ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๙

พระธรรมเทศนา


ตอนที่ ๙
ความรู้ประมาณ
รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
-----------------------------------

๓. ความมั่นคงของพระธรรมวินัย

ในการสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตรียมความพร้อมไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) ความพร้อมด้านบุคคล ๒) ความพร้อมด้านแนวทางการสังคายนา ๓) ความพร้อมด้านการขจัดข้อสงสัยในพระพุทธพจน์ ๔) ความพร้อมด้านความสมบูรณ์แบบของพระธรรมวินัย ๕) ความพร้อมด้านตัวแทนของพระบรมศาสดา โดยเป็นการเตรียมการตั้งแต่พรรษาแรกจนกระทั่งถึงพรรษาสุดท้าย ทำให้หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาก็มิได้อันตรธานหายไป เหล่าพระอรหันต์ก็สามารถกระทำปฐมสังคายนาเพื่อรักษาความมั่นคงของพระธรรมวินัยไว้ได้ พระธรรมวินัยจึงยังคงดำรงอยู่เป็นตัวแทนพระบรมศาสดามาตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

สำหรับขั้นตอนการสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัย อาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

๓.๑ พระองค์ทรงสร้างบุคลากรที่เป็นต้นแบบความเคารพในพระธรรมวินัยไว้เป็นจำนวนมาก

ในการทำสังคายนาครั้งแรก มีพระอรหันต์มาประชุมร่วมกันทั้งหมด ๕๐๐ รูป ผู้เป็นหลักในการทำสังคายนา คือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอุบาลี เริ่มประชุมกันในวันเพ็ญ ขึ้น ๑  ค่ำ เดือน ๑๐ หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยได้รวบรวมพระพุทธพจน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาจัดเรียงหมวดหมู่ให้เป็นพระไตรปิฎก ได้แก่

พระวินัยปิฎก รวบรวมพระวินัยและพระพุทธบัญญัติ อันเป็นข้อปฏิบัติของภิกษุและภิกษุณี มีจำนวนทั้งหมด ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระสุตตันตปิฎก รวบรวมพระสูตร คือพระธรรมเทศนาที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีจำนวนทั้งหมด ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระอภิธรรมปิฎก รวบรวมคำสอนเกี่ยวกับสภาวธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือเหตุการณ์ มีจำนวนทั้งหมด ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ในการทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะ ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์และเป็นผู้ตั้งคำถาม ทั้งฝ่ายพระธรรม และฝ่ายพระวินัย พระอุบาลี ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านพระวินัย หมู่สงฆ์ลงมติให้ท่านทำหน้าที่ตอบคำถามด้านพระวินัย พระอานนท์ ผู้เป็นเลิศด้านพุทธอุปัฏฐาก และเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต หมู่สงฆ์จึงลงมติให้ท่านทำหน้าที่ตอบคำถามด้านพระธรรม จากนั้นการทำปฐมสังคายนาก็เริ่มต้นขึ้น

เมื่อพระมหากัสสปะทำการซักถามพระอุบาลีในเรื่องพระวินัยทั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จบลงแล้ว พระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดสาธยายพระวินัยพร้อมกัน จากนั้นก็เริ่มสังคายนาพระธรรม เมื่อพระมหากัสสปะซักถามพระอานนท์ในเรื่องพระธรรมจบ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แล้ว พระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดสาธยายพระธรรมพร้อมกัน จากนั้นก็เริ่มสังคายนาพระอภิธรรมจนจบ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วพระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดรับรอง และสวดสาธยายพระอภิธรรมพร้อมกัน เป็นอันเสร็จสิ้นการทำปฐมสังคายนา ของเหล่าพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป

การที่พระมหากัสสปะสามารถทำหน้าที่เป็นประธานปฐมสังคายนาได้อย่างราบรื่นไร้ปัญหาเช่นนี้ ก็เพราะพระพุทธองค์ทรงเตรียมความพร้อมของบุคลากรไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันแรกที่ประทานการบวชให้แล้ว

ในวันที่พระมหากัสสปะทูลขอบวชนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชด้วยโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา1 (วิธีอุปสมบทมี ๘ อย่าง, วิ.มหา.อ. ๑/๑๐/๗๗๑ (มมร.))

ซึ่งประกอบด้วยโอวาท ๓ ประการ ได้แก่

๑. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุ ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า

๒. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล เราเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ

๓. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย

หลังจากประทานการบวชให้แล้ว พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระมหากัสสปะตามเสด็จไปทุกแห่ง ครั้นเมื่อพระเถระรู้ว่าพระองค์จะประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พระเถระจึงใช้สังฆาฏิซึ่งเป็นผ้าเก่า ๆ ของท่านปูลาดเป็นอาสนะถวายพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ตรัสชมว่าผ้าสังฆาฏินั้นอ่อนนุ่ม พระเถระก็ทราบว่าทรงมีพุทธประสงค์จะห่มสังฆาฏินั้น พระเถระจึงทูลถวายผ้าสังฆาฏินั้นแด่พระองค์ทันที เมื่อพระองค์ทรงรับผ้าสังฆาฏิเนื้อนุ่มของพระเถระแล้ว ก็ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ซึ่งเก่าคร่ำคร่า เพราะใช้มานานแล้วแก่พระเถระ ผ้าสังฆาฏิหรือผ้าบังสุกุลจีวรผืนนี้ ในวันแรกที่พระองค์ทรงนำมาใช้ก็เกิดแผ่นดินไหวจนถึง ระดับน้ำรองแผ่นดิน ครั้นในขณะที่ประทานผ้าบังสุกุลผืนนี้แก่พระเถระ ก็เกิดแผ่นดินไหวเช่นเดียวกันกับครั้งก่อน เสมือนจะเป็นการรับรู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ว่าพระองค์ประทานจีวรที่ทรงใช้ห่มอยู่ให้แก่พระสาวก2 (อรรถกถาจัตตาลีสนิบาต มหากัสสปเถระ, ขุ.เถร.อ. ๕๓/๓๙๘/๓๖๑-๓๖๓ (มมร.))

พระมหากัสสปะตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นอย่างดี ท่านมิได้ทะนงตน แต่ได้กระทำวัตรปฏิบัติที่สมควรแก่การได้ครองผ้าสังฆาฏิของพระพุทธองค์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยการสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักของพระพุทธองค์ และถือมั่นไว้ ๓ ประการตลอดชีวิต คือ ๑) ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน พอรุ่งเช้าวันที่ ๘ ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านไว้ในฐานะผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านธุดงควัตร ท่านจึงเป็นต้นแบบของการเคารพในพระธรรมวินัยอย่างที่ใคร ๆ จะหาข้อติเตียนไม่ได้

การบวชด้วยโอวาท ๓ ประการนี้ พระบรมศาสดาได้ประทานการบวชให้ เฉพาะพระมหากัสสปะเพียงรูปเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของโอวาทแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นโอวาทที่มีอุปการคุณต่อพระมหากัสสปะ ในการเก็บรวบรวมคำสอนและเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๔๕ พรรษา ของพระพุทธองค์ไว้ทั้งหมด ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว นอกจากท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีพรรษากาลมากที่สุดแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ทราบความเป็นมาทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่ประชุมสงฆ์จึงมีมติยกย่องท่านให้เป็นประธานการทำปฐมสังคายนา ซักถามฝ่ายพระธรรม และฝ่ายพระวินัย เพื่อจัดหมวดหมู่พระพุทธพจน์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้เป็นพระไตรปิฎก

จากการศึกษาเรื่องการปฐมสังคายนานี้ ทำให้พบว่า การสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตรียมบุคลากร ผู้เป็นต้นแบบความเคารพในพระธรรมวินัย ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธกาลแล้ว

๓.๒ พระองค์ทรงเตรียมแนวทางการทำสังคายนาพระไตรปิฎกไว้ล่วงหน้า

นอกจากการสร้างบุคคลต้นแบบ ที่มีความเคารพในพระธรรมวินัยแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพุทธานุญาต ให้พระสารีบุตรวางแนวทางการสังคายนาไว้ล่วงหน้าอีกด้วย ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในสังคีติสูตร3 (สังคีติสูตร, ที.ปา. ๑๖/๒๒๑/๑๕๗ (มมร.)) ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จจาริกไปประทับอยู่ที่เมืองปาวา แห่งแคว้นมัลละ นิครนถนาฏบุตรเจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนครูทั้ง ๖ ซึ่งมีคนนับถือมาก ก็อาศัยอยู่ที่เมืองนี้ หลังจากที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นอายุขัยลงไม่นานนัก เหล่านักบวชนิครนถ์ผู้เป็นสาวกก็แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ต่างทะเลาะวิวาทกันเกี่ยวกับการเผยแผ่คำสอนตามลัทธิของตน โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวโจมตีกันว่า คำสอนของอีกฝ่ายหนึ่งผิดเพี้ยนจากคำสอนดั้งเดิมของครูบาอาจารย์ การทะเลาะวิวาทระหว่างเหล่านักบวชนิครนถ์ ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้บรรดาสาวกที่เป็นคฤหัสถ์พากันเสื่อมศรัทธาในลัทธินี้

วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงต้องการพักผ่อน จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรให้แสดงธรรมแก่พระภิกษุแทนพระองค์ ทรงรับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ อยู่ในบริเวณไม่ไกลนัก พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่เหล่าพระภิกษุโดยปรารภเหตุความแตกแยกของเหล่านักบวชนิครนถ์นี้เพื่อเสนอแนวทางในการทำสังคายนาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาในอนาคต อันจะเป็นการป้องกันความขัดแย้งกันเองในหมู่พุทธสาวกหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

พระสารีบุตรได้กล่าวแสดงธรรมว่า พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นคำสอนที่ไม่มีความขัดแย้งกันเอง เป็นคำสอนที่ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ

ดังนั้น พระภิกษุทั้งหลายพึงสังคายนาด้วยกัน คือสวดด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง หรือสวดเป็นแบบเดียวกัน ไม่สวดให้ผิดเพี้ยนแตกต่างจากกัน การทำสังคายนาเช่นนี้จะทำให้พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ได้นาน เพื่อความสุขแก่มหาชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

จากนั้นพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรม อันเป็นแนวทางในการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ๑๐ หมวด โดยรวมหลักธรรมที่มีจำนวนข้อเท่ากันไว้เป็นหมวดเดียวกัน เช่น หลักธรรมที่มี ๑ ข้อ ก็รวมอยู่ในหมวด ๑ หลักธรรมที่มี ๒ ข้อ ก็รวมอยู่ในหมวด ๒ เป็นต้น (ทำนองเดียวกับการจัดหมวดหมู่หลักธรรม ในหลักสูตรนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก)

เมื่อพระสารีบุตรแสดงธรรมจบลง พระบรมศาสดาก็เสด็จลุกขึ้น ทรงพอพระทัยการแสดงธรรมของพระสารีบุตรเป็นอันมาก จึงตรัสสรรเสริญเหล่าพระภิกษุสงฆ์ก็ชื่นชมยินดี ในถ้อยคำของพระสารีบุตรเป็นอันมาก

จากการศึกษาสังคีติสูตรนี้ ก็ทำให้พบว่า การสร้างพระธรรมวินัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแนวทางการทำสังคายนาไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน

๓.๓ พระองค์ทรงให้แนวทางในการขจัดความสงสัยในพระธรรมวินัยไว้ชัดเจน

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์แล้ว ก็เสด็จออกจากเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ไปเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานที่สาลวโนทยาน (สวนป่าต้นสาละ) ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางราว ๓ เดือน

ในระหว่างการเดินทาง ขณะประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ เมืองโภคนคร พระองค์ได้รับสั่ง เรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสแสดงธรรมเรื่อง มหาปเทส ๔ ประการ4 (มหาปรินิพพานสูตร, ที.ม. ๑๓/๑๑๓-๑๑๖/๒๙๓-๒๙๕ (มมร.)) เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียงคำเทศน์สอนของพระภิกษุรูปอื่น ๆ ว่าถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้วหรือไม่ เพราะพระธรรมวินัยนั้นจะเป็นตัวแทน ของพระบรมศาสดา ในเวลาที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

มหาปเทส ๔ ที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียงคำสอนต่าง ๆ ของพระภิกษุกับพระธรรมวินัยนั้น มีแนวทางปฏิบัติตามดังนี้

๑. หากได้ยินภิกษุรูปใด ในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง"

๒. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าของหมู่สงฆ์ ที่มีพระเถระผู้เป็นอธิบดีสงฆ์ มีพระเถระรูปอื่น ๆ และพระภิกษุหมู่ใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ในอารามแห่งโน้นด้วยตนเอง"

๓. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าของหมู่พระเถระในอารามแห่งโน้น ที่มีหมู่พระเถระผู้เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากด้วยตนเอง"

๔. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้า ของพระเถระรูปหนึ่งในอารามแห่งโน้น ผู้เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ด้วยตนเอง"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า หากได้ยินถ้อยคำของพระภิกษุรูปใดในทำนอง ๔ ประการดังกล่าว "ขอเธอจงอย่าเพิ่งชื่นชมยินดี จงอย่าเพิ่งคัดค้านปฏิเสธ แต่จงจดจำบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงดูในพระสูตรและพระวินัย ถ้าเทียบเคียงแล้ว เข้ากันไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่ใช่คำสอนของพระบรมศาสดา ภิกษุรูปนั้นเรียนมาผิด ให้ละทิ้งเสีย ถ้าเทียบเคียงแล้วเข้ากันได้ ก็แสดงว่าเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา"

การที่พระองค์ทรงแสดงมหาปเทส ๔ ประการ ไว้ล่วงหน้าก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เพราะทรงทราบล่วงหน้าว่า หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายจะต้องทำปฐมสังคายนา เพื่อจัดเรียงหมวดหมู่พระธรรมวินัย เป็นพระไตรปิฎกไว้เป็นตัวแทนของพระบรมศาสดา เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังที่มาไม่ทัน พระพุทธองค์ได้ใช้เทียบเคียง ศึกษาและปฏิบัติตาม

จากเรื่องนี้ ก็ทำให้เราได้ข้อคิดว่า การทำงานทุกอย่างของพระองค์ล้วนมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้พระพุทธศาสนาอันตรธานหายไป หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่พระพุทธศาสนายืนยาวมาถึงทุกวันนี้มิใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่พระองค์ได้ทรงดำเนินงาน อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่วันแรก ที่ออกประกาศพระศาสนา จนกระทั่งวันสุดท้ายที่ประทานปัจฉิมโอวาทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพื่อให้พระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระองค์ ดังที่ตรัสไว้ในที่หลายแห่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวโลกทั้งหลาย มีโอกาสศึกษาหนทางบรรลุมรรคผลนิพพาน และสามารถปฏิบัติตามจนหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตามพระองค์ไป

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๙ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๙ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:17 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.