เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
สมัยพุทธกาลมีการเวียนเทียนหรือไม่?
การเวียนเทียนเป็นธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
เวลามีการแสดงความเคารพต่อสิ่งใดจะใช้การเวียนเทียน
ซึ่งมีศัพท์เรียกว่าเวียนประทักษิณ
ที่เราเรียกว่าเวียนขวา คือเวลาเราจะแสดงความเคารพสิ่งใด
อย่างเช่นจะเวียนเทียนรอบโบสถ์ รอบพระพุทธรูป รอบพระสถูป ให้เอาแขนขวาของเราเข้าใกล้สิ่งนั้น
หรือบางทีเราก็อาจจะอาราธนาพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ มาวางไว้ แล้วเวียนเทียนรอบ ๆ
พระพุทธรูปองค์นั้น ไม่จำเป็นต้องเวียนเทียนรอบโบสถ์ก็ได้ เพราะบางที่ไม่มีโบสถ์ให้เราอาราธนาพระพุทธรูปมาวางไว้
แล้วเดินเวียนรอบ ๆ ก็ถือเป็นการเวียนเทียนเหมือนกัน คือเวียนประทักษิณระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
ทำไมต้องมีการเวียนเทียน?
ที่เรียกว่าเวียนเทียนเพราะว่าเราถือเทียนไว้ในมือ ซึ่งบางทีก็มีทั้งเทียน ทั้งธูป
แต่เราไม่เรียกเวียนธูป เพราะธูปเป็นควันมองเห็นไม่ชัด แต่เทียนมันสว่าง
มองเห็นง่าย เราก็เลยเรียกว่าเวียนเทียน
การเวียนเทียนคือการบูชาด้วยความสว่าง
เพราะถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำความสว่างแห่งปัญญามาให้เราได้รู้จักความจริงของโลกและชีวิต
เราบูชาปัญญาซึ่งมีตัวแทนคือความสว่างโดยใช้เทียน ส่วนธูปเป็นการบูชาด้วยของหอมว่ากลิ่นศีลของพระองค์หอมทวนลม
เคยมีคำถามว่า อะไรเอ่ยหอมทวนลม ปกติความหอมทั่วไปจะหอมตามลม
เพราะความหอมเกิดจากโมเลกุลของสิ่งนั้นมากระทบต่อเซลล์ประสาทรับกลิ่นของเราที่โคนจมูก
พอเราหายใจเข้าไป โมเลกุลของสิ่งนั้นจะไปกระทบกับใยประสาท ทำให้เกิดกลิ่นขึ้นมา
แล้วอะไรจะหอมทวนลมได้ ท่านบอกว่ากลิ่นศีลจะหอมทวนลม
ปกติเทวดาอยากอยู่ห่างมนุษย์มาก ๆ ไม่อยากเข้าใกล้
เพราะเทวดารู้สึกว่ากลิ่นมนุษย์เหม็นเหมือนศพ ไม่อยากเข้าใกล้
ยกเว้นมนุษย์ผู้มีศีล ถ้าวันไหนเทวดาจะลงมาดูแลรักษาเรา ก็เพราะกลิ่นศีลหอมทวนลม เพราะฉะนั้นเราบูชาว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระบริสุทธิคุณด้วยการจุดธูประลึกถึงศีลของพระองค์
และเราเองก็ต้องปฏิบัติให้มีศีลอย่างพระองค์ด้วย
ศีล ๕
คือศีลเบื้องต้นของฆราวาส แต่ถ้าวันพระหรือวันคล้ายวันเกิด เช่น
ใครเกิดวันจันทร์ ก็รักษาศีล ๘ วันจันทร์ อาทิตย์หนึ่งสักครั้งหนึ่ง ถ้าทำได้จะดีมาก เพราะถ้าเรารักษาศีล ๕
เดี๋ยวนี้สิ่งยั่วยวน สิ่งเร้ามีมาก เกิดเราใจอ่อนไปผิดศีล ศีลเราก็จะขาด
แต่ถ้าเรายกใจเราสูงขึ้นเป็นศีล ๘ ถึงคราวจะร่วงลงมาเป็นศีล ๕ ก็ยังดี คือเหมือนกับชกรุ่นเฮฟวีเวทแล้วพอเจอรุ่นฟลายเวทก็สบาย
ๆ ฉะนั้นอาทิตย์หนึ่งก็เอาวันเกิดตัวเองสัก ๑ วัน วันพระอีก ๑ วัน รักษาศีล ๘
ให้ได้ ๒ วันต่อสัปดาห์ อย่างนี้เยี่ยมเลย
ปัจจุบันประเทศอินเดียยังมีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาไหม?
หลังจากอิสลามรุกเข้ามายึดอินเดีย พระพุทธศาสนาก็หายจากอินเดียไปช่วงใหญ่
แต่ตอนนี้เริ่มฟื้นกลับมาแล้ว
เมื่อวิสาขบูขาที่ผ่านมาก็มีการนิมนต์และเชิญตัวแทนจากวัดพระธรรมกายไปจัดงานวิสาขบูชาที่อินเดีย
ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ส่งหมู่คณะไป
ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีมาร่วมงานกันหลายท่านเขาปลื้มใจมาก ขอให้ไปช่วยจัดตามเมืองต่าง ๆ อีกหลายแห่ง
และบอกว่าปีหน้าช้าไป ขอเร็ว ๆ หน่อยได้ไหม มีงานอะไรก็อยากให้ไปช่วยจัด
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้กลับไปสู่แดนพุทธภูมิคือประเทศอินเดียอย่างจริงจังแล้ว
พิธีกรรมวันวิสาขบูชาของอินเดียกับไทยเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
โดยพื้นฐานก็คล้าย ๆ กัน
เพราะตอนนี้เราเอาต้นแบบธรรมเนียมพุทธของเรากลับไปให้เขา
เขากำลังดูชาวพุทธไทยเป็นต้นแบบ
แต่ก็ต้องปรับให้เข้ากับธรรมชาติบ้านเมืองเขาเหมือนกัน เช่น การปล่อยโคมลอย
เมืองเขาลมแรงมาก บางทีพัดจนกระดาษที่หุ้มโคมโป่ง ถูกไฟข้างในไหม้ก็มี
แต่คนอินเดียเขาก็สู้ พยายามจนสามารถปล่อยได้สำเร็จเป็นร้อย ๆ โคม
แล้วเขาก็เบิกบานกัน อยากจะให้จัดอีก
มีชาวอินเดียมาร่วมงานเป็นหมื่นเป็นแสนคนอย่างเงียบสงบและเป็นระเบียบ
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในอินเดีย ทำให้เกิดความทึ่งและตะลึงไปตาม ๆ
กัน
เราเอาธรรมเนียมปฏิบัติที่วัดของเราไปทำที่อินเดีย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบเสงี่ยม
ทุกอย่างเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัย แสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งสร้างความประทับใจและความศรัทธาแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ของอินเดียได้เป็นอย่างดี
อานิสงส์ของการร่วมพิธีเวียนเทียนมีอะไรบ้าง?
อานิสงส์มหาศาล
มีเรื่องจริงเกิดขึ้นเมื่อครั้งพุทธกาล คือมีเทพธิดาเกิดใหม่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชั้นเดียวกับพระอินทร์ เทพธิดาที่เกิดขึ้นมามีวิมานสวยมาก มีสีทอง เทวรถก็สีทอง
พัดก็สีทอง อะไร ๆ ก็สีทองทั้งนั้น สีเหลืองทองสวยงามมาก พระอินทร์เห็นยังทึ่งเลย
และไปถามเทพธิดาเจ้าของวิมานว่า “ดูก่อนเทพธิดา เธอทำบุญอะไรมาหรือ
ทำไมวิมานสวยอย่างนี้” เทพธิดาไม่กล้าตอบเพราะอาย
พอพระอินทร์ถามรุกเร้าเข้า ก็เลยตอบว่า
“ดิฉันเพิ่งมาเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตอนเป็นมนุษย์กำลังจะไปบูชาพระสถูปเจดีย์ด้วยดอกบวบขม
เคยเห็นชาวบ้านเขาถือธูปเทียนไปไหว้พระสถูปเจดีย์ ก็อยากจะไปบ้าง
แต่ไม่มีเงินซื้อธูปเทียนของหอมอย่างคนอื่นเขา เพราะจนมาก
จึงเด็ดดอกบวบขมข้างทางมา ๔ ดอก ตั้งใจจะไปบูชาพระสถูปเจดีย์”
ระหว่างเดินไป
วิบากกรรมเก่าตามมาถึง
ถูกแม่โควิ่งมาขวิดตายกลางทาง ขณะที่ใจเต็มเปี่ยมด้วยความศรัทธา
พอละจากโลกนี้ก็ได้เกิดเป็นเทพธิดามีวิมานสีเหลืองทอง
นี่ขนาดยังไปไม่ถึงพระสถูปเจดีย์
แต่ความตั้งใจมีอยู่ ของที่บูชาก็เป็นของที่ราคาถูกมาก คือดอกบวบที่เก็บจากข้างทาง
อานิสงส์ยังส่งขนาดนี้
ถ้าตั้งใจเวียนเทียนบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยใจศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงแน่วแน่
ยิ่งทำสมาธิไปด้วย ลองคิดดูว่าบุญขนาดไหน อานิสงส์มหาศาลเลย ท่านถึงสรุปว่า “เมื่อมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว
ทักษิณาทานหาชื่อว่าเป็นของน้อยไม่”
ในระหว่างการเวียนเทียน ๓
รอบต้องมีการสวดมนต์ไหม?
ส่วนใหญ่สวดนะโมตัสสะ... และ
อิติปิโส... อิติปิโส...
คือการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าสวดมนต์ไปด้วยใจจะไม่คิดวอกแวกไปที่อื่น ฉะนั้นในการเวียนเทียนถ้าไม่ได้สวดมนต์
สำหรับคนที่ยังฝึกสมาธิมาน้อย บางทีก็เวียนไปคุยกันไป ฉะนั้นสวดมนต์ดีกว่า
จะได้อยู่ในบุญ บทสวดก็เป็นบทบูชาพระรัตนตรัย จะใช้บทไหนที่เราคุ้นเคย
อะระหังสัมมา... ก็ได้ อิติปิโส... ก็ได้ นะโมตัสสะ... ก็ได้ สวดไปใจก็ทำสมาธิไปด้วย
ถ้าคนไหนเคยฝึกสมาธิมาแล้วใจจดจ่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างนี้ยิ่งดีมาก
การเวียนเทียน ๓ รอบ
มีความหมายอะไรหรือเปล่า?
เป็นธรรมเนียมแต่ครั้งพุทธกาลแล้วที่ทำอะไรมักจะทำ
๓ รอบ รอบที่ ๒ เรียกทุติยัมปิ รอบที่ ๓ เรียกตะติยัมปิ
อาราธนาศีลก็ยังต้องอาราธนา ๓ ครั้ง
เวลาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งยังต้อง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง
สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง
สะระณัง คัจฉามิ และยังมีทุติยัมปิ คือรอบ ๒ ตะติยัมปิ คือรอบ ๓
แม้แต่บวชพระก็เหมือนกัน เวลาบวช พระคู่สวดต้องตั้งญัตติขึ้นมาว่า
ดูก่อนสงฆ์ทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้าว่า มีบุคคลชื่อนี้ (ชื่อบาลี)
ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้ ตั้งใจจะมาขอบวชต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์เห็นพร้อมกันแล้ว
โปรดอนุญาตให้บุคคลผู้นี้บวชด้วย นี่เป็นญัตติ ตั้งญัตติขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ทวน ๓ รอบ ถามความเห็น รอบที่ ๑
ถ้าสงฆ์ทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันขอให้นิ่ง ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็ให้ทักท้วง
ถามอย่างนี้ ๓ รอบ
พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามีประโยชน์อย่างไร?
ให้มองอย่างนี้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หลักปฏิบัติต่าง ๆ
เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีตั้งแต่เปลือก
กระพี้ และแก่น แก่นไม้คือส่วนที่เป็นสาระของต้นไม้ แต่แก่นก็ต้องมีเปลือกมาหุ้ม
แล้วเปลือกก็มีกระพี้หุ้มอีกที บางคนบอกว่าเปลือกกับกระพี้ไม่สำคัญ จริง ๆ
ถ้าไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ ต้นไม้ก็ตายเหมือนกัน
เปลือกและกระพี้เป็นตัวหุ้มต้นไม้เอาไว้ แล้วน้ำเลี้ยงก็หล่อเลี้ยงให้แก่นค่อย ๆ
โตขึ้น ชาวพุทธเราปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ก็มีทั้งเปลือก กระพี้ และแก่น
ตัวพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาเช่นการเวียนเทียนถือว่าเป็นส่วนของเปลือกและกระพี้ แต่ถ้าระหว่างที่เวียนเทียนเราสวดมนต์ไปด้วย ทำสมาธิไปด้วย อันนี้ถือว่าได้ทั้งเปลือก กระพี้ และแก่นไปด้วยในตัว
แต่บางคนที่ไปเวียนเทียนตามธรรมเนียม เห็นเขาเวียนเทียนก็เวียนไปด้วย เวียนไปคุยไป
อย่างนี้ได้เฉพาะในส่วนของกระพี้กับเปลือก ยังไม่ไปถึงแก่น
ฉะนั้นแต่ละคนที่ไปเวียนเทียนด้วยกัน แม้เวียนที่เดียวกัน ก็ได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน
ในแง่ของหลักปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติตามหลักศีล
สมาธิ ปัญญา, ทาน ศีล ภาวนา นั่นคือส่วนของแก่น
ที่เป็นสาระที่แท้จริง แต่ถ้าอยู่ ๆ ชวนกันไปวัด บอกให้มานั่งสมาธิเลย
มีคนที่พร้อมจะเข้าวัดจริง ๆ ไม่มาก แต่ถ้าชวนไปเวียนเทียนง่ายกว่า
ไปเวียนเทียนวันวิสาขบูชา
นั่นคือส่วนของพิธีกรรม คือส่วนของเปลือกและกระพี้ ชวนคนมาได้ง่าย พอมาถึงวัด ไหน
ๆ มาเวียนเทียนแล้ว ใจเป็นกุศลขึ้นมา ทำความดีเพิ่มอีกนิด เพิ่มรักษาศีลอีกหน่อย
อย่างนี้จะง่ายขึ้น
เพราะฉะนั้น จะว่าพิธีกรรมไม่สำคัญก็ไม่ใช่ พิธีกรรมมีความสำคัญ เพราะสามารถสร้างความศรัทธาให้เพิ่มขึ้นได้ ไปเวียนเทียนพร้อมกัน
คนที่ตั้งใจอยู่แล้วก็เลยเกิดปีติศรัทธามากขึ้นอีก ตอกย้ำให้คนใหม่รู้สึกดีมากขึ้น
คนเก่าก็เกิดความศรัทธาเพิ่มขึ้น
พิธีกรรมมีส่วนเสริม แต่ต้องไม่ลืมว่าอย่าติดแค่พิธีกรรมอย่างเดียว
พิธีกรรมเป็นเครื่องจูงใจ แต่สาระสำคัญจริง ๆ คือการปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา
ตั้งใจทำให้ดี เพราะทำแล้วจะเกิดเป็นบุญกุศลติดตัวเราไป
ฉะนั้น
เราชาวพุทธเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต้องปฏิบัติให้ครบ โดยมุ่งไปหาแก่น
แต่ไม่ถึงขนาดปฏิเสธเปลือกและกระพี้ แล้วสุดท้ายต้องนำไปสู่สาระคือการปฏิบัติเสมอ
คนที่เข้าใจอยู่แล้วไปชวนคนใหม่เข้ามาโดยอาศัยพิธีกรรมเป็นอุปกรณ์ในการชักชวน และนำมาสู่การปฏิบัติ
คนที่เข้าใจแก่นก็เหมือนกับต้นไม้ที่แก่นโตขึ้น ๆ จากไม้ต้นเล็ก ๆ ก็โตขึ้น
สุดท้ายใหญ่จนต้องโอบเลย
อยากให้พระพุทธศาสนาในทุกถิ่นในประเทศไทยทั้งประเทศ แต่ละจังหวัด
แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน เป็นไม้ใหญ่ที่มีความมั่นคงแข็งแรง
เป็นต้นโพธิ์ต้นไทรที่ให้ร่มเงาให้ผู้คนทั้งหลายเกิดความสงบร่มเย็น ถ้าชาวพุทธทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ
พระสงฆ์ตั้งใจสอนประชาชน ตัวเองปฏิบัติด้วย สอนประชาชนด้วย และชาวพุทธเองก็ตั้งใจเข้าวัดปฏิบัติธรรม
อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ บำรุงพระพุทธศาสนาด้วย แล้วตั้งใจปฏิบัติด้วย
จากพิธีกรรมที่เป็นเปลือก กระพี้ จนกระทั่งถึงแก่นแห่งการปฏิบัติจริง ๆ
อย่างนี้แล้ว พระพุทธศาสนาในประเทศไทยของเราจะสถิตสถาพรยั่งยืนนาน ภัยใด ๆ
ข้างนอกก็ทำอันตรายเราไม่ได้ สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ตราบใดที่ชาวพุทธยังรักการประพฤติปฏิบัติธรรม
พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงไปตราบนั้น”
Cr. พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:08
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: