ตอนที่ ๑๐ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ)


สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๑๐ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ)
--------------------------------------

๓) กตัญญูกตเวทีต่อมารดาในชาติปัจจุบันมารดาของพระสารีบุตรมีบุตรทั้งหมด ๗ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๓ คน บุตรคนโตคือพระสารีบุตร ส่วนคนที่ ๒-๔ เป็นผู้หญิง ได้แก่ นางจาลา นางอุปจาลา และนางสีสุปจาลา ส่วนคนที่ ๕-๗ เป็นผู้ชาย ชื่อว่า จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ

เนื่องจากการออกบวชของพระสารีบุตรเป็นแรงบันดาลใจให้พี่น้องที่เหลืออีก ๖ คน พากันออกบวชตามท่านจนหมด ทำให้มารดาโกรธท่านเป็นอันมาก ตำหนิว่าท่านเป็นต้นเหตุให้ตระกูลด้วน คือไร้ทายาทสืบทอดทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ทำให้มารดาของท่านไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และไม่รู้ว่าการเป็นพระอรหันต์ของท่านมีคุณประโยชน์ต่อสรรพสัตว์อย่างมหาศาลเพียงใด ท่านจึงไม่มีโอกาสแสดงธรรมโปรดมารดาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

กาลเวลาล่วงเลยไปจนถึงยุคที่พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่วชมพูทวีป  พระสารีบุตรช่วยเหลืองานเผยแผ่ของพระบรมศาสดาอย่างเต็มที่ ท่านไม่เคยเหยียดหลังนอนเลย ๓๐ ปีเต็ม จนบัดนี้ท่านรู้แล้วว่าอายุสังขารเหลือเวลาอยู่อีก ๗ วัน ท่านจึงตัดสินใจจะเดินทางกลับบ้าน ไปตอบแทนพระคุณมารดา และปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด1

เมื่อท่านตกลงใจเช่นนั้นแล้ว ก็ลงมือเก็บกวาดเสนาสนะ ทำความสะอาดที่พักกลางวันเป็นครั้งสุดท้ายจนแล้วเสร็จ เมื่อท่านมั่นใจว่าไม่มีกิจใดคั่งค้างเป็นภาระของส่วนรวมแล้ว ก็ยืนมองดูที่พักอยู่ตรงประตูและคิดว่า บัดนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการกลับมาอีกจากนั้น ท่านก็ไปกราบทูลลาปรินิพพานกับพระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า ท่านจะไปปรินิพพานที่ใด เมื่อทราบว่าท่านจะไปปรินิพพานที่บ้านเกิด พระบรมศาสดาก็มีรับสั่งว่า การไปคราวนี้ พี่น้องของเธอจะไม่เห็นเธออีก เธอจงแสดงธรรมแก่พี่น้องเหล่านั้นเถิดท่านจึงเหาะขึ้นไปสูงชั่ว ๗ ลำตาล และแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง แล้วแสดงธรรมเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมทั้งกราบทูลลาเป็นครั้งสุดท้าย

ตลอดเวลา ๗ วัน ในระหว่างที่เดินทางกลับไปที่บ้านเกิดนั้น ท่านก็อนุเคราะห์ผู้คนไปตลอดทาง เมื่อไปถึงบ้าน ก็บอกให้หลานชายไปบอกมารดาของท่านให้จัดที่พักในห้องนอนที่ท่านเกิด และให้จัดที่พักให้ภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ติดตามมาด้วย

มารดาของท่านคิดว่าท่านบวชตั้งแต่หนุ่มกลับมาบ้านคราวนี้คงคิดจะสึกตอนแก่ จึงให้คนจัดที่พักตามคำขอของท่าน

เมื่อพระสารีบุตรและภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ขึ้นไปบนปราสาทแล้ว ท่านก็สั่งให้พระภิกษุแยกย้ายกันไปยังห้องพัก ส่วนท่านเข้าไปในห้องนอนที่ท่านเกิด แล้วอาการอาพาธด้วยโรคลงโลหิต2 ก็กำเริบขึ้น พระจุนทะ (น้องชายของท่าน) ต้องคอยเปลี่ยนภาชนะรองโลหิตเป็นระยะ ๆ

มารดาของท่านไม่รู้ว่าพระสารีบุตรกลับมาบ้านเพื่อจะปรินิพพาน ตกค่ำวันนั้นก็ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน เฝ้ามองมายังห้องนอนของพระเถระ

ขณะนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ทิศ พอทราบว่าพระสารีบุตรใกล้ถึงวาระปรินิพพานแล้วก็รีบเข้าไปในห้องนอนของพระเถระพร้อมกับรัศมีสว่างไสวเปล่งออกมารอบกาย ไหว้แล้วยืนอยู่ เมื่อพระเถระทราบว่า ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ มาคอยอุปัฏฐาก จึงตอบว่ามีพระจุนทะคอยให้การอุปัฏฐากอยู่แล้ว ขอให้ทุกท่านกลับไปเถิด ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ลากลับไป

ต่อจากนั้น ท้าวสักกะ ท้าวสุยามา เป็นต้น ตลอดจนท้าวมหาพรหม ก็ทยอยกันเข้าไปในห้องของพระเถระด้วยจุดประสงค์เดียวกันพระเถระก็ส่งมหาเทพและมหาพรหมเหล่านั้นกลับไปด้วยคำปฏิเสธเดียวกัน

ขณะนั้น มารดาของท่านเห็นการไปการมาของเทวดาเหล่านั้นแล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นใครจึงเข้าไปในห้องนอนของพระเถระเพื่อสอบถาม พระจุนทะจึงแจ้งให้มารดาทราบถึงความอาพาธของพระเถระ และแจ้งให้พระเถระทราบถึงการมาของมารดา

พระเถระจึงถามว่าเหตุใดมารดาถึงมาผิดเวลา (เพราะมืดค่ำแล้ว) มารดาก็ตอบว่าเพราะต้องการมาเยี่ยมลูก และสอบถามว่าพวกที่มาก่อนหน้านี้เป็นใคร

พระสารีบุตรตอบคำถามและชี้แจงไปตามลำดับว่าเทวดาและพรหมทั้งหมดได้แก่

๑) ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ เป็นเหมือนเด็กวัดที่คอยถือพระขรรค์อารักขาพระบรมศาสดาในคราวปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ๒) ท้าวสักกะเปรียบเหมือนสามเณรคอยถือบาตรและจีวรเมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาเสด็จลงมาจากดาวดึงสเทวโลก ๓) ท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวาส (ที่มารดาท่านนับถือ) เป็นผู้ใช้ตาข่ายทองมารองรับพระบรมศาสดาในคราวประสูติออกจากครรภ์พระมารดา

เมื่อมารดาทราบความจริงแล้วก็ตกตะลึงว่า บุตรชายยังมีอานุภาพยิ่งกว่ามหาพรหมที่ตนนับถือถึงขนาดนี้ แล้วพระบรมศาสดาจะมีอานุภาพมากมายถึงเพียงใด

พระสารีบุตรทราบว่ามารดากำลังปลื้มปีติเป็นเวลาที่เหมาะสมจะแสดงธรรมแล้ว ท่านจึงกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณให้มารดาฟังว่า

สมัยพระศาสดาของเราประสูติ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักรหมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าผู้เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสนะกับพระองค์ไม่มี3

จากนั้น ท่านก็แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพระคุณของพระบรมศาสดาโดยขยายความให้พิสดาร หลังจบพระธรรมเทศนา มารดาของท่านบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเท่ากับท่านได้ทำหน้าที่ตอบแทนพระคุณของมารดาจนหมดสิ้นแล้ว

หลังจากท่านส่งมารดากลับออกไปแล้วก็เป็นเวลาจวนรุ่งสาง ท่านจึงเรียกประชุมสงฆ์กล่าวขอขมาแก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป และรับขมาจากสงฆ์ จากนั้นท่านดึงจีวรมาปิดหน้า นอนตะแคงขวา เข้าสมาบัติ ๙ โดยอนุโลมปฏิโลมตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ท่านก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน มหาปฐพีถึงกับสั่นสะเทือนเลือนลั่น

๔) กตัญญูกตเวทีต่อข้าวใส่บาตรแม้เพียง ๑ ทัพพี นอกจากกตัญญูกตเวทีต่อมารดาในปัจจุบัน มารดาในอดีต และอาจารย์เก่าแล้ว ท่านยังมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่เคยใส่บาตรกับท่านแม้เพียง ๑ ทัพพีอีกด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์แก่คนหนึ่งชื่อว่า ราธะ4 ถูกลูกเมียทอดทิ้งจึงไปขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่ไม่มีภิกษุรูปใดยอมเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ เพราะการรับใครเข้ามาบวชสักคนหนึ่งพระอุปัชฌาย์ต้องดูแลพระบวชใหม่จนกว่าจะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้อง และจนกว่าจะปรับตัวเข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่สงฆ์ได้ พราหมณ์เฒ่าจึงต้องเลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ภิกษุทั้งหลายโดยการดายหญ้ากวาดวัด ถวายน้ำฉัน เพื่อแลกกับข้าวก้นบาตรและอาศัยอยู่ในบริเวณวัด

เย็นวันหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งอรหัตผลของเขา จึงเสด็จไปหาราธพราหมณ์ทรงสอบถามเรื่องวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่รับใช้พระภิกษุ แล้วทรงเรียกประชุมสงฆ์ เพื่อสอบถามว่ามีใครระลึกถึงคุณของราธพราหมณ์ได้บ้างไหม

พระสารีบุตรจำได้ว่า ราธพราหมณ์เคยใส่บาตรให้ ๑ ทัพพี จึงระลึกถึงคุณของเขาได้ก็กราบทูลรับเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชให้ราธพราหมณ์แล้ว ก็มิได้บวชให้เฉย ๆ ท่านยังคอยพร่ำสอนพระธรรมวินัยให้แก่พระราธะและยังต้องบิณฑบาตหาปัจจัย ๔ เลี้ยงดูพระใหม่อีกด้วย

เมื่อพระราธะบวชแล้วก็ตั้งใจฝึกตนอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ เมื่อได้รับความสะดวกสบายในเรื่องปัจจัย ๔ แล้ว การเรียนกรรมฐานก็มีความก้าวหน้า ปฏิบัติตามคำสอนของพระสารีบุตรอยู่ ๒-๓ วัน ก็บรรลุอรหัตผล

๒.๒ เคารพพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์อย่างมาก

นับจากวันที่พระสารีบุตรได้พบกับพระอัสสชิและได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาจากพระอัสสชิเป็นครั้งแรกจนบรรลุโสดาบันนั้นท่านก็ตรึกระลึกนึกถึงพระคุณของพระอัสสชิในฐานะอาจารย์อยู่ทุกวันว่า

เราเป็นผู้ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เพราะได้เห็นพระอัสสชิก่อน ท่านพระสาวกนามว่าอัสสชินั้นเป็นอาจารย์ของเรา เป็นนักปราชญ์ เราเป็นสาวกของท่าน5

ทั้งนี้เพราะท่านตระหนักว่า หากท่านไม่ได้พบพระอัสสชิในวันนั้น ท่านก็คงหลงผิดไปในลัทธิอื่นต่อไป ไม่มีโอกาสได้ฟังคำสอนของพระบรมศาสดาเป็นครั้งแรก ไม่ได้พบกับโมกขธรรมที่ตามหามานานหลายหมื่นกัป (แต่ไม่พบ)ไม่ได้มาพบกับพระบรมศาสดาและไม่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจนบรรลุอรหัตผล ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ไม่ได้รู้ถึงความปรารถนาในการสร้างบารมีของตนเองตั้งแต่อดีต6 และไม่มีโอกาสได้เป็นธรรมเสนาบดีในวันนี้

ท่านจึงเคารพพระอัสสชิในฐานะของอาจารย์ผู้ให้แสงสว่างแรกแก่ชีวิต ผู้เป็นจุดเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ทั้งหมดในชีวิตสมณะของท่าน เมื่อถึงเวลาก่อนนอน ท่านจะตรวจดูด้วยญาณทัสนะว่า พระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ของท่านพักอยู่ในทิศใด แล้วท่านก็นอนหันศีรษะไปยังทิศนั้นเป็นการยกย่องบูชาอาจารย์ไว้เหนือศีรษะของท่าน ดังมีหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ใน สารีปุตตเถราปทาน7 ว่า วันนี้เราเป็นธรรมเสนาบดีถึงที่สุดในที่ทุกแห่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ท่านพระสาวกนามว่าอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ของเราอยู่ในทิศใด เราย่อมทำท่านไว้เหนือศีรษะในทิศนั้น

๒.๓ รักการแสวงหาความรู้

แม้ว่าพระสารีบุตรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญามากแล้ว แต่ท่านก็ยังขวนขวายในกิจที่เพิ่มพูนปัญญาอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่ท่านพบปัญหาจากการเผยแผ่บ้าง การฝึกอบรมคนบ้าง การบริหารปกครองบ้าง ท่านจะนำปัญหานั้น ๆ กลับมากราบทูลถามพระบรมศาสดาอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแนะนำอสุภกรรมฐานแก่พระหนุ่มบวชใหม่ ผู้เป็นบุตรชายของช่างทองซึ่งเป็นตระกูลอุปัฏฐากของท่าน เพราะเห็นว่าการพิจารณาความไม่งามของร่างกายและซากศพเหมาะแก่คนหนุ่ม อันจะทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านในราคะ แต่แม้ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจะพยายามใส่ใจในอสุภกรรมฐานอย่างเคร่งครัด

จนเวลาผ่านไป ๔ เดือน ก็ยังไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษใด ๆ ได้ ซึ่งผิดแผกไปจากภิกษุหนุ่มรูปอื่น ๆ ที่เคยสอนมา

เมื่อท่านพบกับปัญหาการฝึกอบรมคนเช่นนี้แล้ว ก็รู้ด้วยปัญญาว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้คงจะเป็นพุทธเวไนยอย่างแน่นอน มีแต่พระบรมศาสดาเท่านั้นที่จะให้กรรมฐานตรงจริตของเขาได้ ท่านจึงพาภิกษุหนุ่มรูปนี้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า สารีบุตรการรู้กรรมฐานที่สบายแก่ภิกษุรูปนี้ ไม่ใช่วิสัยของเธอ ภิกษุนี้มีแต่ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะพึงแนะนำได้8

พระองค์ทรงทราบว่า ในอดีตชาติ ภิกษุหนุ่มรูปนี้เคยเกิดเป็นบุตรของนายช่างทองมา ๕๐๐ ชาติ การให้นิมิตสีแดงด้วยโลหิตกรรมฐาน (กสิณสีแดง) จึงจะเหมาะแก่อัธยาศัยของภิกษุรูปนี้ พระองค์จึงทรงใช้ฤทธิ์เนรมิตดอกบัวสีประภัสสร (สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) ประทานให้ภิกษุรูปนั้นนำไปปักไว้บนเนินทรายที่อยู่ใต้ร่มเงาไม้หลังวิหาร ให้นั่งขัดสมาธิหันหน้าเข้าหาดอกบัวนั้น ให้ระลึกภาวนาในใจว่า โลหิตัง” (แดง ๆ ๆ)

ภิกษุรูปนั้นทำตามคำแนะนำของพระบรมศาสดาเพียงครู่เดียว ก็บรรลุฌาน ๔ จากนั้นพระองค์ทรงอธิษฐานให้ดอกบัวเหี่ยว ภิกษุรูปนั้นออกจากฌานแล้วมองเห็นดอกบัวเป็นสีดำ ท่านจึงตระหนักถึงความจริงว่า ร่างกายของเราไม่เที่ยง ถูกความชราย่ำยีตลอดเวลา การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จึงเกิดความรู้สึกเหมือนถูกไฟเผาร่างขึ้นมาทันที

ไม่ไกลจากที่ท่านนั่งสมาธินั้น มีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังหักดอกบัวในน้ำนำมากองไว้บนบก สักครู่หนึ่งดอกบัวที่กองไว้บนบกก็เริ่มเหี่ยวแห้งไป ท่านเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นแล้วยิ่งเห็นความจริงว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ร่างกายของท่านจึงยิ่งรู้สึกเหมือนถูกไฟโหมแผดเผายิ่งขึ้นอีก

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงวาระจิตที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมของภิกษุรูปนั้นแล้วจึงทรงแผ่พระฉัพพรรณรังสีออกมาจากที่ประทับในพระคันธกุฎี เพื่อชี้หนทางดับทุกข์ให้แก่ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสแสดงธรรมว่า ภิกษุใดตัดราคะได้ขาด พร้อมทั้งอนุสัยไม่มีส่วนเหลือ เหมือนบุคคลลงไปตัดดอกปทุมซึ่งงอกขึ้นในสระฉะนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น9 เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ ในพระไตรปิฎกมีคำอธิบายว่า สาเหตุที่พระสารีบุตรไม่สามารถเลือกกรรมฐานที่ตรงแก่จริตของภิกษุรูปนี้ได้ก็เพราะท่านไม่มีอาสยานุสยญาณ คือ ปัญญารู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ ซึ่งเป็นญาณทัสนะที่มีเฉพาะในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

เพราะเหตุนี้ ท่านจึงหมั่นแสวงหาปัญญาด้วยการกราบทูลถามจากพระบรมศาสดาอยู่เสมอ ทำให้ภิกษุสาวกรูปอื่น ๆ พลอยได้เปิดหูเปิดตาจากการถามของท่านไปด้วย ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพูนปัญญาจากการรับฟังคำตอบของพระบรมศาสดาไปด้วยเช่นกัน



1 ที.ม.อ.มหาปรินิพพานสูตร (ไทย) ๑๓/๓๘๑-๓๘๗
2 ขุ.มหานิ.อ. (ไทย) ๖๕/๑๓๓ บทว่า ปกฺขนฺทิกา ได้แก่ โลหิตปกฺขนฺทิกา อติสาโร. แปลว่าโรคท้องร่วงเป็นโลหิต, โรคลงแดง,
ขุ.อป.อ. (ไทย) ๗๐/๒๓๕ การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ชื่อว่า อติสาระโรคบิดหรือโรคท้องร่วงที่มีเลือดปนออกมา เช่น
ในอนนุโสจิยชาดก (ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๕๘/๕๗๒) ว่า เมื่อปริพาชิกาผู้สุขุมาลชาติบริโภคภัตอันเจือปนกันปราศจากโอชะ ก็เกิด
อาพาธลงโลหิต (ถ่ายเป็นเลือด)
3 สํ.มหา.อ.จุนทสูตร (ไทย) ๓๐/๔๓๔
4 องฺ.เอก.อ.ประวัติพระราธเถระ (ไทย) ๓๒/๔๙๕-๔๙๙, ขุ.ธ.อ.เรื่องพระราธเถระ (ไทย) ๔๑/๒๘๖-๒๙๐
5 ขุ.อป.สารีปุตตเถราปทาน (ไทย) ๓๒/๓๖๘-๓๖๙/๕๗
6 องฺ.เอก.อ.สูตรที่ ๒-๓ (ไทย) ๓๒/๒๖๕ พระสารีบุตรครั้งเมื่อเกิดเป็นสรทดาบส ท่านได้ตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวก
เบื้องขวาและได้รับพยากรณ์จากพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ ๑ อสงไขยแสนมหากัปที่ล่วงมาแล้ว
7 ขุ.อป.สารีปุตตเถราปทาน (ไทย) ๓๒/๓๖๙-๓๗๐/๕๗
8 ขุ.สุ.อ.อุรคสูตร (ไทย) ๔๖/๓๓
9 ขุ.สุ.อ.อุรคสูตร (ไทย) ๒๕/๒/๔๙๙

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ตอนที่ ๑๐ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ) ตอนที่ ๑๐ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.