มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๑)


คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรพม่าเป็นหนึ่งในหลักฐานปฐมภูมิที่สำคัญต่อการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการสืบทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนขึ้นไปถึงสมัยหลังพุทธปรินิพพานเมื่อธรรมเนียมการจารพระสัทธรรมคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรได้แพร่ขยายมาจากเกาะลังกาโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเดินทางไปสำรวจและศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎก ณ ประเทศเมียนมา ต้นแหล่งแห่งคัมภีร์



การเดินทางครั้งนี้ทำให้พบว่า วิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ ณ ดินแดนแห่งนี้มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งมาช้านานความรุ่งเรืองและศรัทธาในพระพุทธศาสนาของสาธุชนชาวเมียนมาปรากฏเด่นชัดผ่านความงดงามของศาสนสถานและศาสนวัตถุที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดึงดูดให้คณะสำรวจต้องย้อนไปศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของประเทศตั้งแต่ครั้งอดีตนำมาเป็นข้อมูลประกอบ เพื่อให้เข้าใจถึงความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ฝังรากลึกมาตลอด เรียนรู้ถึงแหล่งอารยธรรมโบราณที่สามารถบ่งชี้ถึงพัฒนาการของรูปแบบอักษรในยุคต่าง ๆ รวมไปถึงร่องรอยแหล่งวัตถุโบราณอื่น ๆ ที่สามารถนำมาเทียบเคียงรูปแบบอักขรวิธีที่ใช้ในการจารใบลานได้ เป็นต้น



ตัวจารภาษามอญบนระฆังโบราณที่สามารถนำมาใช้เทียบเคียงกับอักษรมอญบนแผ่นลาน

ดังนั้น ในการค้นหาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรพม่า ผู้สำรวจจึงได้สืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์เพื่อสืบหาร่องรอยแห่งอารยธรรมพุทธศาสนาควบคู่กันไปด้วย ทำให้ได้พบเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่เคยตั้งรกรากบนดินแดนนี้เมื่อหลายพันปีก่อน บางเชื้อชาติมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาย้อนไปได้ถึงสมัยพุทธกาลครั้งพระบรมศาสดายังมีพระชนม์ชีพอยู่ความรุ่งเรืองด้านภาษาและวัฒนธรรมของบางเชื้อชาติยังส่งผลมาถึงสังคมเมียนมาในปัจจุบัน ดังเช่นเรื่องราวของชาวมอญซึ่งเป็นชนชาติแรกที่สถาปนาอาณาจักรอันรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ ซึ่งปรากฏในราชายตนกถาพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ สรุปความได้ว่า

ขณะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะหลังจากตรัสรู้เป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ขณะนั้นมีขบวนรถเกวียนพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ เล่ม นำโดยพ่อค้า ๒ พี่น้องนามว่า ตปุสสะและภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบทมายังมัชฌิมประเทศเพื่อค้าขาย ทั้งสองได้ทูลถวายข้าวสัตตุก้อนและข้าวสัตตุผง ซึ่งเป็นพระกระยาหารมื้อแรกหลังจากตรัสรู้ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พ่อค้าชาวมอญทั้งสองก็บังเกิดความเลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสกยึดเอาพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิกคู่แรกของโลก เพราะในเวลานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่งตรัสรู้ได้เพียงไม่นานและยังมิได้ประกาศศาสนา จึงยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้น อุบาสกชาวมอญทั้งสองจึงยึดเพียงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะเท่านั้น


รูปปั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทานพระเกศาแก่พ่อค้าชาวมอญ

ในตำนานของเมียนมาเล่าขานต่อไปว่าก่อนที่อุบาสกทั้งสองจะทูลลากลับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาจำนวน ๘ เส้นให้ เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเดินทางกลับมาถึงถิ่นภูมิลำเนา พระเจ้าโอกกลาปะซึ่งเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้น ทรงจัดขบวนต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเกศาธาตุไปประดิษฐานบริเวณเนินเขาเชียงกุตระ

ขณะที่กำลังขุดดินเพื่อก่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้าค้นพบบริขารของอดีตพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ก่อน ได้แก่ ไม้ธารพระกรของพระกกุสันธพุทธเจ้าธมกรกของพระโกนาคมนพุทธเจ้า และจีวรของพระกัสสปพุทธเจ้า จึงได้บรรจุบริขารทั้งหมดพร้อมทั้งพระเกศาธาตุลงในพระเจดีย์ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าเจดีย์ชเวดากอง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมารวมทั้งชาวต่างชาติต่างเดินทางมาสักการบูชา



เจดีย์แห่งนี้นอกจากมีประวัติอันยาวนานแล้ว ความงดงามในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นถึงความรักและเทิดทูนพระพุทธศาสนาเหนือสิ่งใดของบรรพชนชาวเมียนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อพระเจดีย์ทรุดโทรมหรือเสียหายจากภัยธรรมชาติ บรรพกษัตริย์ชาวเมียนมาจะโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะซ่อมแซมหรือสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิม ดังเช่น พระนางเชงสอบู กษัตรีย์พระองค์เดียวแห่งอาณาจักรมอญ ทรงเป็นพุทธมามกะผู้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มพระราชหฤทัย ได้พระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักของพระองค์จำนวน ๔๐ กิโลกรัม ให้นำไปตีเป็นแผ่นทองเพื่อหุ้มพระเจดีย์ที่ทรุดโทรม ถือเป็นแบบอย่างให้กษัตริย์ในสมัยต่อมาปฏิบัติตาม



ไม่เฉพาะเพียงกษัตริย์หรือราชวงศ์ในอดีตเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญในการยังความงดงามแห่งพระเจดีย์ให้ปรากฏ ทว่าพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาชาวเมียนมาจำนวนมากได้ร่วมกันถวายอัญมณีและเครื่องประดับมากมายเพื่อสักการบูชาพระเจดีย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ปัจจุบันส่วนปลายยอดพระเจดีย์ชเวดากองประดับด้วยเพชรมากกว่า ๕,๐๐๐ เม็ด และรัตนชาติอื่น ๆ อีกกว่า ๒,๐๐๐ เม็ดโดยเฉพาะเพชรที่ประดับปลายยอดเจดีย์มีขนาดถึง ๗๖ กะรัตเลยทีเดียว

แม้รัตนชาติจำนวนมากจะมีค่าประมาณมิได้ แต่ก็ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับคุณค่าแห่งพระรัตนตรัยที่ทรงคุณเลิศล้ำยิ่งกว่ารัตนะใด ๆ ตัวอย่างเรื่องราวของชาวมอญและตำนานเจดีย์ชเวดากองนี้ จึงเป็นข้อมูลหนึ่งที่ทำให้คณะสำรวจของโครงการพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ ตระหนักว่า พุทธบริษัท ๔ ในประเทศเมียนมานั้น มีความรัก ความศรัทธาและมีความเข้มแข็งในการรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนามาตลอดการสร้างบ้านแปงเมืองไม่ว่าจะมีกี่อาณาจักรสถาปนาความยิ่งใหญ่เหนือดินแดนแห่งนี้ พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองและเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของชนชาวเมียนมาไม่เสื่อมคลาย และนับวันศรัทธานั้นยิ่งหยั่งรากลึกปรากฏให้เห็นเป็นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

การออกเดินทางค้นหาและศึกษาคัมภีร์ใบลานอักษรพม่านี้ นอกจากเพื่อศึกษาวิธีการสืบทอดคำสอนในพระพุทธศาสนาอันเป็นมรดกธรรมที่ล้ำค่าแล้ว ยังได้เรียนรู้ซึมซับวัฒนธรรมชาวพุทธอันงดงาม ด้วยความเอื้อเฟื้อจากพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมา นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นความร่วมมืออันดีระหว่างชาวพุทธของ ๒ ประเทศ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการรักษา สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไปอย่างยาวนาน

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๐ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๑) มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๑) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:58 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.