ยอดกัลยาณมิตรผู้นำบุญ
ไม้จันทน์แม้แห้งยังไม่สิ้นกลิ่นหอม
อ้อยแม้ถูกหีบยังไม่สิ้นรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ย่อมไม่เลิกประพฤติธรรม ธรรมะเป็นสิ่งที่ผู้บรรลุจะพึงรู้พึงเห็นได้ด้วยตัวเอง
รู้เห็นได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา ควรน้อมเข้ามาในตนซึ่งวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
พระพุทธศาสนาไม่มีปริศนาธรรม พระพุทธองค์ทรงสอนแต่สัจธรรมความจริง
ที่ทุกชีวิตล้วนต่างต้องพิสูจน์ ทรงสอนให้ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
ทรงแสดงธรรมชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนบุคคลหงายของที่ควํ่า เปิดของที่ปกปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืดทำให้ผู้ปฏิบัติตามสามารถพบความสว่างในชีวิตด้วยตนเอง
มีพระพุทธพจน์ในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สีลวเถรคาถาว่า
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ
กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นเบื้องต้น
เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
(เพราะฉะนั้น) บุคคลพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
มีความจริงที่ชาวโลกทั้งหลายยอมรับกันว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นยอดเขาที่สูงกว่ายอดเขาทั้งหลายในโลก
ดวงอาทิตย์เป็นเลิศกว่าสิ่งที่เคลื่อนไปในอากาศ
มหาสมุทรเป็นเลิศกว่าห้วงน้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์เป็นเลิศกว่าหมู่ดาวทั้งมวล
แต่ศีลเลิศกว่ากลิ่นหอมใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย
และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น
จะต้องมีศีลธรรมเป็นเครื่องกำกับ เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาทุกยุคทุกสมัย
ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปัญหาอาชญากรรม การคดโกงกัน
การประพฤติล่วงเกินทางเพศ การหลอกลวงกัน ปัญหายาเสพติดที่ระบาดอยู่ทั่วโลก
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าพิจารณาสาวไปถึงต้นเหตุแล้วจะพบว่า
เริ่มต้นมาจากคนที่ไม่รักษาศีล ๕ เมื่อศีล ๕ บกพร่องไปทีละเล็กละน้อย
กระทั่งทำผิดกันจนเป็นนิสัยไม่รู้อะไรดี อะไรชั่ว
สังคมจึงมีคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาของสังคมจึงมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย
ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
มีอุบาสกชื่อภเวสีเป็นผู้ไม่รักษาศีล อีกทั้งอุบาสกบริวาร ๕๐๐ คน
ก็ไม่รักษาศีลเช่นกัน วันหนึ่ง ภเวสีอุบาสกคิดว่า “เราเป็นหัวหน้าผู้มีอุปการะชักชวนอุบาสกเหล่านี้ประกอบอาชีพอย่างเดียว
ไม่ได้รักษาศีลเลย แม้อุบาสก ๕๐๐ คนเหล่านี้ก็ไม่รักษาศีลตามเราเหมือนกัน
เราควรจะรักษาศีล
เพื่อเพิ่มเติมบุญกุศลให้เป็นที่พึ่งแก่ตัวเองและเป็นผู้นำที่ดีแก่บริวาร”
เมื่อคิดดังนี้แล้ว ท่านก็ประกาศในท่ามกลางที่ประชุมว่า “ต่อแต่นี้ไป
ขอท่านทั้งหลายจงจำเราไว้ว่าเป็นผู้รักษาศีล” เมื่ออุบาสก
๕๐๐ คน ได้ฟังดังนั้น ก็ชักชวนกันเข้าไปหาท่านอุบาสก
แล้วประกาศเจตนารมณ์รักษาศีลเหมือนกัน
ต่อมา ภเวสีอุบาสกคิดว่า “เราเป็นหัวหน้า เป็นต้นบุญต้นแบบ
เป็นผู้นำในการสร้างความดี
ศีลนี้เป็นความดีเพียงเบื้องต้น เราควรประพฤติพรหมจรรย์จะดีกว่า” อุบาสกทั้ง
๕๐๐ คน ได้ข่าวว่าภเวสีอุบาสกประพฤติพรหมจรรย์
ก็ชวนกันประพฤติพรหมจรรย์ตามท่านบ้าง
ต่อมาภเวสีอุบาสกผู้มีลมหายใจที่ไม่อิ่มด้วยการฝึกฝนอบรมตน
เพื่อหวังจะทำพระนิพพานให้แจ้ง เหมือนมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำที่ไหลมาทุกทิศทุกทาง
เหมือนไฟที่ไม่อิ่มด้วยเชื้อ พระราชาไม่ทรงอิ่มด้วยสิริราชสมบัติฉันใด ผู้ปรารภความเพียรก็ไม่อิ่มด้วยการปรารภความเพียร
ผู้มีศรัทธาก็ไม่อิ่มด้วยการอุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสงฆ์ฉันนั้น
ท่านได้สอนตัวเองว่า “ชีวิตฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี
การบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง ฉะนั้น การที่เราอยู่ครองเรือน
จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เราควรออกบรรพชาเพื่อกำจัดทุกข์ดีกว่า”
คิดดังนั้นแล้ว
ภเวสีอุบาสกก็ตัดสินใจออกบวช ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล
ฝ่ายอุบาสกทั้ง ๕๐๐ คน คิดว่า “ท่านภเวสีอุบาสกผู้เป็นหัวหน้าของเราเป็นต้นแบบในการสร้างบารมี
เมื่อท่านปลงผมและหนวดนุ่งห่มครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว
ทำไมเราทั้งหลายจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างไม่ได้เล่า”
ว่าแล้วก็ออกบวชกันทั้งหมด และตั้งใจปรารภความเพียรอย่างสมํ่าเสมอ
ในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อเราได้เรียนรู้เกียรติประวัติของท่านภเวสีและบริวารของท่านตั้งแต่ต้นจนจบแล้วคงเข้าใจดีแล้วว่า
นักสร้างบารมีต้องพัฒนาการสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และต้องรู้จักสอนตัวเองด้วย
โดยเฉพาะการเป็นผู้นำบุญนั้นมีความสำคัญมาก ถ้านำไปถูกทาง ทุกชีวิตก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งผู้นำจะต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเหมือนในยามคับขันก็ต้องการผู้กล้า
ในยามที่ต้องการคำปรึกษาก็ต้องการผู้มีปัญญา โดยเฉพาะต้นบุญต้นแบบที่เป็นผู้นำในการสร้างบารมีไปสู่นิพพานและที่สุดแห่งธรรมนั้น
ยิ่งต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีจิตใจเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง
รักในการทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ
สร้างบารมีกันไปเป็นทีม คอยช่วยประคับประคองเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกัน
ดังนั้น ผู้นำบุญจึงเป็นบุคคลที่สำคัญมาก โลกจะขาดผู้นำบุญไม่ได้
ชาวโลกกำลังรอคอยทุกท่านอยู่ ฉะนั้นให้ทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรอย่างเต็มที่
และหมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกันทุก ๆ คน
แล้วการทำหน้าที่ของเราก็จะได้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ยอดกัลยาณมิตรผู้นำบุญ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
21:41
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: