การทำบุญจนหมดตัวในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ ถือเป็นสิ่งผิดไหม ?
________________________________________________
การทำบุญจนหมดตัวในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ ถือเป็นสิ่งผิดไหม ?
จำเป็นด้วยหรือที่คนอย่างเราจะต้องทำบุญจนหมดตัว ?
ถ้าทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีจะกิน ต้องมานั่งเครียด ใจหมองในภายหลัง แบบนี้จะถูกหรือ ?
แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงทำบุญอย่างไร ?
________________________________________________
ประเด็นเหล่านี้ หากมาดูกันลึก ๆ
ไม่ใช่เรื่องของพวกวัดพระธรรมกายอย่างเดียว แต่เป็นประเด็นทางพระพุทธศาสนาที่ควรหันมาศึกษากันก่อนจะเข้าใจผิด
แล้วดำเนินชีวิตตามความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เพราะการทำทานนั้น
เป็นสิ่งกำหนดอนาคตในชาติถัด ๆ ไปของผู้ทำ คือ ทำให้รวยหรือจนก็ได้ ทำให้หมดกิเลสง่าย
ๆ หรือยากลำบากก็ได้
วัดพระธรรมกายสอนให้ทำบุญจนหมดตัวจริงหรือ ?
การจะมาบอกว่าวัดพระธรรมกายสอนให้ทำบุญจนหมดตัวก็ไม่ถูก เพราะถ้าคนเข้าวัด มีชีวิตที่แย่ลงถึงขั้นหมดตัวกันทุกคนจริง ๆ ป่านนี้คงไม่เหลือใครเข้าวัดกันแล้ว อีกทั้งวัดพระธรรมกายก็เหมือนกับทุกวัด ที่มีลูกศิษย์ทำบุญมาก ทำบุญน้อย หรือมานั่งสมาธิเฉย ๆ แล้วไม่ทำทานเลยก็มี
ที่สำคัญวัดพระธรรมกายก็ไม่เคยบังคับใครให้ทำบุญ เพราะการทำบุญเป็นเรื่องของความสมัครใจ หากเจ้าของเงินไม่เต็มใจด้วยตนเอง วัดจะไปบังคับได้อย่างไร
การทำบุญจนหมดตัวในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ ถือเป็นสิ่งผิดไหม ?
จากหลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เราค้นเจอผู้ที่ทำบุญจนหมดตัวหลายคน แต่ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับทรงชื่นชมยกย่องให้เป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าศึกษามาก ๆ
คนแรกเลยที่หลายคนรู้จักกันดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีที่รวยมากในสมัยพุทธกาล ผู้มีความศรัทธาอยากสร้างวัดอย่างแรงกล้า ถึงขั้นขนเงินมาปูลาดจนเต็มพื้นที่ที่ต้องการจะซื้อจากเจ้าชายเชตราชกุมาร เพื่อเอามาสร้างวัดเชตวันถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหมดเงินซื้อที่ดินไป ๑๘ โกฏิ สร้างวัดอีก ๑๘ โกฏิแล้วก็ใช้เงินอีกจำนวนมหาศาลทุ่มทำาบุญโดยการถวายทานเฉลิมฉลองวัดเชตวันยาวนานถึง ๙ เดือน หมดเงินไปมากถึง ๑๘ โกฏิ รวมแล้วมากถึง ๕๔ โกฏิ
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อฉลองวัดเสร็จ ก็มีโปรเจกต์บุญใหม่ต่ออีก โดยการไปกราบอาราธนาพระภิกษุมากถึง ๒๐๐ รูป ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันไม่ขาด เรียกได้ว่า..ทำบุญแบบจัดหนักจนกระทั่งทรัพย์สินเงินทองเริ่มหมด ประกอบกับกรรมเก่ามาส่งผลในช่วงนั้นพอดี เลยทำให้สมบัติของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ฝังไว้ถูกน้ำเซาะจมลงไปในมหาสมุทร จนถึงคราวอดอยาก เพราะสมบัติหมดสิ้น แต่แม้ท่านจะเปลี่ยนโหมดเข้าสู่ภาวะหมดตัวถึงขั้นต้องเอาข้าวปลายเกรียนกับนำน้ำผักดองมาถวายพระแล้ว ก็ยังไม่ยอมหยุดทำบุญ
พอผู้เขียนค้นข้อมูลมาถึงตรงนี้ ก็นึกขำว่า ถ้าหากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาเกิดสมัยนี้ แล้วเข้าวัดพระธรรมกาย คงโดนด่าเปิดเปิง โดนพาดหัวในโลกโซเชียลแชร์กันสนั่นภายในชั่วข้ามคืนแน่ ๆ
ขณะที่หลายคนกำลังสงสัยคาใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำบุญจนหมดตัวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับไม่ทรงห้ามเลยแม้แต่น้อย แถมยังอนุโมทนา และให้กำลังใจท่านอีก โดยตรัสว่า “คฤหบดี..ท่านอย่าคิดว่า ‘เราถวายทานเศร้าหมอง’ ด้วยว่าเมื่อจิตประณีตแล้ว ทานที่บุคคลถวายแด่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าเศร้าหมองย่อมไม่มี...” อีกทั้งพระองค์ทรงยกใจให้ปลื้ม โดยยกตัวอย่างชาติที่พระองค์เกิดเป็นพราหมณ์ที่ชื่อ “เวลามะ” ที่ได้ทุ่มเททำทานจำนวนมหาศาลให้ฟังอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน และพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เวลามสูตร)
แต่ความเป็นจริงพระองค์ไม่ทรงทำเช่นนั้นเลย แถมกลับทรงบอกบุญชวนพราหมณ์ยากจนคนนี้ให้ทำบุญในภาวะที่ไม่มีด้วยซ้ำ โดยการอดทนเทศน์โปรดเกือบถึงเช้า เพื่อให้พราหมณ์เลิกหวง ละความตระหนี่ และยอมสละผ้าคลุมกายชิ้นเดียวที่มีในชีวิต แล้วเอามาทำบุญถวายพระองค์
พระองค์ทรงทำอย่างนี้เพื่ออะไร ? ทรงอยากได้ผ้าเก่า ๆ ที่ผ่านการใช้แล้วงั้นหรือ ? เปล่าเลย..แต่ที่พระองค์ทรงทำอย่างนี้ ก็เพราะอยากให้พราหมณ์ได้บุญปริมาณที่มากพอ ที่จะส่งผลให้พราหมณ์เลิกจนและมีชีวิตที่ดีขึ้นในชาติถัดไป เพราะการทำบุญในภาวะที่ไม่มีมีอานิสงส์แรงมาก เพราะต้องอาศัยหัวใจที่ยิ่งใหญ่เกินมนุษย์ธรรมดา และท้ายที่สุด บุญนี้เอง.. ก็ทำให้ท่านพลันร่ำรวยเป็นเศรษฐีขึ้นในชาตินั้น และเป็นบุญหนึ่งที่ทำให้พระมหากัสสปะ มีบารมีเต็มเปี่ยมจนสามารถหมดกิเลสบรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศ
ในด้านการถือธุดงค์ (อ่านเพิ่มเติมที่ อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑อรรถกถาสูตรที่ ๔ ประวัติพระมหากัสสปเถระ )
มาถึงคนดังอีกคน ซึ่งก็คือ
ปู่ของนางวิสาขา หรือ ท่านเมณฑกเศรษฐี ซึ่งกว่าท่านจะเกิดมารวยมากขนาดนี้
ท่านได้สร้างเหตุโดยการทำบุญชนิดเอาชีวิตเข้าแลกมาก่อน หากย้อนไปในชาติที่ท่านเกิดในยุคที่มีฉาตกภัยหรือภัยจากความอดอยาก ซึ่งขณะที่ท่านกำลังจะอดตายเพราะความหิวโหยก็ได้ตัดสินใจเอาข้าวมื้อสุดท้ายที่หุงไว้กินกันทั้งครอบครัวมาถวายให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
โดยคิดว่าตัวเองยอมตาย แต่ขอให้ได้บุญนี้ก่อนตาย เรียกได้ว่า..ทำบุญโดยยอมแลกด้วยชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งการทำบุญแบบยอมแลกด้วยชีวิตนี้เอง ได้ส่งผลให้ท่านเศรษฐีได้สมบัติอัศจรรย์ และรอดชีวิตกลับมาร่ำรวยกว่าเดิมอย่างเหลือเชื่อ (อ่านเพิ่มเติมใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ เรื่องเมณฑกเศรษฐี)
จะเห็นว่า คนดังแต่ละคนในสมัยพุทธกาลที่ยกตัวอย่างมาล้วนทำบุญกันยิ่งกว่าหมดตัวเสียอีก เพราะบางคนถึงขั้นแลกด้วยชีวิต แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่ทรงห้ามแต่ประการใด แถมไม่ทรงสั่งด้วยว่า..ให้ทำบุญน้อย ๆ แต่ตรงกันข้ามกลับทรงชวนทำบุญทั้ง ๆ ที่รู้ว่า..ผู้ถูกชวนนั้นไม่มีด้วยซ้ำ อีกทั้งยังทรงชื่นชมอนุโมทนาและให้กำลังใจ โดยกล่าวถึงอานิสงส์และยกตัวอย่างเพื่อให้ปลื้มอีกด้วย
ที่พระองค์ทรงทำอย่างนี้ เพราะทรงรู้ดีว่า บุญจากการทำทานสละทุกสิ่ง แม้จะหมดตัวแบบจูเฬกสาฎกพราหมณ์หรือท่านเมณฑกเศรษฐี สุดท้ายด้วยบุญนี้..ก็จะทำให้ได้สิ่งที่เหนือกว่าเดิมและดีที่สุด ซึ่งก็คือ การหมดกิเลสเข้านิพพานนั่นเอง
แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงทำบุญอย่างไร ?
หากได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากหลาย ๆ ชาติ เราจะพบว่า พระสัมมา
สัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการทำทานมาก ถึงขนาดทรงเอาคำสอนเรื่องการทำทานไว้เป็นเรื่องแรกในหมวดคำสอนเรื่องบารมี ๑๐ ทัศ เพราะการทำทานเป็นเสมือนพื้นฐานที่ทำให้สามารถบำเพ็ญบารมีข้ออื่นได้ง่ายขึ้น
เมื่อมาค้นดูก็พบว่า การทำทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่งยวดมีจำนวนหลายชาติมาก แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างในชาติที่คนได้ยินกันมากที่สุด ซึ่งพบใน อรรถกถา มหาเวสสันดร ว่าด้วยพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงเรื่องการทำทานในชาติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดเป็นพระเวสสันดร ที่พระองค์ทรงทำบุญมากจนชาวเมืองไม่พอใจ แล้วไปฟ้องพระราชา จนตอนหลังพระราชาต้องจำใจขับไล่โอรสของตนเองออกจากเมือง แต่ถึงแม้จะโดนขับไล่ พระองค์ก็ยังขอโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายที่จะบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่เรียกว่า สัตตสตกมหาทาน คือ บริจาคทาน ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ ให้กับชาวเมืองของพระองค์เอง ต่อมาครั้นพอพระองค์ต้องออกจากเมืองไปประทับอยู่ในป่า แม้แทบไม่เหลืออะไรจะให้บริจาคแล้ว พระองค์ก็ทรงบริจาคบุตรและภรรยาเป็นทานอีก
ตรงนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงทำบุญยิ่งกว่าหมดเนื้อหมดตัวเสียอีก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ที่พระองค์ทรงทำแบบนี้ เพราะตลอดการเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติที่ผ่านมา พระองค์ก็ทรงสละทรัพย์ สละราชสมบัติ สละอวัยวะ และสละชีวิตเพื่อทำทาน มานับภพนับชาติไม่ถ้วน
ที่สำคัญ...ไม่ใช่แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราที่ทรงทำเช่นนี้ เพราะหากได้ศึกษาประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ก็จะพบว่า ทุกพระองค์ทรงบริจาคทานแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และสละสิ่งที่สละได้ยากด้วยกันทั้งนั้น เช่น พระมังคลพุทธเจ้า ที่ทรงบริจาคลูกให้ยักษ์ที่แปลงตัวมาเป็นพราหมณ์ แล้วยักษ์เคี้ยวกินไปต่อหน้าต่อตา การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงบริจาคทานมากขนาดนี้ เพราะพระองค์ทรงต้องการทำให้บุญในตัวมากพอที่จะหมดกิเลสเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะได้กลับมาโปรดสรรพสัตว์จำนวนมหาศาลให้หมดกิเลสตามพระองค์ไปด้วย
ดังนั้น การทำบุญมาก ๆ แบบทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สละสิ่งที่สละได้ยากขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่ประการใด เพราะยิ่งทำบุญมาก ยิ่งขัดเกลากิเลสได้มาก จนสุดท้ายก็สามารถละกิเลสได้จนหมดสิ้นแล้วเข้านิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ทรงทำให้ดูนั่นเอง...
