ศีลธรรม-มนุษยธรรม
เอวญฺเจ
สตฺตา ชาเนยฺยํ ทุกฺขายํ ชาติสมฺภโว
น
ปาโณ ปาณินํ หญฺเญ ปาณฆาตี หิ โสจติ
ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า การเกิดนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก (มตกภัตตชาดก)
การฆ่าหรือประทุษร้ายร่างกายผู้อื่นรวมทั้งสัตว์ทั้งหลาย
ล้วนชื่อว่านำความทุกข์กายทุกข์ใจมาสู่ตนและผู้อื่น ได้ชื่อว่าเป็นการละเมิดศีลข้อ
๑ ซึ่งเป็นมนุษยธรรม การละเมิดศีลในทุกระดับ
ไม่ว่าจะถึงขั้นศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง หรือศีลพร้อย ล้วนแต่เป็นการทำลายคุณภาพใจให้เสื่อมลง
หรือที่เราเรียกว่าเป็นบาป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากละเมิดศีลในกรณีที่เกิดโทษมาก
เป็นบาปมาก คุณภาพใจก็จะยิ่งถูกทำลายให้เศร้าหมองมากขึ้น เราจึงควรศึกษาเรื่องเหล่านี้
เพื่อให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ อันจะนำไปสู่ความสงบใจ
ที่ทำให้สมาธิและปัญญาเจริญขึ้น
การทำลายชีวิตผู้อื่นแม้เพียงครั้งเดียว
แต่ผลที่ตามมา จะกลับมาทำลายตัวเราอีกหลายครั้งอย่างคาดไม่ถึง ดังเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจของผู้ที่ต้องชดใช้ความผิดด้วยชีวิตของตนครั้งแล้วครั้งเล่า
ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในสังคมยุคปัจจุบัน เช่น บางคนกำลังเดินบนฟุตปาธ
ก็ถูกรถเสียหลักพุ่งเข้าชนจนเสียชีวิตทันที หรือบางคนนอนเล่นอยู่บนเรือ
แต่ถูกรถตกจากสะพานลงมาทับตายคาที่ ซึ่งเป็นการตายที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
เพราะผู้ตายอายุยังน้อย ชีวิตทางโลกกำลังเจริญรุ่งเรือง
แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุในอดีตทั้งสิ้น เหตุในอดีต คือ
กรรมที่ตนเองเคยทำเอาไว้ ซึ่งจ้องหาโอกาสตามมาส่งผลเสมอ
เหมือนเมื่อครั้งอดีต
พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง
มีความคิดที่จะบวงสรวงดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้แพะเป็นเครื่องสังเวย
พราหมณ์ให้ศิษย์ไปหาแพะมาตัวหนึ่ง แล้วสั่งให้นำแพะตัวนั้นไปชำระล้างและตกแต่งประดับประดาอย่างดี
ลูกศิษย์ก็ทำตามคำสั่งทุกอย่าง จากนั้นปล่อยให้แพะยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
ขณะที่เจ้าแพะผู้เคราะห์ร้ายกำลังกินหญ้าอยู่นั้น
แพะระลึกชาติเห็นกรรมเก่าของตนที่เคยทำไว้
ทำให้ต้องมาเกิดเป็นแพะเพื่อรับวิบากกรรมในภพชาตินี้ อีกทั้งรู้ว่า
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะเกิดเป็นแพะแล้ว จึงกระโดดโลดเต้นหัวเราะด้วยความดีใจ แต่เมื่อหวนนึกถึงพราหมณ์ผู้จะได้รับความทุกข์เพราะการฆ่าบูชายัญ
ดังเช่นที่ตนเคยรับกรรมมา ยิ่งคิดก็ยิ่งสงสาร จึงร้องไห้ออกมา
ศิษย์ของพราหมณ์เห็นอาการแปลก ๆ ของแพะ
ก็รีบเข้าไปถามว่า “เจ้าแพะ ทำไมเจ้าจึงหัวเราะ
แล้วกลับมาร้องไห้ เจ้ากลัวตายหรือ” แพะตอบว่า “เราไม่ได้กลัวตาย
แต่ว่าตอนนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ พวกท่านจงถามอีกครั้ง
เมื่อเราอยู่ต่อหน้าอาจารย์ของพวกท่าน แล้วเราจะชี้แจงให้ฟัง” ด้วยความอยากรู้ เขาจึงนำแพะไปหาอาจารย์
พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังทันที
พราหมณ์ก็ถามแพะด้วยคำถามเดียวกับที่ลูกศิษย์เคยถาม
แพะหวนระลึกถึงกรรมที่ตนเคยทำไว้ “ท่านพราหมณ์
เมื่อก่อนเราก็เป็นพราหมณ์เหมือนอย่างท่าน ในการบวงสรวงครั้งหนึ่ง เราได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งเพื่อนำมาเป็นเครื่องสังเวย เพราะการฆ่าแพะเพียงครั้งเดียวตัวเดียวเท่านั้น
ทำให้เราถูกตัดหัวมาแล้วถึง ๔๙๙ ชาติ และชาตินี้ คือชาติที่ ๕๐๐
ซึ่งจะเป็นชาติสุดท้ายแล้วที่เราจะถูกตัดหัว เราดีใจที่จะพ้นจากกรรมนี้
จึงหัวเราะขึ้นมา แต่ที่ร้องไห้นั้น
เพราะสงสารท่าน หากท่านฆ่าเรา ท่านจะต้องรับทุกข์ด้วยการถูกตัดศีรษะไปถึง ๕๐๐ ชาติ
เช่นเดียวกับเรา ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจเถิด”
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็รีบปลอบใจแพะ “เจ้าอย่ากลัวเลย เราเชื่อ เราเชื่อ
อีกทั้งจะไม่ฆ่าเจ้า และจะปล่อยให้เจ้าเป็นอิสระอีกด้วย” “ท่านพราหมณ์ ไม่ว่าท่านจะฆ่าหรือไม่ฆ่าเรา
วันนี้เราก็ไม่อาจพ้นจากความตายได้ ใครทำกรรมใดไว้ ตนจะต้องรับผลของกรรมนั้น” แพะกล่าวยืนยัน
แต่พราหมณ์ก็กล่าวรับรองเหมือนกันว่า “ถึงอย่างไร เจ้าก็ไม่ต้องกลัว เราจะไม่ปล่อยให้เจ้าตาย
เราจะให้ลูกศิษย์คอยติดตามคุ้มครองเจ้า ไม่ให้เจ้าได้รับอันตรายเด็ดขาด”
แพะไม่รู้จะอธิบายอย่างไรต่อไป จึงได้แต่ขอบคุณ
ขณะเดียวกันก็ยืนกรานว่า “ท่านพราหมณ์ บาปที่เราทำนั้น
มีกำลังมากเกินกว่าที่ท่านจะคุ้มครองเราได้ ท่านอย่าได้เพียรพยายามเลย” ถึงกระนั้นพราหมณ์ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ใครมาฆ่าแพะตัวนี้อย่างเด็ดขาด
จากนั้น พราหมณ์ก็ปล่อยแพะให้เป็นอิสระ
พร้อมกับสั่งให้เหล่าลูกศิษย์คอยติดตามคุ้มครองแพะอย่างใกล้ชิด
เมื่อแพะถูกปล่อยก็เดินตรงไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ขึ้นอยู่หลังแผ่นหิน
ขณะกำลังชะเง้อคอกินใบไม้อยู่นั้น ฟ้าก็ผ่าลงมาที่แผ่นหินแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
ทำให้สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตกกระเด็นมาตัดคอแพะจนขาดอย่างคาดไม่ถึง
เสียงร้องไห้เศร้าโศกและเสียงหัวเราะในวันสุดท้ายแห่งชีวิตของแพะนั้น
ช่วยผู้คนทั้งหลายให้รอดพ้นจากวิบากกรรมที่เกือบจะผิดศีลปาณาติบาต แต่ถึงอย่างไร แม้แพะผู้มีน้ำใจสำนึกผิด
และได้รับการคุ้มครองป้องกันเป็นอย่างดี ก็ยังมิอาจรอดพ้นจากความตาย
การตายของแพะทำให้ผู้คนที่พบเห็นเกิดขนลุกขนพองไปตาม
ๆ กัน พระโพธิสัตว์ซึ่งบังเกิดเป็นรุกขเทวาอาศัยอยู่ไม่ไกล ปรากฏกายให้เห็นในอากาศ
แล้วแสดงธรรมด้วยเสียงที่ไพเราะว่า “สัตว์ทั้งหลาย เมื่อรู้ผลของบาปเช่นนี้ ไม่ควรทำปาณาติบาต
พึงรู้ว่าการเกิดขึ้นเป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก”
จะเห็นได้ว่า
ผู้ที่ผิดศีลนั้น มิใช่เพียงแค่เบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น
หากแต่ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำร้ายตนเองข้ามชาติอีกด้วย เช่น คนที่ไปฉกชิงวิ่งราว
หรือไปประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น เป็นการเบียดเบียนเขาในภพชาตินี้ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดอาจทุกข์ใจเพียงภพชาติเดียว
แต่บุคคลที่ประพฤติผิดศีลนั้น
จะต้องชดใช้วิบากกรรมอีกหลายครั้งและยาวนานมากเหมือนดังแพะตัวนี้
เพราะทุกข์โทษจากการล่วงละเมิดศีล ล้วนแต่รุนแรงและน่ากลัวยิ่งนัก
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
ทุกคนจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม จะได้ไม่ไปทำผิดพลาดอย่างนั้นซ้ำอีก
ชีวิตเราจะได้เวียนวนสร้างบารมีอยู่แต่ในสุคติภูมิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.
๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๔๒
เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านกุศลกรรมบถ ๑๐ ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เหตุแห่งความมีอายุยืน
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี
บ่อเกิดแห่งความสุข
วิรัติวัดศีล
ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก
ศีลศัลยกรรม
สะอาดกาย สะอาดใจ
กลิ่นศีล กลิ่นธรรม
เวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยว
น้ำมหาประลัย
ศีลศัลยกรรม |
สะอาดกาย สะอาดใจ |
คลิกอ่านกุศลกรรมบถ ๑๐ ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เหตุแห่งความมีอายุยืน
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี
บ่อเกิดแห่งความสุข
วิรัติวัดศีล
ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก
ศีลศัลยกรรม
สะอาดกาย สะอาดใจ
กลิ่นศีล กลิ่นธรรม
เวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยว
น้ำมหาประลัย
ศีลธรรม-มนุษยธรรม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: