กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี


กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี
เวลา จ สํวรํ สีลํ               จิตฺตสฺส อภิหาสนํ
ติตฺถญฺจ สพฺพพุทฺธานํ         ตสฺมา สีลํ วิโสธเยฯ

ศีล เป็นเขตแดน เป็นเครื่องปิดกั้นความทุจริต ทําจิตให้ร่าเริงแจ่มใส
และเป็นท่าหยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น บุคคลพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ (สีลวเถรคาถา)

มนุษย์มิได้ดํารงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลําพัง หากแต่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ ตั้งแต่อยู่กันเป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นอําเภอ เป็นจังหวัด เรื่อยไปจนถึงระดับประเทศ และเป็นประชาคมโลกใบเดียวกัน ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีเขตแดนหรือกรอบกั้นที่จะไม่ทำความผิดต่อกัน มีข้อตกลงระหว่างกันในการที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข ข้อตกลงนั้น คือ มนุษยธรรมหรือศีล ๕

ทุกชีวิตเกิดมานับแต่ลืมตาดูโลกไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ต่างรักและหวงแหนชีวิตของตนไม่น้อยไปกว่ากัน ในเมื่อเรารักชีวิต ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ไม่ต้องการให้ใครมาเบียดเบียนชีวิตเรา ผู้อื่นก็ย่อมจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเกิด มนุษยธรรมข้อแรก ขึ้นว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราจะสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่า หรือเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ทั้งที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงสรรพสัตว์ทุกชีวิต

ความรักชีวิตสอนให้สรรพชีวิตรู้จักแสวงหาทรัพย์อันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพ แม้จะเหนื่อยยากเพียงใด ทุกชีวิตต่างดิ้นรนหาทรัพย์มาเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเอง ทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยความยากลําบากนั้น ไม่ว่าจะมีมูลค่ามากน้อยเพียงใดก็ตาม ต่างก็เป็นของรักของหวงทั้งสิ้น ในเมื่อเราไม่ต้องการให้ใครมาฉกฉวยแย่งชิงไปจากเรา ผู้อื่นก็ไม่ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน ดังนั้นจึงเกิด มนุษยธรรมข้อที่ ๒ ว่า อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราจะสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการลักขโมยหรือแย่งชิงทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตัว

ทุกชีวิตมีความรักใคร่ห่วงใยในคู่ครอง และครอบครัวของตน ซึ่งต่างก็ปรารถนาจะร่วมชีวิตกันอย่างอบอุ่น สืบทอดวงศ์ตระกูลอย่างภาคภูมิใจ หากมีใครมาประพฤติผิดในสามี ภรรยา บุตร ธิดาของผู้อื่น ก็จะทําให้เขามีความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ ในทํานองเดียวกันตัวเราเองก็ไม่ปรารถนาให้ใครมาประพฤติผิดในสามี ภรรยา หรือบุตรธิดาของเราเช่นกัน ดังนั้นจึงเกิด มนุษยธรรมข้อที่ ๓ ว่า กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราจะสมาทานสิกขาบท คือการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

นอกจากนี้ ความสัตย์และความจริงใจเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องการ การตัดสินใจจะทําอะไรได้ดีต้องมีข้อมูลที่จริงและถูกต้อง อีกทั้งความมั่นใจในการดําเนินชีวิตอยู่ร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความซื่อตรง จริงใจต่อกัน การโกหกหลอกลวงไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายในทรัพย์สิน รวมไปถึงชีวิตก็อาจถูกทําลายได้ ดังนั้นเมื่อเราไม่ต้องการถูกหลอกลวงฉันใด ผู้อื่นก็ไม่ต้องการถูกหลอกลวงเช่นกัน จึงเกิด มนุษยธรรมข้อที่ ๔ ว่า มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราจะสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการโกหกพูดเท็จต่อกัน

ประการสุดท้าย ความสงบปลอดภัยในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกชีวิตตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะคนประมาทขาดสติสามารถทําความชั่วได้ทุกอย่างและสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง จัดเป็นบุคคลอันตราย จึงควรจะป้องกันมิให้ใครตกอยู่ในความประมาทขาดสติอันมีสาเหตุหลักมาจากการเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถนําไปสู่การทําผิดศีลทุก ๆ ข้อ ดังนั้นจึงเกิด มนุษยธรรมข้อที่ ๕ ว่า สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราจะสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในความประมาท

ศีลทั้ง ๕ ข้อ มาจากสามัญสํานึกของมนุษย์ที่รู้ว่า เมื่อเรามีความรักตนเอง ปรารถนาความสุข ความปลอดภัยในชีวิต ผู้อื่นก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา การนึกถึงใจเขาใจเราเช่นนี้ เป็นวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนชาวโลกให้รักษาศีล โดยเริ่มต้นที่ความรู้สึกของเราก่อน ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสโดยรวมว่า หมู่สัตว์ที่เกิดมาแล้ว เป็นผู้ใคร่สุข บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน แต่ใช้ท่อนไม้เบียดเบียนสัตว์อื่น ลักขโมย ประพฤติผิดในภรรยาสามีของคนอื่น โกหกคนอื่น ดื่มสุราเมรัย บุคคลนั้นละโลกไปแล้วย่อมไม่ได้สุข

โลกสดสวยด้วยศีล ๕

ในยุคสมัยที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิด ศีล ๕ ก็เป็นมนุษยธรรมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพราะศีล ๕ เปรียบเสมือนลู่ชีวิตของสรรพสัตว์ ทุกชีวิตต้องอยู่ในลู่แห่งศีลเท่านั้น ไม่ควรออกนอกลู่นอกทาง เพราะปัญหาสังคมของมนุษย์มีอยู่ตลอดกาล แม้ในยุคสมัยที่โลกอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มนุษย์ดํารงชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์มีความแตกต่างกัน เริ่มจากเรื่องการแบ่งแยกทางผิวพรรณวรรณะก่อน บางคนมีผิวพรรณงาม บางคนผิวพรรณไม่งาม จึงทําให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นดูหมิ่นดูแคลนกัน ความเสื่อมของสภาพจิตใจก็เกิดขึ้น ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศโลกเสื่อมลงไปด้วย

เมื่อบรรยากาศของโลกเสีย ระบบนิเวศและทรัพยากรที่เคยมีอยู่อย่างสมบูรณจึงลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ อาหารที่ประณีตกลับกลายเป็นของด้อยคุณภาพ ยิ่งมีการจับจองครอบครองทรัพยากรที่มีจํากัดด้วยความเห็นแก่ตัว จึงเกิดการกักตุน คนที่ไม่มีก็ต้องไปหามาโดยวิธีลัด คือ ลักขโมย ในที่สุดความเดือดร้อนก็บังเกิดขึ้น คนดี ๆ ในสมัยก่อนต่างพิจารณาดูว่า ทําอย่างไรหนอ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ จึงเห็นพ้องต้องกันว่า มันต้องมีขอบเขตของมนุษยธรรมเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะรู้ว่าสาเหตุที่ทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมลงเช่นนี้ เป็นผลมาจากมนุษย์เสื่อมจากศีลธรรม จึงช่วยกันบัญญัติมนุษยธรรมขึ้นมา ๕ ข้อเพื่อให้ทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติพร้อมทั้งยกย่องผู้มีคุณธรรมและความสามารถขึ้นมาเป็นหัวหน้า เพื่อมาปกครองดูแลรักษามนุษย์ด้วยกันเอง

ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ศีล ๕ ก็เป็นของคู่โลกและมีอยู่แล้วทุกยุคทุกสมัยและการมีศีลทําให้มนุษย์เป็นผู้รู้จักใช้เหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจและสิ่งนี้ คือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ฉะนั้น หากต้องการเป็นคนมีศักดิ์ศรีที่แท้จริง เข้าสู่สมาคมใดก็องอาจกล้าหาญ รู้สึกสุขกายสบายใจ ก็เริ่มต้นจากเป็นผู้มีศีล ๕ นี้แหละ แม้มีเหตุให้เราต้องเสียศีล แต่เราก็ไม่ยอมทําผิดทําพลาด ยอมสละทั้งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์เอาไว้ นี้คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เราจะปลาบปลื้มปีติใจทุกครั้งที่นึกถึง ศีลจะทําให้เรามีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกภพทุกชาติ ตราบวันเข้าสู่พระนิพพาน

ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้งอาศัย เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นประมุขแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น นรชนพึงชําระศีลของตนให้บริสุทธิ์เถิด” (ขุ.เถร)..


Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗



 เหตุแห่งความมีอายุยืน

บ่อเกิดแห่งความสุข


คลิกอ่านกุศลกรรมบถ ๑๐ ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.