ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา



ความรู้ประมาณ
ตอนที่ ๒
รากฐานความมั่งคงของพระพุทธศาสนา
-----------------------------------------------

สภาพการณ์ที่ยากลำบากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จากอุปสรรค ๓ ประเภท ที่ขัดขวางการวางรากฐานของพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมบ่งชี้ให้เราเกิดความเข้าใจในสภาพการณ์การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายประการ คือ

๑. พญามาร คือตัวการใหญ่ที่สร้างกิเลสมาบีบบังคับมนุษย์ให้สร้างกรรมชั่ว อันเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารโดยไม่มีวันจบสิ้น มีสภาพเสมือนหนึ่งเป็นนักโทษอยู่ในคุกแห่งวัฏสงสารไปตลอดกาล ตราบใดที่พญามารยังไม่ถูกกำจัดให้สิ้นซาก ตราบนั้นพญามารก็จะบงการมาร ๕ ฝูง ให้คอยก่อทุกข์แก่เหล่ามนุษย์อยู่ร่ำไป

๒. เนื่องจากอายุสังขารของพระองค์มีเวลาจำกัด คือเพียงแค่ ๘๐ พรรษา หรือทรงมีเวลาเผยแผ่หลังการตรัสรู้เพียง ๔๕ ปี ซึ่งไม่มากพอที่จะอบรมขัดเกลามนุษย์ส่วนใหญ่ให้สามารถกำจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นจากใจ  และบรรลุธรรมได้ดุจเดียวกับพระองค์

๓. ความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหา คือทำได้เพียงการช่วยคนที่พร้อมที่สุดให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารไปให้ได้มากที่สุด ส่วนชาวโลกที่ยังเหลือก็ให้รอคอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายหน้ามาโปรดต่อไป

๔. การช่วยชาวโลกให้หลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร ต้องเริ่มต้นจากการสอนชาวโลก ให้แก้ปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวันของตนเองให้เป็นก่อน จึงจะมีเวลาฝึกฝนอบรมตนเองตามหลักปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตามทางเอกสายเดียวแห่งการตรัสรู้ธรรม ซึ่งทางสายอื่นไม่สามารถหลุดพ้นไปได้

๕. การแก้ปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวัน ต้องเริ่มต้นที่ฝึกการควบคุมตัณหา เพราะกิเลสอาศัยการบีบคั้นใจให้เกิดตัณหา คือความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในทางที่ผิด ๆ ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาในทางที่ผิด ๆ ดำเนินชีวิตในทางที่ผิด ๆ กลายเป็นการก่อกรรมชั่ว ที่ทำให้เกิดปัญหาทุกข์ยากต่าง ๆ ตามมาไม่รู้จบ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดติดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จบสิ้น

๖. การควบคุมตัณหาต้องเริ่มต้นที่ฝึกความรู้ประมาณก่อน โดยเฉพาะความรู้ประมาณในปัจจัย ๔ เพราะที่กิเลสบีบคั้นใจให้เป็นทุกข์ได้ ก็เพราะอาศัยความไม่รู้ประมาณในปัจจัย ๔ เป็นแดนเกิดของตัณหา หากฝึกให้รู้จักความรู้ประมาณก่อน ก็จะไม่เปิดช่องให้กิเลสบีบคั้นใจได้ ทำให้ตัณหาไม่กำเริบขึ้นมา ความรู้สึกที่จะดิ้นรนแสวงหาปัจจัย ๔ ในทางที่ผิด ๆ เพื่อมาใช้อย่างฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย หรือเกินความจำเป็นก็จะไม่เกิดขึ้น ทำให้แก้ไขปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวันได้ลงตัว ในแต่ละวันจึงจะมีเวลาศึกษาและปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารตามพระองค์ไปได้

๗. การจำแนกธรรมและการจำแนกคนให้มีความสอดคล้องกัน เป็นวิธีการอธิบายให้ชาวโลก เข้าใจเรื่องการปราบกิเลสอันเป็นต้น เหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้เร็วที่สุด เพื่อที่เวลาแสดงธรรมจะได้คัดเลือกธรรมะ ที่มีความเหมาะสมกับนิสัยใจคอ สติปัญญา และสภาพปัญหาทุกข์ของผู้ฟังแต่ละคน

๘. งานเร่งสร้างคน เร่งสร้างครู เร่งสร้างความมั่นคงจะทำได้เร็วขึ้น ก็ต่อเมื่อชาวโลกฝึกฝนความรู้ประมาณในการใช้ปัจจัย ๔ ได้เป็นปกตินิสัยแล้ว ทำให้ใจไม่เปิดช่องให้กิเลสเข้ามาบังคับใจให้เกิดตัณหา ทำให้ไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว อันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงสามารถเก็บรักษาใจไว้ในตัวได้เป็นปกติ เมื่อศึกษาและปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ทำให้ใจสงบนิ่งได้เร็ว เข้าถึงธรรมได้ไวขึ้น เมื่อได้รับการฝึกฝน อบรมอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมมีโอกาสบรรลุโลกุตรธรรม ทำให้สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตามพระองค์ไปได้เร็วขึ้น

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นตัวบ่งชี้ว่า กว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงวางรากฐานของพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยืนยงตราบจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ไม่ใช่งานที่ง่ายดายเลย เพราะเมื่อเริ่มต้นก็ทรงมีพระองค์เพียงลำพัง แต่ความสำเร็จเป็นอัศจรรย์นี้ พระองค์ทรงทำได้ในเวลาเพียง ๔๕ ปี แต่ส่งผลยืนยาวไปนับพัน ๆ ปี การที่ชาวพุทธรุ่นหลังจะสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปอีก จึงต้องศึกษาการสร้างคน การสร้างทีม การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เข้าใจละเอียดถ่องแท้ เพื่อจะได้สืบทอดรักษาและส่งต่อพระพุทธศาสนาให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษาและปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารสืบต่อ ๆ กันไปอีกนานเท่านาน

พุทธกิจประจำวัน
ในยุคต้นพุทธกาล ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกการวางรากฐานพระพุทธศาสนานั้น นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีบุคคลใดในโลกรู้ความจริงเลยว่า มนุษย์ทั้งโลกต่างตกอยู่ในสภาพเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่รู้จบสิ้น เสมือนติดอยู่ในคุกตลอดกาลฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์จึงตั้งพระทัยที่จะช่วยเหลือมนุษย์ทั้งปวง ให้พ้นทุกข์ตามพระองค์ไปด้วย สิ่งแรกที่ทรงกระทำก็คือเสด็จไปโปรดบุคคล ซึ่งมีความพร้อมในการบรรลุธรรม โดยการตรัสเทศนาสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ ดังมีหลักฐานปรากฏว่า พุทธสาวกรุ่นแรกหลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ และได้บรรลุธรรมตามลำดับก็คือ กลุ่มปัญจวัคคีย์

ต่อมาไม่นานนัก ก็มีพุทธสาวกซึ่งล้วนแต่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ รวมทั้งสิ้น ๖๐ องค์ และเป็นธรรมทูตรุ่นแรก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่วนพระองค์เองก็เสด็จไปแสดงธรรม โปรดผู้คนตลอด ๔๕ พรรษา

กล่าวได้ว่าการทรงงานเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ของพระองค์นั้น ไม่มีบุคคลใดในโลกที่ตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์จากกิเลสได้ยิ่งกว่าพระองค์ 

ในการช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นคุกแห่งวัฏสงสารนั้น พระองค์ทรงทำงานตั้งแต่เวลารุ่งสางไปจรดเวลาใกล้รุ่งของวันถัดไป พุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวันมีอยู่ ๕ ประการ พระเถราจารย์ในอดีตได้ประพันธ์เป็นคาถาไว้ให้ชาวพุทธรุ่นหลังจดจำได้ง่าย ๆ ว่า

๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ แปลว่า เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ แปลว่า เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ แปลว่า เวลาค่ำทรงให้โอวาทพระภิกษุ
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ แปลว่า เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจูสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ แปลว่า เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจพิจารณาดูสัตว์โลกว่า ผู้ใดที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่

ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกบิณฑบาตในแต่ละวันนั้น กิจวัตรที่บำเพ็ญอยู่เป็นประจำ ก็คือการเข้าสมาบัติเพื่อแผ่ข่ายพระญาณตรวจดูเวไนยสัตว์ที่ควรแก่การเสด็จไปโปรดในวันนั้น โดยทรงแผ่ข่ายพระญาณตั้งแต่หน้าพระคันธกุฎีไปจนถึงขอบจักรวาล หากบุคคลใดปรากฏขึ้นในญาณทัศนะ ก็ทรงตรวจตราดูว่า บุคคลนั้นมีอัธยาศัยเป็นอย่างไร ควรแสดงธรรมบทใดถึงจะบรรลุธรรม นั่นคือทรงคัดเลือกธรรมเพื่อตรัสแสดงให้เหมาะสมแก่อัธยาศัยของบุคคลนั่นเอง

ตามปกติที่บริเวณหน้าพระคันธกุฎีของพระองค์ จะมีผู้มารอการเสด็จออกบิณฑบาตอยู่เป็นประจำทุกเช้า ถ้าหากวันนั้นผู้ที่มาปรากฏอยู่ในข่ายพระญาณรออยู่ที่หน้าพระคันธกุฎี พระองค์ก็จะประทานบาตรให้บุคคลนั้น และให้นำเสด็จพระองค์ไปยังบ้านเรือนของเขาเพื่อถวายภัตตาหารแก่พระองค์

เมื่อพระองค์ทรงรับบิณฑบาตในบ้านเรือนของผู้ใดแล้ว ก็จะเสวยภัตตาหารบิณฑบาต ที่บ้านเรือนของผู้นั้น เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ก็จะทรงกล่าวอนุโมทนาที่เหมาะสมกับอัธยาศัยของบุคคลนั้น หรืออัธยาศัยของบรรดาผู้คนที่ติดตามมาฟังคำอนุโมทนาที่บ้านเรือนนั้น เมื่อพระองค์กล่าวคำอนุโมทนาจบลง ก็จะมีผู้เกิดศรัทธาและบรรลุธรรมลุ่มลึกกันไปตามระดับพื้นฐานคุณธรรมของตน ซึ่งก็มีบุคคลที่ธุลีกิเลสในใจเบาบาง สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับต่าง ๆ กัน นับตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เมื่อพระองค์ทรงกล่าวอนุโมทนาจบลง ก็เสด็จกลับไปยังพระวิหารที่ประทับของพระองค์

อย่างไรก็ตามในบางครั้งหลังจากบำเพ็ญภัตกิจแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียวในป่าตลอดทั้งวัน จนกระทั่งถึงเวลาเย็น จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระวิหารเพื่อแสดงธรรมให้ประชาชนฟังอันเป็นพุทธกิจในตอนเย็น ในเวลาเย็นของทุกวัน ไม่ว่าพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่บ้านเมืองใด ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือในเมืองนั้น ต่างก็พากันถือดอกไม้ของหอมอันเป็นเครื่องสักการบูชาเดินทางมาประชุมพร้อมเพรียงกันที่ศาลาฟังธรรม เพื่อรอรับฟังการแสดงพระธรรมเทศนาจากพระองค์โดยตรง ครั้นได้เวลาพระองค์ก็จะเสด็จจากพระคันธกุฎีมาแสดงธรรมให้ประชาชนฟัง และไม่ว่า ผู้ฟังจะนั่งอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม ก็จะสามารถมองเห็นพระองค์ได้อย่างชัดเจน ได้ยินพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ เหมือนได้เข้าเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นพุทธานุภาพในการแสดงธรรมของพระองค์ ที่มีพุทธประสงค์ให้ผู้ที่ตั้งใจมาฟังธรรมได้ยินชัดเจนแจ่มแจ้งทั่วถึงทุกคน

หลังจากแสดงธรรมจบลง เมื่อประชาชนเดินทางกลับไปสู่บ้านเรือนของตนแล้ว พระองค์ก็เสด็จจากธรรมศาลาไปยังโรงสรงน้ำ เพื่อสรงสนานพระวรกายประจำวัน จากนั้น ก็เสด็จกลับพระคันธกุฎี เพื่อเตรียมเสด็จออกมาประทานโอวาทแก่พระภิกษุในอันดับต่อไป

เมื่อถึงเวลาค่ำ หลังจากทรงห่มครองไตรจีวรเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกจากพระคันธกุฎี มาประทับอยู่บนพุทธอาสน์ ที่พระอุปัฏฐากจัดเตรียมไว้บริเวณหน้าพระคันธกุฎี พระองค์ประทับนิ่งอยู่เพียงลำพัง เพื่อคอยเหล่าพระภิกษุที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้ และไกล ซึ่งบางรูปบางคณะก็เดินทางมาจากต่างเมืองต่างแคว้น จุดมุ่งหมายของการมาเข้าเฝ้าของภิกษุแต่ละรูป แต่ละคณะ ก็แตกต่างกันไป เช่น บางรูปก็กราบทูลถามปัญหาธรรมะ ที่คั่งค้างสงสัยอยู่ในใจมานานแรมเดือนแรมปี บางรูปก็กราบทูลขอให้พระองค์แสดงธรรม บางคณะก็มาขอรับพระกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของตน บางรูปหรือบางคณะก็กราบทูลขอคำแนะนำในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และบางครั้งก็เพื่อรับทราบเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน ที่กระทบกระเทือนต่อการคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดพระองค์ก็ทรงให้เวลากับพระภิกษุทุกรูปอย่างเต็มที่ ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาข้อซักถามต่าง ๆ ตั้งแต่เวลาค่ำจนกระทั่งใกล้เที่ยงคืน จึงทรงยุติการประทานโอวาทแก่พระภิกษุในค่ำวันนั้น

เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน หลังจากพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลลากลับไปยังที่พักของตนแล้ว เหล่าเทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ ต่างก็พากันมาชุมนุมเข้าเฝ้าพระองค์โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อทูลถามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดความสงสัยขึ้นเองบ้าง หรือได้ยินได้ฟังจึงเกิดความสงสัยต่อ ๆ กันมาบ้าง พระองค์ก็ทรงตอบได้ทุกปัญหาที่ค้างคาใจเทวดาจนหมดสิ้นความสงสัย ทำให้พากันปลาบปลื้มปีติเบิกบานใจ ก่อนจะกราบทูลลากลับไปยังวิมานของตน

หลังจากเหล่าเทวดาทั้งหลายกลับวิมานไปหมดแล้ว ก็เข้าสู่เวลาปัจฉิมยามพอดี ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง ๔ ชั่วโมง ก็จะถึงเวลาอรุณรุ่งของวันใหม่ พระองค์ก็ทรงบริหารเวลาในช่วงปัจฉิมราตรีนี้ออกเป็นสามช่วง (ช่วงละประมาณ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที) โดยในช่วงแรกพระองค์จะเสด็จเดินจงกรม เพื่อผ่อนคลายความปวดเมื่อยในพระวรกาย ที่เกิดจากการประทับนั่งติดต่อกันมานานตลอดทั้งวัน หลังจากร่างกายคลายความปวดเมื่อยแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี เพื่อบรรทมสีหไสยาสน์ด้วยสติสัมปชัญญะ จนสิ้นสุดเวลาในช่วงที่สองของปัจฉิมยาม จากนั้นในช่วงที่สามซึ่งเป็นเวลาใกล้รุ่ง พระองค์เสด็จลุกจากบรรทมแล้วก็ทรงเจริญมหากรุณาสมาบัติ เมื่อออกจากมหากรุณาสมาบัติแล้ว ก็ทรงแผ่ข่ายพระญาณเพื่อตรวจดูเวไนยสัตว์ว่า ผู้ใดควรแก่การเสด็จไปโปรดในวันรุ่งขึ้น เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นบุคคลนั้นด้วยญาณทัศนะแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดพุทธกิจประจำวันนั้น ครั้นพอถึงเวลารุ่งสาง ก็เสด็จออกบิณฑบาตและเสด็จไปโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ด้วยน้ำพระทัยมหากรุณา เป็นการบำเพ็ญพุทธกิจของวันใหม่ต่อไป

การศึกษาเรื่องพุทธกิจประจำวันทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมทำให้เราได้ทราบถึงความตระหนักในคุณค่าของเวลาในชีวิต ที่มีอยู่อย่างจำกัดของพระองค์ ในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร พระองค์จึงทรงตรากตรำทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากใด ๆ ตั้งแต่เวลาฟ้าสางจนถึงเวลาใกล้รุ่งของวันใหม่ ทำให้มีเวลาพักผ่อนบรรทมเพียงวันละ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ในช่วงปลายของปัจฉิมยามเท่านั้น การบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ชนิดอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันเช่นนี้ ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่าบุคคลใดในโลกสามารถกระทำได้ดั่งเช่นพระองค์ แม้แต่เทวดา รูปพรหม อรูปพรหมในหมื่นโลกธาตุสากลจักรวาล ก็ไม่มีผู้ใดกระทำได้ดั่งเช่นพระองค์

การบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน แบบอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันอย่างต่อเนื่องถึง ๔๕ พรรษานี้ ก็เพื่อวางรากฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง เพื่อให้พระธรรมคำสอนทำหน้าที่เป็นตัวแทนพระองค์ นำพาชาวโลกออกจากคุกแห่งวัฏสงสารไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายตราบนานแสนนาน ทั้งหมดนี้คือน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงมอบไว้ให้ชาวโลกทุกคนทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และที่ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิด มาสู่โลกมนุษย์มากมายมหาศาลในอนาคต ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นบรมศาสดาเอกของโลก ที่มนุษย์ และเทวดาต่างเทิดทูนบูชาด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ และด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๒ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๒ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:37 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.