บ่อเกิดแห่งความสุข
“สุขํ ยาว ชรา สีลํ สุขา
สทฺธา ปติฏฺฐิตา
สุโข ปญฺญาย ปฏิลาโภ
ปาปานํ อกรณํ สุขํ
ศีลก่อให้เกิดสุขตราบเท่าชรา ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วก่อให้เกิดสุข
การได้เฉพาะซึ่งปัญญาก่อให้เกิดสุข การไม่ทำบาปทั้งหลายก่อให้เกิดสุข”
ศีลเป็นประดุจฐานที่ตั้งอันมั่นคงที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ
กาย วาจา ที่ได้รับการอบรมในกรอบของศีลอย่างดีแล้ว
จะก่อให้เกิดพลังใจที่ตั้งมั่นผ่องใสเป็นปกติ ผู้รักษาศีลจึงเป็นผู้ที่มีความสุขในทุกช่วงของชีวิต
ตราบกระทั่งแก่ชรา ผู้มีศีลจะได้รับความเคารพนับถืออย่างบริสุทธิ์ใจจากผู้คนทุกชนชั้น
ให้ความสงบร่มเย็นแก่ลูกหลาน คนรอบข้าง และสังคมอย่างแท้จริง
เพราะศีลเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม
เป็นสะพานสู่สวรรค์และพระนิพพาน
คำว่า “ศีล” มาจากรากศัพท์หลายคำ ดังนี้
ศีล มาจากคำว่า สิระ แปลว่า ศีรษะหรือยอด ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดคน
หรือเป็นผู้เจริญที่สุดนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การมีทรัพย์สิน อำนาจ
หรือความรู้ความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น หากแต่อยู่ที่ความบริสุทธิ์แห่งศีล
ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยกย่องจากบัณฑิตว่า ผู้มีศีลได้ชื่อว่าประเสริฐที่สุดกว่าผู้ไม่มีศีล
แม้จะมีรูปสวย รวยทรัพย์ มีคนนับหน้าถือตา
มีสติปัญญาในการแสวงหาทรัพย์ก็ตาม แต่ถ้าไร้ศีลแล้ว
ผู้ที่หล่อ รวย สวย ฉลาดเหล่านั้น ก็คือ คนที่อันตรายที่สุด
เพราะสามารถนำความหายนะมาสู่ตนเอง ประเทศชาติ และคนทั้งโลกได้ ส่วนผู้มีศีล แม้จะอยู่ในเพศภาวะไหน
ผู้รู้ท่านกลับยกย่องว่าเป็นยอดคน
ศีล มาจากคำว่า สีละ แปลว่า ปกติ
เพราะปกติของคนย่อมรักชีวิตของตนและเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ จึงยินดีในการรักษาศีล
เพราะไม่ปรารถนาจะเบียดเบียนกัน ไม่ลักขโมยกัน ยินดีในคู่ครองของตนเอง ไม่โกหก
กล่าวแต่ถ้อยคำที่เป็นจริง มีสติสัมปชัญญะ ไม่ดื่มเครื่องมึนเมาหรือเสพยาเสพติด
รวมถึงไม่หมกมุ่นอยู่กับอบายมุข การรักษาศีลเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่เป็นปกติสมบูรณ์ ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ายังพร่องในเรื่องศีล
ก็ต้องทำตนให้สมบูรณ์สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
โดยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั่นเอง
ศีล มาจากคำว่า สีตละ แปลว่า เย็น เพราะผู้ที่รักษาศีลจะมีความเย็นกาย เย็นใจ
เหมือนคนอาบน้ำชำระล้างร่างกายหมดจดดีแล้วนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ความสงบเยือกเย็นนี้ แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ก็จะรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย เย็นใจตามไปด้วย
ต้นไม้ใหญ่ให้เงาร่มรื่น
สามารถให้ความร่มเย็นกับนกที่มาอาศัยฉันใด
คนผู้มีศีลก็สามารถให้ความสุขกายสบายใจกับผู้ที่เข้ามาคบหาด้วยฉันนั้น
ศีล มาจากคำว่า สิวะ แปลว่า ปลอดโปร่ง
โล่ง เบา สบาย เพราะผู้ที่รักษาศีลได้ครบถ้วนบริบูรณ์จะมีความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะนึกถึงการกระทำของตัวเองในเรื่องใด
ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษหรือทำให้เดือดร้อนกังวลใจ จึงมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งใจ
สบายใจ และปลอดจากภัยเวรทั้งหลาย ผู้ที่มีศีลจะหมั่นสำรวจตรวจตราดูตัวเองทั้งทางกาย
วาจา ไม่ให้ไปกระทบกระทั่งใคร และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นึกถึงคราใดก็จะแช่มชื่น
เย็นใจ เบาใจ
เมื่อเดินทางใกล้ไกลก็ปลอดภัยในทุกที่ทุกสถาน แม้อยู่คนเดียวซึ่งแวดล้อมไปด้วยภยันตรายก็ไม่สะทกสะท้าน
เพราะความมั่นใจในศีลที่ได้รักษามาดีแล้ว
ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
พระสารีบุตรได้กล่าวว่า
ศีล คือ เจตนา
เป็นความตั้งใจที่จะงดเว้นจากกายทุจริต ๓
อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม และวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ
ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
ศีล คือ เจตสิก
หมายถึง การงดเว้นจากมโนทุจริต ๓ คือ ไม่อยากได้ของของผู้อื่น ไม่พยาบาท
มีความเห็นชอบ
ศีล คือ ความสำรวมระวัง
การปิดกั้นความชั่ว
ศีล คือ การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม
หรือละเมิดกฎกติกาอันชอบธรรมที่บัญญัติขึ้น
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและปรามบุคคลผู้ทุศีล
ศีลกับปัญญาอะไรประเสริฐกว่ากัน
ในอดีต พระโพธิสัตว์ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์
ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มหน้าตาดี ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนเจนจบในศิลปวิทยาทุกอย่าง
ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิตของพระราชา พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีศีลและฝักใฝ่ในธรรม
ทำให้พระราชาทรงเคารพยกย่องพระโพธิสัตว์ยิ่งนัก
เพราะทรงเห็นว่านอกจากมากไปด้วยความรู้และความสามารถแล้ว
ยังเป็นผู้มีศีลมีธรรมอีกด้วย ทุกคืนก่อนนอน
พระโพธิสัตว์จะหมั่นสำรวจตรวจตราดูศีลของตัวเองว่าได้ไปทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่
หรือทำอย่างไรศีลที่รักษาจะบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะท่านตระหนักดีว่า
การทำหน้าที่เป็นปุโรหิตนั้น ต้องมีกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ จึงจะสามารถแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควรแก่พระราชาได้
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์คิดว่า “พระราชาทรงเคารพเรา
เพราะเห็นว่าเราเป็นผู้มีศีล หรือเป็นเพราะเรามีความรู้ความสามารถหนอ” จึงแสร้งหยิบเงินของเจ้าหน้าที่เหรัญญิกไป
วันแรกเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเห็นว่าเป็นปุโรหิต
วันต่อมาปุโรหิตก็หยิบเงินไปอีก เมื่อครบ ๓ วัน
เจ้าหน้าที่เหรัญญิกจึงให้ลูกน้องช่วยกันจับปุโรหิตไปให้พระราชาทรงลงโทษในข้อหาเป็นขโมย
พระราชาทรงพระพิโรธมากที่ปุโรหิตเป็นผู้มีปัญญา
แต่เป็นผู้ทุศีล ถึงขนาดเกือบรับสั่งให้มหาดเล็กนำตัวไปตัดศีรษะ เพราะถือว่าเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี
ปุโรหิตได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบทูลความจริงในเจตนาให้ทรงทราบ
ฝ่ายพระราชาก็ทรงขออภัยที่ด่วนตัดสินพระราชหฤทัย ครั้นปุโรหิตทราบแล้วว่าศีลเป็นใหญ่กว่าความเป็นพหูสูต
จึงประกาศท่ามกลางมหาสมาคมว่า
“ข้าพระองค์เคยสงสัยว่า ระหว่างศีลกับการเป็นผู้ทรงจำความรู้มามาก
สิ่งใดจะประเสริฐกว่ากัน แต่มาบัดนี้ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยแล้ว
ชาติกำเนิดและชนชั้นวรรณะเป็นของเปล่า ศีลเท่านั้นประเสริฐที่สุด บุคคลผู้ทุศีล
แม้มีความรู้มาก แต่ความรู้นั่นแหละจะนำความทุกข์มาให้แก่ตัวเองและคนอื่นอีกมากมาย
กษัตริย์และพ่อค้าผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม หากละโลกไปเมื่อใด ก็ย่อมเข้าถึงทุคติ ส่วนกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า กรรมกร
ที่ได้ประพฤติธรรม ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติเหมือนกัน วิชาไตรเพท ชาติกำเนิด
หรือพวกพ้องก็ไม่สามารถจะให้ความสุขในภพหน้าได้ ส่วนศีลที่รักษาบริสุทธิ์ดีแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ทั้งในภพชาตินี้และภพหน้า”
เมื่อพระโพธิสัตว์พรรณนาคุณของศีลแล้ว
จึงกราบทูลลาออกบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญตบะอยู่ในป่าหิมพานต์ ต่อมาท่านสามารถทำอภิญญาสมาบัติให้เกิดขึ้นได้
ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก
การรักษาศีลเป็นบุญกิริยาวัตถุ คือ
วิธีการทำบุญที่ช่วยเกื้อหนุนการทำความดีเบื้องสูงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เป็นกุศลกรรมบถที่ตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว และตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร
ทำให้มีกระแสแห่งความเมตตาเกิดขึ้นในใจเมื่อศีลบริสุทธิ์
กุศลธรรมเบื้องสูงคือการได้บรรลุสมาธิและปัญญาก็จะเกิดขึ้น
การรักษาศีลจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจให้บริสุทธิ์สูงส่งดีงามยิ่งขึ้น
“ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีล จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก
มีความเคารพในศีลทุกเมื่อ เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง
เหมือนคนมีบุตรคนเดียว รักษาบุตรผู้เป็นที่รัก และเหมือนคนมีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างเถิด” (พรหมชาลสูตร)
Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี
ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๘ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านกุศลกรรมบถ ๑๐ ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เหตุแห่งความมีอายุยืน
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี
วิรัติวัดศีล
ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก
ศีลศัลยกรรม
ศีลธรรม-มนุษยธรรม
สะอาดกาย สะอาดใจ
กลิ่นศีล กลิ่นธรรม
เวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยว
น้ำมหาประลัย
วิรัติวัดศีล |
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี |
คลิกอ่านกุศลกรรมบถ ๑๐ ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เหตุแห่งความมีอายุยืน
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี
วิรัติวัดศีล
ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก
ศีลศัลยกรรม
ศีลธรรม-มนุษยธรรม
สะอาดกาย สะอาดใจ
กลิ่นศีล กลิ่นธรรม
เวมานิกเปรตผู้โดดเดี่ยว
น้ำมหาประลัย
บ่อเกิดแห่งความสุข
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:05
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: