คนที่เคยดำเนินชีวิตผิดพลาด จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรให้ถูกทาง พระพุทธศาสนามีคำแนะนำเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?


คนที่เคยดำเนินชีวิตผิดพลาด จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรให้ถูกทาง
พระพุทธศาสนามีคำแนะนำเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?
------------------------------------------

ชีวิตที่ดำเนินผิดพลาดไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ มีแต่ต้องเริ่มต้นใหม่เท่านั้น แล้วก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า เวลาชีวิตที่เหลืออยู่นั้นมีพอจะให้เริ่มต้นใหม่ได้หรือไม่ เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย นั่นก็หมายความว่า ความตายจะมาถึงเราที่ไหน เมื่อไร เวลาใด ไม่มีใครสามารถทราบได้ล่วงหน้า บุญหมดเมื่อไรก็ตายเมื่อนั้น

แต่กระนั้นเมื่อเราได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรคิดตั้งคำถามถามตนเองสักครั้งว่า เราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายชีวิต แล้วเราจะไปสู้เป้าหมายชีวิตนั้นได้อย่างไรเพื่อที่เราจะได้แสวงหาคำตอบแล้วทำให้ถูกตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยไม่ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปผิดเป้าหมาย และเอาสังขารไปถล่มทลายอย่าง
ไร้ประโยชน์

เมื่อเราตั้งคำถามแบบนี้แล้ว ก็จะพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือต้นแบบมนุษย์ผู้ดำเนินชีวิตจนบรรลุเป้าหมายชีวิตที่สมบูรณ์ คือ บรรลุนิพพาน พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พ้นไปจากอำนาจของกฎแห่งกรรม พ้นจากอำนาจของไตรลักษณ์ เราก็ควรจะดูพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างและดำเนินชีวิตตามอย่างพระองค์ท่าน เพื่อสักวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง จะได้บรรลุธรรมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามพระองค์ท่านไป

ถ้าเราได้ศึกษาประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็จะเห็นว่า การดำเนินชีวิตของทุก ๆ พระองค์เหมือนกันหมด คือมีความเพียรพยายามสั่งสมแต่บุญกุศล กว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นต้องสร้างบารมีครบเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้ง ๓๐ ทัศ (ประการ) การสร้างบารมีของพระพุทธองค์ คือ การทำแต่กรรมดีอย่างยิ่งยวด ทำแต่สิ่งที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายบุญล้วน ๆ เป็นสิ่งที่ทำความบริสุทธิ์ให้กาย วาจา ใจ ของพระองค์ ไม่ว่าจะเกิดในสภาพใด ในฐานะใด จะเผชิญปัญหาอุปสรรคหนักเพียงใด แม้ต้องแลกด้วยชีวิต พระองค์ก็ไม่เปลี่ยนใจ ยังตั้งมั่นในการสั่งสมบุญเท่านั้น เราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องใช้บุญทุกลมหายใจ ตายแล้วไปอยู่โลกหน้าก็ต้องใช้บุญเหมือนกัน อยู่ที่ไหน ๆ ก็ต้องใช้บุญทั้งนั้น แม้ในที่สุดจะไปพระนิพพานก็ใช้บุญ เมื่อบุญมีความสำคัญมากอย่างนี้ เราจึงต้องสั่งสมบุญไว้ให้มาก

บุญคืออะไร ? บุญคือพลังงานบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน บุญยิ่งมากยิ่งดี บุญเกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกครั้งที่ตั้งใจละบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปทางกาย วาจา ใจ เมื่อตั้งใจละบาปบุญก็เกิด บุญเกิดขึ้นทุกครั้งที่ตั้งใจทำดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ และเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อตั้งใจภาวนากลั่นใจให้ใส

บุญเป็นพลังงานสำคัญของชีวิตและใช้มากใช้เปลืองด้วย เพราะใช้กันอยู่ทุกลมหายใจ ใช้กันข้ามโลกเลยทีเดียว แต่เราไม่ทราบสักนิดว่ามีบุญในตัวเหลืออยู่เท่าไร จึงต้องหมั่นสั่งสมบุญอยู่เนืองนิตย์

พระพุทธองค์ตรัสว่า บุญเป็นชื่อของความสุข อย่ากลัวต่อบุญเลย ดังนั้นการสั่งสมบุญ จึงเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของโลก เป็นแม่บทของความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักการไว้ ๓ ประการคือ ไม่ทำบาปทั้งปวง บาปแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่พึงทำ บาปเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ให้รู้ว่าบุญกำลังน้อยลงไปแล้ว ฉะนั้นไม่ควรทำบาปเพิ่มขึ้นอีกเลย

ทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม ให้ทำบุญใหม่ให้เต็มที่ บุญนั้นเราจะต้องใช้ไปทุกภพทุกชาติใช้ไปตลอดจนกว่าจะบรรลุพระนิพพานพ้นจากทุกข์ทั้งปวงกันทีเดียว

หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ทำใจให้ผ่องใส ใจที่ผ่องใส จะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด  เข้าถึงธรรม  จะเข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตด้วยตนเอง เราจะบรรลุเป้าหมายชีวิต คือพระนิพพาน ก็ด้วยการฝึกใจนี้เอง

หลักการทั้ง ๓ ประการนี้ คือ แม่บทวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์บนโลกนี้จากนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงวิธีปฏิบัติตนบนพื้นฐานของหลักการทั้ง ๓ ข้อดังกล่าวไว้ ๖ ประการ ดังนี้

ข้อปฏบัติทางวาจา ระวังไม่ให้ก่อบาปจากทางวาจา คือ ต้องไม่ว่าร้าย ไม่ว่าชีวิตจะเจอปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็ไม่พึงกล่าววาจาว่าร้ายใคร

ข้อปฏิบัติทางกาย ระวังไม่ให้ก่อบาปจากทางกายด้วยมือและเท้า เป็นต้น คือ ต้องไม่ทำร้าย ไม่ว่าชีวิตจะเจอปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็ไม่พึงทำร้ายเบียดเบียนชีวิตกัน

ข้อปฏิบัติทางกาย วาจา ที่ดียิ่งขึ้นไป คือการสำรวมศีลและมารยาทอย่างเคร่งครัดเพราะแม้แต่คนที่รักกัน ไม่ใช่ศัตรูกัน เมื่ออยู่ร่วมกันก็อาจเกิดการกระทบกระทั่ง คิดระแวงน้อยอกน้อยใจกันได้ จึงต้องสำรวมในศีลและมารยาทให้ดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างยืนนานและมีความผาสุก ซึ่งจะเอื้อเฟื้อให้ใจอยู่ในบุญเป็นโอกาสให้การทำความดีเกิดขึ้นได้ง่าย

ข้อปฏิบัติในการรับประทานอาหาร คือ ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร เพราะเมื่อจะเข้าสู่การภาวนากลั่นใจให้ใส ต้องรู้จักบริโภคอาหารให้พอดี การอิ่มเกินไปทำให้หนังท้องตึง หนังตาหย่อน เวลานั่งก็จะนั่งหลับ ขาดสติ ทำให้การนั่งหลับตาทำภาวนาครั้งนั้นผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์

ข้อปฏิบัติในการเลือกที่พักอาศัย คือให้เลือกอยู่ในที่สงบ ไม่อึกทึก ซึ่งจะเป็นการระวังกายใจไม่ให้ใจฟุ้งซ่านไปด้วย สิ่งที่ไม่ควรเห็น ไม่ควรได้ยิน ไม่ควรได้กลิ่น ไม่ควรลิ้มรส ไม่ควรสัมผัส เมื่อเลือกอยู่ในที่สงบ โอกาสที่จะก่อบาปใหม่เกิดขึ้นไม่ง่าย ตรงกันข้ามโอกาสที่บุญใหม่จะเกิด โอกาสที่ใจผ่องใสมีมาก

ข้อปฏิบัติในการฝึกใจให้ผ่องใส คือ ฝึกสมาธิเป็นประจำ ทุกอิริยาบถให้รักษาใจให้แช่อิ่มอยู่ในอู่ทะเลบุญ

การที่เราจะสามารถปฏิบัติทั้ง ๖ ประการนี้ได้ ตามหลักการที่เป็นแม่บทวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้ง ๓ ประการนนั้ มีสิ่งที่เราจะต้องทำคือ

จะต้องฝึกความอดทนให้ถึงที่สุด เพราะข้อปฏิบัติทั้ง ๖ ข้อตามหลักแม่บทความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น ถ้าไม่อดทนก็ปฏิบัติไม่ได้ ถ้ามีความอดทนจึงจะทำได้ ความอดทนเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดในการเผาผลาญบาป

จะต้องตั้งใจทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายให้ได้ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึงนิพพาน วิธีอื่นไม่มี เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวชก็เพื่อจะหาทางไปพระนิพพาน หาอยู่ ๖ ปี ในที่สุดก็พบว่านิพพานอยู่ในตัว เมื่อสามารถทำใจหยุดใจนิ่งในศูนย์กลางกายได้ จึงไปพบพระนิพพาน แล้วได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมครูของเรา

จะต้องบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้แก่สรรพสัตว์โดยทั่วหน้า ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้โอกาสที่จะก่อเวรก่อภัยขึ้นใหม่มีได้สูง การบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรจะฝึกให้มีความเมตตาความกรุณาติดตัวไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นดั่งมนต์ขลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันไม่ให้เวรภัยใหม่เกิดขึ้นกับเรา เมื่อเวรภัยใหม่ไม่เกิดขึ้น หนทางจะไปนิพพานของเราก็ราบรื่น เมื่อตั้งใจเป็นกัลยาณมิตรให้คนอื่น สิ่งที่จะค่อย ๆ หายไปจากใจเราอีกก็คือ ความขี้รำคาญ ความน้อยอกน้อยใจ เมื่อนิสัยที่ไม่ดีนี้หมดไป เราจะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข

ทั้งหมดนี้คือมรดกธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ให้เราได้รู้ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร คือรู้ว่า ชีวิตเกิดมาเพื่อทำพระนิพานให้แจ้ง ดังนั้นชีวิตจึงต้องสั่งสมบุญอยู่เป็นนิจ เพราะบุญเป็นคุณเครื่องแห่งความสุข ความสำเร็จของชีวิตทั้งในโลกนี้และความเป็นอยู่ในโลกหน้า ในชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะทำพระนิพพานให้แจ้งบรรลุที่สุดแห่งทุกข์

โดยสรุปก็คือ หลักธรรมที่หลวงพ่อนำมาแสดงนี้มาจากโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งถือเป็นเป้าหมาย หลักการ และวิธีการ ที่ใช้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในทุกภพทุกชาติได้อย่างไม่ผิดพลาด ตราบใดที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร โอกาสที่จะมีชีวิตผิดพลาดก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าเราเร่งฝึกฝนตนเองตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ตั้งแต่ตอนนี้ ชีวิตในชาตินี้และชาติหน้าก็จะมีหลักประกันว่า เราจะยังคงมีโอกาสดำเนินชีวิตไปตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้องมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
คนที่เคยดำเนินชีวิตผิดพลาด จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรให้ถูกทาง พระพุทธศาสนามีคำแนะนำเรื่องนี้ไว้อย่างไร ? คนที่เคยดำเนินชีวิตผิดพลาด จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรให้ถูกทาง พระพุทธศาสนามีคำแนะนำเรื่องนี้ไว้อย่างไร ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:07 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.