หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๘)


ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขออนุโมทนาบุญกับพุทธศาสนิกชน ศรัทธาสาธุชน และลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ทั้งภายในและต่างประเทศทุกท่านที่ได้ร่วมกันสั่งสมบุญใหญ่ทอดกฐินสามัคคีเพื่อบำรุงวัดและส่งเสริมกิจการของพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง ลูกหลานหลวงปู่ทุกท่านต่างได้ทำตามหลักวิชชาอย่างถูกต้อง คือ ได้ร่วมกันสั่งสมบุญด้วยจิตใจที่มีความสุข เต็มไปด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ สะอาด กว้างขวาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลเป็นอานิสงส์ให้ทุกท่านมีความบันเทิงทั้งโลกนี้และโลกหน้าอันจะนับจะประมาณมิได้

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคพื้นโอเชียเนียเองก็มีกิจกรรมการทอดกฐินสามัคคีเพื่อสถาปนาอาคาร สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย” (DIRI) โดยมีเจ้าภาพร่วมจากหลายคณะ เช่น คณะกลุ่มประตูน้ำ ประเทศไทย คณะจากนครซิดนีย์ จากนครโอคแลนด์ นครเวลลิงตัน จากเกาะเหนือ เกาะใต้ และทั้งจากภาคพื้นต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งการร่วมแรงร่วมใจกันของลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการทอดกฐินสามัคคีแล้ว ยังเป็นการแสดงความกตัญญูบูชาในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และเพื่อสนองมโนปณิธานขององค์ผู้สถาปนาก่อตั้งสถาบันฯ ด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ขอให้ทุกท่านมีส่วนแห่งบุญใหญ่ที่เปี่ยมด้วยสามัคคีธรรมนี้ไปด้วยกัน




สำหรับความเคลื่อนไหวทางวิชาการของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางสถาบันฯ ได้รับเชิญจากทางสมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ หรือ International Association of Buddhist Studies (IABS) ให้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งการประชุมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนี้จัดขึ้นครั้งล่าสุดในระหว่างวันที่ ๒๐-๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโตประเทศแคนาดา โดยจัดมาเป็นครั้งที่ ๑๘ แล้ว


สมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ (International Association of Buddhist Studies) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๙ โดยการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในสาขาต่าง ๆ ปัจจุบันสมาคมได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านพุทธศาสตร์ (Buddhist Studies) จากมหาวิทยาลัยชั้นนำให้เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยอันดับหนึ่งของโลกในทุกรอบ ๓ ปี โดยจะสลับหมุนเวียนกันจัดในสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อให้นักวิชาการด้านพุทธศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก มารวมตัวพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลผลงานวิจัยใหม่ ๆ ระหว่างกัน โดยในปีนี้ทางสมาคมได้มีการจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๘ ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งมีนักวิชาการร่วมประชุมเกือบพันคน โดยมี ๔๓ วงประชุม (Panels) และอีก ๑๖ กลุ่มย่อย (Sections)

มหาวิทยาลัยโตรอนโต
(credit : University of Toronto)
สถานที่จัดประชุมใหญ่สมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ

ภาพรวมในการจัดประชุมครั้งนี้ถือว่ามีการจัดประชุมครอบคลุมหัวข้อสำคัญในนิกายต่าง ๆ ครบทั้ง ๓ นิกาย คือ เถรวาทมหายาน และวัชรยาน มีทั้งงานวิจัยด้านพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ปรัชญาเหตุวาทวรรณกรรมพุทธศาสนา ศาสตร์การตีความคัมภีร์พุทธ พุทธศิลป์ คัมภีร์และจารึกโบราณและอื่น ๆ อีกมากมาย

บรรยากาศภายในหอสมุดมหาวิทยาลัยเยล
(credit : bdcnetwork.com)

หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมนี้ คืองานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อีริค กรีน (Eric Greene) แห่งมหาวิทยาลัยเยล ดร.อีริคจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจีนยุคต้น หนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญคือรูปแบบสมาธิของจีนยุคต้นก่อนเกิดนิกายฉาน จากงานวิจัยของดร.อีริคพบว่า มีคัมภีร์จีนยุคต้นราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ที่บันทึกรูปแบบการสอนสมาธิที่มีความพิเศษเฉพาะตัว จากการตรวจสอบของนักวิจัยดีรีพบว่า วิธีทำสมาธิที่ ดร.อีริคกล่าวถึงนี้ มีส่วนคล้ายคลึงกับวิธีปฏิบัติธรรมที่พระมงคลเทพมุนีสอนไว้ เช่น ครูสมาธิจะสอนลูกศิษย์ให้รวมใจไว้ในกลางนาภี เมื่อศิษย์ทำตามคำแนะนำของอาจารย์แล้ว เกิดประสบการณ์เห็นนิมิตดวงสว่าง เมื่อดูดวงสว่างไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดองค์พระผุดซ้อนเป็นชั้น ๆ ออกมาจากกลางนาภีของผู้ปฏิบัติ หรือการกำหนดนึกนิมิตแบบอสุภภาวนา เมื่อผู้ปฏิบัติใจสงบดีแล้ว กระดูกนิมิตจะแปรสภาพเป็นนิมิตกระดูกใสเป็นแก้ว นอกจากนี้เทคนิคการทำสมาธิแบบพุทธานุสติยังสามารถแบ่งแยกย่อยไปได้ในหลายลักษณะ เช่น การนึกนิมิตเป็นพระพุทธรูป พระรูปกาย ธรรมกาย เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา (credit : yale.edu)

นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม นักวิจัยประจำสถาบันดีรี คือ พระอาจารย์เกียรติศักดิ์ กิตติปัญโญ ยังได้มีโอกาสไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการอ่านและแปลคัมภีร์จีนที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะนักวิชาการและนักศึกษาด้านพุทธศาสนาจีนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University), มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago), มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แอลเอ (UCLA), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และอื่น ๆ กว่า ๓๐ ท่าน โดยมีศาสตราจารย์แจน นาเทียร์ (Jan Nattier) เป็นผู้บรรยายและนำการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อีริค กรีน เป็นผู้จัดการประชุม

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการแปลคัมภีร์พุทธจีน ณ มหาวิทยาลัยเยล

มหาวิทยาลัยเยลจัดเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นแนวหน้าของโลก จัดการเรียนการสอนครั้งแรกเกี่ยวกับเทววิทยาคริสต์ศาสนาในหลายสาขาวิชา รวมถึงศาสนาเปรียบเทียบและพระพุทธศาสนา ในอดีตเคยมีพระภิกษุสงฆ์ไทย (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ) เดินทางไปศึกษาต่อและจบปริญญาโทด้านอุษาคเนย์ที่นั่น

ในระหว่างการประชุมนักวิจัยดีรี ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ดร.อีริค ถึงงานวิจัยที่ท่านทำ โดยเฉพาะเทคนิคการปฏิบัติธรรมในจีนยุคต้น ซึ่งระบุให้ผู้ปฏิบัติรวมใจไว้กลางนาภี แล้วจะทำให้เกิดประสบการณ์เห็นองค์พระผุดซ้อน ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างใกล้เคียงกับการปฏิบัติธรรมในวิชชาธรรมกายด้วย

หอสมุดคัมภีร์มีค่าและสำคัญ (Rare Book)
แห่งมหาวิทยาลัยเยล

และการค้นพบข้อมูลคัมภีร์โบราณที่จารึกด้วยอักษรจีนครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความอัศจรรย์ใจต่อคณะนักวิจัยดีรีเป็นอย่างยิ่ง เพราะตรงกับโอวาทของคุณครูไม่ใหญ่ที่ท่านเคยให้ไว้ว่า หลักฐานธรรมกาย (ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัตินั้น) ได้กระจัดกระจาย ถูกเก็บอยู่ในนิกายต่าง ๆ ภาษาต่าง ๆ และภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ทีมนักวิจัยดีรีต้องไปสืบค้นและรวบรวมหลักฐานเหล่านั้นกลับคืนมา เพื่อยืนยันถึงการค้นพบคำสอนเรื่องธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อุทิศชีวิตค้นคว้าและนำมาเผยแผ่ให้เป็นที่พึ่งแก่มวลมนุษยชาติทั้งปวง


ดังนั้น เนื่องในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งการค้นพบวิชชาธรรมกายในปีนี้ ภารกิจการสืบค้นหลักฐานธรรมกายของนักวิจัยดีรีจักยังคงดำเนินการต่อไปอย่างไม่ลดละ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการศึกษาภาษาโบราณ ภาษาสมัยใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยและอื่น ๆ มากมาย ซึ่งลูกหลานทุกคนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ หลวงพ่อ คุณยาย ไม่ควรพลาดโอกาสแห่งการสร้างปัญญาบารมีอันสำคัญนี้ ด้วยการมีส่วนร่วมสนับสนุนการสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยแห่งประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นแหล่งผลิตนักวิชาการที่จะทำหน้าที่สืบค้นหลักฐานธรรมกายในภาษาโบราณต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายรอการสืบค้นอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก

อาคารวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ดีรี)

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านได้รับผลานิสงส์แห่งความดีที่ได้ร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย กันอย่างถ้วนหน้า ให้ได้เกิดอยู่ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายตลอดไป และขอให้มีดวงปัญญาสว่างไสว มีสติปัญญาแตกฉาน รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าถึงพระธรรมกายภายในเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และประสบแต่ความสุข ความดีงาม ทุกประการเทอญ ขอเจริญพร

Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ 
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๘) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๘) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:51 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.