ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๕

พระธรรมเทศนา



ความรู้ประประมาณ
ตอนที่ ๕
รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
--------------------------------------------

พุทธภารกิจเร่งสร้างครู
๑. การสร้างครูในยุคต้นพุทธกาล

๑.๑ สถานการณ์ก่อนการเผยแผ่ในยุคต้นพุทธกาล

ในยุคต้นพุทธกาล ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมนั้น ความเชื่อของชาวอินเดียส่วนใหญ่ในยุคนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูและคำสอนของครูทั้ง ๖ ผู้เป็นเจ้าลัทธิที่มีความเห็นในเรื่องโลกและชีวิตเป็นมิจฉาทิฐิ ได้แก่

ปูรณกัสสปะ เจ้าลัทธิอกิริยทิฐิ เชื่อว่าการกระทำใด ๆ ล้วนไม่เป็นบุญ-บาป ที่จะมีผลมาถึงตน

มักขลิโคสาล เจ้าลัทธิอเหตุกทิฐิ เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อถึงเวลาทุกข์ย่อมดับได้เอง โดยไม่ต้องทำความเพียรดับกิเลสอันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์

ปกุทธกัจจายนะ เจ้าลัทธิสัสสตทิฐิ เชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืน ตลอดไป

อชิตเกสกัมพล เจ้าลัทธิอุจเฉททิฐิ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วดับสูญ ผลบุญ ผลบาป ไม่มีจริง คนโง่เป็นฝ่ายบริจาค คนฉลาดเป็นฝ่ายรับ

นิครนถนาฎบุตร เจ้าลัทธิอัตตกิลมถานุโยค เชื่อว่าบุคคลดับสิ้นกิเลสได้ด้วยการทรมานตน

สัญชัยเวลัฏฐบุตร เจ้าลัทธิอมราวิกเขปิกาทิฐิ ไม่กล่าวตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว ผูกมัดกับหลักการใด ใช้วิธีกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

นอกจากนี้ยังมีเจ้าลัทธิอื่น ๆ อีกมากมายที่แม้ไม่มีชื่อเสียงเท่ากับครูทั้ง ๖ แต่ก็มีอิทธิพลต่อคนในแว่นแคว้นของตนไม่น้อย ในขณะเดียวกันก็มีชาวอินเดียบางกลุ่มที่ได้ยินคำพยากรณ์ว่า โลกจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น

ดังนั้น สถานการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย จึงแบ่งกลุ่มคนออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ ๑ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว

กลุ่มที่ ๒ ผู้ที่กำลังจะเลือกนับถือศาสนา

กลุ่มที่ ๓ ผู้ที่รอคอยการมาบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกนี้

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็คือ การกระทบกระทั่งกันระหว่างลัทธิศาสนา และผู้ที่ยังไม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เพราะอาจทำให้เกิดผิดใจกันจนกลายเป็นศัตรูขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ทันลงมือทำงานประกาศพระศาสนา ยิ่งกว่านั้น หากลุกลามกลายเป็นปัญหากฎหมายบ้านเมืองด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นผลเสียต่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการใส่ร้ายกลั่นแกล้ง เพื่อหาข้ออ้างให้ทางการยกกำลังกองทัพเข้ากวาดล้างได้เลยทีเดียว

๑.๒ นโยบายการส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรก ออกประกาศศาสนา

ในพรรษาแรกหลังการตรัสรู้ธรรมได้เพียง ๕ เดือนนั้น พระพุทธศาสนาเพิ่งมีพระอรหันตสาวกเพียงจำนวน ๖๐ รูป เท่านั้น ได้แก่ พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป พระยสกุลบุตร ๑ รูป และพระสาวกเพื่อนของพระยสกุลบุตรอีก ๕๔ รูป ในขณะที่โลกนี้เพิ่งมีพระอรหันต์เพียง ๖๑ รูป (นับรวมพระพุทธองค์ด้วย) แต่หากนำไปเทียบกับประชากรโลกหลายพันล้านคนในโลกยุคนั้นแล้ว ก็นับว่ามีผู้ที่หลุดพ้นจากภัยในวัฏสงสารไปได้จำนวนน้อยเหลือเกิน

แต่หลังจากที่พระองค์ทรงตรวจดูความเป็นไปได้ ในการประกาศพระศาสนาด้วยญาณทัศนะแล้ว ก็ทรงพบว่า ผู้ที่มีกิเลสเบาบางพอจะบรรลุธรรมตามพระองค์มานั้นยังมีอยู่ จึงมีรับสั่งให้พระอรหันตสาวกทั้ง ๖๐ รูป เดินทางแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนาให้ทั่วทุกแว่นแคว้น โดยรับสั่งว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

พวกเธอจงเที่ยวจาริกเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์

สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม1

ในตอนที่เริ่มต้นประกาศศาสนานั้น กิตติศัพท์แห่งความเป็นพระอรหันต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่เป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วทุกแคว้น พระองค์ก็ทรงเริ่มต้นการประกาศธรรมด้วยการเสด็จไปตรัสเทศน์สอนทีละคน ทีละหมู่คณะก่อน ใครที่พร้อมจะบรรลุธรรมก่อนก็เสด็จไปโปรดผู้นั้นก่อน ส่วนจะตรัสเทศน์โปรดเรื่องใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจของคน ๆ นั้น ทรงเลือกธรรมที่เหมาะกับพื้นฐานของเขา โดยตรัสเทศน์สอนให้ลุ่มลึกไปตามลำดับจากง่ายไปหายาก ทำให้จำนวนพระอรหันต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะบางคนสอนเช้าก็บรรลุเย็น บางคนก็ ๗ วัน บรรลุธรรม บางคนก็ ๑๕ วัน บรรลุธรรม

การที่พระองค์เสด็จไปตำบลอุรุเวลาฯ ก็เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ แต่ละคนมีบริวาร ๕๐๐, ๓๐๐ และ ๒๐๐ ตามลำดับ ในขั้นแรกได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่าง จนอุรุเวลกัสสปะคลายทิฐิมานะ ขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์ตรัสให้บอกลาบริวารก่อน บริวารก็ตกลงใจจะบวชด้วย จึงลอยบริขารลงในน้ำ ขอบวชร่วมกัน พระองค์ก็ประทานการบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ส่วนชฎิลผู้น้องทั้ง ๒ เห็นบริขารลอยน้ำมาก็รีบสอบถาม ครั้นทราบความจริง ต่างก็ลอยบริขารของตนและของบริวาร ขอบวชเช่นเดียวกับชฎิลผู้พี่ ดังนั้น จึงมีพระภิกษุใหม่เพิ่มขึ้นอีก ๑,๐๐๓ รูป

หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกต่อไปยังตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป ณ ที่นั้นพระองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของเหล่าภิกษุผู้เป็นอดีตชฎิล (ปุราณชฎิล) ยังผลให้จิตของเหล่าภิกษุใหม่ทั้งหมดสิ้นกำหนัด พ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุอรหัตผล ทำให้พระองค์มีพระอรหันตสาวกเพิ่มขึ้นอีก ๑,๐๐๓ รูป

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑,๐๐๓ รูป และประทับที่สวนลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ตามที่ทรงเคยสัญญาไว้ก่อนตรัสรู้ว่า หากพระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะเสด็จมาแสดงธรรมให้พระเจ้าพิมพิสารฟัง หลังจากพระองค์ทรงแสดงธรรมจบลง พระเจ้าพิมพิสารก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วทูลอาราธนาพระองค์และเหล่าพระอรหันต์ เสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากพระองค์เสร็จภัตกิจแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวาย เวฬุวันอุทยาน (อุทยานป่าไผ่) ให้เป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นที่มาของการมีพระพุทธานุญาตให้พระสงฆ์สาวก สามารถรับอารามซึ่งมีผู้ถวายได้ ทำให้ในภายหลังมีผู้สร้างวัดวาอารามถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก

๑.๓ โอวาทปาฏิโมกข์ นโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก

ณ ที่วัดเวฬุวนารามนี้เอง ภายหลังการตรัสรู้ธรรมได้ ๙ เดือน พระพุทธศาสนาก็มีพระอรหันต์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในวันเพ็ญขึ้น ๓ ค่ำ (มาฆบูชา) เหล่าพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ประกอบด้วยพระภิกษุปุราณชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป ภิกษุบริวารของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจำนวน ๒๕๐ รูป ได้มาประชุมกันในเวลาบ่าย เพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระปัญจวัคคีย์มิได้มาร่วมประชุมด้วย

ในที่ประชุมสงฆ์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนา พระสารีบุตร ให้เป็น อัครสาวกเบื้องขวา และ พระโมคคัลลานะ ให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย และตรัสแสดง โอวาทปาฏิโมกข์2 ในท่ามกลางสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเป็น นโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในยุคพระศาสนาของพระองค์

โอวาทปาฏิโมกข์แบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ส่วน
โอวาทส่วนแรก คือ เป้าหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๓ ประการ คือ
๑. ขันติเป็นธรรมเครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง
๒. พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด
๓. ผู้ล้างผลาญผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทดังนี้ ก็เพราะทรงทราบดีว่า การขยายงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปในวงกว้างนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ได้ พระองค์จึงทรงต้องการให้เหล่าพระอรหันต์ประกาศให้ประชาชนทราบ ถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาว่า คำสอนในพระพุทธศาสนามุ่งเน้นความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร แต่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความอดทนในการปราบกิเลส ต้องตั้งเป้าหมายชีวิตสูงสุดไว้ที่การบรรลุพระนิพพาน และต้องมีสมณะดีเป็นครูแนะนำสั่งสอนหนทางบรรลุมรรคผล นิพพาน จึงจะสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้สำเร็จ

ดังนั้น โอวาทในส่วนแรกนี้ก็คือ การปลูกฝังสัมมาทิฐิหรือความเข้าใจถูกในการปราบกิเลสให้กับประชาชน นั่นเอง

โอวาทส่วนที่สอง คือ หลักการของพระพุทธศาสนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๓ ประการ คือ
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
๓. การกลั่นจิตของตนให้ผ่องใส

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทดังนี้ ก็เพราะทรงมีพุทธประสงค์ให้เหล่าพระอรหันต์ประกาศให้ประชาชนทราบว่า เส้นทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร คือ เส้นทางแห่งการทำความดี มิใช่เส้นทางแห่งการทำความชั่ว ในการทำความดีนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการไม่ทำบาปทั้งปวงก่อน เพื่อยุติการก่อบาปก่อเวรอันจะเป็นเหตุ ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ต่อจากนั้นก็ต้องทุ่มเทบำเพ็ญกุศลอย่างต่อเนื่อง เป็นนิสัย เพื่อสร้างแต่กรรมดี ซึ่งจะมีผลหรือวิบากเป็นฝ่ายสนับสนุนส่งเสริมให้ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติ ลำดับที่ ๓ คือการกลั่นจิตให้ใส โดยการฝึกสติให้ประคองรักษาใจไว้ในตัว พร้อมกันนั้นก็ต้องหมั่นบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ใจหยุดนิ่งใสสว่าง อยู่ในศูนย์กลางกาย ทั้งนี้เพราะธรรมทั้งหลายซึ่งทำให้พระองค์ตรัสรู้ และบรรลุมรรคผล นิพพานนั้น อยู่ภายในกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี้เอง

ดังนั้น โอวาทในส่วนที่สองนี้ก็คือ การปลูกฝังสัมมาสังกัปปะ คือความคิดถูกในการปราบกิเลสให้กับประชาชน นั่นเอง

โอวาทส่วนที่สาม คือ วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๖ ประการ คือ
๑. การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน
๒. การไม่เข้าไปล้างผลาญกัน
๓. ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
๔. ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนาหาร
๕. การนอนการนั่งในที่อันสงัด
๖. การประกอบความเพียรในอธิจิต

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทดังนี้ ก็เพราะว่าทรงมีพุทธประสงค์ให้เหล่าพระอรหันต์ทำหน้าที่ประกาศธรรม นำแสงสว่างแห่งการพ้นทุกข์ไปสู่ชาวโลกด้วยสันติวิธี เพื่อให้ชาวโลกได้รับทราบความจริงว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติสุข โดยดูได้จากวัตรปฏิบัติของพระอรหันต์ที่เป็นตัวแทนของพระองค์ ไปประกาศศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างในการฝึกฝนอบรมตนเอง จนกระทั่งสามารถกำจัดทุกข์ได้หมดสิ้นแล้ว และยังสามารถเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขอีกด้วย ได้แก่

๑. เป็นต้นแบบสัมมาวาจา คือ เป็นผู้มีการเจรจาชอบด้วยการไม่ว่าร้ายโจมตีใคร
๒. เป็นต้นแบบสัมมากัมมันตะ คือ เป็นผู้มีการกระทำชอบด้วยการไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร
๓. เป็นต้นแบบสัมมาอาชีวะ คือ เป็นผู้มีการประกอบอาชีพชอบด้วยการเลี้ยงชีวิตโดยไม่ผิดศีล
๔. เป็นต้นแบบสัมมาวายามะ คือ เป็นผู้มีความเพียรชอบด้วยการรู้ประมาณในโภชนาหาร เพื่อฝึกใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กิเลสกำเริบเสิบสานขึ้นมาโดยอาศัยช่องทางของความไม่รู้ประมาณในการใช้ปัจจัย ๔ เข้ามาควบคุมใจมนุษย์ให้ตกเป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลสไปตลอดกาล
๕. เป็นต้นแบบสัมมาสติ คือ เป็นผู้มีความระลึกชอบด้วยการเลือกอยู่อาศัย ในสถานที่ที่สงัดจากความยั่วเย้ายั่วยวน ให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส

๖. เป็นต้นแบบสัมมาสมาธิ คือ เป็นผู้มีใจตั้งมั่นชอบด้วยการเจริญสมาธิภาวนา และชักชวนชาวโลกให้เจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ เพราะการเจริญสมาธิภาวนานั้นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ครบถ้วนทุกประการ อันจะเป็นหนทางไปสู่การปราบกิเลสในใจให้เด็ดขาด สามารถบรรลุธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากคุกแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้สำเร็จ

ดังนั้น โอวาทในส่วนที่สามนี้ก็คือ การปลูกฝังวิธีฝึกฝนอบรมตน ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารให้แก่ประชาชน โดยมีพระอรหันต์ทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต และเป็นครูแนะนำสั่งสอนการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้แก่ประชาชนนั่นเอง

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่เหล่าพระอรหันตสาวกจบลงแล้ว ก็เท่ากับว่า การประกาศนโยบายเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นในวันนั้นเอง และแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม พระภิกษุรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ยังคงยึดโอวาทปาฏิโมกข์เป็นนโยบาย ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะโอวาทปาฏิโมกข์เคยเป็นนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตทุก ๆ พระองค์ทรงประกาศใช้อย่างต่อเนื่องกันมาทุกพุทธกาล กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ คือสูตรสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงให้การรับรองแล้วนั่นเอง

๑.๔ คุณสมบัติของนักเผยแผ่ที่เป็นพระอรหันต์
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงยุคต้นพุทธกาลนั้น แม้ยังไม่มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากนัก แต่การที่ประชาชนได้เห็นบุคลิกที่สง่างาม มีศีลาจารวัตรสงบเสงี่ยม มีผิวพรรณผ่องใส มีใบหน้าที่ฉายแววแห่งความสุขของเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก จึงอยากทำบุญและอยากฟังธรรมจากท่าน เพราะเพียงได้เห็นแต่รูปภายนอกก็รู้สึกเชื่อมั่นว่า ท่านเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ หากทำบุญกับท่านคงจะได้บุญมาก และหากได้ฟังธรรมจากท่านคงจะเกิดปัญญา สามารถพัฒนาตนให้น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างท่านบ้าง ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ พากันมาทำบุญ และฟังธรรมจากเหล่าพระอรหันต์ ในยุคบุกเบิกการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาขจรขจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีคำสอนมากก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคบุกเบิกเผยแผ่ไปได้เร็วและกว้างไกล ก็เพราะว่า เหล่าพระอรหันต์ผู้เป็นนักเผยแผ่รุ่นบุกเบิกนั้น ท่านมีคุณสมบัติของความเป็น กัลยาณมิตร อยู่ครบถ้วน จึงสามารถทำงานเทศน์สอนแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ โดยนำธรรมที่ได้รับการปลูกฝังอบรมจากพระพุทธองค์ ประกอบกับประสบการณ์ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จนสามารถกำจัดอาสวกิเลสในตนให้หมดสิ้นไปได้ มาเป็นแหล่งข้อมูลในการอบรมสั่งสอนประชาชน

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร
พระอรหันต์ในยุคบุกเบิกนั้น ท่านมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรอย่างครบถ้วน ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ ดังนี้3

๑. เป็นที่รักใคร่พอใจ (ปิโย) คือเป็นผู้ที่เห็นแล้วชวนสบายใจ ชวนให้เข้าใกล้ ชวนให้ปรึกษาไต่ถาม มีความผ่องใส มองครั้งใดก็รู้สึกชุ่มเย็น หายอึดอัดกลัดกลุ้มใจ เหมือนได้เห็นพระจันทร์วันเพ็ญที่มีความสว่างไสวชุ่มเย็นใจ

๒. เป็นที่เคารพ (ครุ) คือเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงามทั้งกาย วาจา ใจ รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยในคราวที่อยู่ใกล้ และรู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้ในคราวที่มีภัยอันตรายต่อชีวิต

๓. เป็นผู้ควรสรรเสริญ (ภาวนีโย) คือเป็นผู้ทรงภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นพหูสูต มีปัญญากว้างขวางลึกซึ้งทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นผู้รู้แจ้งหนทางกำจัดทุกข์ กำจัดกิเลส และการบรรลุมรรคผลนิพพาน

๔. เป็นผู้ฉลาดพูด (วตฺตา) คือเป็นผู้ฉลาดในการแนะนำสั่งสอน ฉลาดในการให้กำลังใจ ฉลาดในการเตือนสติ ฉลาดในการชี้โทษภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉลาดในการชักชวนโน้มน้าวให้แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น และฉลาดในการประคับประคองหมู่คณะให้ทำความดีไปได้ตลอดรอดฝั่งจนกระทั่งสิ้นทุกข์ หมดกิเลส

๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ (วจนกฺขโม) คือเป็นผู้ที่อดทนต่อถ้อยคำซักถามทุกประเภทด้วยความสงบนิ่ง เยือกเย็น ไม่ขุ่นเคือง ไม่โกรธขึ้ง ไม่ว่าคำถามนั้นจะเป็นคำถามที่มาจากเจตนาดีหรือเจตนาร้าย ก็สามารถรับฟังและให้ความกระจ่างด้วยเหตุผลอย่างครบถ้วน ชัดเจน และลึกซึ้ง สามารถนำไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง

๖. พูดถ้อยคำลึกซึ้ง (คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา) คือเป็นผู้ที่สามารถอธิบายวิธีปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งในระดับโลกิยธรรม และระดับโลกุตรธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้งจากง่ายไปหายาก ทำให้ผู้ฟังธรรมเกิดความเข้าใจ และปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จนกระทั่งบรรลุอริยสัจ ๔ ภายในตน และสามารถอาศัยอริยสัจ ๔ นั้น ปราบกิเลสในใจตนให้หมดสิ้น จนกระทั่งบรรลุโลกุตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ อย่างถาวร หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เช่นเดียวกับที่ท่านได้บรรลุธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๗. ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี (โน จฏฺฐาเน นิโยชเย) คือเป็นผู้ที่ไม่ชักชวนชาวโลกให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท แต่ชักชวนชาวโลกให้ดำเนินชีวิตเพื่อปิดหนทางนรก เปิดหนทางสวรรค์ และถางทางไปพระนิพพาน ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปโดยเร็วไว

แม้ในยุคต้นพุทธกาล คำสอนในพระพุทธศาสนายังมีอยู่น้อย แต่ด้วยคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตรทั้ง ๗ ประการ ของพระอรหันต์นี้เอง ที่ทำให้สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีผู้สมัครบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

1 เรื่องพ้นจากบ่วง, วิ.ม. ๖/๓๒/๗๒ (มมร.)
2 มหาปทานสูตร, ที.ม. ๑๓/๕๕/๕๕ (มมร.)
3 ทุติยสขาสูตร, องฺ.สตฺตก. ๓๗/๓๔/๙๓ (มมร.)

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๙ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕


คลิกอ่านความรู้ประมาณของวารสารอยู่ในบุญ ตอนที่ ๑ - ๑๒ ตามหัวข้อด้านล่างนี้
ความรู้ประมาณ ตอนจบ
ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๕ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๕ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:14 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.