดอยู่ในคุกแห่งวัฏสงสาร พร้อมทั้งบอกหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ และพ้นจากคุกแห่งวัฏสงสารให้แก่ชาวโลกด้วย แม้แต่วาระสุดท้ายก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ยังทรงทำหน้าที่ของพระบรมศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อดับทุกข์เข็ญ และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารด้วยการสรุปคำสอนอริยมรรคมีองค์ ๘ ลงเพียงสั้น ๆ ว่า ความไม่ประมาท เพื่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ของชาวโลกในภายหน้าต่อไป

จึงเกิดคำถามตามมาว่า พระพุทธองค์ทรงกระทำพุทธภารกิจอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ ประการนี้ ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างไร ท่ามกลางอุปสรรคปัญหามากมาย ทั้งทุกข์ในชีวิตประจำวันของชาวโลก ทุกข์จากมาร ๕ ฝูง ที่คอยบีบคั้นชาวโลกโดยไม่ปรากฏตัวให้เห็น และ ปัญหาที่พญามารผู้บงการขัดขวางทั้ง การตรัสรู้ธรรมของพระองค์ และ การพาชาวโลกแหกคุกแห่งวัฏสงสาร แต่ก็ทรงทำได้สำเร็จภายใน ๔๕ ปี และยังทรงวางรากฐานของพระพุทธศาสนาไว้อย่างมั่นคงมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

คำตอบก็คือ พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการฝึกอบรมคนให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ไว้สู้กับทุกข์ในชีวิตประจำวัน สู้กับมาร ๕ ฝูง สู้กับการถูกพญามารคุมขัง ด้วยการฝึกความรู้ประมาณในการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต

พระองค์ทรงทราบดีว่า เครื่องมือที่ผูกมัดชาวโลกเอาไว้จนดิ้นไม่หลุด ดุจเดียวกับบ่วงแร้ว ที่นายพรานใช้ดักสัตว์ ก็คือ ความอยาก หรือ ตัณหา ซึ่งสืบเนื่องจากกิเลสที่ควบคุมบีบคั้น จิตใจชาวโลกให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส อ่อนด้อยด้านปัญญา จึงมีแต่ปัญหามากมายตลอดชีวิต การที่จะปลดแอกใจของตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา ก็ต้องฝึกควบคุมความอยากให้ได้เป็นอันดับแรก

แต่โดยเหตุที่ภาระหนักของมนุษย์เราก็คือ ต้องแสวงหาปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงชีวิตของตนเอง กิเลสจึงอาศัยช่องทางนี้เข้าควบคุมใจไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้มนษุย์คุ้นกับความอยากหรือตัณหา จึงไม่รู้สึก ตัวว่าตนกำลังถูกกิเลสควบคุมใจไว้จนมืดสนิท ไม่มีปัญญารู้ว่าพฤติกรรมละโมบโลภมากของตนนั้นเป็นกรรมชั่ว เป็นบาป เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นทางอ้อม และเป็นเหตุให้ต้องติดอยู่ในวัฏสงสารหรือคุกอย่างไม่รู้จบ

กิเลสมีวิธีควบคุมใจมนุษย์ ๒ วิธี คือ

๑) บีบบังคับใจมนุษย์ให้เกิดตัณหาโดยตรง เพื่อให้หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหากามคุณ ๕ มาสนองตัณหาจนไม่มีเวลาคิดเรื่องคุณธรรม และการสั่งสมความดีเพื่อตนเอง

๒) บีบบังคับด้วยความตาย ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์จำเป็นต้องหาปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีวิต ทำให้หมดเวลาไปกับการทำมาหากิน จะได้ไม่มีเวลาคิดหาหนทางแหกคุกแห่งวัฏสงสาร

เพื่อที่จะแก้ปัญหาการทำงานของกิเลสทั้ง ๒ วิธีนี้ให้สัมฤทธิผล พระพุทธองค์จึงทรงตั้งโจทย์ขึ้น เพื่อหาคำตอบไว้แก้ปัญหาด้วยพุทธวิธี ดังนี้ คือ

๑. โจทย์ข้อแรก คือทำอย่างไรจึงจะพานักโทษแหกออกจากคุกแห่งวัฏสงสารได้

โจทย์ข้อนี้เปรียบเหมือนปัญหาสมการ ๒ ชั้น คือทำอย่างไรกิเลสจึงจะบีบคั้นใจโดยตรงไม่ได้ และทำอย่างไรผู้คนจึงจะไม่ใช้เวลาให้หมดไปกับการทำมาหากิน

คำตอบก็คือ การฝึกความรู้ประมาณ

เมื่อฝึกความรู้ประมาณจนเป็นปกตินิสัยประจำวันแล้ว ใจก็จะไม่ซัดส่ายดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ที่เกินจำเป็นต่อชีวิตมาสนองตัณหาของตน จึงไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ตกเป็นทาสของตัณหา ทำให้มีเวลาคิดแสวงหาสัจธรรมในชีวิต มีเวลาปฏิบัติตนเพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริงในชีวิต อย่างไรก็ตาม เวลาที่จะนำประโยชน์มาสู่ชีวิต ก็คือ

๑) เวลาที่ใช้ฝึกฝนอริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวัน มีการทำทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดปัญญาคิดไตร่ตรองโดยแยบคายแล้ว ยังจะสามารถลดอวิชชาของตนลงอีกด้วย

๒) เวลาปลีกวิเวกเพื่อบำเพ็ญภาวนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อปราบกิเลสโดยตรง

๒. โจทย์ข้อ ๒ คือจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรในการฝึกความรู้ประมาณ

คำตอบก็คือ ใช้ ปัจจัย ๔เป็นอุปกรณ์การฝึกความรู้ประมาณ

วิธีการสู้กับกิเลสของพระองค์นั้น เป็นวิธีการแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง กล่าวคือเมื่อกิเลสใช้ความอยากมีปัจจัย ๔ เป็นแดนเกิดของตัณหา พระองค์ก็ทรงใช้ความรู้ประมาณในปัจจัย ๔ สู้กับตัณหา ดังที่ตรัสไว้ใน ตัณหาสูตรว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งจีวร ๑ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ๑ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ๑ หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติและวิบัติ ๑ ..

บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน แล่นไปสู่ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นตลอดกาลนาน ไม่ล่วงพ้นสงสารไปได้ ภิกษุรู้จักโทษนี้ รู้จักตัณหาเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีความยึดถือ มีสติ พึงเว้นรอบ

จากพระดำรัสนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ตัณหาจะเกิดขึ้นเพราะบุคคลขาดสติ ทำให้ขาดความรู้ประมาณในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย หรือเพราะความอยากได้สมบัติจำนวนมาก ๆ เนื่องจากกลัวว่าสมบัติที่ได้มาแล้วจะสูญสิ้นไปด้วยภัยพิบัติ

บุคคลที่ตกเป็นทาสของตัณหา ไม่รู้จักประมาณในเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ (รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ) ในที่สุดก็จะติดนิสัยละโมบโลภมาก มีพฤติกรรมเบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร้ความละอาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการก่อทุกข์ และสั่งสมบาปอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะต้องติดอยู่ในคุกตลอดกาลนาน

ในทำนองกลับกัน บุคคลที่ตระหนักในโทษภัยของตัณหา แล้วพยายามอบรมตนให้มีสติอยู่เสมอ รู้จักประมาณในการบริโภคอุปโภคเป็นอย่างดี ไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จึงพ้นจากวัฏสงสารได้ในที่สุด

พระธรรมเทศนา

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


คลิกอ่านความรู้ประมาณของวารสารอยู่ในบุญ ตอนที่ ๑ - ๑๒ ตามหัวข้อด้านล่างนี้
ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๑๑ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๑๑ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.