ปัญญาอันรู้คุณพระรัตนตรัย


บุคคลผู้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิย่อมพ้นจากอันตรายทั้งปวง อันได้แก่ อันตรายจากอมนุษย์ เป็นต้น ตัวอย่างมีปรากฏในนิทานชาดกว่า...วันหนึ่ง บิดาของสัมมาทิฐิกุมารพาผู้เป็นบุตรใส่เกวียนไปตัดฟืนในป่าแห่งหนึ่ง ครั้นตัดฟืนเสร็จแล้ว ก็ใส่เกวียนบรรทุกกลับบ้าน ขณะเดินทางกลับ ผ่านป่าช้าแห่งหนึ่งที่อยู่นอกพระนคร จึงหยุดพักปล่อยให้โคไปกินหญ้า โคนั้นหนีเข้าไปในเมือง บิดาจึงปล่อยให้บุตรเฝ้าเกวียน แล้วเข้าไปตามหาโคในเมือง เมื่อจับโคได้แล้ว จึงกลับออกมา ครั้นถึงประตูเมืองก็เป็นเวลาพลบค่ำ ผู้รักษาประตูเมืองปิดประตูแล้ว บิดาของกุมารนั้นจึงไม่สามารถกลับออกไปหาลูกได้ กุมารนั้นไม่เห็นบิดากลับมาจึงรำลึกถึงพระคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ท่องบท อิติปิโส ภควา ฯจนกระทั่งนอนหลับไป

ต่อมา มียักษ์ ๒ ตน ออกเที่ยวหาอาหารในยามราตรี ยักษ์ตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฐิ อีกตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ครั้นยักษ์ทั้งสองเห็นกุมารนั้นหลับอยู่ในเกวียน ยักษ์ผู้เป็นมิจฉาทิฐิจึงกล่าวแก่สหายว่า ควรจะจับกุมารนั้นมาเป็นอาหาร แต่ยักษ์ผู้เป็นสัมมาทิฐิกลับห้ามสหายมิให้ทำเช่นนั้น ฝ่ายยักษ์มิจฉาทิฐิก็มิได้ฟังคำทัดทาน ตรงเข้าไปจับเท้าทั้งสองของกุมาร ฝ่ายกุมารนั้นตกใจตื่น ก็รำลึกถึงพระพุทธคุณแล้วกล่าวว่า นะโม พุทธัสสะดัง ๆ ทำให้ยักษ์มิจฉาทิฐิตกใจ วางเท้ากุมารแล้วถอยออกไป

ยักษ์สัมมาทิฐิจึงตำหนิสหายว่า  ท่านกระทำไม่สมควร   เราจะลงทัณฑกรรมแก่ท่าน ท่านจงไปเที่ยวแสวงหาอาหารมาให้กุมารนี้ว่าแล้วยักษ์สัมมาทิฐิก็อยู่เฝ้ากุมารนั้น ส่วนยักษ์มิจฉาทิฐิเหาะเข้าไปในพระราชวัง ขนเอาเครื่องพระสุธาโภชน์และข้าวหอมใส่พระสุพรรณภาชน์แล้วเหาะกลับมายังเกวียนนั้น จากนั้นยักษ์ทั้งสองก็แปลงตนเป็นมารดากับบิดาของกุมารนำอาหารมาให้กิน เสร็จแล้วจึงจารึกอักษรลงในภาชนะ แล้วอธิษฐานด้วยอานุภาพแห่งยักษ์ว่า ขอให้เฉพาะแต่พระมหากษัตราธิราชพระองค์เดียวเท่านั้นทรงแลเห็นอักษรนี้ บุคคลอื่นอย่าได้เห็นอธิษฐานเช่นนั้นแล้ว ก็เอาสุพรรณภาชน์นั้นใส่เกวียนไว้แล้วจึงจากไป

ครั้นรุ่งเช้า ชาวเมืองทั้งหลายก็โจษจันกันเซ็งแซ่ว่า พระสุพรรณภาชน์ของหลวงหายไป จึงมีการส่งเจ้าหน้าที่ค้นหากันทั่วทั้งในเมืองและนอกเมือง ในที่สุดจึงพบพระสุพรรณภาชน์อยู่ในเกวียนของกุมารนั้น เจ้าหน้าที่จึงนำเอาพระสุพรรณภาชน์กับตัวกุมารนั้นเข้าไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นอักษรก็เข้าพระทัย จึงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ซักถามกุมาร และได้รับคำตอบว่า มารดาบิดาเอาสุพรรณภาชน์นั้นใส่อาหารมาให้กิน

ครั้นแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงพากุมารนั้นพร้อมทั้งบิดาไปนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทูลถามพุทธองค์ว่า พุทธานุสติเพียงสิ่งเดียวสามารถรักษาสัตว์ให้พ้นอันตรายได้กระนั้นหรือ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าจิตของบุคคลผู้เจริญอนุสติทั้ง ๖ ประการ ย่อมรักษาผู้นั้นให้พ้นจากอันตรายได้ ครั้นแล้วจึงตรัสพระธรรมเทศนาถึงอนุสติทั้ง ๖ ประการไว้ดังต่อไปนี้

๑. สติอันระลึกถึงตถาคต คือ พุทธานุสติได้แก่ บทว่า...
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ฯ

๒. สติอันระลึกถึงพระธรรมคุณ คือ ธัมมานุสติ ได้แก่ บทว่า...
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ฯ

๓. สติอันระลึกถึงพระสังฆคุณ คือ สังฆานุสติ ได้แก่ บทว่า...
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ฯ

๔. สติอันระลึกถึงความไม่สะอาดและน่ารังเกียจของร่างกาย คือ กายคตาสติ ได้แก่บทว่า...
เกสา โลมา ฯ

๕. สติอันระลึกถึงความกรุณา ได้แก่ บทว่า...
สัพเพ ทุกขา ปมุญจันติ ฯ

๖. สติอันระลึกถึงความเมตตา ได้แก่บทว่า...
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ ฯ

บุคคลใดมีอนุสติแม้เพียงประการเดียวใน ๖ ประการนี้ ระลึกมั่นอยู่ในสันดาน ในเวลากลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี ตลอดเวลาก็ดี แม้เพียงวันละ ๓ หน หรือหนเดียวก็ดี ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสาวกแห่งตถาคต ไม่ว่ายามหลับ ยามตื่น ย่อมรอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง สำหรับเรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา รู้จักคุณพระรัตนตรัย หมั่นเจริญอนุสติภาวนา ๖ ประการนี้เนือง ๆ ย่อมได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิอันเป็นโลกิยะ

การดำรงชีวิตในแต่ละวันล้วนมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามากระทบให้เราคิด พูด ทำ ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดี สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงคือความไม่ประมาท มีสติรับรู้ถึงสิ่งที่เข้ามากระทบกาย วาจา ใจของเรา และน้อมนำธรรมะที่ศึกษาไว้ดีแล้วมาประพฤติปฏิบัติ หมั่นเจริญอนุสติให้ตัวเราเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิ เป็นผู้มีปัญญาอันรู้คุณพระรัตนตรัย และเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นก็จะได้ชื่อว่าเป็นยอดกัลยาณมิตรที่จะติดตามตามติดมหาปูชนียาจารย์สร้างบุญสร้างบารมีไปทุกภพทุกชาติตราบถึงที่สุดแห่งธรรม

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
ปัญญาอันรู้คุณพระรัตนตรัย ปัญญาอันรู้คุณพระรัตนตรัย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:06 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.