เวลาที่เรามองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน คนโบราณมักชอบพูดว่า หญ้าปากคอก คำสอนนี้หมายความว่าอย่างไร ?


สิ่งใดก็ตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วเราไม่ได้มอง ไม่ได้พิจารณาให้ดี หรือคุ้นจนมองข้ามความสำคัญไป จะมีอาการที่โบราณเรียกว่า หญ้าปากคอก

หญ้าปากคอกเป็นอย่างไร เป็นการมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จนกลายเป็นละทิ้ง หรือละเลย จนไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น

หญ้าปากคอกที่ขึ้นอยู่ตรงปากทาง เข้า-ออก ของคอกวัวคอกควาย ถ้าเราไม่เกี่ยวเอามา วัวก็ไม่ได้กิน หญ้าจะแก่ตายอยู่ตรงนั้น แล้วรกปากคอกด้วย เพราะถูกทิ้งให้เป็นหญ้าแห้ง หญ้าเหี่ยว แล้วพอมีวัชพืชขึ้นมากเข้า ๆ ปากคอกก็จะกลายเป็นบริเวณที่รกที่สุดของคอก

หญ้าปากคอกที่น่ากิน น่าเกิดประโยชน์ นอกจากไม่ได้เกิดประโยชน์แล้ว ยังต้องเสียเวลามาเกี่ยว มาดูให้วัวด้วย คือสิ่งเตือนใจเราว่า อะไรที่ใกล้ตัว ถ้าไม่มอง ไม่พิจารณาให้ดี นอกจากเสียประโยชน์แล้ว ยังเกิดโทษอีกมาก

ลองถามตัวเองดูว่า เวลาจะคบคน จะดูที่ไหน จะดูว่าคนนั้นคนนี้ได้ดอกเตอร์หรือเปล่า จบปริญญาตรี โท เอกหรือเปล่า หรือจะดูว่านิสัยของเขาเป็นอย่างไร

ก็ต้องดูที่นิสัย จบดอกเตอร์หรือไม่จบจะเป็นไรเล่า นิสัยดีต่างหากที่ต้องการ แม้แต่ในการเลือกรับคนเข้าทำงาน ตอนแรกก็คัดจากวุฒิการศึกษา แต่เวลาจะใช้ทำงานสำคัญๆ สิ่งที่ต้องการก็คือคนที่นิสัยดี ๆ

นิสัยเป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้ หากพบว่ามีนิสัยอะไรที่ส่อแววว่าจะเสียหาย ต้องรีบแก้ ซึ่งกว่าจะแก้นิสัยแต่ละอย่างได้นั้นไม่ง่าย ต้องทำซ้ำ ๆ ต้องใช้กำลังใจมหาศาล ต้องใช้เวลานานมาก เพื่อล้าง นิสัยเดิมให้หมดสิ้น

เรารู้กันว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แล้วอะไรเป็นนายของใจเรา?

เราควานหามานาน ในที่สุดก็เริ่มมาพบว่า นิสัยคือเจ้านายของใจเรา

มันบังคับเราให้คิด ให้พูด ให้ทำสารพัด ถ้าปล่อยปละละเลย นิสัยแย่ ๆ จะเกิดมากขึ้น แล้วเราจะได้ เจ้านายแย่ ๆ

เจ้านายที่เขาแต่งตั้งมาเป็นผู้บังคับบัญชาเราในที่ทำงาน อย่างมากก็เจอกันในที่ทำงาน แต่ว่านิสัยที่ไม่ดีของเรา มันครอบงำใจเรา ๒๔ ชั่วโมง มองให้ดีเถิด ไม่คิดไม่แปลก ยิ่งคิดยิ่งแปลก

ตื่นเช้าขึ้นมา มีงานต่าง ๆ ที่เราทำโดยอัตโนมัติ ตามความเคยชิน ไม่ต้องมีใครสั่ง ชีวิตอยู่ไปตามความเคยชิน ทั้งที่มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่สามารถคิดได้ จะคิดปรับปรุงอย่างไรก็ทำได้ แต่เมื่อไม่ยอมคิด เท่ากับปล่อยให้ความโง่เริ่มครอบงำเราแล้ว

ความเคยชินเหล่านี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อใด เริ่มมาตั้งแต่ท่าทางในการพับผ้าห่ม ปูที่นอน เก็บมุ้งเก็บหมอน ท่าทางเหล่านี้เคยใช้เมื่อหัวเท่ากำปั้น โตขึ้นมาจนแก่ชราก็ยังใช้ท่าเดิม อย่างอื่น ๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำจนเป็นอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ คือนิสัย นิสัยก็เลยกลายเป็นนายของใจ

แต่นิสัยเกิดจากอะไร นิสัยเกิดจากการคิด พูด ทำ ซ้ำ ๆ แล้วในที่สุดก็ติด พอติดก็คุ้น หนักเข้าก็เคย แล้วก็ชิน ถ้าชินในทางดี ก็ส่งผลให้กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง แล้วก็ติดที่จะทำอย่างนั้น แล้วก็กลายเป็นนิสัย ตรงกันข้ามถ้าในทางไม่ดี พอทำบ่อย ๆ จนชินแล้ว มันก็ชา จากชาก็ด้าน แล้วก็ได้นิสัยกระแทกกระทั้น กระแทกส้นเท้า กระแทกมือ กระแทกเท้า วาจาก็กระโชกโฮกฮาก กลายเป็นโปรแกรมติดตัวไป

ถามต่อไปว่า อะไรหนอที่บังคับเราให้คิด พูด ทำซ้ำ ๆ ตลอดชีวิต?

ลองสำรวจหาความจริงจากชีวิตของเราเองว่า ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตั้งแต่ตื่นในห้องนอนตอนเช้า จนกลับเข้ามาห้องนอนอีกในตอนเย็น ก็จะพบว่าชีวิตแต่ละวัน เราทำอะไรซ้ำ ๆ แบบเป็นวงจรเดิม

เริ่มจากห้องนอนอันเป็นที่อยู่ เข้าไปสู่ห้องน้ำ ดูแลสุขภาพ แปรงฟัน อาบน้ำชำระร่างกาย ขับถ่าย จัดเข้าพวกเภสัช พอเข้าห้องครัวก็เป็นเรื่องของอาหาร มาสู่ห้องแต่งตัวก็เป็นเรื่องของเสื้อผ้า จากนั้นจึงมาสู่ที่ทำงาน กลับจากทำงาน มาสู่ห้องแต่งตัว หิวแล้วไปเข้าห้องครัว แล้วเข้าห้องอาบน้ำ ก่อนเข้าสู่ห้องนอน ชีวิตดำเนินเป็นวงจรทำนองนี้

สิ่งที่เป็นตัวเพาะนิสัยเรา ที่บังคับให้เราคิด พูด ทำซ้ำ ๆ ก็คือ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เรียกรวมว่า ปัจจัย ๔ แล้วก็งานที่ทำในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น นิสัยเกิดจากอะไร? เกิดจากการใช้ปัจจัย ๔ และงานที่ทำ ส่วนสถานที่เกิดนิสัยก็คือ ๕ ห้องนี่เอง โดยมีงานที่เกี่ยวกับห้องต่าง ๆ นี้ ที่บังคับโดยปริยายให้คิด พูด ทำ ซ้ำ

ประเภทของงานมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิสัยดีและนิสัยไม่ดี ประเภทของงานไม่ว่างานหยาบหรืองานละเอียด ก่อเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดนิสัยของคน ๆ นั้น ยังมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ และวัฒนธรรม ขนบประเพณี หรือวิธีการทำงานในเขตนั้น ๆ บวกกับวิธีการใช้ปัจจัย ๔ ล้วนเป็นตัวหลอมให้กลายเป็นนิสัยไป จะเห็นได้ว่าการทำงานก่อให้เกิดนิสัยขึ้นมา ถ้าอยู่เฉย ๆ แล้ว โดยทั่วไปนิสัยดี ๆ ไม่เกิด เกิดแต่นิสัยขี้เกียจ

ใคร ๆ จึงไม่ควรจะมองข้ามเรื่องนิสัยในชีวิตประจำวัน ทั้งนิสัยที่เกิดจากการใช้ปัจจัย ๔ นิสัยจากการทำงานอาชีพ นิสัยจากการใช้ห้าห้องชีวิต ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องอาหาร ห้องทำงาน เพราะถ้าเรามองข้ามจนปล่อยปละละเลยให้ตัวเองคุ้นกับนิสัยไม่ดีไปแล้ว จะกลายเป็นความเสียหายต่อชีวิตของเราเข้าทำนองมองข้ามหญ้าปากคอกที่ปู่ย่าตายายเคยเตือนเอาไว้

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖
เวลาที่เรามองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน คนโบราณมักชอบพูดว่า หญ้าปากคอก คำสอนนี้หมายความว่าอย่างไร ? เวลาที่เรามองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน คนโบราณมักชอบพูดว่า หญ้าปากคอก คำสอนนี้หมายความว่าอย่างไร ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.