จำเป็นด้วยหรือที่คนอย่างเราจะต้องทำบุญจนหมดตัว ?
คําถามข้อนี้ถือเป็นคำถามที่สำคัญของบทความนี้เลยทีเดียว เพราะผู้เขียนก็กลัวเหมือนกันว่า บางคนพออ่านเรื่องราวที่ค้นมาจากพระไตรปิฎกที่เอามาเล่าให้ฟังแล้ว จะทุ่มทำบุญหมดเนื้อหมดตัวกันจนเดือดร้อน หรือบางคนอาจเกิดอาการวิตกไปเลยว่า แล้วที่ผ่าน ๆ มา ไม่เคยทำบุญแบบทุ่มเทเลย แล้วจะมีสิทธิ์หมดกิเลสเข้านิพพานไหม ?
ตรงนี้ขอตอบว่า..การทำบุญมากหรือน้อยนั้น ไม่มีอะไรผิดเลย ขึ้นอยู่กับการตั้งความปรารถนาว่าเราต้องการให้ภพชาติต่อไปของเราเป็นอย่างไร อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำทานมากขนาดนี้ ก็เพราะพระองค์ต้องการบุญที่มากพอที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหากัสสปะท่านก็ต้องการบุญที่มากพอที่จะเป็นอสีติมหาสาวก และแม้แต่ท่านเมณฑกเศรษฐีท่านก็ต้องการรวยถึงระดับที่สามารถเลี้ยงคนได้จำนวนมหาศาล แล้วหมดกิเลสเข้านิพพานได้อย่างสะดวกสบาย
การทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีจะกิน แล้วมานั่งเครียด ใจหมองในภายหลัง อย่างนี้เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ?
อย่างนี้ถือว่าผิดหลักวิชชาเป็นอย่างมาก เพราะจากตัวอย่างที่เล่ามาข้างต้น ทุกคนที่ทำบุญไม่มีใครเครียดหรือใจหมองเลย แต่กลับปลื้มมาก ทั้ง ๆ ที่ชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว เนื่องจากใจของพระโพธิสัตว์หรือผู้มีบารมีแก่กล้าไม่เหมือนใจของคนธรรมดา ดังนั้น หากใจของเรายังเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ก็ให้ทำบุญอย่างเต็มที่เต็มกำลังเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ซึ่งการทำบุญนั้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ดีทั้งนั้น แต่ขอให้เราปลื้ม นึกถึงบุญให้ได้ตลอด แล้วเราก็จะมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังพุทธพจน์ที่ว่า...
ปุญฺญญฺเจ
ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญฺญสฺส
อุจฺจโย.
ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อย
ๆ
พึงทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะว่าความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข
----------------------------------------------------
Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
การทำบุญจนหมดตัวในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ ถือเป็นสิ่งผิดไหม ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:34
Rating:
ความดีชนะทุกสิ่ง ความจริงชนะทุกอย่าง
ตอบลบทองแท้ไม่กลัวไฟฉันใด หมู่คณะที่มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรมอย่างอาจหาญร่าเริง ย่อมทนต่อการพิสูจน์ฉันนั้น
สาธุเจ้าค่ะ
ตอบลบสาธุเจ้าค่ะ
ตอบลบ