ปรากฏการณ์อัศจรรย์บนรันเวย์
ในยุคล่าอาณานิคมช่วงที่อังกฤษเข้ายึดครองประเทศเมียนมานั้น สถาบันชาติเมียนมาปั่นป่วนระส่ำระสายอย่างหนัก สถาบันกษัตริย์ก็ล่มสลาย คงเหลือแต่สถาบันศาสนาเท่านั้น
ที่อยู่เป็นที่พึ่งของประชาชน และกลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งของพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
อะไรทำให้สถาบันศาสนาก้าวข้ามวิกฤตการณ์มาได้ ?
คำตอบก็คือ ศรัทธาของชาวเมียนมาที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้น มีความเหนียวแน่นชนิดที่กองกำลังทางทหารหรือสรรพาวุธใด
ๆ ไม่สามารถทำลายลงได้
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นศรัทธาของชาวเมียนมาที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็คือ
ธรรมเนียมการถอดรองเท้าเข้าวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเมียนมาทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
ชายหรือหญิง ต่างพากันปฏิบัติทุกครั้งเมื่อไปวัด
สิ่งนี้เป็นสำนึกร่วมที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวเมียนมา ที่หล่อหลอมกันมาโดยไม่ต้องตราเป็นตัวบทกฎหมายใด ๆ
ชาวเมียนมาทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง ถอดรองเท้าทุกครั้งที่เข้าวัด |
เรื่องการถอดหรือไม่ถอดรองเท้านี้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “Footwear Controversy” หรือ “กบฏเกือก” เป็นการร่วมกันประท้วงต่อต้านชาวอังกฤษที่ไม่ยอมถอดรองเท้าเวลาเข้าเขตวัด ซึ่งถือเป็นการขัดต่อประเพณีและเหยียบย่ำจิตใจชาวพุทธเมียนมาอย่างรุนแรง
ผลจากกบฏเกือกทำให้ชาวอังกฤษยอมถอดรองเท้าเข้าวัด
และเป็นแบบแผนต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ว่า ผู้คนเชื้อชาติศาสนาใดก็ตามหากเข้าไปในบริเวณวัดจะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าทุกคน
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ชีวิตประจำวันของชาวเมียนมาก็ผูกพันอยู่กับบุญกุศล
พวกเขาจะตื่นก่อนรุ่งสางแล้วไปรวมตัวกันที่วัด เพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ ตักบาตร ก่อนไปทำงาน
และเมื่อเลิกงานแล้ว ก็กลับมาบูชาเจดีย์ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ช่วยกันทำความสะอาดลานวัด
ลานเจดีย์ แล้วจึงกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความเป็นชาวพุทธเมียนมาซึ่งโดดเด่นกว่าใคร
ๆ ในโลก
ด้วยความรัก ความเชื่อ และความศรัทธาที่ชาวพุทธเมียนมาและไทยมีต่อสิ่งเดียวกันคือพระพุทธศาสนานี้เอง ที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และความเข้าใจกันระหว่างประชาชนของทั้ง ๒ ประเทศ ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองแก่พระศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการเผยแผ่พระศาสนา รวมถึงการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น การตักบาตร ๒ แผ่นดินที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลเมืองมัณฑะเลย์กับมูลนิธิธรรมกายและองค์กรภาคีเครือข่ายอีกกว่า ๓๐ องค์กร
มิงกะลาบา มัณฑะเลย์
มัณฑะเลย์เป็นเมืองหลวงแห่งราชวงศ์สุดท้ายของเมียนมาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากนครย่างกุ้ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่มีทั้งท่าเรือและท่าอากาศยานนานาชาติ
มัณฑะเลย์เป็นเมืองหลวงแห่งราชวงศ์สุดท้ายของเมียนมาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากนครย่างกุ้ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่มีทั้งท่าเรือและท่าอากาศยานนานาชาติ
ในเมืองมัณฑะเลย์มีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีพระสงฆ์ถึง
๑ แสนรูป และมีวัดวาอารามมากมาย อาทิ วัดมหามุนีซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี
๑ ใน ๕ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมียนมาและเป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมียนมาถือว่ามีชีวิต จึงเป็นที่มาของการทำพิธีล้างพระพักตร์พระพุทธรูปทุกเช้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังมีวัดมหากันดายงซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกของพระสงฆ์นานาชาติประมาณ ๑,๐๐๐ รูป วัดกุโสดอว์ซึ่งมีศิลาจารึกข้อความจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาเมียนมา และยังมีวัดที่เก่าแก่อีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีวัดมหากันดายงซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกของพระสงฆ์นานาชาติประมาณ ๑,๐๐๐ รูป วัดกุโสดอว์ซึ่งมีศิลาจารึกข้อความจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาเมียนมา และยังมีวัดที่เก่าแก่อีกเป็นจำนวนมาก
งานตักบาตรครั้งใหญ่ในมัณฑะเลย์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยนิมนต์พระสงฆ์เมียนมา ๑๐,๐๐๐ รูป มาบิณฑบาต ครั้งที่สองนิมนต์พระ ๒๐,๐๐๐ รูป พิธีจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ทั้งนี้เพื่อสืบสานพุทธประเพณีตักบาตรของชาวพุทธ, เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น, สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะสงฆ์เถรวาทในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะพระภิกษุ-สามเณรในเมืองมัณฑะเลย์
งานตักบาตรครั้งที่สองนี้ ทีมงานวางแผนงานล่วงหน้าถึง ๓ เดือน เพื่อให้งานพระศาสนาออกมาดีที่สุดและเมื่อใกล้วันงานก็มีอาสาสมัครทั้งชาวไทยและเมียนมาจำนวนมากมายลงพื้นที่เตรียมงานอาทิ เตรียมพื้นที่เดินบิณฑบาต เตรียมห้องน้ำ จัดเก้าอี้ ปูเสื่อ-พรม-ผ้ากระสอบ ฯลฯ
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. พุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ในบุญฝ่าอากาศหนาวเย็นทยอยเข้าสู่พื้นที่จัดงานบริเวณรันเวย์ของสนามบิน Chanmyatazi ซึ่งเป็นสนามบินเก่า และถึงแม้ว่าหลายคนเดินทางออกจากบ้านมาตั้งแต่ตีสามตีสี่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีความเหนื่อยล้าปรากฏให้เห็น ใบหน้าที่ฉาบทาด้วยทานาคามีแต่รอยยิ้มและมีเสียงทักทายกันด้วยความเบิกบาน
เมื่อมองไปบนปะรำพิธีจะเห็นพระมหามัยมุนี (องค์จำลอง) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานเด่นเป็นสง่า
ด้านล่างมีพระสงฆ์เมียนมา ๒๐,๐๐๐ รูป พระสงฆ์ไทย ๑๐๐ รูป และมหาชนชาวพุทธหลายหมื่นคน
เรียกได้ว่าเป็นภาพอัศจรรย์ที่สร้างสรรค์โดยชาวพุทธยุคนี้
พิธีกรรมเริ่มเมื่อเวลา ๐๖.๓๐ น. โดยประธานพิธีชาวเมียนมาจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ตามด้วยพิธีกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ กล่าวคำอาราธนาศีล นั่งสมาธิ ตามด้วยพิธีกล่าวคำถวายภัตตาหาร ไทยธรรม คิลานเภสัช ยานพาหนะ กล่าวคำอธิษฐานจิต และสวดมนต์ร่วมกัน
จากนั้น คณะสงฆ์แปรแถวบิณฑบาต ส่วนสาธุชนก็พากันนำข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค
สบู่ ยาสีฟัน และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ บรรจงใส่ลงในบาตรด้วยใบหน้าอิ่มบุญและบางคราก็มีน้ำตาปรากฏให้เห็น
พิธีตักบาตรในวันนี้ ได้รับความเมตตาจากพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายประเทศไทย เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายไทย นอกจากนี้ยังมีพระมหาเถระผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติจาก ๑๑ ประเทศ คือ ไทย จีน เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เนปาล อินเดีย ศรีลังกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และไต้หวัน เมตตาไปเป็นเนื้อนาบุญด้วย
พิธีตักบาตรในวันนี้ ได้รับความเมตตาจากพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายประเทศไทย เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายไทย นอกจากนี้ยังมีพระมหาเถระผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติจาก ๑๑ ประเทศ คือ ไทย จีน เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เนปาล อินเดีย ศรีลังกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และไต้หวัน เมตตาไปเป็นเนื้อนาบุญด้วย
งานบุญตักบาตรเชื่อมสายใย ๒ แผ่นดินผ่านพ้นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ราบรื่นท่ามกลางความปีติยินดีและประทับใจของทุกฝ่าย ซึ่งต่างมีความปรารถนาที่จะมาพบกันใหม่ในงานตักบาตรคราวหน้า...
การตักบาตรครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นโดยชาวพุทธทั้ง ๒ ประเทศ ซึ่งมีความปรารถนาตรงกันที่จะสร้างบุญกุศลและสืบทอดพุทธประเพณีเอาไว้
อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์เมียนมา-ไทย รวมทั้งเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชนของทั้ง
๒ ประเทศด้วย และที่สำคัญยังเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่
และจุดมุ่งหมายร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลก ที่จะสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป
Cr. มาตา
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
ปรากฏการณ์อัศจรรย์บนรันเวย์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:13
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: