รอจนถึงวันนั้นก็ไม่ทันแล้ว
เสียงปืนและระเบิดที่ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานหลายยุคสมัยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง ๑๓ ปีหลัง นอกจากเป็นดัชนีชี้วัดปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อยากจะจบสิ้นแล้ว ยังมีผลต่อการย้ายออกจากพื้นที่ของประชาชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชน ทำให้ประชากรชาวพุทธในพื้นที่มีจำนวนน้อยลง และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นี้คือตัวอย่างการย้ายออกจากพื้นที่ของชาวพุทธ...
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐
ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงถึง ๑,๘๖๑ ครั้ง มีคนเจ็บ-ตาย ๒,๒๙๕ คน* ในปีนั้น อำเภอบันนังสตา
จังหวัดยะลา มีชาวไทยพุทธ ๑๐,๓๒๓ คน อีก ๑ ปีต่อมา ชาวพุทธอพยพออกไปเหลืออยู่เพียง
๕,๙๐๐ คนเท่านั้น** นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่มีชาวพุทธเหลืออยู่แค่ ๒-๓ ครอบครัว และบางแห่งไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย
พากันอพยพออกไปเพราะกลัวอันตราย
สถานการณ์พระพุทธศาสนาในแถบนี้จึงอยู่ในสภาวะที่ยิ่งกว่าคำว่า
“น่าเป็นห่วง”
ดังนั้น การที่มีพุทธบุตรตั้งใจไปปักหลักอยู่ในบริเวณปลายด้ามขวานทอง
เพื่อร่วมแรงร่วมใจกับพุทธบุตรและชาวพุทธในพื้นที่ช่วยกันดูแลพระพุทธศาสนาในแถบนั้นแทนชาวพุทธทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญและอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง
"พระอำพล สุตโฆโส" เลขาพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในพระภิกษุเหล่านี้
๑
หลวงพี่อำพล (พรรษา ๖)
เป็นพระภิกษุประจำอยู่ที่ “ที่พักสงฆ์บ้านร่มเย็น” หรือ “ศูนย์บ้านร่มเย็น” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง
จังหวัดนราธิวาส ท่านเล่าให้ “อยู่ในบุญ” ฟังว่า
“ถึงแม้หลวงพี่เกิดที่จังหวัดปัตตานี
และเคยชินกับการใช้ชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เวลามีเหตุการณ์หนัก ๆ
ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่เหมือนกัน ตอนนี้มาอยู่ที่นราธิวาสซึ่งมีอันตรายเป็นอันดับ ๒
รองจากยะลา นอกตัวเมืองยิงกันบ่อยมาก แต่เราก็เดินหน้าทำหน้าที่ของเราไป บางทีเกิดระเบิดบนเส้นทางที่จะไปเทศน์
เราก็ต้องไป เพราะโยมเขารอเราอยู่ แต่เราก็ไม่ประมาท
“การทำงานใน ๓ จังหวัดนี้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่างกันมาก
ในพื้นที่ที่ไม่มีความรุนแรง เราจะไปไหนเวลาไหนก็ได้ เดินชวนบวชได้ทุกแห่ง
พาเขาสวดธรรมจักรได้ทุกบ้าน แต่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำไม่ได้
“แล้วในพื้นที่นี้เราจะทำแต่งานในส่วนของเราไม่ได้ พัฒนาแต่ศูนย์ฯ ของเราไม่ได้ ต้องมองภาพรวม ต้องช่วยกันสร้างชาวพุทธให้เข้มแข็ง เพราะถ้าเรายังไม่รวมตัวกัน ชาวพุทธจะน้อยลงเรื่อย ๆ คนแก่ที่อยู่ตอนนี้สักวันก็ต้องตาย พวกวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เราจึงต้องสร้างเด็กชาวพุทธรุ่นใหม่ที่รักและเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาขึ้นมาด้วย ให้เขาช่วยกันสืบทอดต่อไป”
พระอำพล สุตโฆโส |
๒
เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ชีวิตของพระใน ๓
จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมิเพียงต้องเสี่ยงอันตรายเท่านั้น
แต่พวกท่านยังต้องแก้โจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้ชาวพุทธยังอยู่ในพื้นที่” ให้ได้ด้วย
ดังนั้นในแต่ละวันพระภิกษุทีมงานศูนย์บ้านร่มเย็นซึ่งมีอยู่
