บริบทของความเป็นเพื่อน
การมีเพื่อนสำคัญมากแค่ไหน
ถ้าไม่มีเพื่อนจะเป็นไปได้ไหม ?
เพื่อนมีความสำคัญมาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม
เวลาอยู่ด้วยกันจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าไม่มีเพื่อนก็อยู่ได้
แต่ลำบากสมมุติว่าเรือเราอับปาง ต้องไปอยู่บนเกาะร้างคนเดียว เราก็ต้องอยู่ให้ได้
แต่คงลำบากและเหงา เพราะต้องอยู่คนเดียวและต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด เช่น
ต้องทำเสื้อผ้าใส่เอง หาอาหารเอง ทำที่อยู่เอง ดูแลทุกอย่างเอง
แล้วเวลาไม่สบายจะทำอย่างไร แต่ถ้าอยู่กันหลาย ๆ คนเราแบ่งหน้าที่กันได้
คนนี้เก่งเรื่องทำเสื้อผ้า ก็ทำเผื่อคนอื่นด้วย คนนี้หาอาหารเก่ง ก็หามาแบ่งปันกัน
คือแบ่งหน้าที่ตามความชำนาญ แต่ถ้าอยู่คนเดียวต้องทำทุกอย่าง
ในอีกแง่หนึ่งก็อยู่ในสังคมมนุษย์นี้แหละแต่ไม่คบใครเลย
ไปทำงานเสร็จก็กลับที่พักไม่พูด ไม่คุย ไม่อะไรกับใครทั้งสิ้น อย่างนี้ก็อยู่ได้
แต่คงว้าเหว่พอสมควร แต่ถ้าเป็นกรณีพระภิกษุที่ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ปลีกวิเวกอย่างนี้อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ไม่ใช่เข้ากับใครไม่ได้ เป็นคนที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน อย่างนี้น่าเห็นใจมาก
แล้วดูท่าทางน่าจะมีความทุกข์พอสมควร ควรปรับปรุงแก้ไข
เพราะว่าการมีเพื่อนจะเกื้อกูลกันได้ เส้นทางชีวิตคนเรามีทั้งตอนรุ่งกับตอนร่วง
ตอนกำลังรุ่งถ้ามีเพื่อนจะได้มาร่วมกันแสดงความยินดี
ตอนเราร่วงจะได้มีคนประคองให้ลุกขึ้น เหมือนเราเดินลุยน้ำ ถ้าเดินคนเดียวมีสิทธิ์หกล้มถูกน้ำพัดไป
แต่ถ้าจับมือกันเดินหลายคน พอคนหนึ่งเสียหลักคนอื่นก็ช่วยกันประคองให้ตั้งหลักได้
การมีเพื่อนฝูงจะเกื้อกูลกันอย่างนี้
มีสุภาษิตจีนบอกไว้ว่า “อยู่บ้านพึ่งพ่อแม่ออกนอกบ้านพึ่งมิตรสหาย”
ดังนั้นคนจีนจะให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก ศัพท์จีนมีคำหนึ่งคือคำว่า “กวานซี่”
แปลว่า ความสัมพันธ์ คนจีนถือว่าความสัมพันธ์มีคุณค่าอย่างยิ่งยวด
จะนำมาซึ่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ ๑ บวก ๑ ไม่ได้เป็น ๒ แต่กลายเป็น ๑๑
นี้คือความสำคัญของมิตรสหายและความสัมพันธ์
ใครที่อยู่โดดเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลย
ถือว่าเป็นการตัดรอนโอกาสตัวเองอย่างน่าเสียดาย
ระหว่างเพื่อนกับคนรักสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน
?
สำคัญทั้งคู่ และเราต้องทำหน้าที่ของเราต่อแต่ละฝ่ายให้สมบูรณ์
จะมาเทียบว่าใครสำคัญกว่าใครนั้น บางทีก็ไม่ค่อยเป็นสาระเท่าไร
แต่ถ้าต้องเทียบจริง ๆ โดยทั่วไปคู่ชีวิตสำคัญกว่า
เพราะคู่ชีวิตก็เป็นเพื่อนแบบหนึ่งคือ เพื่อนคู่ชีวิต
ร่วมหัวจมท้ายอยู่ด้วยกันในครอบครัวเดียวกัน ผูกชะตาอยู่ด้วยกัน
คนที่บอกว่าเพื่อนสำคัญกว่าคู่รัก อาจเป็นกรณีที่เขามีกิ๊กอยู่หลายคนแล้วเปลี่ยนไปเรื่อย
ๆ แต่มีเพื่อนที่ร่วมเป็นร่วมตายอยู่แค่ ๑-๒ คน ถ้าอย่างนี้เขาอาจจะรู้สึกว่า
เพื่อนมีความสำคัญกว่าคู่รัก หรือในสมัยก่อนคนที่มีภรรยาหลายคน
ก็อาจจะรู้สึกว่าเพื่อนที่เกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกันในยามยาก และฝากชีวิตกันได้
ซึ่งมีอยู่แค่คนสองคน มีความสำคัญกว่าภรรยา
ในยุคปัจจุบัน
มีหลักอะไรในการคบเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ?
ให้ดูง่าย ๆ ว่าคนนั้นเป็นคนที่คิดดี
พูดดี และทำดีหรือเปล่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามงคลชีวิตที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้า
มงคลที่ ๑ ก็คือ ไม่คบคนพาล มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต ถามว่าจะดูคนพาล ดูบัณฑิต
ดูอย่างไร ง่ายที่สุดก็คือ ดูที่ความคิด คำพูด และการกระทำ
ถ้าในโลกโซเชียลให้ดูสิ่งที่เขาพิมพ์มา นั้นแหละคือคำพูดของเขา ถ้าคิดดี พูดดี
ทำดีเป็นปกติ แสดงว่าคนนี้เป็นคนดี แต่ถ้าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเป็นปกติ
แสดงว่าเป็นคนไม่ดี บางคนโพสต์แต่ละอย่างถูกใจเรา อย่างนี้ถือว่าเขาดีไหม ไม่แน่
ต้องถือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิดศีลธรรม ก็แสดงว่าเป็นเรื่องดี
ถ้าผิดศีลธรรมเมื่อไร ก็เป็นเรื่องไม่ดี
นึกง่าย ๆ ว่า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดูอยู่กับเรา
พระองค์จะสรรเสริญสิ่งที่เขาโพสต์ไหม ถ้าพระพุทธเจ้าทรงชื่นชมว่าถูกต้องแล้ว
ดีแล้ว แสดงว่าดี
อย่าเอาตัวเองเป็นตัววัดเพราะบางทีเราก็เอาความถูกใจมาตัดสิน บางทีเขาใช้คำหยาบคาย
แต่เผอิญหยาบคายกับคนที่เราไม่ชอบ เราก็เลยถูกใจ
อันนี้ไม่ได้ เพราะคำหยาบอย่างไรก็เป็นวจีทุจริต หรือไปยุแหย่ให้คนเขาเกลียดชังกัน โดยใช้
Hate Speech (ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง) แสดงว่าไม่ถูกต้องแล้ว
คนดีเขาไม่ทำกัน คำเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด เพ้อเจ้อ คือ
วจีทุจริต ในโลกโซเชียลต้องดูเรื่องนี้มากที่สุด เพราะสื่อกันด้วยข้อความ ด้วยภาพ
ถ้าเป็นภาพตัดต่อเมื่อไร รู้ทันทีว่าคนทำโกหกและวจีทุจริตแน่นอน
อย่างนี้เราอย่าไปคบ ให้เลือกคบแต่เฉพาะคนที่คิดดี พูดดี และทำดี ให้ข้อมูลดี ๆ
แก่เรา
เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นของกลาง
ถ้าใช้ถูกก็เป็นคุณแก่ตัวเรา แต่ถ้าเราไปคบกับคนไม่ดี ใจจะตกต่ำ
ยังไม่ต้องคุยอะไรกันหรอก แค่ดูที่เขาโพสต์เรื่องไม่ดี เป็นคำหยาบคายบ้าง
เป็นเรื่องไม่จริงบ้าง ใจเราก็ตกต่ำลงไปแล้ว เสียคุณภาพของใจแล้ว อย่าไปคบ
อย่าไปเสพเลย ให้เลือกเฉพาะสิ่งดี ๆ จากคนดี ๆ เท่านั้น
เพื่อรักษามิตรภาพเอาไว้
ในฐานะเพื่อนมีเรื่องอะไรบ้างที่เราไม่ควรพูด ?
ในสากลประเทศ
ส่วนใหญ่เรื่องที่เขามักเลี่ยงไม่คุยกัน คือ ๑. เรื่องการเมือง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกผิด แต่เป็นเรื่องของความชอบ ที่เรื่องการเมืองดูแรง
เพราะว่าทุกคนตระหนักว่าเป็นสิ่งที่จะนำทิศทางประเทศ
ผสมกับความรู้สึกรักชาติและเป็นห่วงบ้านเมืองเข้าไป
ทำให้ถ้าคุยกันแล้วคนละคอมีสิทธิ์จะทะเลาะกันง่าย ๆ
อีกเรื่องคือเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ
ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนนี้นับถือศาสนาหนึ่ง อีกคนนับถืออีกศาสนา
ถ้าบอกว่าใครดีกว่ากันเดี๋ยวก็ทะเลาะกัน นี้คือ ๒ เรื่องหลัก
เรื่องอื่นยังไม่เท่าไร เรื่องดาราหรือเชียร์ฟุตบอลคนละทีมไม่ค่อยมีปัญหามาก แค่ขำ
ๆ กันไป ไม่ได้เกี่ยวพันถึงวิถีชีวิต แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง
หรือศาสนา มันส่งผลถึงวิถีชีวิต พอขัดกันแล้วจะแรงมาก อันนี้คือเรื่องหลัก
ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น
การหยิบยืมเงินทองก็ต้องดูให้ดี คนที่ดี ๆ กันอยู่ ยืมเงินแล้วไม่คืนจะขัดใจกัน
หรือการเอ่ยปากขอของรักของเขาก็อย่าทำ ผู้ที่ขอของรัก ย่อมไม่เป็นที่รัก
การพูดจาเป็นเชิงดูหมิ่นศักดิ์ศรี ก็อย่าทำเด็ดขาดทุกคนมีศักดิ์ศรีของตัวเอง
ยิ่งในปัจจุบันนี้ความรู้สึกเท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเป็นสมัยก่อน
ผู้ใหญ่แบบผู้ว่าราชการจังหวัดไปเจอชาวบ้าน ชาวบ้านพนมมือแต้ เกรงใจมาก
แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเดินขบวนไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มี
เพราะเขาถือว่าแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเอง คุณเป็นข้าราชการทำหน้าที่ของคุณ
แต่คุณกินภาษีของผม เขาไม่ได้ถือว่าข้าราชการเป็นเจ้านาย
ตัวเองเป็นผู้ที่มาพินอบพิเทา เพื่อจะขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปข่มใคร
ไปถึงไหนก็ให้เกียรติทุกคน แบบนี้เราจะเป็นที่รัก
สังเกตสินักการเมืองคนไหนเป็นคนเก่ง ซื่อสัตย์ ขยัน ติดดิน ให้เกียรติประชาชน
ชาวบ้านชอบ ถ้าเต๊ะ เบ่ง ชาวบ้านไม่ชอบ เพราะฉะนั้นให้เกียรติทุกคน
แล้วเราจะอยู่สบาย จะเป็นที่รัก
ในโลกธุรกิจมีคำพูดว่า “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด”
ถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรวางใจอย่างไร ?
“เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” คือ
ถ้าผลประโยชน์มาถึงก็ชิงกันหรือผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัยใช่ไหม
นี้แสดงว่าเพื่อนไม่จริงเท่าไร ถ้าเพื่อนจริงต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันได้
ในกรณีที่เป็นเพื่อนกันจริง ๆ เกิดเขาสะดุดอะไรขึ้นมา แล้วมาขอยืมเงินเรา
เราจะทำอย่างไร ในปัจจุบันอย่าไปคิดว่าคนจนเท่านั้นที่ต้องมายืมเงิน
บางทีเศรษฐีก็มี รวยเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่เจอจังหวะสะดุดพอดี ถามว่าเราควรทำอย่างไร
ให้ทำอย่างนี้นะ ถ้าเป็นเพื่อนกันก็ต้องช่วยกัน แต่ต้องดูว่าเรามีกำลังพอช่วยได้หรือเปล่า
ถ้าเรากำลังมีปัญหาเหมือนกัน ก็บอกกันตรง ๆ ไปเลย แล้วให้กำลังใจกัน
แล้วดูว่ามีช่องทางไหนที่ช่วยได้บ้าง แต่ถ้าเราพอช่วยได้ ก็ต้องมาดูอีกว่า
เพื่อนคนนั้นเป็นเพื่อนระดับไหน ถ้าเป็นเพื่อนที่สนิท เพื่อนแท้ เพื่อนตาย
ตอนเราลำบากเขาเคยช่วยเรา ถ้าอย่างนี้ถึงไหนถึงกัน กระเบียดกระเสียรบ้างก็ยอม
เพื่อให้เพื่อนรอด ถัดมาคือเพื่อนที่รู้จักกันระดับหนึ่ง
ก็ต้องดูว่าเครดิตเขาดีขนาดไหน ถ้าเขาเป็นคนรักษาคำพูด รับผิดชอบ อันนี้โอเค
เราก็ช่วย แต่ถ้าเป็นเพื่อนที่เครดิตไม่ค่อยดี ถ้าอย่างนี้ต้องมาดูเป็นกรณีว่าเราจะช่วยหรือเปล่า ถ้าช่วยแล้วงานเราสะเทือน
อย่างนี้ก็อาจจะหาวิธีปฏิเสธไป หรือว่าถ้าอยากจะช่วยเขา ก็ต้องทำสัญญาให้เรียบร้อย
มีการค้ำประกันอะไรต่าง ๆ ให้เรียบร้อย สบายใจทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะสำหรับเขาแล้ว
การที่มีคนช่วยยังดีกว่าไม่มีคนช่วย แต่เราเองก็ต้องการหลักประกันอะไรบางอย่างด้วย
อันนี้จัดการให้ลงตัวแต่ต้นดีกว่าโดยแยกแยะวินิจฉัยว่า คนนี้เป็นเพื่อนระดับไหน
เครดิตเป็นอย่างไร แล้วเราควรช่วยหรือไม่ควรช่วย ถ้าช่วยจะต้องทำอย่างไรถึงจะพอดี
แล้วก็ต้องชัดเจนตั้งแต่ต้น อย่างนี้จะทำให้เราสบายใจด้วย แล้วมิตรภาพก็จะยั่งยืนกว่าเดิมด้วย
ถ้าอยากมีเพื่อนแท้
มีหลักการอย่างไรต้องเริ่มต้นอย่างไร ?
จริง ๆ ต้องดูก่อนว่า
คนนั้นเป็นคนอย่างไร คิดดี พูดดี ทำดีหรือเปล่า
แต่ในความเป็นจริงหาคนที่สมบูรณ์แบบไม่ได้หรอก อย่างน้อยเป็นคนที่ไม่เกเร
ไม่เหลวไหล ถ้าอยู่ในเกณฑ์สอบผ่าน คือ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะดี ถ้าดูแล้วใช้ได้
เราก็จะได้ปฏิบัติกับเขาให้ดี ซึ่งหลักในการปฏิบัตินั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ ดังนี้
๑. เผื่อแผ่ แบ่งปันกัน
ได้ลาภได้อะไรมาก็แบ่งปันกัน มีน้ำใจต่อกัน
๒. ให้คำพูดเสริมกำลังใจกัน
ไม่พูดจาบั่นทอนกำลังใจ บางคนคบกันมาตั้ง ๕ ปี ๑๐ ปี ไปดูถูกเขาคำเดียว
มิตรภาพแตกสลายเลยก็มี คำพูดนี้สำคัญมาก โบราณท่านจึงบอกว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น
เขากำลังติดขัดตรงนี้ เราเสริมตรงนี้ได้ก็ช่วยกัน อย่างสมัยก่อน
เขาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน ช่วยกันไปช่วยกันมา ตะลุมบอนบ้านนี้เสร็จแล้ว
อีกวันไปบ้านโน้น มันคึกคัก เกิดพลังหมู่ขึ้นมา
๔. ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
เห็นเพื่อนกำลังกลุ้มใจ เราก็มีอารมณ์ร่วมนิดหน่อย
ให้ความรู้สึกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ให้เขารู้สึกว่าเจอเราแล้วเขาโอเค
มีอะไรพูดได้ทุกเรื่อง เพราะว่าเราจริงใจกับเขา พร้อมรับฟังเขา
พร้อมจะให้คำแนะนำดี ๆ
ทำให้เขามีพลังที่จะแก้ไขปัญหา การมีคนที่พูดคุยได้ทุกเรื่องมีคุณค่ามากนะ
๕. ซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน
ไม่ใช่แบบเพื่อนเราเผาเรือน ฝากสมบัติไว้ก็ฮุบไป ฝากให้ดูแลครอบครัว กลับมาภรรยาเป็นอื่นไปเสียแล้ว
หรือเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ไปเห็นโอกาสทำธุรกิจ ก็คว้าไปทำก่อน
แบบนี้ไม่ใช่เพื่อนแท้
คำว่า กัลยาณมิตร หมายความว่าอย่างไร
และต้องทำหน้าที่อย่างไรต่อกันบ้าง ?
“กัลยาณมิตร” แปลว่า
“มิตรที่ดีหรือเพื่อนที่ดี” คือนอกจากซื่อสัตย์จริงใจต่อกันแล้วยังจูงกันไปสู่หนทางสวรรค์ด้วย
บางคนไม่ทิ้งกันเลย ร่วมเป็นร่วมตาย ก็ถือว่าจริงใจ เป็นเพื่อนแท้
แต่ว่าปกติชอบกินเหล้า ชอบเล่นไพ่อย่างนี้ถือว่าเป็นเพื่อนแท้
แต่ก็ยังไม่ใช่กัลยาณมิตร ถ้าเป็นกัลยาณมิตรจะต้องเป็นคนดีด้วย
แล้วพากันไปสู่หนทางสวรรค์ หนทางนิพพาน ชักนำให้เพื่อนทำในสิ่งดี ๆ
ที่ถูกศีลถูกธรรม นำไปสู่การสร้างบุญกุศลทั้งชาตินี้ชาติหน้า
และเข้าพระนิพพานในที่สุด
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
บริบทของความเป็นเพื่อน
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:18
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: