ชาวพุทธควรจะมีแนวทาง ในการนำแม่บทวัฒนธรรมโลก ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?


ถาม : ชาวพุทธควรจะมีแนวทาง ในการนำแม่บทวัฒนธรรมโลก ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

ตอบ : จากที่หลวงพ่อได้เคยกล่าวไว้ว่า พระบรมครูของเรา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ได้ตรัสสอน เรื่องแม่บทวัฒนธรรมของโลกไว้ใน โอวาทปาติโมกข์อย่างตรงกันหมด โดยมีหลักการใหญ่อยู่ ๓ ประการ ได้แก่

ประการแรก คือ ไม่ทำบาปทั้งปวงอีกเด็ดขาด
ประการที่สอง คือ บุญใหม่ต้องสร้างเพิ่มขึ้นอีกให้มาก ๆ
ประการที่สาม คือ หมั่นทำใจให้ผ่องใสสะอาดอยู่เป็นประจำ

ผู้ที่ปฏิบัติได้ตามหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ คือผู้ที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม เรียกได้ว่าเป็น นักสร้างบารมีคือเป็นผู้ที่ทำแต่ความดีฝ่ายเดียว ไม่ยอมทำบาปอีกต่อไป สิ่งที่จะเพิ่มพูนขึ้นในตัวจึงมีแต่ฝ่ายบุญ ส่วนสิ่งที่จะลดลงคือฝ่ายบาป

การที่นักสร้างบารมีทั้งหลายจะนำหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ ไปประพฤติปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับนักสร้างบารมี ๖ ประการ ได้แก่

ประการที่ ๑ ห้ามว่าร้าย คือ ระวังปากให้ดี อย่าใช้ปากเพื่อหาบาป ไม่ต้องหาบาปใหม่ด้วยปาก เพราะปากมนุษย์หาบาปได้ง่ายกว่าด้วยมือด้วยเท้าเสียอีก

การห้ามใจไม่ให้คิดเรื่องไม่ดี บางครั้งเราอาจห้ามใจไม่อยู่ แต่เมื่อห้ามใจไม่อยู่ ก็ต้องห้ามปากให้อยู่ เพราะถ้าหลุดคำพูดไม่ดีออกจากปากเมื่อไร จะยุ่งเหมือนไฟลามไหม้โลก หากว่าห้ามปากของเราไม่อยู่แล้ว สิ่งที่คิดไว้ว่าจะสร้างแต่บุญ จะไม่ข้องแวะบาป ก็ยากจะรักษาความตั้งใจไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง

ประการที่ ๒ ห้ามทำร้าย คือ ระวังมือระวังเท้าให้ดี อย่าเอาไปสร้างบาป เพราะสิบนิ้วมีเอาไว้ให้สร้างบุญ เช่น ใช้มือหยิบทัพพีตักบาตร พนมมือสิบนิ้วราวดอกบัวกราบพระ ทำเช่นนี้ได้บุญ แต่ถ้าไปรวบนิ้วมือเข้ามาเป็นมะเหงกบ้าง เป็นกำปั้นบ้าง เดี๋ยวจะพลาดไปทุบ ไปตี ไปทำร้ายใครเข้าได้ แล้วบาปใหม่จะเกิดขึ้นมาอีก บุญเก่าจะวอดหมดไปทันตา สิ่งเหล่านี้ต้องระวังให้ดี

ประการที่ ๓ สำรวมศีลและมารยาทอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยิ่งเป็นกันเองมากเท่าไร ยิ่งต้องระวังมารยาทให้ดี สาเหตุที่พรรคพวกเพื่อนพ้องในหมู่คณะเดียวกัน เคยอยู่ร่วมกันมา มีอันต้องห่างออกไป หรือแยกตัวออกจากกลุ่มคณะไป ส่วนหนึ่งมีที่มาจากความน้อยใจในมารยาทอันไม่งามของพรรคพวกนี่แหละ เช่น จะเตือนกันดี ๆ ก็ไม่ทำ ต้องทำหน้าหงิก ๆ ใส่กัน บางคนเกิดรำคาญมาก ๆ เข้า ก็ตัดสินใจปลีกตัว หลีกห่าง หนีไปจากหมู่คณะ ความตั้งใจอันดีที่จะประคับประคองกันสร้างบุญสร้างบารมีร่วมกัน คอยเป็นกัลยาณมิตรให้กัน ก็มีอันต้องขาดตอนอย่างน่าเสียดาย โอกาสและบรรยากาศที่ดีของหมู่คณะก็พลัน ลดน้อยลงไป

ประการที่ ๔ รู้จักประมาณในอาหาร เรื่องนี้ต้องพิจารณาคำว่า You are what you eat. แปลว่า กินอย่างไรได้ (สุขภาพ) อย่างนั้นให้ดี ๆ

วัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหาร คือเพื่อเติมกำลังให้พลังงานแก่ร่างกาย เพื่อแก้ไขความหิว ความกระหาย ความอ่อนกำลังของร่างกาย เพื่อต่ออายุของเราให้ยืนยาว

การรับประทานอาหารจะเป็นคุณประโยชน์อย่างสูงสุด ก็เมื่อเราได้นำกำลังวังชาเรี่ยวแรงที่ดีนั้นมานั่งหลับตาทำสมาธิภาวนา เพื่อให้เข้าถึงที่พึ่งภายในตน แต่เมื่อใดที่เราไม่ระมัดระวัง คือไม่ประมาณในอาหารที่รับเข้าไป เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป ก็จะเกิดอาการหนังท้องตึง หนังตาหย่อน เมื่อมานั่งหลับตา ทำสมาธิภาวนา ก็นั่งโงกเงกสัปหงก ปล่อยให้บุญหกบุญหล่นไป

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อว่า ทำให้คนบุญหกบุญหล่นไปเยอะแล้ว การกินอย่างรู้ประมาณจึงสมเป็นนักสร้างบารมี แต่ถ้ากินไม่มีประมาณก็จะผลาญบุญบารมี

ประการที่ ๕ เลือกอยู่ในที่สงบ คือไม่อยู่ในที่อึกทึก งานการอะไรก็ไม่ค่อยไปเสนอหน้ากับใครเขา ง่าย ๆ เขาไม่เชิญจริง ๆ เป็นไม่ไป แม้เขาเชิญจริง ๆ ก็ไปด้วยความระมัดระวังตัว เมื่อจะนั่ง จะนอน ก็เลือกอยู่ในที่สงบ

การฝึกตัวเป็นผู้รักที่จะเลือกอยู่ในที่สงบ ๆ โอกาสที่ใจจะแวบไปคิดเรื่องไม่ดี เพราะไปเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไปฟังสิ่งไม่ดี ไปดมสิ่งไม่ดี ไปลิ้มรสสิ่งไม่ดี ไปจับต้องสิ่งไม่ดี จะมีโอกาสน้อย โอกาสที่บาปใหม่จะเกิด ขึ้นยาก แต่มีโอกาสที่บุญใหม่จะเกิดได้ มีโอกาสที่ใจจะผ่องใสยิ่งขึ้น แต่ถ้าไปอยู่ในที่อึกทึกครึกโครมเมื่อใด โอกาสคิดไม่ดีมีเยอะ ฉะนั้น ต้องเลือกที่นั่ง ที่นอน ที่อยู่ในที่สงบ

ประการที่ ๖ ฝึกสมาธิเป็นประจำในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน ดังที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่มักจะเตือนให้นอนหลับในอู่ทะเลบุญ และในอิริยาบถอื่น ๆ ท่านก็เตือนใจโดยบอกให้ตรึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา ซึ่งก็คือการอยู่ในอู่ทะเลบุญ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นใจก็ฟุ้งกระจายออกไปคิดในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีโอกาสมากที่บาปมันจะรั่วรดเข้าไปในใจได้ ฉะนั้น เราจะต้องฝึกสมาธิเป็นประจำ ฝึกใจจนใจมาหยุดมานิ่งได้ที่ศูนย์กลางกาย จึงจะเข้าถึงพระธรรมกายในตัว

เมื่อ บุญซึ่งเป็นพลังงานบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกตลอดเวลาเช่นนี้ ทำให้เราไม่รู้ว่าบุญในตัวของเราเหลืออยู่เท่าไร และจะหมดบุญในวันเวลาใดก็ไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้าเสียด้วย

การดำเนินชีวิตที่ดีงามเหมาะสมคู่ควรแก่การเป็นนักสร้างบารมี คือการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท บาปกรรมที่เคยทำให้เลิก แล้วบาปใหม่ก็ไม่ทำอีก หมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิจ บุญมีกี่งบกี่ด้านสั่งสมเข้าไว้ ให้มาก และสำคัญที่สุดคือการฝึกใจให้ผ่องใสอยู่เป็นประจำ จะเป็นอุปการคุณยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของเรา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม

ดังนั้น นักสร้างบารมีจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมที่ดีงามให้กับโลกนี้ได้ ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนทั้ง ๖ ข้อนี้ อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน แล้วในแต่ละวันก็จะมีแต่บุญกุศลเพิ่มขึ้น บาปก็ลดลง ใจก็ผ่องใส เมื่อบุญกุศลเพิ่มขึ้น บุญย่อมไปดึงดูดสิ่งดี ๆ ที่เป็นความสุขความเจริญเข้ามาในชีวิตโดยอัตโนมัติ การเกิดเป็นมนุษย์ของเราในชาตินี้ก็จะสร้างบารมีได้อย่างคุ้มค่ากับเวลาชีวิตของเราทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นเอง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖
ชาวพุทธควรจะมีแนวทาง ในการนำแม่บทวัฒนธรรมโลก ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ? ชาวพุทธควรจะมีแนวทาง ในการนำแม่บทวัฒนธรรมโลก ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.