กลิ่นศีล กลิ่นธรรม


ดูก่อนจุนทะ  ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
ละการพูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด  เว้นขาดจากคำหยาบ  ละคำเพ้อเจ้อ
ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง นี้แล”   (จุนทสูตร)

การรู้จักอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ปราศจากกลิ่นตัวรบกวนผู้อื่น เป็นมารยาทสังคมอย่างหนึ่ง เป็นความสะอาดที่มนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์สังคมพึงตระหนัก ส่วนความสะอาดกายตามหลักอริยวินัยนั้น ท่านหมายถึงการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม แม้ร่างกายจะเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นหรือของไม่สะอาด เสื้อผ้าจะสกปรกหรือผมเผ้ายาวรุงรังเหมือนฤๅษีนักพรต แต่ก็ถือว่าเป็นผู้มีความสะอาดทางกาย เพราะไม่ได้ทำบาปด้วยกาย  ส่วนความสะอาดทางวาจา หมายถึง การไม่พูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ 

ถ้าอยากรู้ว่าเรามีความสะอาดในการกล่าววาจามากน้อยแค่ไหน พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้

องค์ประกอบของการพูดเท็จมี ๔ ประการ  คือ  ๑. พูดเรื่องไม่จริง ๒. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง ๓. พยายามพูดให้ผิดจากความจริง ๔. คนฟังเข้าใจความหมายตามที่พูดนั้น

นอกจากนี้ ยังมีคำพูดส่อเสียด คือ การนำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น หรือนำความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยวัตถุประสงค์จะให้แตกแยกกัน เช่น ยุยงกลุ่มคนที่รักใคร่ปรองดองสมัครสมานสามัคคีให้แตกแยก หรือส่งเสริมผู้แตกแยกกันอยู่แล้วให้แตกแยกขึ้นไปอีก ชนิดสมานกันไม่ติดอีกต่อไป คำพูดประเภทนี้ ภาษาพระเรียกว่า  ปิสุณวาจา 


องค์ประกอบของการพูดส่อเสียด มี ๔ ประการ  คือ ๑. มีคนอื่นที่ตนพึงทำให้แตกกัน  ๒. มีเจตนากล่าวให้คนอื่นแตกกัน ๓. มีความพยายามที่จะพูดให้เขาแตกกัน ๔. บุคคลนั้นรู้ความหมายนั้น และเกิดการแตกกัน หากเขายังไม่แตกแยก กรรมบถก็ยังไม่ขาด  แต่ถ้าแตกกันเมื่อไร จึงจัดว่าเป็นผู้ประพฤติผิดหลักกุศลกรรมบถ

พูดคำหยาบหรือผรุสวาจา คือ คำพูดที่หักหาญน้ำใจหรือทำความไม่สบายใจให้แก่ผู้ฟัง เป็นถ้อยคำไม่สร้างสรรค์ มุ่งสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น แต่ก็ต้องดูที่เจตนาด้วย เพราะบางครั้งคำพูดมักไม่ตรงกับความตั้งใจที่อยากจะให้เป็น ดังเช่น เรื่องของหนูน้อยคนหนึ่ง เธอไม่เชื่อฟังถ้อยคำของแม่ เพราะอยากไปเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อน ๆ แม่เห็นว่าเวลาใกล้จะค่ำมืดแล้วจึงไม่อนุญาต แต่หนูน้อยซึ่งอยู่ในวัยอยากเที่ยวอยากเล่น วิ่งออกจากบ้านไปโดยไม่เชื่อฟังคำทัดทานของแม่ ทำให้แม่หงุดหงิดถึงกับพลั้งปากไปว่า ขอให้วัวขวิดตายไปเลย

หนูน้อยได้ยินคำแม่ก่นด่าตามหลังก็ไม่สนใจ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่ว่าตนจะดื้อแค่ไหนแม่ก็ยังรัก จึงไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนตามใจชอบในทุ่งนา แต่บังเอิญมีวัวแม่ลูกอ่อนมายืนขวางอยู่ข้างหน้า แล้วเดินเข้าใส่หมายจะทำร้าย หนูน้อยตกใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะนั้นพลันนึกถึงคำแช่งด่าของแม่ที่ตะโกนไล่หลังมาว่า ขอให้วัวขวิดตาย!คำแช่งด่านั้นจะเป็นจริงแล้ว หนูน้อยรู้สึกตกใจมาก แต่ภายในใจเธอรู้ดีว่า แม่รักลูกมาก ไม่อยากให้ลูกตายจริง จึงทำสัจกิริยาว่า แม่ของข้าพเจ้าพูดคำใดด้วยปาก ขอคำนั้นจงอย่าเป็นจริง แต่ถ้าแม่คิดอย่างไร ขอให้สิ่งนั้นจงกลายเป็นจริงเถิดทันทีที่อธิษฐานจิตเช่นนี้ วัวที่กำลังเดินมุ่งหน้าเข้าใส่ กลับหยุดยืนแล้วเดินไปกินหญ้าตามปกติ หนูน้อยเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น ก็รีบกลับบ้าน เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้แม่ฟังทั้งน้ำตา เธอรู้แล้วว่าแม่รักลูกมาก จึงรีบขอขมาที่ไม่เชื่อฟังแม่ ตั้งแต่นั้นมาหนูน้อยก็อยู่ในโอวาทแม่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นลูกที่เก่งและดีของแม่ตลอดไป


นี้คือตัวอย่างถ้อยคำที่ไม่ใช่ผรุสวาท แม้ว่าจะเป็นถ้อยคำที่หักหาญน้ำใจหรือด่าว่าก็ตาม แต่ไม่ได้มีเจตนาร้ายตามที่พูด เพราะแม่เป็นผู้มีจิตอ่อนโยนต่อลูกเสมอ แม้บางครั้งพ่อแม่มักว่ากล่าวข่มขู่ลูกที่เกเร เช่น ขอให้รถชนตาย ขอให้ไปตายเสีย ขอให้เสือกัดตาย เป็นต้น  แต่ความจริงแล้วท่านไม่ได้ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น ท่านดูแลลูกชนิดยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม  ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงอันตรายที่จะมาพรากชีวิตของลูกไป ที่ท่านพูดอย่างนั้นก็เพราะด้วยความรักความห่วงใย อย่างนี้ไม่เรียกว่า  ผรุสวาจา

ส่วนผู้ที่พูดจาอ่อนหวาน แต่แฝงไว้ด้วยเจตนาร้าย มีความประสงค์จะให้คนอื่นตาย เช่น พูดว่า พวกท่านจงหลับเป็นสุขเถิดแล้วแอบใส่ยาพิษให้เขากินจนตาย อย่างนี้ถือว่าเป็น  ผรุสวาจา เพราะเป็นวาจาที่เกิดจากจิตที่ประทุษร้าย  อย่างไรก็ตาม ผรุสวาจานั้นจะมีโทษน้อย เมื่อบุคคลที่ว่ากล่าวมีคุณน้อย และมีโทษมาก เมื่อบุคคลนั้นมีคุณมาก เช่น ด่าว่าพระอริยเจ้าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถือว่าเป็นกรรมหนักมาก การด่าพระอรหันต์จัดเป็น อริยุปวาท เป็นวจีทุจริตที่มีโทษถึงขั้นตกนรก  เหมือนชัมพุกปริพาชกในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พลาดไปด่าพระอรหันต์ว่า ผู้มีอายุ ท่านเคี้ยวกินคูถประเสริฐกว่าการบริโภคอาหารในเรือนของกุฎุมพี ให้ท่านถอนผมด้วยแปรงตาล ประเสริฐกว่าการปลงผมด้วยมีดโกนที่โยมนำมาถวาย ท่านเปลือยกายเที่ยวไป ประเสริฐกว่าการนุ่งผ้าที่โยมถวาย ท่านนอนบนพื้นดินประเสริฐกว่าการนอนบนเตียงที่โยมนำมาถวาย

กรรม คือ อริยุปวาทของชัมพุกะนั้น  ส่งผลให้เขาหมกไหม้ในอเวจีมหานรก เมื่อกลับมาเกิดเป็นคน ก็ต้องเคี้ยวกินคูถอย่างเดียว นอนบนแผ่นดินอย่างเดียว เป็นคนเปลือยกาย นุ่งลมห่มฟ้า ถอนผมด้วยท่อนแปรงตาลถึง ๕๕ ปี แต่กรรมนั้นสิ้นสุดลง เพราะชาตินี้ได้อาศัยพระมหากรุณาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรด จนกระทั่งได้บรรลุอรหัตผล จึงไม่ต้องเปลือยกายและกินคูถ หรือใช้แปรงตาลถอนผมอีก


องค์ประกอบของคำหยาบ มี ๓ ประการ  คือ ๑. มีคนอื่นที่ตนอยากด่า ๒. มีจิตโกรธเคือง  ๓. ได้ด่าสมดังใจปรารถนา

การพูดเพ้อเจ้อ หรือ  สัมผัปปลาปะ เป็นการกล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง ไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม เป็นวาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  องค์ประกอบของคำพูดเพ้อเจ้อ มี ๒ ประการ คือ ๑. มีเจตนาพูดเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ๒. มีการพูดเพ้อเจ้อจริง  หากไม่มีใครถือสาหรือสนใจในเรื่องที่พูดนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นอกุศลกรรมบถ  แต่ถ้ามีคนเชื่อถือและนำไปปฏิบัติตามจึงจะจัดว่าเป็นอกุศลกรรมบถ

ทั้งหมดนี้ คือ  องค์ประกอบหลักของคำว่าผิดศีลข้อ ๔ คือ  มุสาวาทา เวระมะณีรวมไปถึงคำพูดที่เรียกว่าเป็นอกุศลกรรมบถ  เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว  เราจะได้สำรวมระวังวาจาของเราให้ดี ไม่ไปล่วงละเมิดทั้งศีล ทั้งอกุศลกรรมบถ และควรฝึกพูดแต่ปิยวาจา ให้ทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาเป็นประดุจถ้อยคำเพชร ถ้อยคำพลอย เป็นไปเพื่อบุญกุศล เพื่อยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น น้อมนำใจให้ไปสู่สวรรค์และนิพพาน อีกทั้งควรใช้วาจาชักชวนผู้มีบุญให้มาสร้างบารมี  มาแสวงหาพระรัตนตรัยภายใน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสะอาดวาจาอย่างแท้จริง


Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
กลิ่นศีล กลิ่นธรรม กลิ่นศีล กลิ่นธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.