หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๙)


สำหรับคอลัมน์ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณฉบับนี้ถือเป็นฉบับส่งท้ายของปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ แล้ว ซึ่งปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ นี้ เป็นปีที่สำคัญที่สุดปีหนึ่งของพวกเราลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ด้วย นั่นคือเป็นปีแห่งการครบ ๑๐๐ ปี ของการค้นพบวิชชาธรรมกาย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา เหล่าลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ทั่วโลกต่างก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงโอกาสสำคัญนี้อย่างทั่วถึง


ภาพปกของหนังสือ พระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ

ดังที่เราได้ทราบกันมาอย่างต่อเนื่องว่า การปฏิบัติธรรมในวิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้ค้นพบนั้น เป็นวิชชาที่ท่านต้องทุ่มเทอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ต้องศึกษาความรู้ครบถ้วนทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระมาอย่างยาวนาน สำนักใดที่มีคณาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านก็มีวิริยอุตสาหะเข้าไปศึกษาหาความรู้มาจนครบถ้วน ดังนั้นการบรรลุธรรมและการค้นพบวิชชาธรรมกายของท่านนั้น จึงมิได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ มิได้ใช้เวลาเพียงวันเดียวเดือนเดียว หรือปีเดียว เพื่อเรียนรู้ แต่ได้ใช้เวลานับเป็นสิบ ๆ ปีในการศึกษาเล่าเรียนบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจจากครูบาอาจารย์เกือบจะทั่วแผ่นดินไทยเลยทีเดียว...1 อีกทั้งความรู้ทางด้านปริยัติที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้ศึกษามานั้นก็มีลักษณะที่กว้างขวาง กล่าวคือ ได้รับการถ่ายทอดมาจากคณาจารย์จำนวนมาก ตำราที่ท่านศึกษาก็มีเป็นจำนวนมากและมีความเก่าแก่ เมื่อสืบค้นมากขึ้นก็จะพบว่าสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านนำมาสั่งสอนนั้น ต่างก็มีความสอดคล้องกับที่ปรากฏในตำราโบราณหลายแห่ง


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ ๑๗ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ)

เช่น ในหนังสือวิปัสสนาภูมิ : การขึ้นอานาปานสติ (การกำหนดลมหายใจ) ตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงวิธีปฏิบัติที่คล้ายกัน เช่น มีการกำหนดต้นลมอยู่ที่กลางนาภี กลางลมอยู่ที่กึ่งกลางหน้าอก ปลายลมอยู่ที่ริมฝีปากหรือปลายจมูก...เมื่อหายใจเข้าต้นลมอยู่ที่ริมฝีปากหรือปลายจมูก กลางลมอยู่ที่กลางอก และปลายลมอยู่ที่นาภีตามที่กำหนดไว้ แล้วจึงตั้งภาวนาตั้งสติไว้ที่ใจให้มีสติเป็นพี่เลี้ยงกำหนดลมหายใจที่ออกไปประมาณชั่วสุดแขนแล้วพิจารณาอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจให้เป็นอนุโลมหรือปฏิโลม ได้ร้อยทีหรือพันที...เมื่อได้พระอุคคหนิมิตต์เป็นรูปองค์พระพุทธเจ้าอันขาวใสบริสุทธิ์เป็นรูปพระทองคำแล้ว จึงตั้งสติให้มั่น ให้รู้อยู่ที่ใจ ให้เห็นอยู่ที่ใจ ให้ใจเป็นผู้รู้ ผู้เห็น แล้วให้ตั้งสติเป็นปฏิโลมเข้ามาสู่ผุฏฐา (ที่ตั้งแห่งการสัมผัส) แห่งนาสิกได้มั่นคงเป็นสัมมาสติสมาธิธรรมเจ้าอันประเสริฐแล้ว...


ภาพดวงตราสรตะโสฬศ ในห้องพระพุทธคุณ

หรือในแบบขึ้นพระกัมมัฏฐาน ห้องพระพุทธคุณ ห้องพระธรรมคุณ ห้องพระสังฆคุณ อันได้ต้นฉบับมาจากวัดประดู่โรงธรรมอยุธยา กรุงเก่า ซึ่งคณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวกันไว้ว่าเป็นแบบที่สืบต่อมาตั้งแต่ท่านทิศาปาโมกขาจารย์ ๕๖ องค์ ตั้งแต่ที่อายุพระพุทธศาสนาล่วงไปได้เพียง ๕๗๒ พรรษา ก็ยังมีปรากฏใจความสำคัญหลายจุด บางจุดใช้คำเรียกว่าเป็น พระธรรมกายโดยตรง เช่น ห้องพระพุทธคุณ กล่าวว่า เมื่อกายเป็นสุขแล้ว จิตต์เป็นสุขแล้ว จึงตั้งจิตต์พิจารณาดูธรรมกายในรูปกายด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดในรูปธรรมนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้...


ภาพปกหนังสือคู่มือสมภารฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ซึ่งแท้ที่จริงแล้วข้อความคำสอนโบราณเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีปรากฏชัดเจนอยู่ตามตำราวิปัสสนาโบราณมากมายหลายแห่ง และแต่ละเล่มแต่ละตำราก็มีลักษณะที่สอดคล้องสนับสนุนกัน การที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้ย่นย่อวิธีการปฏิบัติแล้วนำมาสั่งสอนถ่ายทอดให้พวกเรา  ลูกศิษย์หลานศิษย์ได้เรียนได้รู้ในยุคปัจจุบันนี้จึงมิใช่เป็นสิ่งธรรมดา แต่เป็นประดุจ เพชรแห่งองค์ความรู้ที่ท่านรวบรวมบ่มเพาะด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติอย่างสุดจิตสุดใจสุดกำลังของท่านมาแล้ว กว่าจะได้ออกมาเป็นวิชชาธรรมกายที่ตกทอดมาถึงเราในทุกวันนี้ ดังนั้นการมีโอกาสได้มาศึกษาเรียนรู้และมาปฏิบัติธรรมตามรอยท่านจึงถือเป็นความโชคดีอย่างมากของพวกเราทุก ๆ ค

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ความสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นั้น มีความก้าวหน้าไปมากในทุกภูมิภาคของโลกเลยทีเดียวในบางพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น ในประเทศมองโกเลียหรือในบางพื้นที่ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะสามารถซาบซึ้งกับการปฏิบัติธรรมได้ เช่น ในหมู่เกาะโซโลมอน หรือในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ในประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ทวีปแอฟริกา ในภาคพื้นโอเชียเนีย หรือในอีกหลาย ๆ ประเทศ ฯลฯ ก็ปรากฏว่าความนิยมในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าปลื้มใจ

เหตุผลสำคัญที่การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายตามที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในปัจจุบันนั้น คงประกอบไปด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน เช่น การมีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น การสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของหลักฐานธรรมกายไปได้ไกลจนถึงในยุคของพระพุทธศาสนาโบราณของหลักฐานธรรมกายมากขึ้นการเผยแผ่วิธีการปฏิบัติที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ซับซ้อนที่สามารถออกไปในวงกว้างมากขึ้นตอบสนองต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ตึงเครียดได้มากขึ้น ฯลฯ น่าจะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาปฏิบัติธรรมในวิชชาธรรมกายเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามองทั่วโลก

ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงในฉบับที่แล้วว่า น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่แสดงว่าชาวตะวันตกยุคนี้เริ่มหันมาสนใจปฏิบัติธรรมในวิชชาธรรมกายมากขึ้นอันหนึ่งก็คือ การที่นักวิชาการตะวันตกเริ่มที่จะหันมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้ในพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเป็น ดังเช่นการจัดประชุมทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาของสมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ (International Association of Buddhist Studies) ในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโตรอนโตประเทศแคนาดา ที่ผ่านมานั้น พบว่ามีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วโลก ต่างมารวมตัวกันเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลผลงานวิจัยใหม่ ๆ ระหว่างกันจำนวนมาก มีหัวข้อในการจัดประชุมที่ครอบคลุมนิกายต่าง ๆ ครบทั้ง ๓ นิกาย คือทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยานโดยมีงานวิจัยครอบคลุมทั้งทางด้านพระสูตรพระวินัย พระอภิธรรม ปรัชญาเหตุวาทวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ศาสตร์การตีความคัมภีร์พุทธ พุทธศิลป์ คัมภีร์และจารึกโบราณและอื่น ๆ อีกมากมาย ร่องรอยเหล่านี้ต้องถือว่ามิใช่ร่องรอยธรรมดา ๆ หากแต่เป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า โลกตะวันตกนั้นเริ่มเปิดกว้างต่อความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมมากขึ้นแล้ว และพร้อมแล้วที่จะศึกษาลงลึกยิ่งกว่าเดิมในความรู้ด้านนี้



ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีการนำเสนอในที่ประชุมนี้ คือ งานวิจัยศึกษารูปแบบสมาธิของจีนยุคต้นก่อนเกิดนิกายฉานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อีริค กรีน (Eric Greene) ซึ่งพบว่ามีคัมภีร์จีนยุคต้นอายุราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ที่บันทึกรูปแบบการสอนสมาธิที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งวิธีการทำสมาธิที่กล่าวถึงนี้มีส่วนคล้ายกับการปฏิบัติธรรมที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สอนไว้ คือเป็นการสอนให้ลูกศิษย์รวมใจไว้ในกลางนาภี (กลางท้อง) ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์ไปตามลำดับ ๆ แล้ว ก็จะเกิดประสบการณ์เป็นนิมิตดวงสว่าง เมื่อดูดวงสว่างนั้นไปเรื่อย ๆ แล้ว ก็จะเกิดเป็นองค์พระผุดซ้อนเป็นชั้น ๆ ออกมาจากนาภีของผู้ปฏิบัติหรือแม้เป็นการกำหนดนิมิตแบบอสุภภาวนา เมื่อผู้ปฏิบัติใจสงบดีแล้ว กระดูกนิมิตจะแปรสภาพเป็นนิมิตกระดูกใสเป็นแก้ว เป็นต้นรวมทั้งในส่วนที่กล่าวถึงเทคนิคการทำสมาธิแบบพุทธานุสติว่าสามารถแยกย่อยไปได้หลายลักษณะ เช่น การนึกนิมิตเป็นพระพุทธรูป พระรูปกายธรรมกาย เป็นต้น ทั้งนี้ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า มีส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้สังคมตะวันตกในหลาย ๆ ระดับ ไม่เพียงแต่ในกลุ่มนักวิชาการเท่านั้นที่จะหันมาสนใจศึกษาและลงมือปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายกันมากขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญจากจุดนี้ก็คือ สัญญาณเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการทำงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงขึ้นอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าสถาบันจะสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้สำคัญ ๆ ได้ครบจากทุก ๆ ส่วน ตั้งแต่ความรู้จากหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ องค์ความรู้จากวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ องค์ความรู้จากตำราวิปัสสนาโบราณทั้งในประเทศไทย (และในภาคพื้นเอเชีย) และองค์ความรู้จากตะวันตก ซึ่งเมื่อทุก ๆ ส่วนเหล่านี้ถูกนำมารวมกัน ก็จะทำให้ภาพของวิชชาธรรมกายมีความสมบูรณ์ในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกำลังจากพุทธบริษัทผู้รักวิชชาธรรมกายมาช่วยกัน

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย มีดวงปัญญาที่สว่างไสว เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายตลอดไป ได้มาร่วมกันเป็นทนายแก้ต่างแก่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย และขอให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามจงทุกประการเทอญ ขอเจริญพร..

1 : จากหนังสือชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี และอานุภาพธรรมกาย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัตน์

Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๐ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๙) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๙) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:47 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.