มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๒)

แผ่นศิลาแกะสลักที่ใช้ปิดสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แห่งศรีเกษตร

บทความเรื่องมิงกะลาบาเยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ตอนที่ ๑ ได้กล่าวถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญ ที่คณะสำรวจของโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการได้ศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสำรวจและค้นหาแหล่งคัมภีร์ใบลานในประเทศเมียนมาเนื่องจากเป็นชนชาติที่ปรากฏในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งที่สองพ่อค้าชาวมอญ ชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะได้ประกาศตนเป็นปฐมอุบาสกคู่แรกผู้ถึงสรณะในพุทธศาสนา และได้รับพระเกศาจำนวน ๘ เส้นจากพระสมณโคดมพุทธเจ้า ซึ่งตำนานพื้นเมืองของเมียนมาได้เล่าขานต่อมาว่าพระเกศาทั้งหมดได้อัญเชิญมาประดิษฐานในเจดีย์ชเวดากอง ศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองของประเทศเมียนมา สำหรับบทความในตอนที่ ๒ นี้ เป็นเรื่องราวของชาวปยู (Pyu) ซึ่งเป็นอีกชนชาติหนึ่งในช่วงประวัติศาสตร์เมียนมายุคต้น ที่มีความรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาและอารยธรรม อีกทั้งหลักฐานด้านอักษรศาสตร์หลายชิ้นของชาวปยูก็ยังเป็นประโยชน์ในการศึกษาภาษาบาลีที่เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน


กล่าวกันว่าชาวปยูเป็นชนชาติตระกูลพม่า-ทิเบต อพยพมาจากตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มาตั้งรกรากแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดีเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถังบันทึกว่า ชาวปยูสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ภายในบริเวณกำแพงเมืองซึ่งทำจากอิฐสีเขียว หากจะเดินรอบกำแพงเมืองต้องใช้เวลาหนึ่งวันจึงจะเดินรอบชาวปยูเป็นคนมีจิตใจและมนุษยสัมพันธ์ดี ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายในเมืองจะเว้นซึ่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยเด็ดขาด…”

ชาวปยูเป็นชนชาติแรกของเมียนมาที่มีอารยธรรมแบบสังคมเมือง มีการปกครองแบบนครรัฐ และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เมืองเก่าแก่ที่สุดคือเมืองเบกถาโน (Beikthano) ทางตอนกลางของดินแดนที่เป็นประเทศเมียนมาในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงก่อนพุทธศักราช ต่อมาจึงสร้างที่เมืองมองกะโม (Maingmaw) เมืองศรีเกษตร (Sri Ksetra) และเมืองฮาลิน (Halin) ตามลำดับ โดยศรีเกษตรนับเป็นนครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็นที่รู้จักกันในนามอาณาจักรศรีเกษตร ซึ่งแปลว่า ดินแดนแห่งความโชคดี อาณาจักรของชาวปยูรุ่งเรืองยาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี จนกระทั่งล่มสลายไปในราว พ.ศ. ๑๔๐๐ เนื่องจากการรุกรานของชนชาติมอญและอาณาจักรน่านเจ้า หลังจากนั้นก็ตกอยู่ใต้อำนาจและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุกาม

ชาวปยูมีภาษาพูดของตนเอง เป็นภาษาโบราณในตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า และกลายเป็นภาษาตายในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นักประวัติศาสตร์ได้พยายามตีความหมายจารึกภาษาปยูบางส่วนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๕๔ แต่เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนั้นมีไม่มากนัก ทำให้ปะติดปะต่อเรื่องราวและรวบรวมข้อมูลได้ไม่มากเท่าที่ควร เช่น จารึกบนผอบหินฝังอยู่ที่เมืองศรีเกษตร ข้างในบรรจุขี้เถ้า ลูกปัด และอัญมณี ที่แสดงถึงธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับงานศพในยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ปรากฏภาษาปยูเป็นข้อความสั้น ๆ ระบุว่า กษัตริย์พระนามว่า Harivikrama เสด็จสวรรคตในวันที่ ๙ เดือน ๒ ปี ๔๑ รวมพระชนมายุได้ ๕๒ ปี ๗ เดือน ๔๒ วันซึ่งนักประวัติศาสตร์ขณะนั้นสามารถสรุปข้อมูลสั้น ๆ จากรอยจารึกดังกล่าวได้แค่เพียงว่า ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรศรีเกษตรชื่อ Vikrama แม้แต่ช่วงเวลาที่ราชวงศ์ดังกล่าวเฟื่องฟูก็มิอาจสรุปได้ เนื่องจากปีที่ระบุไม่แน่ชัดว่าเป็นปีของยุคสมัยใด


วิหารเบเบจี (Bebe Gyi) แห่งศรีเกษตร เป็นต้นแบบการก่อสร้างแก่สถาปัตยกรรมพุกาม
ที่มา : Lall, V. (2014). The Goldenv Lands: Cambodia, Indonesia, Laos,. Myanmar, Thailand & Vietnam
by Vikram Lall. (Architecture of the Buddhist World). JF Publishing.

นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้พยายามศึกษาเรื่องราวของชาวปยูจากการสำรวจสิ่งปลูกสร้างและการขุดค้นหาหลักฐานโบราณคดีภายในกำแพงและคูน้ำรอบเมืองทำให้ได้พบสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ความเชื่อ สภาพสังคมและวิถีชีวิตของชาวปยู อาทิ ปราสาทราชวัง พระสถูป วัดวิหาร ระบบน้ำ รวมทั้งโบราณวัตถุมากมาย เช่น ถ้วยชาม ตุ๊กตาปั้น จารึกคัมภีร์ พระพุทธรูป ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนกลุ่มเมืองโบราณแห่งปยูเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เพราะเป็นสถานที่ที่มีหลักฐานแสดงร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตและความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมที่มีอิทธิพลมาสู่รูปแบบศิลปะและวัฒนธรรมของเมียนมาในยุคต่อ ๆ มา

ดังจะเห็นได้ว่ารูปแบบศาสนสถานโบราณที่หลงเหลืออยู่ในประเทศเมียนมาในปัจจุบันหลายแห่ง แม้แต่เจดีย์ชเวดากองเองก็มีเค้าโครงรากฐานมาจากสถาปัตยกรรมของชาวปยู ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านพระพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมจากชมพูทวีป เมื่อชาวปยูรับอารยธรรมอินเดียมาแล้ว ก็นำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนได้อย่างลงตัว เช่น สถูปแห่งเมืองเบกถาโน (Beikthano) ที่แสดงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐ มีรูปทรงเป็นทรงกระบอก คล้ายกับสถูป Mohra Moradu แห่งเมืองตักศิลา ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถานหรือวิหารเบเบจี (Bebe Gyi) และวิหารเลเมียทนา (Limyethna) แห่งเมืองศรีเกษตรก็เป็นต้นแบบการสร้างวิหารในสมัยพุกาม เป็นต้น


การค้นพบหลักฐานโบราณคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวปยูครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๐ เมื่อ Charles Duroiselle ได้ขุดพบสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายในสถูป Khin Ba ณ เมืองศรีเกษตร ภายในมีวัตถุล้ำค่าจำนวน ๔๐๐ กว่าชิ้น ชิ้นที่สำคัญ คือ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุทำจากเงิน มีความสูงถึงปลายยอด ๖๖ ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๐ ซม. มีประติมากรรมพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ประทับนั่งบนฐานดอกบัว บนขอบจารึกพระนามพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะพระโคตมะ และชื่อของพระสาวกองค์สำคัญคือ พระกัสสปะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอานนท์ จารึกด้วยภาษาปยูและภาษาบาลี ขอบด้านล่างจารึกชื่อผู้ถวาย ส่วนยอดด้านบนคาดว่าน่าจะเป็นลำต้นของต้นโพธิ์ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตรงพื้นรอบ ๆ จุดที่ค้นพบมีก้านและใบไม้ซึ่งทำจากเงินร่วงกระจัดกระจายอยู่

สถูป Khin Ba แห่งศรีเกษตร


วัตถุโบราณที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีความสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พบ ณ สถูปแห่งเมืองศรีเกษตร คือจารึกลานทอง เพราะไม่เพียงแต่เป็นใบลานที่เก่าแก่ที่สุดของเมียนมาแต่นับว่าเป็นใบลานจารึกภาษาบาลีที่เก่าแก่ที่สุดของพระพุทธศาสนา มีลักษณะคล้ายมัดคัมภีร์ใบลานที่เห็นในปัจจุบัน แต่มีขนาดเล็กกว่าและทำจากแผ่นทองคำแทนที่จะเป็นใบจากต้นลาน คือ มีปกหน้า ปกหลัง และแผ่นลานจำนวน ๒๐ แผ่น มีขนาดความกว้าง ๓.๒ ซม. และความยาว ๑๖.๕ ซม. แต่ละแผ่นจะเจาะรูซ้ายขวาไว้ร้อยแผ่นลานเข้าด้วยกันด้วยสายซึ่งทำจากทอง แล้วมัดรวมเข้ากับปกประกบเป็นมัด จารจารึกเนื้อความบางส่วนของพระไตรปิฎกบาลี เช่น คาถาปฏิจจสมุปบาทสันนิษฐานว่าสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒

ข้อความภาษาบาลีบนแผ่นลานทองเป็นข้อมูลสำคัญด้านอักขรวิธี อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเปรียบเทียบภาษาบาลีในยุคอดีตและภาษาบาลีที่ศึกษาในปัจจุบัน Dr. Alexander Wynne ซึ่งเคยร่วมงานกับโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ เคยนำเนื้อหาภาษาบาลีที่ปรากฏบนจารึกลานทองคำอายุพันกว่าปี กับเนื้อความพระไตรปิฎกใบลานอายุหลายร้อยปี และเนื้อความในพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันมาเปรียบเทียบ พบว่าเนื้อความสอดคล้องกันอย่างมากทีเดียว

แม้ว่าเรื่องราวของชาวปยูจะหายไปหลังจากอาณาจักรล่มสลาย แต่สิ่งที่ชาวปยูได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อหลายพันปี ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ก็ยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาค้นคว้าให้อนุชนรุ่นหลังของเมียนมาได้ศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมของตน ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่นักวิชาการและผู้ที่สนใจจากทุกมุมโลกที่เข้ามาศึกษา ชาวปยูสร้างทุกสิ่งด้วยความรัก ความศรัทธา และเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ แต่สิ่งเหล่านั้นยังทรงคุณค่าต่อมาอีกพันกว่าปี เช่นเดียวกันสิ่งที่พวกเราร่วมแรงร่วมใจกันสถาปนาขึ้นมาเพื่อความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาในปัจจุบันย่อมยังประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังที่ตามมาเฉกเช่นเดียวกันอย่างแน่นอน
-------------------------------------------------

ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก
Guy, J. (2014). Lost Kingdoms: Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia (Metropolitan


Museum of Art). : Yale University Press.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๒) มิงกะลาบา…เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๒) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 05:31 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.