ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก


ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก
สีลํ เสตุ มเหสกฺโข                สีลํ คนฺโธ อนุตฺตโร
สีลํ วิเลปนํ เสฏฺํ                    เยน วาติ ทิโส ทิสํ

ศีลเป็นสะพานข้ามฟากอันมีพลังมาก ศีลมีกลิ่นหอมอันยอดเยี่ยม
ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ” (ขุ.เถร.)

ศีลเป็นสะพานข้ามฟากที่มีพลังมาก สามารถพาข้ามไปสู่เทวโลกและพรหมโลก หรือแม้กระทั่งไปสู่พระนิพพาน บุคคลใดรักษาศีลเป็นปกติศีลก็จะรักษาบุคคลนั้นให้อยูในสุคติภูมิเพียงอย่างเดียว ไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิ ศีลเป็นคุณธรรมที่จะระงับโทสะ ควบคุมกายและวาจาไม่ให้ไปกระทบกระทั่งใคร เหมือนเราควบคุมไฟให้ติดอยู่เฉพาะในเตา ไม่ให้ลามออกไปข้างนอก

ผู้ที่รักษาศีลจะแกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางชุมชน เกียรติคุณย่อมฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนดี เพราะกลิ่นศีลหอมทวนลมได้ฟุ้งปกคลุมไปทั่วทุกทิศ โดยเฉพาะการรักษาอุโบสถศีล ถือเป็นการฝึกหัดขัดเกลากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น บัณฑิตนักปราชญ์ในสมัยก่อน นอกจากรักษาศีล ๕ ท่านยังนิยมรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ทั้งวันรับวันส่ง เพราะรู้ว่าเป็นบุญพิเศษอันจะเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติติดตัวไปข้ามชาติ

อานุภาพอุโบสถศีล

ในสมัยพุทธกาล พระมหาโมคคัลลานะเหาะขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อตรวจดูวิมานและทิพยสมบัติของเทพบุตรเทพธิดาแล้วมักจะนํามาบอกเล่าให้สาธุชนฟังและอนุโมทนาสาธุการ เพื่อจะได้มีกําลังใจในการสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมเทพธิดาผู้มีบุญท่านหนึ่ง พลางไต่ถามบุพกรรมว่า แม่เทพธิดา เธอทําบุญอะไรไว้จึงมีวรรณะสว่างไสวเช่นนี้ และรัศมีของเธอก็สว่างไสวไปทุกทิศ




เทพธิดาตอบว่า ชาวเมืองเรียกดิฉันว่า สุทินนา ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์ เป็นผู้มีศรัทธา สํารวมในศีล งดเว้นจากปาณาติบาต เว้นห่างไกลจากอทินนาทาน เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นมุสาวาทและสํารวมจากการดื่มน้ำเมา ดิฉันเป็นผู้ยินดีในการรักษาศีล ๕ ยินดีในการรักษาอุโบสถศีล และรักษาศีล ๘ ในวันพระ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ทั้งวันรับวันส่ง เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีวรรณะเช่นนี้ สมบัติทุกอย่างที่น่าปลื้มใจเกิดขึ้นแก่ดิฉัน เพราะบุญที่ดิฉันทําไว้ดีแล้วตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ ซึ่งเมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์นั้น ดิฉันตั้งใจรักษาอุโบสถศีล เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีของดิฉันก็สว่างไสวไปทุกทิศ

ยิ่งไปกว่านั้น ศีลเป็นคุณธรรมอันจะนไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง คือ อธิจิตและอธิปัญญา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พืชที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์เพราะตั้งอยู่บนแผ่นดิน ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลย่อมถึงความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลายได้ ฉันนั้น

ความยากของการถือศีล

ในสมัยพุทธกาล พราหมณ์คนหนึ่งถามพระสารีบุตรว่า ในชีวิตของท่านตั้งแต่เกิดมา มีอะไรที่ทําได้ยากบ้าง พระเถระตอบว่า การบวชเป็นสิ่งที่ทําได้ยาก เพราะต้องอาศัยความศรัทธา กล้าตัดสินใจที่จะสละความสุขทางโลก แล้วมาประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ซึ่งเป็นการกระทําที่สวนกระแสโลก

พราหมณ์ถามต่อไปว่า แล้วมีอะไรที่ยากกว่านั้นอีกหรือไม่ท่านตอบว่า มี คือการบวชตลอดชีวิต บวชระยะสั้นเพียงไม่กี่เดือน แม้มีความลําบากในการดําเนินชีวิต แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ส่วนการบวชตลอดชีวิตต้องอาศัยกําลังใจที่สูงส่ง ต้องมีความอดทนมาก




พราหมณ์ฟังแล้วรู้สึกฉงน จึงซักถามต่อไปว่า แล้วยังมีอะไรที่ท่านคิดว่ายากกว่านี้อีกไหม พระเถระ มีสิ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิตความเป็นสมณะ เป็นเรื่องที่ทําได้ยากยิ่ง เพราะตราบใดที่พระภิกษุยังเป็นปุถุชนอยู่ โอกาสประพฤติผิดพลาดมีอยู่ตลอดเวลา บางท่านแม้บวชได้ตลอดชีวิต แต่ภายในยังรกไปด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองก็มีไม่ได้มีธรรมที่เป็นคุณของความเป็นสมณะ แต่บอกชาวโลกว่าเป็นสมณะ เมื่อละโลกก็ไปบังเกิดในอบาย ส่วนผู้ที่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์จนก่อเกิดเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นภายในสามารถทําตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสไปสู่พระนิพพาน นับเป็นบุคคลผู้หาได้ยากยิ่งนี่ คือลําดับขั้นของพัฒนาการในการรักษาศีล หากทําได้สมบูรณ์การบรรลุมรรคผลนิพพานก็จะตามมา

ผู้รักษาศีลชื่อว่า ผู้ให้ทาน

การรักษาศีลได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัย สบายใจแก่สรรพสัตว์ บางท่านอาจคิดว่าการทําทานคือการให้สิ่งของ ไม่เกี่ยวกับการรักษาศีล แต่ความเป็นจริง การให้ความปลอดภัย ให้ชีวิตก็เป็นทานอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นมหาทานทีเดียว เพราะการรักษาศีลด้วยชีวิตหรือให้ชีวิตเป็นทานจัดเป็นปรมัตถบารมี หากทุกคนตั้งใจรักษาศีลทุกชีวิตจะได้รับความปลอดภัยทันที อีกทั้งไม่เฉพาะผู้รักษาศีลเท่านั้นที่จะได้บุญ ยังมีคนรอบข้างอีกมากมายที่เกิดความอบอุ่นใจตามไปด้วย เช่น

ศีลข้อ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์และมนุษย์ ได้ชื่อว่าเราให้ชีวิตแก่สรรพสัตว์ เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใด ๆ เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในบรรดาทรัพย์สมบัติภายนอกทั้งหมด

ศีลข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ ได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง ไม่ต้องระแวดระวังภัย

ศีลข้อ ๓ ไม่ประพฤติผิดในกาม ได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ความไว้วางใจแก่บุตรธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด




ศีลข้อ ๔ ไม่กล่าวเท็จ ได้ชื่อว่าให้ความจริงแก่ทุกคน ทําให้เกิดความมั่นใจในการดําเนินชีวิต โดยไม่ต้องระแวงซึ่งกันและกัน

ศีลข้อ ๕ ไม่ดื่มสุราเมรัย ได้ชื่อว่าให้ความอบอุ่นใจ ให้ความปลอดภัยกับทุกชีวิต เพราะคนที่ประมาท ขาดสติ สามารถทความชั่วได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทําได้ ดังนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๕ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักให้มากที่สุด

จะเห็นได้ว่า การรักษาศีลเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่น การรักษาศีลจึงเป็นบุญที่พิเศษอย่างยิ่ง หากรักษาศีลให้สูงยิ่งขึ้นไป เช่นศีล ๘ หรืออุโบสถศีล ศีล ๑๐ ของสามเณร และศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ ย่อมจะเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ ทวยเทพได้ยินชื่อของบุคคลใดว่าเป็นผู้มีศีลมีธรรม ก็จะแซ่ซ้องอนุโมทนา และตามคุ้มครองรักษาผู้นั้น ดังนั้น เราควรหมั่นตามรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ นึกถึงทีไรจะได้มีความปลื้มปีติใจเป็นรางวัล ความปีติใจจะทําให้มีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้า ได้เข้าถึงธรรมะภายในอย่างสะดวกสบาย

กลิ่นดอกไม้ไม่อาจฟุ้งทวนลมได้ แต่กลิ่นผู้ทรงศีลฟุ้งทวนลม กลิ่นจันทน์ กฤษณา อุบล มะลิ แม้จะมีกลิ่นหอม แต่กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่า กลิ่นกฤษณาและแก่นจันทน์มีความหอมเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีล เป็นกลิ่นสูงสุด ฟุ้งไปได้ไกล และฟุ้งขึ้นไปสูงถึงหมู่ทวยเทพทั้งหลาย”..

Cr.พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก ศีล..สะพานข้ามสู่เทวโลก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:48 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.