ตอนที่ ๘ วิชาครูของพระสารีบุตร
สร้างปัญญาเป็นทีมตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๘ พระสารีบุตร :
วิชาครูของพระสารีบุตร
-----------------------------------------
ในเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น พระสารีบุตรและพระอสีติมหาสาวกทุกรูปล้วนมีหัวใจดวงเดียวกัน
นั่นคือการช่วยพระพุทธองค์รื้อขนสรรพสัตว์แหกคุกคือวัฏสงสารไปให้ได้มากที่สุด
ก่อนที่อายุสังขารของท่านจะหมดลงอันเป็นเหตุให้ถึงวาระปรินิพพาน
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ต้องแข่งเวลากับอายุสังขารทั้งของตัวเองและพระบรมศาสดาเช่นนี้
ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันงานเผยแผ่ให้ขยายออกไปอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือ
พระสารีบุตร ทั้งนี้เพราะว่า “วิชาครู” ของพระมหาสาวกทุกรูปนั้น
วิชาครูของพระสารีบุตร อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับพระพุทธองค์มากที่สุด ดังนั้น
การถ่ายทอดคุณธรรม ความรู้ และความสามารถ ไปสู่ลูกศิษย์ของท่าน
จึงทำได้เต็มศักยภาพกว่าพระมหาสาวกรูปอื่น
จนกระทั่งได้รับการรับรองจากพระบรมศาสดาว่า
“สารีบุตร เธอไปในทิศใด
ทิศนั้นไม่ว่างเปล่าจากพุทธบริษัท โอวาทของเธอเช่นเดียว
กับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
สาเหตุที่พระสารีบุตรมีวิชาครูมากกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ก็เพราะว่า
การสร้างบารมี เพื่อเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
จะต้องใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ ๑ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัป
ส่วนการสร้างบารมีเพื่อเป็นมหาสาวกเอตทัคคะด้านใดด้านหนึ่งใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ
๑ แสนมหากัป
ขณะที่พระบรมศาสดาใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ ๔ อสงไขย กับ ๑
แสนมหากัปเมื่อนำมาเทียบเคียงกันแล้ว
ก็จะพบว่าพระอัครสาวกใช้เวลาสั่งสมวิชาครูมากกว่าพระมหาสาวกที่เป็นเอตทัคคะประมาณ
๑ อสงไขย แต่ยังน้อยกว่าพระบรมศาสดาอยู่ประมาณ ๓ อสงไขย ด้วยเหตุนี้
ในบรรดาพระสาวกทั้งหมดนั้นจึงมีเพียงพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ
ที่มีวิชาครูอยู่ในระดับใกล้เคียงพระบรมศาสดามากที่สุด
แต่เนื่องจากพระโมคคัลลานะชอบสอนพระโสดาบันให้เป็นพระอรหันต์
ขณะที่พระสารีบุตรชอบสอนปุถุชนให้เป็นพระโสดาบันแล้วส่งต่อให้พระโมคคัลลานะสอนต่อให้เป็นพระอรหันต์
ดังนั้นในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่
เมื่อต้องการศึกษาเรื่องวิธีหมุนธรรมจักรด้วยกองทัพธรรม
ก็ควรศึกษาจากวิชาครูของพระสารีบุตร ซึ่งท่านใช้ฝึกปุถุชนให้เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา
โดยศึกษาผ่านประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง ดังต่อไปนี้ คือ ๑) กิจวัตรประจำวัน
๒) คุณธรรมประจำตัว ๓) การสร้างเครือข่ายคนดี ในทิศ ๖ ไว้รอบตัว ๔)
การป้องกันภัยอันตรายให้แก่พระพุทธศาสนา
๑. การหมุนธรรมจักรผ่านกิจวัตรประจำวัน
พระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นผู้หมุนธรรมจักรได้ดุจเดียวกับพระองค์
สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านทำจึงมองข้ามไม่ได้
เพราะแฝงไว้ด้วยบทฝึกแห่งปัญญาที่นำพาสันติสุขมาสู่สังคมโลก
๑.๑ กิจวัตรของพระสารีบุตร
ในยามเช้าของทุกวัน
หลังจากพระภิกษุส่วนใหญ่ออกจากวัดไปบิณฑบาตแล้ว พระสารีบุตรมีกิจวัตรประจำวันในการ
“เดินตรวจวัด” อยู่
๘ ประการ คือ
๑) กวาดสถานที่ที่ยังไม่ได้กวาด
๒) ทิ้งขยะที่ยังไม่ได้ทิ้ง
๓) เติมน้ำในหม้อที่ไม่มีน้ำ
๔) เก็บงำเตียง ตั่ง เครื่องไม้
และเครื่องดินที่เก็บไว้ไม่ดีให้เรียบร้อย
๕) ไปตรวจดูภิกษุป่วยไข้ ปลอบใจ
ให้กำลังใจ และถามถึงสิ่งที่ต้องการ
๖)
ไปหาภิกษุใหม่ที่อยู่ในอารามเพื่อให้กำลังใจ และให้โอวาทว่า “อาวุโสทั้งหลายขอท่านจงยินดีเถิด
จงอย่าเบื่อหน่ายในพระศาสนาอันมีสาระในการปฏิบัติเลย”
๗)
ออกบิณฑบาตไปยังสกุลอุปัฏฐากเพื่อแสวงหายาแก้ไข้ หรือสิ่งที่ภิกษุไข้ต้องการ
แล้วฝากให้ภิกษุหรือสามเณรที่ติดตามมานำกลับไปที่วัด
จากนั้นท่านจึงไปบิณฑบาตหรือไปยังสกุลอุปัฏฐากอื่นต่อไป
๘)
ในคราวที่พระบรมศาสดาเสด็จจาริกเผยแผ่ในชนบท
ท่านจะเดินตามอยู่ท้ายขบวนคอยจัดหาน้ำมันทาเท้าให้ภิกษุแก่หรือภิกษุหนุ่มที่เจ็บเท้า
และให้ภิกษุหรือสามเณรที่เท้าไม่เจ็บช่วยถือบาตร จีวร
พระสารีบุตรปฏิบัติกิจวัตรเช่นนี้สม่ำเสมอไม่ขาดแม้แต่วันเดียว
จวบจนกระทั่งในเวลาที่จะปรินิพพาน
ท่านก็ยังเก็บกวาดทำความสะอาดเสนาสนะเป็นครั้งสุดท้าย
จากนั้นจึงกราบทูลลาปรินิพพาน ท่านจึงเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยไม่มีข้อบกพร่องแม้แต่วันเดียว [ที.ม.อ. (ไทย) ๑๓/๓๘๒]
๑.๒ การสร้างปัญญาผ่านกิจวัตรประจำวัน
จากกิจวัตรประจำวันของพระสารีบุตรนี้ แสดงให้เห็นว่า ปัญญาที่พระสารีบุตรมีนั้น
มิใช่ปัญญาแค่เอาตัวรอด แต่เป็น “ปัญญาสร้างสันติสุข” ให้แก่คนทั้งโลก
ทั้งนี้เพราะว่า
๑)
วิธีการฝึกคนให้มีปัญญาได้เร็วที่สุดก็คือ ฝึกผ่านการทำงาน
เพราะในขณะที่ทำงานจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ ควบคุมเวลาควบคุมงบประมาณ
ควบคุมความปลอดภัยและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และนั่นคือชั่วโมงสำคัญในการบ่มเพาะปัญญาในภาคปฏิบัติ
๒) เหตุที่จะทำให้คนเราเกิดแรงบันดาลใจในการฝึกตนก็คือ ต้องมีต้นแบบที่ดีปฏิบัตินำเป็นแบบอย่างที่ดีให้ดู
เพราะคนเราถ้านั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ คงดีขึ้นมาเองไม่ได้
จะดีได้ก็ต้องมีครูดีคอยแนะนำสั่งสอนอบรม ให้ทั้งความรู้ ความสามารถ นิสัยใจคอ
และคุณธรรมความดี เขาจึงจะมีปัญญาที่ใช้ดับทุกข์ให้ตนเองและดับทุกข์ให้ชาวโลกได้
๓) ในทางตรงข้าม
ถึงแม้คนคนนั้นจะเก่งแค่ไหน ฉลาดแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้ครูดีก็ยากจะมีนิสัยที่ดี
ยากที่จะรู้ถูก-ผิด ดี-ชั่ว เมื่อตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่วไม่ได้
ความรู้ที่ได้ไปก็กลายเป็นดาบสองคมที่ตกอยู่ในมือคนพาล คมหนึ่งมีไว้สร้างความวิบัติเสียหายให้ตนเอง
อีกคมหนึ่งมีไว้สร้างความพินาศล่มจมให้ทรัพย์สินและชื่อเสียงของครอบครัว
วงศ์ตระกูล และสังคม
๔) ครูดีที่จะตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่วได้
ต้องมีธรรมะอยู่ในใจ คนที่มีธรรมะอยู่ในใจ จะแยกแยะดีชั่วขั้นพื้นฐาน
ของการดำเนินชีวิตประจำวันได้ว่า สิ่งใดคือความจำเป็น สิ่งใดคือความต้องการ
สิ่งใดคือความสุรุ่ยสุร่ายเกินจำเป็น
เพราะนี้คือวิธีฝึกลดความทุกข์ในชีวิตและวิธีฝึกควบคุมกิเลสในจิตใจ
อันเป็นต้นทางแห่งความเจริญงอกงามของธรรมะภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นการที่ใครได้ครูบาอาจารย์ดีๆ แบบพระสารีบุตร จึงเป็นมหาโชคมหาลาภอย่างยิ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์
๕)
ธรรมะทั้งหมดในพระพุทธศาสนาจะออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ
ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นนำธรรมะที่ศึกษาเล่าเรียนในภาคทฤษฎี
มาฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังผ่านกิจวัตรประจำวันผ่านกิจกรรม และอาชีพการงานจนกลายเป็นนิสัยดีๆ
เป็นศีลธรรมประจำใจ และเป็นคุณธรรมเบื้องสูงเพื่อการกำจัดทุกข์ได้ในที่สุด
๖)
กิจวัตรประจำวันที่ทำให้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘
กลายเป็นนิสัยจนเกิดเป็นคนเจ้าปัญญาได้นั้น
ต้องฝึกผ่านกิจวัตรประจำวันแบบเดียวกับพระสารีบุตรเท่านั้นผิดจากนี้ไม่ได้
ผิดจากนี้นิสัยเจ้าปัญญาไม่เกิดทั้งนี้เพราะว่า
๖.๑) กิจวัตรข้อที่ ๑-๔ คือ
การทำความสะอาดสถานที่และการจัดระเบียบสิ่งของเครื่องใช้
ย่อมอำนวยผลให้เกิดปัญญาดูแลสมบัติพระศาสนาเป็น
๖.๒) กิจวัตรข้อ ๕, ๖,
๘ คือ การดูแลสมาชิกที่ป่วยไข้และสมาชิกใหม่ขององค์กรย่อมอำนวยผลให้เกิดปัญญาดูแลสมาชิกกองทัพธรรมเป็น
๖.๓) กิจวัตรข้อ ๗ คือ
การดูแลสุขทุกข์ของประชาชนและการอนุเคราะห์เกื้อกูลชาวโลกย่อมอำนวยผล
ให้เกิดปัญญาดูแลกองเสบียงเลี้ยงพระพุทธศาสนาเป็น
กิจวัตรประจำวันเหล่านี้
ไม่ได้เกิดจากรับสั่งของพระบรมศาสดาที่สั่งให้ท่านทำ
ไม่ได้เกิดจากมนุษย์มาวิงวอนขอร้อง ไม่ได้เกิดจากเทวดามาดลอกดลใจ
แต่เกิดจากความรับผิดชอบที่มีต่อพระพุทธศาสนา
ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความอนุเคราะห์เกื้อกูลที่มีต่อสรรพสัตว์ และความเป็นมิตรแท้ที่มีต่อเพื่อนสหธรรมิก
ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นใจของท่าน สมดังพระดำรัสที่พระบรมศาสดาตรัสไว้
ในอุมมัคคสูตร ว่า
“บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
“เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน
เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว
บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล”
๑.๓
ศาสนทายาทผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาและวงศ์ตระกูล
บุคคลที่ฝึกฝนตนเองหรือได้รับการฝึกตามกิจวัตรของพระสารีบุตรทุกวัน เช่นนี้
เขาย่อมมีปัญญาดูแลสมบัติ ปัญญาดูแลสมาชิก ปัญญาดูแลกองเสบียง
ไม่ว่าย่ำไปที่ใดบนผืนปฐพีนี้ก็จะสร้างปฏิรูปเทส ๔ ขึ้นมาได้ในที่นั้น
คืออาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย ธรรมะเป็นที่สบาย
เมื่อปฏิรูปเทส ๔ เกิดขึ้นที่ใด คนดีสังคมดีก็เกิดขึ้นในที่นั้น
การศึกษาธรรมะก็เกิดขึ้นในที่นั้น การสร้างบุญก็เกิดขึ้นในที่นั้น
ความเจริญรุ่งเรืองย่อมไหลมาเทมาไม่ขาดสาย
เพราะฉะนั้น การตรวจตราวัดเป็นกิจวัตรของพระสารีบุตร
จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองแบบผิวเผินเสียแล้ว
แต่แท้ที่จริงเป็นวิธีการถ่ายทอดปัญญาดูแลสมบัติ ปัญญาดูแลสมาชิก
ปัญญาดูแลกองเสบียงผ่านกิจวัตรในชีวิตประจำวัน จึงเท่ากับว่าเป็นการปฏิบัติและการประกาศพระธรรมจักรคือมรรคมีองค์
๘ อย่างเป็นรูปธรรมโดยตรงเลยทีเดียว
หากวัดใดครอบครัวใดนำวิธีการนี้ไปใช้ฝึกคน
วัดนั้นก็จะได้ศาสนทายาทที่มีปัญญามากในการค้ำจุนพระพุทธศาสนา
บ้านนั้นก็จะได้ทายาทที่มีปัญญามากในการค้ำจุนวงศ์ตระกูล เพราะเขาไม่ใช่มีแค่ปัญญาพาตัวเองรอดเท่านั้น
แต่มีปัญญาพาวัด พาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทันตาเห็นได้เป็นอัศจรรย์
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทายาทของครอบครัวใดไม่ได้ฝึกกิจวัตรเหล่านี้
ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองจะทุ่มเทเงินทอง ส่งเสียให้เขาศึกษาเล่าเรียนสูงเพียงใดก็ตาม
เขาก็จะมีปัญญาแค่เอาตัวรอดเป็นอย่างมากเท่านั้น
แต่จะไม่มีปัญญาดูแลสมบัติของตระกูล
ดูแลสมาชิกครอบครัวดูแลกิจการที่เลี้ยงวงศ์ตระกูลได้
ทั้งนี้เพราะว่าเขาไม่เคยถูกฝึกให้มีปัญญาแบกภาระส่วนรวม เมื่อเขาลงไปทำงาน
จึงไม่รู้วิธีจัดระบบงาน ไม่รู้วิธีบริหารงาน ไม่รู้วิธีตรวจตรางาน
ไม่รู้วิธีหาทุน ไม่รู้วิธีสร้างคน ไม่รู้วิธีเลี้ยงคน ไม่รู้วิธีผูกใจรักษาทีมงาน
ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนที่หน้างาน ยิ่งทำงานสมบัติก็ยิ่งร่อยหรอ คนเก่ง ๆ
ในทีมก็ทยอยออก ลูกค้าใหม่ก็ไม่มี ลูกค้าเก่าก็ทยอยหาย
กิจการงานที่ปู่ย่าตายายเคยทำไว้เจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต
จึงถึงคราวพินาศล่มจมในทันที เพราะว่าขาดปัญญา
ที่ได้จากการฝึกตรวจตรางานของครอบครัวเป็นกิจวัตรประจำวันนั่นเอง
ดังนั้น
เราจึงมองข้ามวิชาฝึกคนผ่านการตรวจวัดเป็นกิจวัตรประจำวันของพระสารีบุตรไม่ได้อย่างเด็ดขาด
เพราะเป็นวิชาครูในการฝึกคนให้มีนิสัยเจ้าปัญญาแบบเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระอัครสาวกเบื้องขวา
ผู้เลิศด้วยปัญญาผู้ได้รับการรับรองจากพระพุทธองค์ว่า
เป็นผู้ให้โอวาทแทนพระบรมศาสดาได้ เป็นผู้หมุนธรรมจักรได้ดุจเดียวกับพระองค์
นี้คือวิธีที่ ๑
ที่ท่านใช้หมุนธรรมจักรให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ย่ำไปที่ใด
ปฏิรูปเทส ๔ ก็เกิดขึ้นที่นั่น เมื่อไปตรวจตราวัดใด ขุนพลแห่งกองทัพธรรมรุ่นใหม่
ๆ ก็จะเติบโตขึ้นที่วัดนั้นทันที
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ตอนที่ ๘ วิชาครูของพระสารีบุตร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
18:41
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: