ทานมัย : ยิ่งให้ ยิ่งรวย


มา ภิกฺขเว ภายิตฺถ, สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานนฺติ

ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย 

คำว่าบุญเป็นชื่อของความสุข
------------------------------------

บุญ คือสิ่งที่เป็นเบื้องหลังของความสุขและความสำเร็จทุก ๆ อย่าง บุญ คือเสบียงที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไกลในสังสารวัฏ บุญ จะช่วยปิดประตูอบาย และหนุนส่งให้เวียนวนอยู่ในสุคติภูมิ จนกระทั่งหมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพาน ดังนั้น การสั่งสมบุญจึงเป็นหน้าที่หลักของมนุษยชาติ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทำงาน

บุญคืออะไร

หลวงพ่อทัตตชีโว ได้กล่าวไว้ว่า บุญ คือ พลังงานบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาในใจทุกครั้งเมื่อเราตั้งใจจะละชั่ว ตั้งใจทุ่มเททำความดี และตั้งใจกลั่นใจให้ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร เหมือนการที่เรากินอาหาร คือ เมื่อกลืนข้าวเข้าไปก็จะเกิดการย่อยขึ้นภายในตัว แล้วเกิดเป็นพลังงานขึ้นมาหล่อเลี้ยงร่างกายให้เจริญเติบโต บุญ มีอานุภาพพิเศษที่สำคัญ คือ สามารถชำระใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ยิ่งกว่านั้น บุญที่สั่งสมมาดีแล้ว ยังส่งผลพิเศษ ๆ ได้อีกมากมาย เช่น ส่งผลให้ประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐี เป็นพระราชา เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ

คุณสมบัติของบุญ คือ เก็บสะสมเอาไว้ได้ เหมือนกระแสไฟฟ้าที่สามารถชาร์จเก็บสะสมเอาไว้ ในแบตเตอรี่ บุญมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำ คือสามารถที่จะไหลไปได้ไกล ๆ เหมือนน้ำจากภูเขาไหลลงไปสู่ ทะเลที่อยู่ไกลแสนไกล นอกจากนี้ บุญยังเป็นสิ่งที่อุทิศแก่ผู้ที่ละโลกไปแล้ว ซึ่งอยู่คนละโลกกับเราได้ ความสำเร็จสมหวังที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ล้วนเป็นผลมาจากบุญทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องทางมาแห่งบุญ ๑๐ ประการ มาให้สาธุชนผู้ใฝ่บุญทั้งหลายศึกษา ใจจะได้อยู่ในบุญตลอดปี และรู้หลักในการสั่งสมบุญ จะได้ประสบความสุขความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป



บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือทางมาแห่งบุญ ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อม ถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. ไวยยาวัจมัย บุญเกิดจากการขวนขวาย ในกิจที่ชอบ
๖. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการอุทิศส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญเกิดจากการทำความเห็นให้ตรง

คำว่า "มัย" ที่ต่อท้ายบุญกิริยาวัตถุทุกข้อนั้น มาจากคำบาลีว่า "มะยะ" แปลว่า "สำเร็จ" หรือ "เกิด" เช่น ทานมัย คือ บุญสำเร็จจากการให้ทาน หรือบุญเกิดจากการให้ทาน



ทานมัย บุญที่เกิดจากการให้ทาน

ผู้รู้ได้กล่าวเอาไว้ว่า "บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของปานกลางให้ตามปานกลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควร" มนุษย์ทุกคนดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ ชีวิตของเราตั้งแต่ถือกำเนิดมาจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย ต้องเกี่ยวพันกับการเป็นผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะการทำทานนั้น ผลของการให้ที่ทำไปนั้นไม่สูญหายไปไหน จะเป็นสิ่งที่ติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ การให้ทานทุกชนิดย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่บุคคลเทน้ำลงในหลุมหรือบ่อเล็ก ๆ ด้วยหวังว่าจะให้สัตว์เล็ก ๆ อาศัยน้ำนั้นเป็นอยู่ พระพุทธองค์ยังตรัสว่าเป็นบุญ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทานที่ให้แก่มนุษย์และภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลว่าจะส่งผลต่อผู้ให้ทานมากปานใด

อานิสงส์ของการให้ทาน ย่อมส่งผลเป็นความสุขเสมอ และจะเป็นบุญที่ย้อนกลับมาถึงตัวเราในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม"

การให้ทานที่จะส่งผลมากหรือน้อย มีหลักอยู่ว่า

๑. ของที่ให้ทานเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของที่โกงหรือลักจากผู้อื่นมา
๒. ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ปราศจากกิเลสหรือปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลส
๓. ผู้ให้ทานก็เป็นผู้มีความบริสุทธิ์
๔. ผู้ให้ทานมีใจเลื่อมใสในกาลทั้ง ๓ คือ
     ๔.๑ ก่อนให้มีใจยินดี
     ๔.๒ กำลังให้มีใจเลื่อมใส
     ๔.๓ ให้เสร็จแล้วมีใจเบิกบาน

วัตถุที่ควรให้ ได้แก่ วัตถุ ๑๐ อย่าง คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย และประทีปโคมไฟ

ส่วนทานที่ให้แล้ว นอกจากไม่ได้บุญ ยังเป็นบาปอีกด้วย ได้แก่ 

๑. ให้สุรายาเสพติด เช่น บุหรี่ เหล้า ฝิ่น กัญชา ฯลฯ
๒. ให้อาวุธ เช่น เขากำลังทะเลาะกัน ยื่นปืน ยื่นมีดให้
๓. ให้มหรสพ เช่น พาไปดูหนัง ดูละคร ฟังดนตรี เพราะทำให้กามกำเริบ
๔. ให้สัตว์เพศตรงข้าม เช่น หาสุนัขตัวเมียไปให้ตัวผู้ หาสาว ๆ ไปให้เจ้านาย ฯลฯ
๕. ให้ภาพลามก รวมถึงหนังสือลามก และสิ่งยั่วยุกามารมณ์ทั้งหลาย



การให้ทานเหมือนการฝากฝังทรัพย์เอาไว้ ครั้นเมื่อส่งผลก็จะออกดอกให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นอกจากนี้ การให้ทานยังจัดเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส คือ ความตระหนี่ให้ออกไปจากจิตใจด้วย

"บุคคลให้ทานไม่ได้เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ ความตระหนี่และความประมาท บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญพึงให้ทาน คนตระหนี่กลัวความอดอยากยากจน แต่เพราะความกลัวจนนั่นแหละจะเป็นภัยแก่ผู้ไม่ให้ และจะย้อนกลับมามีผลต่อเขาผู้หลงผิด ฉะนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่ แล้วรีบให้ทาน เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ทานมัย : ยิ่งให้ ยิ่งรวย ทานมัย : ยิ่งให้ ยิ่งรวย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 18:59 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.