ทิฏฐุชุกรรม บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามธรรม


ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องและถูกทางตามธรรม ไม่เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยแก้ไขปรับเปลี่ยนความเห็นตั้งแต่เห็นผิดไปเป็นเห็นถูก และพัฒนาตนให้เห็นถูกยิ่ง ๆ ขึ้นไปในหลักการทำบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นยังไม่ตรง เช่น ยังไม่รู้เรื่องผลของกรรม ก็จำเป็นต้องได้กัลยาณมิตรที่ดี ได้ฟังธรรม แล้วมนสิการ (พิจารณา) โดยแยบคาย ความเห็นนั้นจึงจะถูกปรับให้ตรงตามความเป็นจริงเป็นลำดับ ๆ ทำให้ปฏิบัติถูกทาง เพราะการพัฒนาตนต้องเริ่มที่ความเห็นก่อน เมื่อความเห็นตรง คำพูดและการกระทำก็จะตรงตามไปด้วย ตรงต่ออะไร? ตรงต่อหนทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน ดังเรื่องราวต่อไปนี้

ชายคนหนึ่งเกิดในครอบครัวของพรานป่าในโรหณชนบท เมื่อโตขึ้นมีอาชีพเป็นนายพราน เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยการฆ่า โดยวางกับดักสัตว์ด้วยกับดัก ๑๐๐ คัน บ่วง ๑๐๐ บ่วง รวมทั้งฝังหลาวในหลุม ๑๐๐ หลุม เขาฆ่าสัตว์มากมายเพราะไม่รู้ผลของกรรม คือ มีความเห็นผิดนั่นเอง



ผลกรรมเห็นทันตา

วันหนึ่ง เขาฆ่าเนื้อที่ติดบ่วงและนำมาย่างไฟกิน เกิดกระหายน้ำ จึงเดินไปหาน้ำในโรงน้ำดื่มที่วัดคเมณฑวาสีวิหาร ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง น่าแปลกว่าทั้งที่มีหม้อน้ำที่เติมไว้เต็มแล้วถึง ๑๐ หม้อ แต่เขากลับไม่เห็นน้ำเลยสักหม้อ เขาจึงเอะอะโวยวายว่า อะไรกันนี่ ในวัดนี้ก็มีพระอยู่มาก แต่ไม่มีน้ำดื่มบรรเทากระหายบ้างเลยหรือขณะนั้น พระเถระชื่อว่าจูฬบิณฑปาติกติสสะได้ยินเสียงโวยวายจึงเดินไปตรวจดูหม้อน้ำทั้ง ๑๐ หม้อ เห็นมีน้ำเต็มทุกหม้อ ท่านคิดว่า บุคคลผู้นี้เหมือนเปรต เสวยกรรมทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ท่านจึงพูดขึ้นว่า ดูก่อนอุบาสก ถ้ากระหายน้ำก็ดื่มเสียสิท่านให้เขาแบมือรองน้ำ แล้วท่านก็ยกหม้อ เทน้ำลงบนมือของเขา ทันทีที่นายพรานดื่มน้ำบนมือตนเอง น้ำที่ดื่มเข้าไปก็ระเหยไปหมดเหมือนเทลงบนแผ่นกระเบื้องที่เดือดระอุ ดังนั้นแม้จะดื่มน้ำไปเท่าไรก็ตาม เขาก็ยังกระหายเช่นเดิม เพราะมีวิบากกรรมหนัก

พระเถระเห็นเหตุการณ์นั้นจึงรำพึงขึ้นว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านทำบาปกรรมหนักแค่ไหนหรือ ถึงเหมือนเปรตที่เสวยกรรมทันตาเห็นอย่างนี้เมื่อสิ้นคำของพระเถระ เขาฉุกใจนึกถึงอาชีพบาปของตนทันที เกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง และกราบเรียนพระเถระถึงอาชีพของเขา แล้วรีบกราบลากลับไปรื้อกับดักและทำลายอาวุธล่าสัตว์ รวมทั้งปล่อยสัตว์ที่ดักจับมาทั้งหมดอีกด้วย

จากนั้นนายพรานก็รีบกลับมาหาพระเถระเพื่อขอบวช พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ การบวชเป็นกิจที่ทำได้ยาก ท่านจะบวชได้อย่างไรเขาตอบว่า ท่านผู้เจริญ กระผมเห็นวิบากกรรมแจ้งประจักษ์ขนาดนี้แล้ว จะไม่บวชได้อย่างไรพระเถระจึงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วบอกกรรมฐานแก่เขา เขามีชื่อหลังจากบวชว่า  พระมาลกติสสะ

พระใหม่อยู่ในความดูแลของพระเถระอย่างใกล้ชิด ท่านได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระและเรียนคำสอนพุทธพจน์ด้วย



สะกิดใจเพราะสะเก็ดไฟนรก

วันหนึ่ง พระมาลกติสสะได้ฟังข้อความหนึ่งในเทวทูตสูตรจากพระเถระว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกนายนิรยบาลย่อมจับสัตว์นรกเสวยกองทุกข์ในมหานรกอีก”  ท่านจึงถามพระเถระว่า โอ มหานรกนี่ทุกข์หนักนะขอรับ” “ใช่ ทุกข์หนักมาก” “ผมสามารถมองเห็นได้ไหมขอรับ” “เธอไม่อาจมองเห็นได้หรอก แต่ฉันจะแสดงอะไรให้ดูเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ เธอจงไปชวนพวกสามเณรไปเก็บกิ่งไม้สดมาเยอะ ๆ แล้วนำไปกองรวมกันบนแผ่นหินเมื่อกองไม้สดถูกก่อแล้ว พระเถระก็แสดงฤทธิ์โดยนำสะเก็ดไฟจากนรกขนาดเท่าหิ่งห้อยใส่ลงไปในกองไม้ ปรากฏว่า กองไม้มอดไหม้กลายเป็นเถ้าทันทีเพียงชั่วพริบตา

เมื่อพระมาลกติสสะเห็นอานุภาพ แม้เพียงสะเก็ดไฟนรก ท่านก็พิจารณาโดยแยบคายจนได้ข้อคิด แล้วถามพระเถระว่า ธุระในพระศาสนานี้มีเท่าไรขอรับ” “มี ๒ ประการ คือ วิปัสสนาธุระและคันถธุระ” “คันถธุระการเรียนปริยัตินั้นเป็นหน้าที่ของผู้มีความจำดี แต่ศรัทธาของกระผมนั้นเกิดจากการได้เห็นกองทุกข์ ดังนั้นกระผมขอบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างเดียว ขอท่านจงบอกกรรมฐานแก่กระผมด้วยขอรับ

เมื่อพระมาลกติสสะรับกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านก็เริ่มบำเพ็ญสมณธรรมทันที ขณะเจริญวิปัสสนาหากถูกความง่วงเข้าครอบงำ ท่านก็จะนำใบไม้ชุ่มน้ำวางบนศีรษะแล้วนั่งห้อยเท้าแช่น้ำ วันหนึ่งท่านไปที่จิตตลบรรพตวิหาร และทำสมาธิทั้งคืน พอเริ่มง่วง ในเวลาใกล้สว่าง ท่านก็ได้ยินสามเณรท่อง อรุณวติสูตรอยู่ข้างภูเขาด้านตะวันออกว่า

จงพากเพียรพยายามบากบั่นในพระพุทธศาสนา จงกำจัดกองทัพของมฤตยูเหมือนกุญชรกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทในพระธรรมวินัยนี้อยู่ จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ท่านจึงเกิดปีติไม่มีประมาณว่า คำนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสโปรดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเช่นกับเราท่านจึงพากเพียรทำฌานให้บังเกิดขึ้น ทำสมาธิเดินจงกรมจนได้เป็นพระอนาคามี และเพียรพยายามยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

การปรับความเห็นให้ตรงตามความเป็นจริงของชีวิตนับว่าเป็นบุญ และบุญจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ตั้งใจว่าจะทำความเห็นให้ตรง และทุกครั้งที่รู้ว่าความเห็นของเราตรงแล้ว

ทิฏฐุชุกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะต้องนำไปใช้ประกอบกับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เช่น หากบำเพ็ญทานมัยซึ่งเป็นบุญกิริยาวัตถุข้อแรก ก็ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ทานมีผลมาก โดยเฉพาะการให้ทานแด่เนื้อนาบุญ หรือการบำเพ็ญภาวนามัย หากสวดมนต์ก็มิใช่สวดเพียงเพราะคล่องปากเท่านั้น แต่ต้องสวดด้วยใจที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยจริง ๆ เป็นต้น อย่างนี้จึงจะเกิดผลบุญมาก เพราะทำถูกหลักการทำบุญ ที่สำคัญ หากได้ทำบุญกิริยาวัตถุข้อใดก็ตาม ไม่ควรอธิษฐานเพียงเพื่อขอให้ชีวิตสุขสบายในทางโลกอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องอธิษฐานให้เป็นไปเพื่อการละกิเลส มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน อานิสงส์จึงจะส่งผลอย่างครบสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง



ตัวอย่างระดับความเข้าใจถูกในเรื่องบุญ

คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย เคยเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินตรวจวัด เห็นคนงานกำลังปลูกต้นไม้อยู่ ท่านจึงแวะไปถามว่า เวลาปลูกต้นไม้คิดอย่างไร คนหนึ่งตอบว่า ขออย่าให้มันตายเลย เดี๋ยวต้องปลูกใหม่คนถัดไปตอบว่า ขอให้โตเร็ว ๆ จะได้ชื่นใจ แต่ไม่ได้กลัวมันตายเพราะปลูกมาเยอะแล้วส่วนอีกคนตอบว่า ขอให้โตเร็ว ๆ ใครมานั่งโคนต้นไม้นี้ให้เขานั่งสบาย ฟังเทศน์ของหลวงพ่อแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง นั่งสมาธิก็ให้เข้าถึงธรรมคุณยายอาจารย์ท่านจึงเมตตาสรุปเป็นข้อคิดว่า ปลูกต้นไม้แต่ละต้นเสียเวลาเท่า ๆ กัน คนฉลาดแม้เหนื่อยเท่ากับคนอื่น แต่ก็ได้บุญไปด้วย นี้เป็นตัวอย่างว่า ยิ่งเข้าใจถูกต้องมาก ใจจะยิ่งใสสว่างมาก บุญก็ย่อมได้มากตามไปด้วย

จากเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทิฏฐุชุกรรมเป็นประธานแห่งบุญกิริยาวัตถุทุกข้อ ทำหน้าที่ดั่งผู้ถือหางเสือเรือที่คอยคัดท้ายเรือให้แล่นตรงทางเสมอ เมื่ออานิสงส์ส่งผล ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็จะมีอวัยวะครบสมบูรณ์ไม่พิกลพิการ จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและรอบคอบ อีกทั้งยังได้รับความสุขกายสบายใจอยู่เป็นนิจ..


Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /

ทิฏฐุชุกรรม บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามธรรม ทิฏฐุชุกรรม บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.