เอกลักษณ์ใบลานอักษรสิงหล
นาฬิกาบอกเวลาใกล้เที่ยงคืน
แต่แสงแฟลชที่ใช้ในการถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานยังสว่างวาบเป็นระยะ
ตามจังหวะการเปลี่ยนชุดใบลานบนแท่นรองแผ่น แม้เจ้าหน้าที่กองพระไตรปิฎก
ฉบับวิชาการ และเจ้าหน้าที่ชาวสิงหลจะเร่งมือช่วยกันทำงานมาตั้งแต่ช่วงสายของวัน
แต่งานอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล ณ เกาะลังกา ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
แข่งกับตารางเวลาที่ได้วางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี
เพราะหากงานเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดนั้น หมายถึงจำนวนแหล่งใบลานที่คณะจะเดินทางไปสำรวจอาจถูกตัดทอนให้ลดลง
คัมภีร์ที่จะได้รับการอนุรักษ์ก็จะน้อยลงตามไปด้วย
การทำงานแข่งกับเวลาเช่นนี้ทำให้คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหลอายุเก่าแก่จำนวนมากได้รับการบันทึกเป็นไฟล์ภาพดิจิทัลแบบหน้าต่อหน้า
ด้วยกล้องที่มีความละเอียดคมชัด ชุดอุปกรณ์บันทึกภาพซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์
กล้อง และแฟลช เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลักที่คณะทำงานต้องขนย้ายไปตามวัดต่าง ๆ
ในประเทศศรีลังกา ที่ใดมีคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก่าแก่
ที่นั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงมือติดตั้งอุปกรณ์อย่างชำนาญ ทำการลงทะเบียนมัดคัมภีร์
และลงมือบันทึกภาพจนเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้
คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหลนับว่ามีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเกาะสิงหลเป็นจุดเริ่มต้นของการจารพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อสองพันกว่าปีก่อน
เมื่อคราวกระทำสังคายนาครั้งที่ ๕ (นับตามแบบไทย)
และธรรมเนียมการจารใบลานทดแทนฉบับเดิมที่ผุพัง
ก็ยังผลให้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เกาะแห่งนี้
สืบทอดเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
หลักฐานการจารสืบทอดที่มีมายาวนานซึ่งหลงเหลือเป็นคัมภีร์ใบลานภาษาบาลีอักษรสิงหลที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในขณะนี้คือ
พระวินัยปิฎก จุลวรรค ตามบันทึกท้ายคัมภีร์ระบุว่าจารโดยพระเถระนามว่าเมธังคละ (Medhankara
Thera) ประกอบด้วยแผ่นลานจำนวน ๑๔๓ แผ่น
สร้างในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโคลัมโบ
ศิลาจารึก ศิลปะยุคโปโลนนารุวะ |
คัมภีร์ใบลานของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง |
แผนที่เกาะสิงหลโบราณจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่มา Geiger, W. (1912). The Mahavamsa or the Great Chronicle of Ceylon. London, Oxford University Press, Amen Corner, E.C. |
และอีกหลักฐานหนึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
แต่ไม่มีบันทึกท้ายคัมภีร์ระบุอายุชัดเจนเหมือนหลักฐานชิ้นแรก
เมื่อนักวิชาการนำเนื้อความไปศึกษา พบว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก
และเมื่อนำรูปแบบอักษรที่ใช้จารจารึกไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับศิลาจารึกของศิลปะยุคโปโลนนารุวะ
(พ.ศ. ๑๕๖๐-๑๗๗๘) ก็พบความคล้ายคลึงกันของรูปแบบอักษรบนจารึกทั้งสอง
นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าคัมภีร์ใบลานของมหาวิทยาลัยปักกิ่งอาจมีอายุเก่าแก่ย้อนไปได้ไกลถึงศตวรรษที่
๑๑ เลยทีเดียว
นอกจากความเก่าแก่ของคัมภีร์ใบลานแล้ว
จากการเดินทางสำรวจและบันทึกภาพคัมภีร์ เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ตามหลักภาษาบาลี
อักษรศาสตร์ และสัทศาสตร์ โดยโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ
ทำให้พบเอกลักษณ์ของคัมภีร์พระไตรปิฎกสายอักษรสิงหลที่โดดเด่น คือ
ไม่ว่าคัมภีร์จะมาจากภูมิภาคใดของประเทศศรีลังกาก็ตาม เนื้อความจะมีความเป็นเอกภาพในด้านสายคัมภีร์ค่อนข้างสูง
ทั้งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าสืบเนื่องมาจากลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศศรีลังกาที่มีขนาดพื้นที่ค่อนข้างเล็ก
อีกทั้งยังเป็นประเทศเกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ
ดังนั้นการจารคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลเพื่อทดแทนฉบับเดิมที่ผุพังจากรุ่นสู่รุ่น
จึงอยู่ในวงจำกัดและได้รับอิทธิพลจากภายนอกค่อนข้างน้อย
ในขณะที่คัมภีร์ใบลานอักษรอื่น ๆ อาทิ
อักษรธรรม จะมีการกระจายตัวของการใช้อักษรในพื้นที่ที่กว้างขวางกว่า
โดยครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือของไทยและบางส่วนของประเทศลาวซึ่งเคยเป็นอาณาจักรล้านนามาก่อน
และในหลายท้องถิ่นก็มีการอ่านออกเสียงอักขระบางตัวแตกต่างกัน
ก่อเกิดเป็นความหลากหลายด้านสัทศาสตร์และอักขรวิธี เช่น บางท้องถิ่นมักออกเสียง “ฉ”
เพี้ยนเป็นเสียง “ส” เช่นคำว่า
“คัจฉามิ” อ่านออกเสียงเป็น
“คัจสามิ” สายคัมภีร์อักษรธรรมจึงมีความหลากหลายกว่าอักษรสิงหล
นอกจากความเก่าแก่และเอกภาพของสายอักษรแล้ว
ใบลานอักษรสิงหลที่สำรวจและอนุรักษ์โดยโครงการพระไตรปิฎก
ฉบับวิชาการยังมีความโดดเด่นทางกายภาพอีกด้วย
คือมีธรรมเนียมการจารเนื้อหาต่อเนื่องทั้งฉบับมีการใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์และศิลปะการตกแต่ง
ใบลานอักษรสิงหลจาร ๘ บรรทัด (บน) ใบลานอักษรธรรมจาร ๕ บรรทัด (ล่าง) |
ในส่วนของธรรมเนียมการจารเนื้อหาพระไตรปิฎกเมื่อเทียบกับสายจารีตอื่น
ๆ คือ สายอักษรธรรม อักษรขอม และอักษรพม่า
จะพบว่าคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรสิงหลมีขนาดมัดคัมภีร์ใหญ่ที่สุด
ขนาดใบลานมีความกว้างและยาวกว่าสายอักษรอื่น โดยเฉลี่ยแผ่นลานมีขนาด ๘๐ ซม. X
๑๒๐ ซม.
และจำนวนบรรทัดในหน้าลานมีมากกว่าสายอักษรอื่นในหนึ่งแผ่นลานจะจาร ๘-๑๒ บรรทัด
อีกทั้งนิยมจารเนื้อหาทั้งเล่มต่อเนื่องเป็นเรื่องยาวจนครบ เช่น
คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหลในหนึ่งมัดคัมภีร์จะจารครบ ๕ วรรค ได้แก่ สคาถวรรค
นิทานวรรค ขันธวารวรรค สฬายตนวรรค และมหาวรรค
ในขณะที่คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรขอมและอักษรธรรมซึ่งมีขนาดแผ่นลานเพียง
๔๘ ซม. X ๙๐ ซม. นิยมจารแผ่นละ ๕ บรรทัด
และเนื้อหามีเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้นในแต่ละมัดคัมภีร์
ดังนั้นในขณะที่คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหลมีเนื้อหาทั้งหมดรวมอยู่ในมัดใหญ่เพียงมัดเดียว
คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรขอมและอักษรธรรมจะมีถึง ๕
มัดด้วยกันด้วยเหตุที่เนื้อหามีขนาดยาวนี้เอง คัมภีร์ใบลานสิงหล ๑ มัด
จึงมักจารด้วยผู้จารหลายคน
ซึ่งหลายครั้งรายชื่อของผู้จารมักปรากฏอยู่ในบันทึกท้ายใบลาน และระบุถึงวัน เดือน
ปีที่สร้าง ผู้สร้างและคำอธิษฐานจิตอีกด้วย
เอกลักษณ์ทางกายภาพอีกประการหนึ่ง
คือการใช้เครื่องหมายกุณฑลี ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง
ใช้สำหรับการจบบรรทัดสิ้นสุดย่อหน้า หรือตอนจบเรื่อง
ซึ่งสัญลักษณ์นี้ไม่มีใช้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกอักษรอื่น ๆ
และความโดดเด่นประการสุดท้ายก็คือ เอกลักษณ์ทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ในไม้ประกับและการวาดภาพตกแต่งแผ่นใบลานเปล่า
โดยไม้ประกับจะทำจากวัสดุหลากหลาย
ตั้งแต่ไม้ธรรมดาไปจนถึงงาช้างและแผ่นเงินแกะสลักด้วยลวดลายศิลปะของศรีลังกาในแต่ละยุคสมัย
การเดินทางของคณะสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์กองพระไตรปิฎก
ฉบับวิชาการข้ามน้ำข้ามทะเลไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากประเทศไทยสู่เกาะลังกา
รอนแรมไปตามเมืองต่าง ๆ
เพื่อเสาะหาและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแหล่งที่มีการจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก
เป็นงานหนักและท้าทาย แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็มิได้ย่อท้อต่ออุปสรรคและเดินหน้าทำการอนุรักษ์ต่อไป
เพื่อให้คัมภีร์อักษรสิงหลได้สืบทอดไปสู่ชนรุ่นหลังชาวสิงหล
และเพื่อให้นักวิชาการวงการต่าง ๆ ที่สนใจได้นำไปศึกษาวิเคราะห์
การทุ่มเทดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ไม่ว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะบันทึกไว้ด้วยอักษรใด ณ ที่แห่งใด
ในฐานะชาวพุทธถือเป็นหน้าที่ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์สืบทอด
เพื่อความเจริญแห่งพระสัทธรรมให้สว่างไสวไปถ้วนทั่วกัน
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เอกลักษณ์ใบลานอักษรสิงหล
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:16
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: