ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๗

พระธรรมเทศนา



ความรู้ประมาณ
ตอนที่ ๗
รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
-----------------------------------------------

๒.๔ คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม
เมื่อพระภิกษุนักเผยแผ่ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เกิดขึ้นจำนวนมากแล้ว ก็มีงานที่พระองค์ต้องทรงให้คำแนะนำสั่งสอนตามมาอีก ๒ ประการ คือ งานฝึกอบรมคน และสถานที่ฝึกอบรมคน

งานทั้ง ๒ ประการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนพระภิกษุให้ทราบถึงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่จะทำให้มีผู้บรรลุธรรมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีรากฐานมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย ทำนองเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งพระองค์ทรงบุกเบิกงานเผยแผ่ตามลำพังพระองค์เดียว พระพุทธศาสนาก็สามารถแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกแว่นแคว้นในระยะเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่สิบปี

เนื่องจากการที่ใครจะบรรลุธรรมได้ช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการฝึกอบรมตนแต่ดั้งเดิมมาก่อนบวชเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ที่มีต้นทุนเดิมดีอยู่แล้ว ย่อมง่ายต่อการฝึกอบรมให้บรรลุธรรม แต่ถ้าหากต้นทุนเดิมไม่ดีพอ ก็ต้องพยายามเคี่ยวเข็ญอบรมตนให้ได้ต้นทุนใหม่ที่เหมาะแก่การกำจัดกิเลส นั่นคือ บุคคลนั้นต้องได้รับการฝึกฝนอบรมให้มีคุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ1 ดังนี้

๑ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒ เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
๓ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น
๔ เป็นผู้ที่ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร
๕ เป็นผู้มีปัญญาเห็นการเกิดและการดับอันเป็นอริยะ (สัมมสนญาณ)2

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติครบทั้ง ๕ ประการนี้ หากได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ย่อมจะสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาไม่นานนัก หรือหากได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระองค์เองโดยตรงก็จะบรรลุธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังที่ตรัสรับรองว่า หากสอนในยามเช้า ก็จะเป็นพระอรหันต์ในยามเย็น3

๒.๕ คุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม
เนื่องจากในช่วงเวลา ๒๕ ปี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดพระเชตวันและวัดบุพพารามโดยตลอดนั้น วัดทั้งสองแห่งนี้จึงเนืองแน่นด้วยพระภิกษุที่เดินทางมาจากทุกทิศ เพื่อเข้าเฝ้ากราบทูลถามปัญหาต่าง ๆ จากพระพุทธองค์ ขณะเดียวกัน ทุก ๆ วันก็มีชาวเมืองเดินทางมาฟังธรรมเป็นจำนวนแสน ๆ ยิ่งในวันที่มีการแสดงธรรมในหัวข้อพิเศษ ๆ ก็จะมีชาวเมืองพากันมาฟังธรรมเป็นจำนวนล้าน ถึงกับมีผู้คนล้นออกมานอกวัดก็เคยปรากฏมาแล้ว ส่งผลให้สถานที่ปฏิบัติธรรมไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมพระภิกษุบวชใหม่

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุไปหาทำเลที่เหมาะ ๆ แก่การปฏิบัติธรรม หลังจากที่พระองค์แสดงธรรมจบแล้ว โดยทรงมีรับสั่งว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย"4

ในการเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ควรรู้จักเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม เพื่อว่าเมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว จะได้ฝึกฝนอบรมตนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีความห่วงกังวลในเรื่องอื่น ๆ ที่รบกวนการบำเพ็ญภาวนา นั่นคือสถานที่แห่งนั้นจะต้องมีคุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ5 ดังนี้

๑ เป็นสถานที่ร่มรื่น เงียบสงบ ปลอดภัยจากแมลงมีพิษและสัตว์ร้ายรบกวน
๒ การบิณฑบาตเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ไม่ฝืดเคือง
๓ มีพระเถราจารย์ที่ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอยู่ประจำที่นั่น
๔ มีพระภิกษุที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและหมั่นเพียรเจริญภาวนาอยู่ที่นั่น
๕ มีการอบรมสั่งสอนในการเจริญภาวนาจากพระเถราจารย์อยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน

การที่พระองค์ตรัสสอนดังนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า สถานที่ปฏิบัติธรรมหรือวัดที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม มีความสำคัญอย่างมากต่อการบรรลุธรรม เพราะถึงแม้จะได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การบรรลุธรรมมาแล้ว แต่ถ้าสถานที่สกปรกรกรุงรัง การบิณฑบาตเลี้ยงชีพฝืดเคือง ไม่มีพระเถราจารย์ที่เป็นต้นแบบการทำภาวนา เพื่อนสหธรรมิกก็ไม่รักการทำภาวนา การอยู่ร่วมกันก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพระเถราจารย์มาให้โอวาทสั่งสอน เพื่อให้ความรู้ ให้กำลังใจ ให้การเตือนสติในการหมั่นเพียรภาวนา การเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ย่อมยากที่จะบรรลุธรรม

ดังนั้น การฝึกอบรมคนและสถานที่ที่เหมาะแก่การอบรมคน จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะถึงแม้ได้คนรักดี แต่สถานที่ไม่ดี ก็ไม่บรรลุธรรม หรือได้สถานที่ดี แต่คนไม่รักดี ก็ไม่บรรลุธรรม จำเป็นต้องได้ทั้งคนรักดีและสถานที่ดี จึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม

เพราะเหตุนี้ การฝึกอบรมคนขั้นพื้นฐานตั้งแต่นิสัย ๔ และอปัณณกธรรม ๓ จึงเป็นส่วนสำคัญในการเคี่ยวเข็ญอบรมคนให้มีคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการ ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ขณะเดียวกันการทำหน้าที่เคี่ยวเข็ญอบรมศิษย์ของพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ด้วยการแนะให้ทำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น เคี่ยวเข็ญให้เป็นนิสัย ก็จะมีผลอย่างมากต่อการฝึกอบรมคน และการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ไม่สกปรกรกรุงรัง ไม่มีขยะเกลื่อนกลาด มองไปทางใดก็เห็นแต่ความสะอาด ความร่มรื่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เจริญหูเจริญตา ไม่ว่าจะเป็นวัดที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ในป่า ก็ยังคงมีมุมสงบที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมครบถ้วนทั้ง ๕ ประการ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ดีแล้วนั่นเอง

ดังนั้น การที่เราศึกษาพุทธภารกิจเร่งสร้างครูมาตามลำดับนี้ ก็จะพบว่า
๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างนักเผยแผ่จากบุคคล ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว กลุ่มที่สอง คือ บุคคลที่มีความเพียรในการปราบกิเลส

ในการฝึกอบรมนักเผยแผ่กลุ่มแรกที่เป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นทั้งนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นการสรุปอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้พระอรหันต์นำไปใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเป็นต้นแบบการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวันด้วย การที่พระอรหันต์ชุดบุกเบิกมีศีลาจารวัตรที่งดงาม และมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดในการเจริญภาวนา ทำให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของสาธุชนเป็นอันมาก ส่งผลให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการฝึกบุคคลในกลุ่มที่ ๒ คือบุคคลที่มีความเพียรในการปราบกิเลสให้เป็นพระนักเผยแผ่นั้น พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๒ เรื่อง คือ คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ และคุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแล้ว

สำหรับการปลูกฝังอบรมบุคคลให้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การบรรลุธรรมนั้น เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌายาจารย์ ทำการฝึกฝนอบรมพระภิกษุที่เข้ามาบวชใหม่ การอบรมในช่วงแรก จะเน้นหนักให้พระภิกษุปรับตัว ให้คุ้นกับการดำรงชีวิตตามหลักนิสัย ๔ พร้อมกันนั้นก็มีการอบรมเรื่องอปัณณกธรรม ๓ คือให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค และการเจริญภาวนาเป็นระยะ ๆ ทั้งช่วงเช้า สาย บ่าย และค่ำ พระภิกษุที่ได้รับการฝึกฝนอบรม และปฏิบัติกิจวัตรดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแต่ต้นแล้ว

หลังจากการฝึกนิสัย ๔ และการปฏิบัติอปัณณกธรรม ๓ เป็นกิจวัตรแล้ว พระอุปัชฌายาจารย์ ก็มีหน้าที่เพิ่มเติมความรู้ให้แก่ศิษย์ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนพระธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก

ความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนนี้ นอกจากจะอำนวยให้พระภิกษุมีความรู้ในการอบรมพัฒนาคุณธรรมในตนแล้ว ยังจะเป็นภูมิรู้ภูมิธรรมสำหรับนำไปเทศน์สอนอบรมประชาชนได้เป็นอย่างดี

วัดใดก็ตามที่มีนโยบายพัฒนาวัดตามแนวทางที่กล่าวมานี้ ย่อมจะเป็นวัดที่มีคุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแล้วแต่ต้น

๒ ผู้ที่จะเป็นครูผู้อื่นได้ต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้อย่างน้อย ๒ ประการ คือ ๑ เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตได้ และ ๒ เป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจสังเกตได้จากการที่พระธรรมคำสอนในยุคต้นพุทธกาลยังมีไม่มาก แต่ก็สามารถบุกเบิกงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขยายไปทั่วทุกแคว้นได้ โดยอาศัยศีลาจารวัตรอันงดงาม และความเป็นกัลยาณมิตรของพระอรหันต์เป็นต้นแบบนำความรู้และประสบการณ์ที่ท่านฝึกฝนอบรมตนเอง มาจนกระทั่งหมดกิเลส มาเป็นหลักในการอธิบายขยายความพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถูกต้อง เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมทั้งนำไปปฏิบัติเป็นกิจวัตรจนสามารถบรรลุธรรมได้

ส่วนในยุคที่พระธรรมคำสอนมีมากแล้ว การเคี่ยวเข็ญฝึกอบรมพระภิกษุรูปใดขึ้นมาเป็นครูบาอาจารย์ แม้ว่าภิกษุรูปนั้นจะยังไม่หมดกิเลส ก็ยังทรงกำหนดว่าต้องยึดปฏิบัติตามสัปปุริสธรรม ๗ ประการ โดยคุณธรรม ๕ ข้อแรก คือ ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู มีไว้เพื่อฝึกตนเองให้หมดกิเลส และเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตให้ชาวโลก ส่วนคุณธรรม ๒ ข้อสุดท้าย คือ ปริสัญญู และปุคคลปโรปรัญญู มีไว้เพื่อทำหน้าที่ เป็นกัลยาณมิตรชักชวนชาวโลก ให้กำจัดกิเลสออกจากใจให้หมดสิ้น บรรลุพระนิพพาน

๓ ความรู้ประมาณคือหลักวิชาสำคัญ ในการฝึกอบรมครูในพระพุทธศาสนา

พระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส หรือเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในยุคต้นพุทธกาลที่ประชาชนผู้ศรัทธามีน้อย ลาภสักการะยังไม่มีมาก หรือในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด ประชาชนมีศรัทธาเป็นอันมาก ยินดีถวายลาภสักการะอันประณีต เลี้ยงบำรุงพระภิกษุทั้งหมดใน ๑๖ แคว้นใหญ่ ๕ แคว้นเล็กได้ทุก ๆ วันแล้วก็ตาม พระองค์ก็ทรงกำชับให้รู้จักใช้ปัจจัย ๔ โดยพิจารณาตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต

หลักฐานของเรื่องนี้สังเกตได้จากโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคต้นพุทธกาล ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้ พระองค์ทรงเน้นย้ำพระอรหันต์ ผู้ทำงานเผยแผ่ให้รู้ประมาณในโภชนาหาร เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิต และเพื่อไม่ทำตนให้เป็นภาระแก่ญาติโยม สำหรับการฝึกนักเผยแผ่ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ พระองค์ก็ทรงกำชับว่า แม้ยังปราบกิเลสได้ไม่หมด ก็ต้องฝึกควบคุมกิเลสด้วยมัตตัญญู คือ เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นพุทธกาลหรือช่วงที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พระพุทธองค์ก็ยังทรงกำชับอยู่เสมอว่า "ต้องรู้ประมาณ" โดยในบางโอกาสถึงกับตรัสเตือนสติแรง ๆ ว่า ผู้ที่ไม่รู้ประมาณไม่ใช่ทายาทของพระองค์ แต่เป็นอามิสทายาท ผู้ที่เป็นทายาทของพระองค์ต้องเป็นผู้รู้ประมาณ จึงจะเรียกว่าเป็นธรรมทายาท6 ของพระองค์

โดยสรุปก็คือ ผู้ที่จะเป็นครูในพระพุทธศาสนานั้น ตราบใดที่ยังไม่ถูกฝึกให้รู้ประมาณ ในการใช้สอยปัจจัย ๔ ได้ ก็จะยังไม่สามารถควบคุมกิเลสได้ ยังขาดคุณสมบัติที่จะฝึกให้เป็นครูที่ดี หรือเป็นนักเผยแผ่ที่ดีได้ รากฐานของการสร้างครูในพระพุทธศาสนา จึงถูกสร้างขึ้นบนความรู้ประมาณนั่นเอง

พุทธภารกิจเร่งสร้างความมั่นคง
จากจุดเริ่มต้นที่โลกนี้มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ธรรมหลุดพ้นจากวัฏสงสารเพียงพระองค์เดียว แต่ก็ทรงเผยแผ่แสงสว่างแห่งธรรมไปสู่ใจชาวโลกไปวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี จากมีจำนวนผู้บรรลุธรรมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารได้เพียงหลักหน่วย ก็เพิ่มเป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หลักล้านตามลำดับ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสทั้งชายหญิงจำนวนมาก มีผู้ออกบวชทั้งชายและหญิงตามมาจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดเป็นพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นับเป็นพุทธสาวกที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่ขยายไปทั่วทั้ง ๑๖ แคว้นใหญ่ ๕ แคว้นเล็ก พระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลจึงมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เริ่มต้นจากการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงลำพังพระองค์เดียว

การประกาศธรรมของพระองค์ จึงเปรียบเสมือนการจุดดวงประทีปดวงแรกขึ้นในโลกที่มืดมิดสนิทมานานแสนนาน แล้วจุดประทีปส่งต่อ ๆ กันไปคนแล้วคนเล่า จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ จุดต่อ ๆ ทับทวีคูณกันไปอย่างนี้ จนกลายเป็นความสว่างไสวไปทั่ว

เมื่อจำนวนพุทธบริษัท ๔ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยล้านพันล้านเช่นนี้ สิ่งที่พระองค์ต้องรีบสร้าง รีบทำเพื่อให้พระพุทธศาสนาคงอยู่ไปตราบชั่วกัลปาวสาน ก็คือ การเร่งสร้างความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธบริษัท ๔ มีความสามัคคีปรองดอง มีผู้บรรลุธรรมตามอย่างต่อเนื่อง และสามารถปกป้องดูแลพระพุทธศาสนาให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ (จากปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวัน ปัญหามาร ๕ ฝูง ปัญหาพญามาร) หลังจาก ที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

จากการศึกษาพบว่า การเร่งสร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๔ แนวทาง คือ
๑ ความมั่นคงของสังคมพุทธ
๒ ความมั่นคงของสังคมสงฆ์
๓ ความมั่นคงของพระธรรมวินัย
๔ ความมั่นคงของการบรรลุธรรม

ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังมีความมั่นคงทั้ง ๔ แนวทางนี้อยู่ครบถ้วน พระพุทธศาสนาก็จะไม่อันตรธานหายไปจากโลกนี้

๑ ความมั่นคงของสังคมพุทธ
สังคมพุทธอยู่ได้ด้วยความรับผิดชอบต่อศีลธรรม หากผู้คนในสังคมขาดความรับผิดชอบต่อศีลธรรมเมื่อใด พระพุทธศาสนาย่อมอันตรธานไปในทันที ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบต่อศีลธรรมนั้น คือ ความมั่นคงของพระพุทธศาสนามาทุกยุคทุกสมัยตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ในการสร้างความมั่นคงของสังคมพุทธนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ใน สิงคาลกสูตร7 ซึ่งเนื้อหาในพระสูตรนี้ ได้กล่าวถึงการแสดงธรรมเพื่อแก้ไขชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้เป็นทายาทเศรษฐีร้อยล้าน แต่กำลังจะกลายเป็นคนล้มละลาย มรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ก่อนตายกำลังจะวอดวายไปต่อหน้า มิหนำซ้ำวงศ์ตระกูลที่สืบทอดกันมา ก็จวนเจียนล่มสลายในคราวยุคของตน ซึ่งเขาไม่รู้ว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง หากวันนั้นชายหนุ่มผู้นี้ ไม่ได้รับการชี้แนะแก้ไขจากพระพุทธองค์ เขาก็คงไม่สามารถพลิกวิกฤตให้รอดพ้นจากการล้มละลายมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

สิงคาลกสูตรนี้ พระเถราจารย์ได้กล่าวยกย่องว่า เป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงวินัยของชาวพุทธไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยเหตุนี้ พระสูตรนี้จึงถูกใช้เป็น "แม่บทการสร้างสังคมพุทธ" จนทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาวมาตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้

ในการศึกษาสิงคาลกสูตรเพื่อค้นหาคำตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีสร้างความรับผิดชอบ ต่อสังคมพุทธไว้อย่างไร หลังจากศึกษา และพิจารณาเนื้อความอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ก็จะได้คำตอบว่า

การสร้างความมั่นคงของสังคมพุทธ ก็คือ การฝึกฝนอบรมชาวพุทธให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ๔ ประการ ได้แก่

๑ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม" ด้วยการไม่ทำกรรมชั่วทางกายและทางวาจาที่เรียกว่า "กรรมกิเลส ๔" ได้แก่ การฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดปด พฤติกรรมชั่วเหล่านี้ ชาวพุทธต้องไม่ทำ เพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาฆาตกรรม ปัญหาโจรกรรม ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ ปัญหาต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นต้น

๒ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของสังคม คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่ทำลายความเป็นธรรมของสังคม" ด้วยการไม่ทำกรรมชั่วทางใจที่เรียกว่า "อคติ ๔" ได้แก่ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะโง่ ลำเอียงเพราะกลัว เพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความแตกแยกต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาการกลั่นแกล้ง ปัญหาการทำลายกฎเกณฑ์ ปัญหาอิทธิพลมืด เป็นต้น

๓ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของเศรษฐกิจ คือการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำลายศีลธรรมของผู้อื่นในสังคม" ด้วยการไม่ทำอาชีพชั่วที่เรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ได้แก่ การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การค้าขายสัตว์เพื่อฆ่าเอาเนื้อ การค้ายาพิษ การค้าของมึนเมา (รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย) ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเครือข่ายอาชญากร ที่กระทำผิดกฎหมายขึ้นในสังคม อีกทั้งไม่ส่งเสริมคนที่ทำอาชีพชั่วด้วยการเสพอบายมุข ๖ ได้แก่ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การหมกมุ่นในสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การเล่นการพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร ความเกียจคร้านการงาน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญหามิจฉาชีพต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาการค้ายาเสพติด ปัญหาการค้าอาวุธสงคราม ปัญหาการค้า ประเวณี ปัญหาการพนัน ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ปัญหาแรงงานด้อยคุณภาพ เป็นต้น

๔ ความรับผิดชอบต่อการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "มิตรแท้ต่อสังคม" ด้วยการทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบุคคลแวดล้อมรอบตัว ๖ กลุ่ม ที่เรียกว่า "หน้าที่ประจำทิศ ๖" ได้แก่ ทิศเบื้องหน้า (พ่อแม่) ทิศเบื้องขวา (ครูอาจารย์) ทิศเบื้องหลัง (ภรรยาและบุตร) ทิศเบื้องซ้าย (มิตรสหาย) ทิศเบื้องล่าง (บริวาร) ทิศเบื้องบน (สมณะ) ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายคนดีและเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นกับคนรอบตัว เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเยาวชน ปัญหาการศึกษา ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเพื่อนบ้าน ปัญหาการงาน ปัญหาศาสนา เป็นต้น

ภาพรวมเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖
การที่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำทิศ ๖ นี้ ก็เพราะว่าคนเราอยู่คนเดียวในสังคมไม่ได้ เราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงไม่มีใครเป็นคนดีอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมได้ เราจึงต้องชักชวนผู้อื่นให้ทำความดีร่วมกัน สังคมจึงจะร่มเย็นเป็นสุข และเกิดเป็นเครือข่ายคนดี ไว้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อถึงคราวที่มีภัยอันตรายจากวิบากกรรมเก่า หรือคนภัยคนพาลมาเบียดเบียนรังแก ก็จะได้ช่วยกันปกป้องดูแลให้พ้นจากภัยอันตราย

แต่การทำหน้าที่ประจำทิศ ๖ จะได้ผลก็ต่อเมื่อบุคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลในทิศ ๖ ด้วยความมีสัจจะอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือ ๑) จริงจังต่อหน้าที่และการงาน ๒) จริงใจต่อคำพูดและการกระทำต่อบุคคล และ ๓) จริงแสนจริงต่อการทำความดี

ความจริงจัง ความจริงใจ ความจริงแสนจริงที่มีต่อบุคคลประจำทิศ ๖ นี้เอง จะเป็นพลังแห่งความบริสุทธิ์ใจที่ผลักดันให้บุคคลในทิศ ๖ มีความเชื่อมั่นในความดีและเต็มใจที่จะเป็นคนดีของสังคม เพราะได้ประจักษ์แล้วว่า ผลแห่งวิบากกรรมดี-ชั่วนั้นมีจริง คือการกระทำดีย่อมมีผลเป็นสุข และกระทำชั่วย่อมมีผลเป็นทุกข์จริง โดยดูได้จากผลของการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองและคนอื่นในปัจจุบัน

ในการวางโครงสร้างสังคมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ "ทิศ ๖" เป็น หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคมด้วยเช่นกัน การที่แต่ละคนดูแลคนในทิศ ๖ ของตนเองให้มีความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการได้ดีแล้ว เมื่อนำทิศ ๖ ของแต่ละคนมารวมกัน ก็จะกลายเป็นเครือข่ายคนดีที่มีความเป็นเอกภาพ

สังคมที่มีความเป็นเอกภาพของคนดีเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นสังคมที่มีพลังของศีลธรรม เป็นสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาทันที เพราะทุกคนต่างมีพลังของความรับผิดชอบต่อศีลธรรมอยู่ในตนเอง นั่นคือ ยิ่งทิศ ๖ ของแต่ละคนตั้งมั่นอยู่ในความดีมากเพียงใด ก็จะกลายเป็นเครือข่ายคนดี ที่เป็นกำแพงปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา ให้มีอายุยืนยาวได้นานเพียงนั้น เปรียบเหมือนการนำแท่งลูกบาศก์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีหน้าเรียบเสมอกันทั้ง ๖ ด้าน มาก่อเป็นปราการแห่งความดี เพื่อให้พระพุทธศาสนามีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

สังคมที่มีปราการแห่งความเข้มแข็ง ด้านศีลธรรมของตนเอง ศีลธรรมของสังคม ศีลธรรมของเศรษฐกิจ และการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ เช่นนี้ ย่อมมีศักยภาพมิใช่เพียงแค่การสร้างคนดีสืบต่อ ๆ กันไปจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเท่านั้น แต่ยังพัฒนาสังคมให้มีความแข็งแกร่งด้านศีลธรรมไว้ปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงยืนยาวต่อไปตราบนานเท่านานอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นสังคมที่มีพลังแห่งศีลธรรม เป็นแรงขับเคลื่อนให้การพัฒนาสังคมด้านต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการปิดหนทางนรก เปิดหนทางสวรรค์ ถางหนทางไปนิพพาน ทำให้ประชาชนที่เกิดและเติบโตในสังคมนี้ มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร แม้ว่าพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม

ดังนั้น สังคมที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงยั่งยืนนาน ก็คือสังคมที่มีศักยภาพในการฝึกฝนอบรมประชาชนให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง ต่อศีลธรรมของสังคม ต่อศีลธรรมของเศรษฐกิจ และต่อการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงในสังคมแล้ว ผู้คนในสังคมยังมีโอกาสฝึกหัดขัดเกลา กิเลสออกจากจิตใจของตน เพื่อความพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้สำเร็จรุ่นแล้วรุ่นเล่าอีกด้วย

1 เสนาสนสูตร, องุ.ทสก. ๓๘/๑๑/๒๔ (มมร.)
2 สัมมสนญาณ คือ ญาณทัศนะที่ใช้ในการพิจารณาเห็นการเกิดและการดับของขันธ์ ๕ สัมมสนญาณนิทเทส ขุ.ปฏิ. ๖๘/๙๙/๖๕๗ (มมร.)
3 โพธิราชกุมารสูตร, ม.ม. ๒๑/๕๑๘/๑๓๒ (มมร.)
4 ปฐมธรรมวิหาริกสูตร, องฺ.ปญฺจก. ๓๖/๗๓/๑๖๘ (มมร.)
5 เสนาสนสูตร, องฺ.ทสก. ๓๘/๑๑/๒๕ (มมร.)
6 ธรรมทายาทสูตร, ม.ม. ๑๗/๒๐/๒๐๒ (มมร.)
7 สิงคาลกสูตร, ที.ปา. ๑๖/๑๗๒/๗๗ (มมร.)

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕


คลิกอ่านความรู้ประมาณของวารสารอยู่ในบุญ ตอนที่ ๑ - ๑๒ ตามหัวข้อด้านล่างนี้
ความรู้ประมาณ ตอนจบ
ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๗ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๗ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.