๖ รูป จึงต้องทุ่มชีวีทำงานพระศาสนากันสุดกำลัง โดยมีภารกิจหลัก ๆ คือ งานอบรม
งานของการคณะสงฆ์ และงานพัฒนาศูนย์
ซึ่งการอบรมนั้นเป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้างศูนย์บ้านร่มเย็นเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด รับรู้และให้การสนับสนุนมาตลอด ทำให้ทุกรูปยิ่งมีกำลังใจทำงานพระศาสนา แม้ว่าสภาวะหลายอย่างไม่เอื้ออำนวยก็ตาม
ประกอบกับพระภิกษุที่ศูนย์บ้านร่มเย็นมีอุดมการณ์เดียวกันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
และพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน เรื่องยากหลาย ๆ เรื่องจึงกลายเป็นเรื่องง่าย
งานพระศาสนาก็ก้าวรุดไปข้างหน้า ทั้งนี้โดยมี พระอาจารย์สุชยา มุนิเสฏโฐ เป็นผู้นำที่เข้มแข็งของศูนย์ฯ และเป็นต้นบุญต้นแบบ
๓
การอบรมศีลธรรมที่ศูนย์บ้านร่มเย็นเริ่มขึ้นครั้งแรกด้วยการจัดอบรมนักเรียนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ต่อมามีการอบรมชาวพุทธทุกเพศ ทุกวัย โดยอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นเป็นการจัดปฏิบัติธรรมอาทิตย์ต้นเดือนในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
เดือนละครั้ง และจัดค่ายอบรมเยาวชนประมาณ ๖-๗
ครั้งต่อปี ส่วนการอบรมระยะยาวจัดในช่วงปิดเทอม ในรูปของการบรรพชาสามเณร นอกจากนี้ยังมีงานอบรมนักเรียนตามโรงเรียนต่าง
ๆ ครั้งละ ๓ วัน ๒ คืน ตามที่ทางโรงเรียนติดต่อมาด้วย
ในการอบรมมีการสอนเรื่องความดีสากล ๕ ห้องชีวิต ทาน ศีล ภาวนา พระคุณพ่อแม่ และมีการสวดมนต์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ ถือศีล ๘ และทำทานด้วยการถวายภัตตาหารพระ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนคุณธรรมและจริยธรรมแก่เยาวชน
ทำให้พวกเขารู้จักการให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรักษาศีล การทำสมาธิ
จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทั้งศีล-สมาธิ-ปัญญา เป็นพลเมืองที่มีความสุขและมีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติต่อไป
เยาวชนที่ผ่านการอบรมส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
มีความรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น พวกเขายังนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
เช่น สวดมนต์และทำสมาธิก่อนนอน บางส่วนก็รวมตัวกันไปพัฒนาวัดใกล้บ้าน
“มีเด็กคนหนึ่งมาเข้าโครงการบวชเณรตอนปิดเทอม อายุแค่ ๖ ขวบ
พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าเขาไม่เคยช่วยงานอะไรเลย กิริยามารยาทก็ไม่ค่อยดี
แต่พอสึกกลับบ้านไป เวลาทานข้าวเสร็จแล้ว เขาจะเช็ดจานจนสะอาดแล้วเอาไปล้างเอง
ซักผ้าเอง และกราบพ่อแม่ก่อนนอนทุกคืน
ทำให้พ่อแม่ปลาบปลื้มมากและพอใจที่เราสอนให้ลูกเขาดีขึ้น
หลายคนจึงตามมาอบรมที่ศูนย์ฯ ทำให้พ่อ-แม่-ลูกมีกิจกรรมร่วมกัน
ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้นสถาบันครอบครัวก็เข้มแข็งขึ้น
“ส่วนงานของการคณะสงฆ์นั้น เราไปเป็นครูพระสอนศีลธรรมประจำโรงเรียน เป็นอนุกรรมการการศึกษาประจำจังหวัด อนุกรรมการฝ่ายเผยแผ่ และร่วมกิจกรรมของคณะสงฆ์ทุกครั้ง เช่น ช่วยงานอบรมพระในจังหวัด อบรมพระนวกะ ฯลฯ นอกจากนี้ศูนย์เรายังเป็นศูนย์ประสานงานพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอเมือง-ยี่งอ-บาเจาะ อีกด้วย
“และตอนนี้หลวงพี่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้เป็นเลขาพระธรรมทูตอาสา จังหวัดนราธิวาส ในโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งมีการรวมคณะสงฆ์มาช่วยเหลือ สร้างขวัญให้กำลังใจแก่ญาติโยมที่ประสบเหตุการณ์ความไม่สงบหรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ และทำงานศาสนิกสัมพันธ์ด้วย คือ ไปสร้างความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน”
“ครูบาอาจารย์บางคนที่เคยแอนตี้วัดพระธรรมกาย พอเห็นกิจกรรมที่เราอบรมเด็กและเห็นเด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดี ครูก็เลยเปลี่ยนความคิด บางคนถึงกับขอตามไปวัดพระธรรมกายด้วย แล้วเรื่องการสวดธรรมจักรเขาก็ชอบ เขาบอกว่าพอนักเรียนสวดแล้วมีความจำดีขึ้น สมาธิดีขึ้น
“ส่วนผู้ใหญ่ที่มาอบรมกับเราก็รักบุญกลัวบาปมากขึ้น เข้าใจเรื่องการทำบุญมากขึ้น เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม รักและเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา อยากดูแลรักษาให้สืบทอดต่อไปนาน ๆ ถ้าช่วยอะไรได้ก็ยินดีช่วย
“ส่วนงานของการคณะสงฆ์นั้น เราไปเป็นครูพระสอนศีลธรรมประจำโรงเรียน เป็นอนุกรรมการการศึกษาประจำจังหวัด อนุกรรมการฝ่ายเผยแผ่ และร่วมกิจกรรมของคณะสงฆ์ทุกครั้ง เช่น ช่วยงานอบรมพระในจังหวัด อบรมพระนวกะ ฯลฯ นอกจากนี้ศูนย์เรายังเป็นศูนย์ประสานงานพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอเมือง-ยี่งอ-บาเจาะ อีกด้วย
“และตอนนี้หลวงพี่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้เป็นเลขาพระธรรมทูตอาสา จังหวัดนราธิวาส ในโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งมีการรวมคณะสงฆ์มาช่วยเหลือ สร้างขวัญให้กำลังใจแก่ญาติโยมที่ประสบเหตุการณ์ความไม่สงบหรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ และทำงานศาสนิกสัมพันธ์ด้วย คือ ไปสร้างความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน”
๕
การลงทำกิจกรรมในพื้นที่อยู่เป็นประจำโดยใช้หลักอปริหานิยธรรม
๗ คือ ประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ นัดชาวพุทธมาทำกิจกรรมร่วมกันทั้งบ้าน วัด โรงเรียน
เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีความเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น บ้าน : จัดบ้านกัลยาณมิตร ปลูกฝังสัมมาทิฐิ ชี้ให้เห็นภัยของพระพุทธศาสนา
ให้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในพื้นที่ วัด : ถวายสังฆทาน ๓๒๓ วัด และประชุมร่วมกับคณะสงฆ์ในพื้นที่ตลอดมา เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและรับรู้เรื่องราวของพระศาสนาไปในทิศทางเดียวกัน โรงเรียน : มีการปลูกฝังเด็กให้รักวัด รักพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมไปปฏิบัติในชีวิตจริง แล้วนำไปบอกต่อผู้ปกครอง ทำให้กลายเป็นครอบครัวชาวพุทธที่แท้จริง
การทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ
ทำให้ชาวพุทธในพื้นที่มีความเข้มแข็ง สามัคคีกันและมีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมโดยมีการจัดตั้งสมาคมและองค์กรเกี่ยวกับการดูแลรักษาพระพุทธศาสนามากขึ้น
เพื่อให้วัดและชาวพุทธสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ได้ต่อไป
๖
หลังจากทีมงานศูนย์บ้านร่มเย็นทำโครงการอบรมศีลธรรมไปได้ระยะหนึ่ง
ก็มีอาจารย์สอนภาษาไทยในมาเลเซียซึ่งเป็นกรรมการวัดประชุมธาตุชนาราม รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ติดต่อมาให้ช่วยไปอบรมเยาวชนสยามที่มาเลเซีย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย
ได้ศึกษาความจริงของชีวิต บุญ-บาป นรก-สวรรค์ และพระคุณพ่อแม่ เพราะผู้ปกครองเห็นว่า ลูก ๆ หลาน ๆ
เปลี่ยนศาสนามากขึ้น
จึงนิมนต์พระให้ช่วยไปอบรมเพื่อปลูกฝังความรู้และความรักในพระพุทธศาสนา
ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียประชากรชาวพุทธไปได้อีกทางหนึ่ง
การอบรมจัดขึ้น ๒ วัน ๑ คืน
ที่วัดประชุมธาตุชนาราม ครั้งที่ผ่านมามีเด็กเข้าอบรม ๑๑๑ คน เป็นนักเรียนระดับ
ม.ปลาย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี
ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอยากให้พระกลับไปจัดอบรมใหม่อีกหลาย ๆ รอบ
นับเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่สร้างความปลื้มปีติแก่หลวงพี่อำพลและหมู่คณะเป็นอย่างยิ่ง
๗
ด้วยภารกิจที่มากมายดังกล่าว ทำให้พระภิกษุที่ศูนย์บ้านร่มเย็นต้องบริหารเวลาในแต่ละวันอย่างดีที่สุด และในอนาคตท่านก็หวังว่าจะมีพระมาเพิ่ม แต่ผู้ที่บวชพระแล้วอยู่นาน ๆ
หายากสำหรับพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่ที่บวชคือสามเณร
ซึ่งตอนนี้ศูนย์บ้านร่มเย็นส่งไปเรียนที่วัดพระธรรมกาย ๓-๔ รูป และหวังว่าในโอกาสหน้าท่านจะกลับไปช่วยงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังสานต่อเยาวชนที่เคยมาอบรมที่ศูนย์ฯ ให้ร่วมกิจกรรมกับชมรมพุทธของมหาวิทยาลัย แล้วให้มาช่วยงานบ้างในบางครั้ง
และไม่แน่ว่าอาจจะมาเป็นกำลังสำคัญของศูนย์ฯ ในอนาคตก็ได้
นอกเหนือไปจากนี้ก็คงต้องภาวนาให้คลื่นลูกใหม่ในพื้นที่แจ้งเกิดเยอะ ๆ นโยบายที่หลวงพ่อท่านให้มา
คือ “ไปทำอย่างไรก็ได้ให้ชาวพุทธเข้มแข็ง ยืนหยัดสู้กันต่อไป ไม่ออกนอกพื้นที่” จะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๘
สุดท้ายนี้ หลวงพี่อำพลกล่าวว่า “แม้งานเหนื่อยแค่ไหนหลวงพี่ก็ทนได้
ได้พักสักหน่อยก็หายแล้ว ยังมีงานอีกเยอะ เรารอช้าไม่ได้ ตอนนี้สถานการณ์พระพุทธศาสนาไม่ค่อยดี
หลวงพ่อทัตตชีโวเคยบอกไว้ว่า ‘ให้อดทน
อย่ายอมแพ้ ถ้าเมื่อไรลูกยืนหยัดไม่ไหว
จังหวัดอื่นก็จะเสียเหมือนกัน’ ซึ่งหลวงพี่ก็ไม่ยอมแพ้หรอก เพราะว่าถ้าหากเราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ต่อสู้ไม่ให้พระพุทธศาสนาในพื้นที่หายไปได้ จังหวัดอื่นที่มีชาวพุทธมากกว่านี้ก็ต้องสามารถฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้มากกว่าเราเสียอีก
หลวงพี่อยากให้ผลงานของศูนย์บ้านร่มเย็นมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศูนย์อื่น ๆ
และญาติโยมมีกำลังใจในการสร้างบารมียิ่งขึ้น เจริญพร”
เท่าที่ดูแล้ว
ภารกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนาใน ๓ จังหวัดภาคใต้แทบไม่ต่างอะไรกับ “การจุดคบไฟกลางสายฝน” แต่ถึงยากอย่างไรก็ต้องจุด เราจะปล่อยให้ประทีปแห่งธรรมดับลงได้อย่างไร และที่สำคัญการรีบลงมือจุดเสียตั้งแต่ขณะนี้ ย่อมต้องดีกว่าไปนับหนึ่งใหม่ตอนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย...
มาช่วยกันเถิดชาวพุทธ !
*ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. 2547-2550 : สี่ปีของ ‘ความไม่มั่นคงที่มีเสถียรภาพ’ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้. https://www.deepsouthwatch.org/node/196. (๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)
**ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์. จ่าเพียร ยอดมือปราบแห่งบันนังสตา บุรุษผู้พิทักษ์สันติราษฎร์. https://www.sarakadee.com/2010/06/18/japien/. (๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)
Cr. กลุ่มดาวมีน
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๐ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
รอจนถึงวันนั้นก็ไม่ทันแล้ว
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:47
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: